รวมการบินไทย-บดท. งานใหญ่แบบธรรมดาๆ


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้ามีคนเก่าคนแก่ครั้งที่บดท. ยังใช้ชื่อบริษัท เดินอากาศ จำกัด (บตอ.) ยังคงทำงานอยู่ เชื่อว่าเขาคงจะไม่ตื่นเต้นอะไรมากนักกับเรื่องการรวมกิจการ 2 สายการบินของไทย แถมยังผิวปากเพลง "ธรรมดา…มันเป็นเรื่องธรรมดา" เสียอีก

เมื่อปี พ.ศ.2494 รัฐบาลมีนโยบายให้รวมกิจการบินของบริษัทแปซิฟิค โอเวอร์ซี (สยาม) จำกัด กับบริษัทเดินอากาศ จำกัด เข้าด้วยกัน บริษัททั้งสองจึงควบเข้าเป็นบริษัทเดียวกันตามความประสงค์ของรัฐโดยใช้ชื่อบริษัท เดินอากาศไทย

หลังจากนั้นการรวมของกิจการทำให้กิจการของบริษัทเดินอากาศไทย จำกัดขยายกว้างขวางออกไป โดยมีทั้งสายการบินภายในและสายการบินระหว่างประเทศ

บริษัท การบินไทย จำกัด แท้จริงแล้วก็ถูกจัดตั้งขึ้นโดยบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด เช่นกันที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพทางการบินระหว่างประเทศ จึงร่วมทุนกับบริษัทการบิน SCANDINAVIAN AIRLINES SYSTEM (SAS) จัดตั้งบริษัท การบินไทยจำกัด ขึ้นในปี 2503 เพื่อศึกษา KNOWHOW เกี่ยวกับการบินระหว่างประเทศ ทำให้แยกการบินระหว่างประเทศออกมาจากบริษัทเดินอากาศไทย จำกัด ซึ่งดำเนินการบินเฉพาะสายภายในประเทศและประเทศใกล้เคียงบางแห่งเท่านั้น

ความจริงแผนการรวมกิจการทั้งสองของของการบินไทยและบดท.มีมานานแล้วแต่การดำเนินการอย่างจริงจังเพิ่งเริ่มต้นประมาณกลางปี 2530 ที่ผ่านมานี้เอง

ว่ากันว่าการศึกษาแผนงานรวมกิจการ เริ่มขึ้นหลังจากที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์นายกรัฐมนตรี ใช้บริการของบดท.ตรวจราชการทางภาคใต้ และพบกับข้อบกพร่องหลายประการ อาทิ การล่าช้า (DEPLAY) ค่อนข้างมากจากตารางการบินตามปกติ การบริการของพนักงานประจำเครื่อง รวมทั้งการตรวจราชการรับทราบผลการดำเนินงานของบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์เมื่อปีที่แล้ว

ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2530 พล.อ.ท.ณรงค์ ดิถีเพ็ง กรรมการผู้จัดการบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ก็ออกมาให้ข่าวว่าแผนการรวมการบินไทยกับบริษัทเดินอากาศไทย จำกัด เริ่มต้นขึ้นแล้วโดยแผนดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา

ความจริงแล้วการรวมกิจการทั้งสองอาจไม่รวดเร็วเช่นนี้ หากโบอิ้ง 737 ของบดท. ไม่ตกทะเลและสังเวยชีวิตอีก 83 ชีวิต ในเดือนสิงหาคม

เพราะหลังจากนั้น ได้มีการวิเคราะห์ถึงประสิทธิภาพการทำงานของบดท.อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น แผนงานที่ว่าจึงได้รับการสนองตอบของทุกๆ ฝ่ายอย่างเร่งด่วน

คณะกรรมการพิจารณาการรวมถูกตั้งขึ้นมีศรีภูมิ ศุขเนตร ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ชุดหนึ่งมีไพจิตร โรจนวนิชย์รองปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน พิจารณาเรื่องทรัพย์สิน หนี้สิน

อีกชุดหนึ่งมีศรีสุข จันทรางศุ รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานพิจารณาเกี่ยวกับโครงสร้างการบินไทยเมื่อมีการรวมแล้ว

ปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการรวมกิจการมีเพียงสองประการประการแรกเป็นปัญหาทางด้านกฎหมาย และอีกประการหนึ่งเป็นปัญหาในส่วนของพนักงานจากบดท. ที่จะถูกโอนเข้าไปอยู่กับการบินไทยจำนวน 1,800 คน

ปัญหาด้านกฎหมายจริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรเกินไปกว่าการค้นหาวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายและให้มีผลเสียแก่บริษัททั้งสองน้อยที่สุด

ขั้นแรกในส่วนของการรวม ใช้วิธีโอนทรัพย์สินและหนี้สินที่มีส่วนต่างประมาณ 1,000 ล้านบาทมาอยู่ในงบดุลของการบินไทย ซึ่งการบินไทยจะเพิ่มทุนเท่าทรัพย์สินที่โอนมาโดยออกหุ้นเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบดท. แทนการยุบบริษัททั้งสอง แล้วตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งจะต้องคำนวณเสียภาษีของแต่ละบริษัทที่ยุบก่อน แต่ก็ยังคงมีปัญหาการเสียภาษี 35% จากส่วนต่าง 1,000 ล้านบาทที่กำลังเสนอของดเว้นภาษีจากกระทรวงการคลังอยู่

อีกปัญหาหนึ่งทางด้านกฎหมายคือการโอนที่ดินของบดท.มาให้การบินไทย ที่การบินไทย ต้องการให้เสียภาษีจากราคาที่บดท.ประเมินที่มีราคาต่ำกว่า แทนที่จะใช้ราคาที่กรมที่ดินประเมิน โดยอ้างว่าเป็นการโอนตามนโยบายของรัฐไม่ใช่การซื้อขายตามปกติ

ปัญหาของพนักงานเองก็คลี่คลายไปในระดับหนึ่ง ในเรื่องของเงินเดือน ผลตอบแทนที่ธรรมนูญ หวั่งหลี ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงินของการบินไทยบอกว่าจะให้เงินเดือนในอัตราที่ได้รับจากบดท. แถมยังจะเสียภาษี ณ ที่จ่ายให้

ส่วนที่ยังคาราคาซังอยู่คือปัญหาโครงสร้างที่ทางบดท. ให้จัดองค์กรตามรูปแบบที่พิสิฎฐ ภัคเกษม รองเลขาฯ สภาพัฒน์ฯ ในฐานะคณะกรรมการประสานงานจัดองค์กรและการรวมพนักงานการบินไทยกับเดินอากาศไทยเสนอ คือรวมพนักงานทั้ง 2 บริษัทแล้วจัดตั้งเป็นองค์กรใหม่แทนที่จะเป็นการที่พนักงานบดท. เข้าไปทำงานร่วมกับการบินไทยในแต่ละส่วน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการสรรหาคณะกรรมการร่วมของทั้งสองบริษัท ที่ต่างฝ่ายต่างต้องการให้มีตัวแทนของตนเข้าไปคอยเป็นปากเป็นเสียงให้ ซึ่งค่อนข้างยากที่จะจัดสรรให้ลงตัวเพราะติดโควตาตัวแทนจากกองทัพ และรัฐบาลที่ตายตัวอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว

จะอย่างไรก็ตาม การรวมกิจการของทั้งสองบริษัทก็ต้องแล้วเสร็จแน่นอนภายใจ 31 มีนาคม 2531 ตามมติของคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

ก็คงจะเหลือเวลาน้อยนิดแล้วสำหรับการคลี่คลายทุกๆ ปัญหาที่มี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.