กองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงิน มือกระบี่ที่ไร้ดาบ

โดย สมชัย วงศาภาคย์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

ในสมัยที่สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีคลัง สมัยรัฐบาลเปรมยุคแรกๆ ความเน่าเฟะของแบงก์พาณิชน์บางแห่งได้ส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งไปทั่วฝ่ายกำกับตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ของแบงก์ชาติแล้ว เจ้าหน้าที่ระดับสูงในแบงก์ชาติหลายคนอดทนไม่ไหว พยายามที่จะเข็นเครื่องมือออกมาแก้ไขคือ "กฎหมายสถาบันประกันเงินฝาก" (ที่เคยผ่านความเห็นชอบจากครม.สมัยเปรม 1 มาแล้ว แต่แท้งเสียก่อนสภาผู้แทนจะเปิด) โดยเสนอให้นายสมหมาย ในฐานะร.ม.ต.คลัง พิจารณานำเสนอเข้าครม.อีกครั้งหนึ่ง

แต่สมหมายไม่เห็นด้วยเพราะถ้าเข็นร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา ก็เท่ากับยอมรับว่าในสมัยการบริหารเศรษฐกิจการเงินการคลังของตน มีแบงก์ล้มเกิดขึ้น ซึ่งสมหมายยอมรับไม่ได้ เหตุเพราะเท่ากับว่ามันเป็นการประจานผลงานการบริหารของตนไปในตัวด้วยนั่นเอง

ว่ากันว่าแม้พลเอกเปรมในขณะนั้นจะเห็นด้วยในหลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้และกำชับให้สมหมาย พยายามพิจารณาเน้นร่างกฎหมายนี้ออกมาโดยเร่งด่วนก็ตาม แต่ก็ไร้ผล!

กำลังภายในของสมหมายนั้นเป็นที่เลื่องลือว่า เยี่ยมยุทธ์ขนาด "เตียบ่อกี๊" ยังต้องชิดซ้ายหลีกทางให้

สมหมาย ฮุนตระกูล ประเมินแล้ว ว่าเสถียรภาพของรัฐบาลเปรมไม่แข็งแกร่งเท่าไรนัก ขืนบีบให้ตนทำดังว่ามากๆ เข้า ตนจะชักไม้เด็ด ลาออกมันซะให้รู้แล้วรู้รอด รัฐบาลพลเอกเปรมก็จะพังครืนเท่านั้น

แรงหนุนสำคัญที่อยู่ข้างสมหมายในเรื่องนี้มีพลังมากไม่ใช่ใครอื่น กลุ่มสมาคมธนาคารไทยนั่นเอง นำทีมโดย ประจิตร ยศสุนทร นายกสมาคมฯ สมัยนั้น การวิ่งเต้นล็อบบี้ ให้สมหมายยับยั้งร่างกฎหมายฉบับนี้กล่าวกันว่า กลุ่มนายธนาคารเหล่านี้พยายามกันสุดเหวี่ยง และดูเหมือนว่าก็คุ้มค่าเหนื่อยจริงๆ

สมหมายหาทางออกให้พลเอกเปรมในเรื่องนี้ได้สวยโดยวิธีนำร่างกฎหมายสถาบันประกันเงินฝากมาแยกออกกล่าวคือ นำกฎหมายแบงก์ชาติมายำใหม่โดยเพิ่มอำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในฝ่ายกำกับ และตรวจสอบฐานะการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์รวมตลอดจนถึงตรวจสอบคุณสมบัติของผู้บริหาร อีกประการหนึ่งเปิดช่องให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินโดยเพิ่มมาตรานี้เข้าไปในกฎหมายแบงก์ชาติที่นำมายำใหม่นี้ควบคู่กันไปด้วย

เมื่อยำเสร็จแล้ว สมหมายก็นำเข้าครม.ล็อบบี้ร.ม.ต.ให้ทุกคนได้เข้าใจว่า ตัวร่างกฎหมายแบงก์ชาติฉบับปรับปรุงใหม่นี้มีจุดมุ่งหมายและเนื้อหาสาระไม่แตกต่างจากร่างกฏหมายสถาบันประกันเงินฝากเท่าไรนัก

งานนี้สมหมายเล่นไม่ยาก ทั้งพลเอกเปรมและร.ม.ต.ทุกคนในคณะเห็นด้วยกับสมหมายเหตุผลหนึ่ง ก็เพราะต้องการประนีประนอมและในที่สุดก็ประกาศออกมาเป็นพระราชกำหนดใช้แทนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2528

ปัญหามีอยู่ว่าที่สมหมายบอกว่ากฎหมายแบงก์ชาติส่วนที่นำมายำใหม่นี้ มีเนื้อหาสาระและจุดมุ่งหมายที่ไม่แตกต่างจากตัวร่างกฎหมายสถาบันประกันเงินฝากนั้น ยังสงสัยอยู่ เหตุผลมี 2 ประการคือ

หนึ่ง - เฉพาะในส่วนมาตราจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ แสดงถึงสถานภาพอย่างแจ่มชัดเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งในแบงก์ชาติเท่านั้น ซึ่งต่างจากสถาบันประกันเงินฝากที่ตัวร่าง ก.ม. แสดงสถานภาพของสถาบันในความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อแบงก์ชาติ แม้นว่าจะอยู่ภายใต้กรอบนโยบายระดับกว้างของกระทรวงการคลังก็ตาม

สอง -ในส่วนของ "อำนาจ" แม้นกฎหมายที่ปรับปรุงใหม่นี้ จะให้อำนาจใจการเป็น "มือปราบ" แก่ฝ่ายกำกับตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ของแบงก์ชาติมากขึ้นก็ตามทีแต่ความมีอิสระในการตัดสินใจดำเนินการของเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่รับผิดชอบ เมื่อตรวจพบความเน่าเหม็นของธนาคารพาณิชย์ก็ยังสงสัยอยู่ว่าจะกล้าหาญเข้าแก้ไขก่อนที่มันจะลามปาม เหตุเพราะต้องดูทิศทางลมของผู้ว่าการฯ และร.ม.ต.คลังเสียก่อนว่ากำลังให้ความสำคัญกับเป้าหมายใดเป็นหลัก "เข้าทำนองขืนไม่ดูตาไม้ตาเรือเสียก่อนประกาศมาตรการแก้ไขออกมาก็หน้าแตกเท่านั้น ถ้าผู้ใหญ่เบื้องบนไม่เล่นด้วย" ลักษณะเช่นนี้แสดงว่าในเบื้องลึกแม้นว่าอำนาจของฝ่ายตรวจสอบแบงก์ชาติจะมีมากขึ้น ไม่แตกต่างจากอำนาจของสถาบันประกันเงินฝากแต่ระดับ "ความรับผิดชอบ" ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาการล้มละลาย ของแบงก์พาณิชย์ย่อมแตกต่างกัน แหล่งข่าวที่ทราบเรื่องนี้ดียกตัวอย่างเปรียบเปรยให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "มันเหมือนกับคุณเป็นพ่อเป็นแม่คน เมื่อคุณรู้ว่าลูกคุณเจ็บป่วย คุณมีความกล้าหาญมากเท่ากับหมอไหม? ที่จะช่วยเยียวยาให้ลูกคุณหายเจ็บ…เรื่องระดับความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาการล่มสลายของแบงก์พาณิชย์ที่ตรวจพบนี้ ก็เหมือนกันฝ่ายกำกับและตรวจสอบแบงก์ชาติซึ่งเป็นพ่อจะมีความกล้าหาญมาก เพียงพอเท่ากับสถาบันประกันเงินฝากหรือที่จะลงมือรักษาเยียวยาถึงขึ้นผ่าตัดลูกของตนเอง…"

ยกตัวอย่างเปรียบเปรยเช่นว่านี้ เมื่อนำมาวัดดูจากประวัติศาสตร์การล่มสลายของแบงก์พาณิชย์บางแห่งดูก็มีส่วนถูกต้องไม่น้อย เช่น กรณีแบงก์เอเชียทรัสต์และนครหลวงไทย…

ความจริงที่แบงก์ทั้ง 2 แห่งนี้ ผู้บริหารบริหารกันอย่างเละเทะ แต่ละแบงก์ประสบปัญหาหนี้สูญหลายพันล้านบาทและขาดทุนจากการดำเนินงาน แต่ใช่เล่ห์เพทุบายตกแต่งบัญชีให้มีกำไรนั้น เป็นที่ล่วงรู้จากการเข้าตรวจสอบของฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ของแบงก์ชาติมาตั้งแต่ปี 2525 แล้ว ผู้ว่าการแบงก์ชาติสมัยนั้นคือนุกูล ประจวบเหมาะ ได้รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะที่แท้จริงของแบงก์ทั้ง 2 แห่งแก่ ร.ม.ต.คลัง สมหมาย ฮุนตระกูล ได้ทราบตลอดเวลา เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญที่กระทรวงการคลังจักต้องเร่งรัดให้มีการเข็นร่างก.ม.สถาบันประกันเงินฝากออกมาใช้โดยเร็ว เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์แก่ประชาชนและสกัดกั้นความแตกตื่นตระหนกของสาธารณชน

แต่เรื่องเหล่านี้ก็ถูกปกปิดไว้อย่างเงียบเชียบที่สุด…!! จนนุกูล ผู้ว่าแบงก์ชาติสมัยนั้นอดทนไม่ได้ต้องออกมาบีบบังคับโดยอาศัยอำนาจกฎหมายแบงก์ชาติมาตรา 25 ให้กลุ่มผู้ถือหุ้นแบงก์เอเชียทรัสต์ โอนหุ้นจำนวน 75% ให้แก่กระทรวงคลัง ถ้าไม่ยอมกันทางกระทรวงคลังก็จะเข้าควบคุม! (รายละเอียดเรื่องนี้ "ผู้จัดการ" ฉบับที่ 12 สิงหาคม 2527 ลงไว้ละเอียดแล้ว หาอ่านเพิ่มเติมได้) ซึ่งผลก็เป็นที่รู้กันว่า ทางจอห์นนี่ มา ผู้นำกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ไม่ยอมและพยายามเตะถ่วงเวลากับแบงก์ชาติ จนผู้ว่านุกูลต้องใช้อำนาจกฎหมายเข้าควบคุมแบงก์ดังกล่าวและเรื่องนี้ก็ทะลักออกสู่ภายนอกจนได้ จนทำให้คนแตกตื่นกันด้วยที่มีแบงก์ล้มในเมืองไทย

เมื่อกระทรวงการคลัง โดยสมหมาย ฮุนตระกูล เข็น "กองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงิน" ขึ้นมาแทน "สถาบันประกันเงินฝาก" ที่แท้งไปโดยฝีมือของตนนั้น ผู้ว่านุกูล ประจวบเหมาะก็ถูกเปลี่ยนไปเป็น กำจร สถิรกุล เรียบร้อยแล้ว ก่อนหน้านี้เพียงปีเดียว การล่มสลายของแบงก์พาณิชย์ก็เกิดขึ้นตามมาเป็นระลอกคลื่น จากเอเชียทรัสต์ มานครหลวง จากนครหลวงมามหานคร จากมหานคร มาเอเขียและกรุงเทพฯพาณิชย์การตามลำดับ ซึ่งแบงก์ 2 แห่งหลังนี้ ยังไม่ถึงกับกำลังเจ๊ง แต่ก็อยู่ในอาการที่ไม่ดี

การล่มสลายของแบงก์พาณิชย์เหล่านี้ส่วนใหญ่ทางแบงก์ชาติล่วงรู้มาก่อนหน้านี้แล้วทั้งสิ้น แต่ปกปิดไว้ จนเมื่อมีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูฯขึ้นมานั่นแหละ ความเน่าเฟะต่างๆ ในแบงก์เหล่านี้จึงปูดออกมาให้สาธารณชนได้ทราบ แม้แต่ธนาคารกรุงไทยเองก็เถอะ ตัวเลขงบดุลปี 2529 ตกแต่งบัญชีไว้สวยหรูว่ามีกำไร 200 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ขาดทุนเกือบ 1,000 ล้านบาท ก็ยังทำกันได้หน้าตาเฉย

จากกรกฎาคม 2528 ถึงธันวาคม 2530 (2 ปีเต็ม) กองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินในสถานภาพเป็นแต่เพียงเครื่องมือของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ ในการหยิบใช้เป็นกลไกในการผ่องถ่ายเงินของแผ่นดินแม้แต่บาทเดียว เพื่อไปสนับสนุนค้ำจุนกลุ่มผู้ถือหุ้นที่ประกอบการสถานะของบริษัทการเงินและแบงก์ที่กำลังจะเจ๊ง

การเป็นกลไกผ่องถ่ายเงินก็ทำกันอย่างนี้

วิธีแรก - เมื่อแบงก์ชาติใช้กฎหมายที่ปรับปรุงใหม่ (ปี 2528) สั่งลดทุนสถาบันการเงินที่กำลังเจ๊งให้เหลือหุ้นละไม่น้อยกว่า 5 บาทแล้ว ทางแบงก์ชาติก็จะสั่งให้ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารสถาบันการเงินนั้นเพิ่มทุนจำนวนหนึ่งเพื่อสร้างสภาพคล่องให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และถ้าหากการเพิ่มทุนไม่สามารถขายหุ้นได้ครบ ทางกองทุนก็จะเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนในส่วนที่เหลือนี้ จากข้อมูลในตารางเฉพาะส่วนที่เป็นแบงก์มียอดจำนวนทั้งสิ้น 3,173.7 ล้านบาท และในส่วนที่เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มียอดจำนวนทั้งสิ้น 735.9 ล้านบาท

รวมความแล้ว กองทุนฟื้นฟูได้เข้าไปช่วยเหลือโดยวิธีการซื้อหุ้นเพิ่มทุนสถาบันการเงินที่กำลังจะเจ๊งไปแล้วทั้งสิ้น 3,909.6 ล้านบาท โดยที่ยังไม่รู้อนาคตเลยว่าเมื่อไหร่เงินช่วยเหลือส่วนดังกล่าวจะมีผลตอบแทนกลับคืนมา?

เฉพาะแบงก์กรุงไทยที่แน่ๆ เงินซื้อหุ้นของกองทุนจำนวน 1,496.7 ล้านบาท ที่ซื้อหุ้นแบงก์สยามก่อนหน้าที่กระทรวงการคลังกับผู้ว่าแบงก์ชาติจะมีคำสั่งให้รวมเข้ากับธ.กรุงไทยนั้น ได้ถูกโอนเปลี่ยนมือไปให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นแทนแล้วโดยที่กองทุนมีหุ้นถืออยู่ในธนาคารกรุงไทยเหลือเพียง 940 ล้านบาทเท่านั้น…อาจมีผู้แย้งว่ามีกองทุนฟื้นฟูไม่ได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหากำไร จึงไม่จำเป็นต้องไปคำนึงถึงผลตอบแทนกลับคืนมากมายนัก!!

ซึ่งก็ถูกเพียงครึ่งเดียวสำหรับคำแย้งนี้…แต่อีกครึ่งหนึ่งนั้นต้องตระหนักว่าแหล่งที่มาของเงินทุนของกองทุนนั้นมาจากพรีเมี่ยม 0.1% ต่อปี ที่กองทุนฟื้นฟูที่อาศัยอำนาจของก.ม.แบงก์ชาติไปเก็บเอามาจากยอดเงินฝากของสถาบันการเงินที่ระดมมาได้จากประชาชนและสถาบันการเงินด้วยกัน "ปีที่แล้ว (2530) ธนาคารพาณิชย์นำเงินส่งเข้ากองทุนฯ เป็นจำนวน 981 ล้านบาทธนาคารชาตินำเงินสมทบทดลองจ่ายเข้ากองทุนฯ อีก 900 ล้านบาท รวมเงินกองทุนฯของกองทุนฯจำนวน 1,881 ล้านบาท" ศิริ การเจริญดี ผู้จัดการกองทุนฯกล่าว และค่าพรี่เมื่อม 0.1% จำนวนนี้แท้จริงแล้วมันก็คือเงินของประชาชนนั่นเอง และอีกประการหนึ่งเป็นต้นทุน OPPORTUNITY COST ที่แบงก์พาณิชย์ต้องสูญเสียไปจากการอำนวยสินเชื่อ เพราะต้องกันเงินจำนวนนั้นเข้ากองทุน ทำให้ปริมาณเงินเพื่อการปล่อยสินเชื่อลดน้อยลง "ส่วนที่ลดลงของปริมาณเงินที่จะปล่อยสินเชื่อนี้ แบงก์ก็ต้องคิดเป็นต้นทุนด้วย" แหล่งข่าวในแบงก์พาณิชย์ชั้นนำกล่าวเน้น

วิธีที่สอง - สถาบันการเงินที่กำลังเจ๊ง ฐานะการดำเนินงานมีหนี้สูญมากกว่าเงินกองทุนการฟื้นฟูให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ นอกเหนือจากเสริมสร้างสภาพคล่องโดยวิธีการเพิ่มทุนดังในวิธีการแรกแล้ว กองทุนฯก็จะพิจารณาให้การช่วยเหลือในรูปเงินกู้ยืมอัตราดอกเบี้ยต่ำ 1% /ปี หรือไม่คิดดอกเบี้ยเลยก็ได้ เพื่อให้สถาบันการเงินมีรายได้ที่แน่น่อนเพิ่มขึ้นจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของรัฐในตลาดกับอัตราดอกเบี้ยจากการกู้ยืมกองทุนฯ

วิธีการให้กู้ดอกเบี้ยต่ำหรือ SOFT LOAN เป็นอย่างนี้!!

ขั้นตอนแรก - เนื่องจากกองทุนมีเงินกองทุนไม่มากพอกับความต้องการกู้ยืมกองทุนจะหาเงินมาให้สถาบันการเงินกู้ยืมไปได้ ต้องหยิบยืมเงินทดรองจากแบงก์ชาติ "เฉพาะปีที่แล้วนี้ หยิบยืมมาแล้วประมาณ 4,000 ล้านบาท" กองทุนฯแถลงแก่ "ผู้จัดการ"

ขั้นตอนสอง - กองทุนนำยอดเงินกู้ยืมโอนเข้าบัญชีสถาบันการเงินที่ขอกู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ย 1% (หรือไม่คิดแล้วแต่กรณี) ต่อปี และสถาบันการเงินนั้นต้องนำเงินที่กู้ยืมทั้งหมดดังกล่าวไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลในอัตราดอกเบี้ย 7-8% แล้วนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้

รวมความแล้ววิธีการให้ SOFT LOAN ของกองทุนแก่สถาบันการเงิน ที่กำลังจะเจ๊งวิธีนี้ จะทำให้สถาบันการเงินมีรายได้แน่นอน (FIX INCOME) เพิ่มขึ้น 6-7% ต่อปี จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมกับตลาดของพันธบัตร

จากการตรวจสอบของ "ผู้จัดการ" พบว่า ณ สิ้นธันวาคมปีที่แล้ว (2530) กองทุนฟื้นฟูให้ SOFT LOAN แก่แบงก์พาณิชย์บางแห่ง (ดูตารางประกอบ) ไปแล้ว 14,100 ล้านบาท เพิ่มรายได้ที่แน่นอนแก่แบงก์พาณิชย์ถึงปีละ 916.5 ล้านบาท หรือถ้านับเทอมอายุการกู้ยืม 5 ปีแล้วก็ตกประมาณ 4,582.5 ล้านบาท

ดังนั้น เมื่อรวมเบ็ดเสร็จแล้ว กองทุนฟื้นฟูให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินบางแห่งเพื่อสร้างรายได้และเสริมสภาพคล่องไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 18,009.6 ล้านบาท!…เงินของประชาชนและแผ่นดินทั้งนั้น ที่นำไปช่วยต่อ "ลมหายใจ" แก่เจ้าของกิจการสถาบันการเงินแห่งนั้นๆ

เงินที่กองทุนฯ ทุ่มลงไปจำนวน 18,009.6 ล้านบาทนี้ มีประเด็นคำถามที่น่าพิจารณาอยู่ประเด็นหนึ่งคือ โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมามีแค่ไหน? ด้วยเหตุที่เงินจำนวนดังกล่าวเป็นของประชาชนและแผ่นดิน…

แหล่งข่าวที่ทราบเรื่องนี้ดีให้ความเห็นว่าต้องแยกพิจารณาออกเป็น 2 ประเด็น คือ หนึ่ง - ส่วนที่กองทุนฯซื้อกิจการจำนวน 3,909.6 ล้านบาท อาจมีโอกาสได้ผลตอบแทนกลับคืนประมาณไม่เกิน 25% ในรูปการขายหุ้นคืนแก่นักลงทุนที่สนใจหรือแม้แต่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมก็ตาม เมื่อกิจการดังกล่าวเริ่มดีขึ้นและราคาหุ้นสูงกว่าราคาทุนในระดับที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามกว่าโอกาสในระดับที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามกว่าโอกาสนั้นจะมาถึงก็คงกินเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีขึ้นไป

"ดูงายๆ ในส่วนของแบงก์มหานครและนครหลวงไทยกว่าจะแก้ปัญหาหนี้สงสัยจะสูญจำนวนประมาณ 12,500 ล้านบาทลงไปได้ก็คงต้องกินเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี" แหล่งข่าวกล่าว

เมื่อ "ผู้จัดการ" ถามต่อไปว่า แล้วกรุงไทยล่ะ! โอกาสที่กองทุนจะขายหุ้นที่เหลือ 940 ล้านบาทออกไปจะมีไหม? แหล่งข่าวให้ความเห็นด้วยเสียงหัวเราะว่า "ลืมมันเสีย"

ก็ชัดเจนดี…เพราะกรุงไทยเองกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ให้ความช่วยเหลือในปริมาณสัดส่วนที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินอื่นๆ ถึง 8,436.7 ล้านบาท และคงจะต้องช่วยต่อไปในอนาคตในส่วนที่กรุงไทยจะต้องเพิ่มทุนอีก 1,250 ล้านบาทในปีนี้ โดยที่กองทุนฯ ไม่มีสิทธิ์ในหุ้นส่วนที่เพิ่มทุนนี้เพราะต้องโอนกรรมสิทธิ์ไปให้กระทรวงการคลังแทน เพราะกระทรวงการคลังไม่มีเงินพอที่จะมาซื้อหุ้น แต่ก็ยังต้องการดำรงสิทธิ์ในการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารแห่งนี้ไม่ต่ำกว่า 75% ของเงินทุนทั้งหมด

ขณะเดียวกันเมื่อได้พิจารณาหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารฯในส่วนที่ปล่อยไปให้แก่ลูกหนี้รายใหญ่ 3 รายคือ สุระ จันทร์ศรีชวาลา พันเอกพล เริงประเสริฐวิทย์ และสว่าง เลาหทัย อีกจำนวนรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 12,000 ล้านบาทนั้น ก็แทบจะล้มประดาตายอยู่แล้ว เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับฐานะเงินกองทุน (CAPITAL FUNDS) ของธนาคารประมาณ 5,000 ล้านบาท

ที่ว่าหนี้สินจำนวนนี้ทำให้กรุงไทยแทบจะล้มประดาตายนั้นก็เพราะหนี้สินจำนวน 12,000 ล้านบาทนี้ ผู้บริหารกรุงไทยเล่นปล่อยไปโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและไม่คิดดอกเบี้ยเลย! อย่างนี้แล้วจะไม่ให้กรุงไทยขาดทุนได้อย่างไรไหว ก็ถูกแล้วที่ปลัดพนัส สิมะเสถียร ประธานบอร์ดกรุงไทยต้องยอมรับอย่างหน้าชื่นอกตรมว่า "กรุงไทยขาดทุนวันละ 1 ล้านบาท" แม้ว่าจะพูดออกมาเพื่อเล่นจิตวิทยากับทางแบงก์ชาติให้ปล่อย SOFT LOAN ออกมาจำนวน 6,000 ล้านบาทก็ช่างเถอะ!

แม้ปัจจุบันผู้บริหารกรุงไทยจะเรียกลูกหนี้ (บรรดาศักดิ์) ทั้ง 3 รายมาทำสัญญาปรับปรุงแก้ไขสภาพหนี้กันใหม่แล้วก็ตาม แต่หลักทรัพย์ของลูกหนี้ที่เพิ่งจะนำมาค้ำประกันมูลหนี้ของตนนั้นก็ยังสงสัยอยู่ว่าเป็นหลักทรัพย์ที่สะอาดสดใสไร้มลทินจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีหลักทรัพย์ของสุระ จันทร์ศรีชวาลา (รายละเอียดส่วนนี้อ่านได้จาก "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ฉบับ 7-13 ธันวาคม ซึ่งลงไว้อย่างละเอียดแล้ว)

ด้วยเหตุนี้ ฐานะของแบงก์กรุงไทยจริงๆ ในอนาคต แม้นว่าจะได้เงินช่วยเหลือจากกองทุนฟื้นฟูไปแล้วก็ตาม ก็ไม่อาจสรุปได้ลงไปตอนนี้ว่า จะดีขึ้น และมั่นคงขึ้นเพราะสิ่งแรกสุดที่กรุงไทยจะต้องรีบกระทำคือการตั้งสำรองหนี้สูญอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท

"ดูแนวโน้มความเป็นไปได้โดยการแก้ปัญหาหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 12,000 ล้านบาทของลูกหนี้ (บรรดาศักดิ์) 3 รายนี้คงสำเร็จลงได้ยาก เชื่อว่าการตั้งสำรองหนี้สูญของแบงก์คงต้องสูงกว่า 3,000 ล้านบาทแน่ แต่จะเป็นเท่าไรนั้นต้องตรวจสอบกันให้แน่ชัดอีกระยะหนึ่ง" แหล่งข่าวแสดงความเห็น

ก็อยากจะเชื่อตามความเห็นของแหล่งข่าวนี้เหมือนกัน เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพการบริหารของคณะผู้บริหารแบงก์นี้ซึ่งว่ากันว่า ไม่แตกต่างอะไรกับพวกข้าราชการในทบวง กระทรวง กรมต่างๆ กล่าวคือ อืดอาด เชื่องช้า หวงอำนาจ ลูบหน้าปะจมูก ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการบริหารในระบบราชการไทยที่มีมาช้านาน

"โธ่คุณเพียงแค่สมุห์บัญชีสาขาในต่างจังหวัดจะออกนอกเขตพื้นที่หน่อยเดียวยังต้องเสนอขออนุญาตเป็นลำดับขั้นถึงระดับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่เลย คิดดูกว่าท่านผู้ช่วยฯจะเซ็นอนุมัติลงไป สมุห์บัญชีคนนั้นไม่เดินทางไปและกลับมาเรียบร้อยแล้วหรือ?" แหล่งข่าวเล่า…ถึงเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ในประสิทธิภาพระบบการบริหารของแบงก์กรุงไทยให้ฟัง

ประเด็นที่สอง - ส่วนที่กองทุนฯให้กู้ดอกเบี้ยต่ำหรือ SOFT LOAN จำนวน 14,100 ล้านบาท ทางกองทุนฯได้ผลตอบแทนกลับคืนมาในรูปดอกเบี้ยจ่ายของสถาบันการเงินที่ต้องจ่ายปีละครั้งอย่างแน่นอนไม่มีปัญหา แต่อย่างไรก็ตามสำหรับประเด็นนี้ก็มีส่วนร่วมเป็นกรรมการในบอร์ด 1 ของสถาบันการเงินแห่งนั้นตามเงื่อนไขในการช่วยเหลือของกองทุนฯด้วย ยกตัวอย่างกรณีศิริ การเจริญดี ก็ได้รับแต่งตั้งจากคุณผู้ว่ากำจรฯให้เป็นกรรมการของบอร์ด 1 แบงก์กรุงไทย ซึ่งแม้นว่าโอกาสที่จะเข้าไปตรวจสอบฐานะการดำเนินงานของแบงก์จะมีมากขึ้นแต่ก็คงทำอะไรไม่ได้มาก

"ผมกล้าประกันเลย คุณศิริ ทำอะไรไม่ได้มาก และจะรู้ว่าผู้บริหารทำอะไรลงไปก็ต่อเมื่อได้รับรายงานเท่านั้น" อดีตคนโตแบงก์สยามให้ความเห็นมันเหมือนกับว่าโดยเนื้อแท้แล้ว สถานภาพของกองทุนฟื้นฟูฯเป็นมือกระบี่ที่ไร้ดาบเท่านั้น ไฉนเลยจะมีเพลงยุทธ์ที่เข้าต่อกรกับเหล่าบรรดามือกระบี่คนอื่นที่เต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บได้ตลอดรอดฝั่ง

"กองทุนฟื้นฟูฯมันมีแต่พระคุณ ไม่มีพระเดชหรอก" แหล่งข่าวเล่าให้ฟังเพื่อย้ำถึงสถานภาพที่แท้จริงของกองทุนฟื้นฟูฯที่ไร้อำนาจและสิทธิ์อันชอบธรรมในการเข้าไปตรวจสอบฐานะที่แท้จริงของสถาบันการเงิน ชนิดที่เรียกว่าจะมีโอกาสได้เข้าไปตรวจสอบในฐานะเป็น "มือปราบ" ของแบงก์ชาติก็ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าฯก่อน และเข้าไปเพียงในฐานะผู้ติดสอยห้อยตามเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับตรวจสอบสถาบันการเงินหรือแบงก์พาณิชย์ของแบงก์ชาติเท่านั้น

ถึงตรงนี้อยากจะถามไปยังกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติด้วยเสียงอันดังว่าจะต้องทุ่มเงินเข้าไปอีกกี่พันล้าน และสมควรจะติด "ดาบ" ให้กองทุนฟื้นฟูเขา หรือยัง?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.