อนุจินต์ สุพล คนที่จะต้องรับทั้งขึ้นทั้งล่อง


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับนักบริหารมืออาชีพหลายคน การได้รับการยอมรับในความสามารถ จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด" ที่ไม่เคยมีคนไทยคนใดได้รับมาก่อน ของบริษัทน้ำมันข้ามชาติที่ยิ่งใหญ่อย่างเชลล์ คงเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจไม่น้อย

คงเช่นเดียวกับนักการตลาด "มืออาชีพ" อย่าง "อนุจินต์ สุพล" หลังจากปลายเดือนมกราคมเป็นต้นมา คงเป็นเวลาที่ "ท้าทาย" ความสามารถของเขาไม่น้อยอีกเช่นกัน

"เป็นครั้งแรกที่เชลล์ประเทศไทยทำ และเป็นผลงานชิ้นแรกที่ยิ่งใหญ่ของผม" อนุจินต์เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งแรกแถลงข่าวการเปิดตัว "ฟอร์มูล่า เชลล์" ที่เชลล์คิดว่าจะเป็นการเขย่าตลาดน้ำมันเบนซินซูเปอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่ง

แต่เชลล์ก็ต้องเก็บน้ำมันสูตรที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างมากตัวนี้กลับไป ในชั่วเวลาไม่เต็ม 6 เดือนดี

อนุจินต์ สุพล จบการศึกษาชั้นประถมที่วชิราวุธวิทยาลัยชั้นมัธยมจากกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จากนั้นศึกษาต่อชั้นอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จนได้รับปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล

เขากลับมาเมืองไทยเข้ารับราชการทหารเป็นเวลา 6 เดือนเริ่มงานที่บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทยในตำแหน่งวิศวกรอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นวิศวกรใหญ่ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการรับผิดชอบงานจัดส่งน้ำมันไปยังคลังน้ำมันต่างๆ ที่ช่องนนทรีและต่างจังหวัดทั้งหมด

จากนั้นอนุจินต์ย้ายตัวเองเข้าไปทำงานในฝ่ายการตลาดโดยเป็นผู้จัดการฝ่ายค้าปลีก การค้าช่วงน้ำมันต่างๆ ผ่านสถานีบริการน้ำมัน รวมทั้งการขายส่งที่ไม่ผ่านโรงงาน

2 ปีสุดท้ายก่อนเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด อนุจินต์ไปอังกฤษเพื่อฝึกฝนความชำนาญด้านการตลาดจากรับการอบรมจาก SHELL INTERNATIONAL PETROLEUM COMPANY และกลับมาก็ทำ SPECIAL STUDY ก่อนขึ้นรับตำแหน่งที่สำคัญนี้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

กับอนุจินต์แล้วเขาค่อนข้างภูมิใจกับน้ำมันตัวนี้มาก กอปรกับแนวทางการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของเชลล์ต่างกับบริษัทบริษัทอื่น ตรงที่เชลล์ชอบที่จะทุ่มงบก้อนใหญ่เพื่อให้เห็นผลในระยะเวลาที่สั้นกว่า ถึงแม้โครงสร้างน้ำมันเบนซินซุปเปอร์จะมีเพียงประมาณ 10% ของตลาดน้ำมันทั้งหมดแต่งบประมาณที่ใช้ไปก่อนหน้านี้คงจะทำให้เชลล์เจ็บตัวไม่น้อยกับน้ำมันตัวนี้

ก็ต้องให้เครดิตกับอนุจินต์และผู้บริหารระดับสูงของเชลล์กับความรับผิดชอบอย่างสูงที่มีต่อผู้บริโภค ที่ถึงแม้จะไม่มีรายงานความเสียหายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หรือแม้แต่ข้อเท็จจริงที่เด่นชัดว่าความเสียหายในต่างประเทศเกิดขึ้นเนื่องมาจากสาเหตุใด ในการเก็บ "ฟอร์มูล่า เชลล์" ออกจากตลาด

มีการบ้านอีกมากมายที่อนุจินต์ต้องทำต่อจากนี้ เขาจะรักษา "ภาพพจน์" ที่ดีของบริษัทในสายตาผู้บริโภค และความสำเร็จเช่นอดีตที่ผ่านมาของเชลล์ได้อย่างไร

มีหลายคนกล่าวว่าผู้บริโภคไม่ได้เลือกใช้น้ำมันแต่เพียงชื่อผลิตภัณฑ์ แต่ยังดูถึงการบริการที่แตกต่าง แต่ "น้ำมัน" ที่ต้องเติมลงไปใน "รถยนต์" ที่เป็นสมบัติอีกชิ้นหนึ่งที่มีค่ายิ่งในสายตาของผู้บริโภค จะทำอย่างไรที่จะเรียก "ความเชื่อถือ" ของผู้บริโภคกลับคืนมาในเวลาสั้นๆ

จะมีผลกระทบหรือไม่และทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้บริโภคยังคงเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ของเชลล์เท่าเดิม ฯลฯ

แน่นอน ยังมีปัญหาอีกมากมายที่ท้าทายและรอคอยอนุจินต์อยู่

เขาควรจะได้พักผ่อนคอยเก็บเกี่ยวผลพวงความสำเร็จของการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่น่าภูมิใจยิ่งนี้อย่างสบายใจ ก่อนจะเกษียณในอีก 2 ปีข้างหน้า

แทนที่จะต้องมาเหน็ดเหนื่อย และเคร่งเครียด ที่คาดได้ว่าจะต้องหนักหน่วง และยากลำบากกว่าช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมามากมายนัก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.