ฐานะทางประวัติศาสตร์ของนายชิน โสภณพนิช


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

มรณกรรมของนายชิน โสภณพนิช เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม 2531 ไม่เพียงแต่จะยังความสูญเสียแก่ตระกูลโสภณพนิชเท่านั้น หากยังความสูญเสียแก่กลุ่มทุนนิยมไทยอย่างสำคัญอีกด้วย อาจจะไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า ประวัติชีวิตของนายชินก็คือ ภาพลักษณ์แห่งการเติบโตระบบทุนนิยมในประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

อัจฉริยภาพของนายชิน โสภณพนิชในด้านความสามารถในการประกอบการและความสามารถในการเก็งกำไรเป็นเรื่องที่ยอมรับกันทั่วไปแต่ดังที่นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ จำกัด ให้สัมภาษณ์นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์โดยนัยว่า ลำพังแต่อัจฉริยภาพดังกล่าวนี้คงไม่เพียงพอที่จะทำให้สมาชิกแห่งชนชั้นผู้ยากไร้ถีบตัวขึ้นมาเป็นนายทุนผู้ยิ่งใหญ่ได้ หากปราศจากโชคและจังหวะชีวิตที่เอื้ออำนวย หรือที่นายประสิทธิ์กาญจนวัฒน์กล่าวว่า "ทั้งเก่งทั้งเฮง"

ในขณะที่ "ความเก่ง" เป็นปัจจัยที่สามารถแยกแยะแจกแจงได้ แต่อะไรเล่าคือความเฮงที่นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์กล่าวถึง?

นายชิน โสภณพนิชอาจเป็นตัวอย่างของนิทานปรัมปราที่กล่าวถึงชาวจีนอพยพผู้สร้างฐานะทางเศรษฐกิจจากสภาพอันแร้นแค้นที่มีเพียงแต่ "เสื่อผืนหมอนใบ" วัฒนธรรมการทำงานและการต่อสู้ชีวิต ซึ่งหล่อหลอมขึ้นภายใจครอบครัวชาวจีน โดยได้รับอิทธิพลไม่โดยตรงก็โดยอ้อมจากศาสนาขงจื้อ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ชาวจีนอพยพเหล่านี้ยืนหยัดสู้ชวิตอย่างไม่ท้อถอยหลายคนประสบความสำเร็จในการเขยิบฐานะทางเศรษฐกิจ แต่น้อยคนนักที่ประสบความสำเร็จเทียบเท่านายชินที่สามารถไต่เต้าจากอาชีพ "พะจั๊บ" ไปสู่ยอดปิรามิดแห่งโลกทุนนิยมโดยที่เส้นทางชีวิตดังกล่าวนี้มีขวากหนามและอุปสรรคที่ต้องฟันฝ่าเป็นอันมาก ความเฮงประการแรกของนายชินคงจะอยู่ที่ข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อนายชินกำลังไต่บันไดชีวิตไปสู่ยอดพีระมิดแห่งโลกทุนนิยมในทศวรรษ 2490 นั้นหน่อของทุนนิยมในเมืองไทยยังไม่เติบใหญ ่และการรวมศูนย์ของทุนยังไม่ปรากฎ ช่วงโอกาสที่จะผลักดันตนเองไปสู่ยอดปิรามิดดังกล่างจึงยังมีอยู่ แต่ในปัจจุบัน (ทศวรรษ 2530) ระบบทุนนิยมในเมืองไทยได้ขยายตัวออกไปอย่างมาก โดยที่มีการรวมศูนย์ของทุนมากขึ้น ลำพังแต่ความสามารถในการประกอบการและความขยันขันแข็งเอาการเอางานไม่เพียงพอที่จะแปรสภาพจาก "เสื่อผืนหมอนใบ" มาเป็นธนราชันย์ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เส้นทางชีวิตของนายชิน ซึ่งเริ่มต้นเมื่อทศวรรษ 2490 ยากที่จะจำลองมาใช้ในทศวรรษ 2530 ได้ ทั้งนี้เนื่องจากสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจได้แปรเปลี่ยนไปนั่นเอง ข้อที่พึงสังเกตก็คือการรวมศูนย์ของทุนเกิดจากการเติบใหญ่ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งรวมกลุ่มโสภณพนิชไว้ด้วยการเติบใหญ่ของเศรษฐกิจของนายชินโสภณพนิชซึ่งมีส่วนไม่มากก็น้อยในการปิดช่องโอกาส "พะจั๊บ" จะแปรสภาพเป็นธนราชันย์ในเวลาต่อมา

การพึ่งพาผู้มีอำนาจทางการเมืองในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่นายชิน โสภณพนิชยอมรับอย่างเปิดเผย ทั้งนายชินก็มีความชาญฉลาดในการดูทิศทางทางการเมืองด้วย ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วงก่อนการรัฐประหารปี 2490 นายชินมีความสัมพันธ์และผลประโยชน์ร่วมกับสมาชิกคณะราษฎรระดับผู้ก่อการ แต่ภายหลังการก่อรัฐประหารปี 2490 นายชินกลับมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับกลุ่มซอยราชครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ได้ช่วยป้องกันมิให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ร่วงหล่นสู่หุบเหวแห่งความหายนะ เพราะเมื่อนายชินดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ในปี 2459 นั้นธนาคารกรุงเพท จำกัด กำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์ร้ายแรงอันเกิดจากปัญหาการขาดสภาพคล่อง แต่ด้วยความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับกลุ่มซอยราชครู นายชินก็สามารถพานาวาของธนาคารกรุงเทพ จำกัดฝ่ามรสุมทางการเงินออกไปได้ผู้ทรงอำนาจแห่งซอยราชครูได้ฉกฉวยทรัพยากรจากคลังแผ่นดินมาประคองฐานะทางธนาคารกรุงเทพ จำกัด ในปี 2496 พร้อมทั้งกดดันให้หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจนำเงินเข้าฝาก ตลอดจนบีบบังคับให้บรรดาพ่อค้าข้าวส่งออกเปิด L/C กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด โดยอาศัยอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองเช่นนี้เองธนาคารกรุงเพท จำกัด จึงสามารถเบี่ยงเบนออกจาเส้นทางแห่งหายนภัยมาได้ แต่ความสัมพันธ์ที่นายชินมีกับกลุ่มซอยราชครูกลับเป็นเหตุให้นายชินจำต้องลี้ภัยออกนอกประเทศเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยึดกุมอำนาจรัฐได้ภายหลังการรัฐประหารปี 2500 กระนั้นก็ตาม ความสามารถในการคาดการณ์ทำให้นายชินดึงพลเอกประภาส จารุเสถียรเข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการแทนพลตรีศิริ สิริโยธิน แม้นายชินต้องลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ แต่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดก็รอดพ้นปากเหยี่ยวปากกาไปได้ มิหนำซ้ำกลับสามารถเสริมฐานสำหรับการเติบใหญ่ต่อไปอีก ยิ่งภายหลังจากมรณกรรมของจอมพลสฤษดิ์และนายชินกลับคืสู่ประเทศไทยด้วยแล้ว กระบวนการรวมศูนย์ของทุนอันเกิดจากการเติบใหญ่ต่อไปอีก ยิ่งภายหลังจากมรณกรรมของจอมพลสฤษดิ์และนายชินกลับคืนสู่ประเทศไทยด้วยแล้ว กระบวนการรวมศูนย์ของทุนอันเกิดจากการเติบใหญ่ของเศรษฐกิจของกลุ่มโสภณพนิชยิ่งขยายตัวอย่างยากที่จะหยุดยั้งได้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัดไม่เพียงแต่จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั่งเป็นประธานกรรมการเท่านั้น หากยังมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั่งเป็นกรรมการอยู่ด้วย ทั้งๆ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหน้าที่พื้นฐานในการควบคุมและกำกับการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ตลอดช่วงเวลาระหว่างปี 2490-2516 ระบอบการเมืองปกครองของไทยมีลักษณะเผด็จการและคณาธิปไตยการใช้อำนาจทางการเมืองต่างๆ พากันสร้างและขยายฐานเศรษฐกิจเพื่อเสริมฐานอำนาจทางการเมืองของตน ในสภาวการร์ดังกล่าวนี้ธุรกิจมิอาจเติบโตได้เพียงด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและประสิทธิภาพการตลาด พ่อค้านายทุนทั้งหลายจึงพากันอิงแอบอยู่กับกลุ่มการเมืองกลุ่มต่างๆ เพื่ออาศัยอำนาจและอภิสิทธิ์ทางการเมืองในการสร้างกำไรทางเศรษฐกิจ นายชินก็ได้อาศัยยุทธวิธีเดียวกันนี้ในการสร้างอาณาจักรเศรษฐกิจของตน ความเฮงของนายชินคงอยู่ที่การปรับยุทธวิธีอย่างทันการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหันเข้ากลุ่มซอยราชครูหลังการรัฐประหารปี 2490 และการหันเข้าหาสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มสี่เสาเทเวศร์เมื่อกลุ่มซอยราชครูสิ้นอำนาจหลังการรัฐประหารปี 2500 ครั้นเมื่อระบอบการเมืองการปกครองของไทยเดินสู่เส้นทางประชาธิปไตยภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเดือนตุลาคม 2516 กลุ่มโสภณพนิชก็มิจำต้องพึ่งพาผู้มีอำนาจทางการเมืองอีกต่อไป

หากนายชิน โสภณพนิชมิได้มีเชื้อจีนและมีสายสัมพันธ์กับนายทุนจีนโพ้นทะเลในแถบเอเชียตะวันออกไกล กลุ่มโสภณพนิชก็คงยากที่จะเติบใหญ่ในระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ ชะตาชีวิตที่ผลักดันให้นายชินจำต้องลี้ภัยทางการเมืองในยุคสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรืองอำนาจทำให้นายชินปักหลักสร้างอาณาจักรเศรษฐกิจที่ฮ่องกงและนี่เองที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ที่ทำให้กลุ่มโสภณพนิชมีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับระบบทุนนิยมแห่งโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนายทุนจีนโพ้นทะเลมากยิ่งขึ้น ชะตากรรมทางการเมืองในด้านร้ายจึงถูกพลิกกลับเป็นชะตาเศรษฐกิจในด้านดี

เส้นทางชีวิตของนายชิน โสภณพนิชสะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์แห่งการเติบโตของระบบทุนนิยมในประเทศไทยได้ไม่น้อย นายชินผันชีวิตตัวเองจากอาชีพ "พะจั๊บ" ไปสู่นายทุนพาณิชย์จากนายทุนพาณิชย์ไปสู่นายทุนการเงิน และจากนายทุนการเงินไปสู่นายทุนอุตสาหกรรม นายทุนคนสำคัญของไทยหลายต่อหลายคนก็มีเส้นทางชีวิตในลักษณาการเดียวกัน พัฒนาการดังกล่าวนี้นับว่าแตกต่างจากทุนนิยมตะวันตก ซึ่งเส้นทางการพัฒนาเรียงลำดับจากทุนพาณิชย์ไปสู่ทุนอุตสาหกรรมและทุนการเงินในที่สุด แต่ในสังคมที่ด้อยพัฒนาและไม่มีประชาธิปไตย การเติบโตของกลุ่มทุนนิยมจำต้องอาศัยการอุปถัมภ์ทางการเมือ เส้นทางชีวิตของนายชินก็ยืนยันความข้อนี้ได้ดี ยิ่งลำพังแต่อัจฉริยส่วนบุคคลคงไม่สามารถที่จะทำให้นายชินแปรสภาพจากสมาชิกแห่งชนชั้นผู้ยากไร้ไปเป็นนายทุนผู้ยิ่งใหญ่ได้ หากปราศจากการอุปถัมภ์ทางการเมือง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.