|
คอลเลกชั่นงานศิลป์ของอีฟส์-แซงต์ โลรองต์ และปิแอร์ แบร์เจ
โดย
สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ในอดีต อ่านพบว่าเศรษฐีญี่ปุ่นหันมาซื้อภาพเขียนและงานศิลป์อื่นๆ ไม่เข้าใจว่าซื้อไปทำไม มีโอกาสได้สนทนากับผู้รู้ชาวเทศจึงทราบว่าการซื้องานศิลป์เป็นการลงทุนที่ดี เพราะกาลเวลาผ่านไป คุณค่าและราคาของงานศิลป์มีแต่จะเพิ่มขึ้น ต่างจากการซื้อเพชรพลอยที่ยามนำออกขายมักจะได้ต่ำกว่าราคาที่ซื้อมา ตระหนักความจริงข้อนี้เมื่อเห็นข่าวการประมูลภาพเขียนในวาระต่างๆ ซึ่งซื้อขายกันเป็นเงินหลายสิบล้านหรือกว่าร้อยล้านดอลลาร์ อาจมีผู้เห็นแย้งว่าก็เป็นผลงานของจิตรกรดัง ราคาย่อมสูงเป็นธรรมดา หากผู้รักงานศิลป์จะเริ่มสะสมตั้งแต่จิตรกรผู้นั้นยังไม่เป็นที่รู้จักคุณค่ามากับกาลเวลา
หลังจากที่อีฟส์ แซงต์-โลรองต์ (Yves Saint-Laurent) ถึงแก่กรรม ปิแอร์ แบร์เจ (Pierre Berge) นักธุรกิจที่ใช้ชีวิตร่วมกับดีไซเนอร์ดังผู้นี้ นำงานศิลป์ที่เขาและอีฟส์ แซงต์-โลรองต์ร่วมกันสะสมออกประมูลขาย โดยให้คริสตี้ส (Christie's) เป็นผู้ดำเนินการ
Christie's นำคอลเลกชั่นของอีฟส์ แซงต์-โลรองต์ และปิแอร์ แบร์เจที่จะประมูลขายไปแสดงตามเมืองใหญ่ๆ อย่าง นิวยอร์ก ลอนดอนและบรัสเซลส์ ก่อนที่จะกลับมาแสดงที่กรุงปารีสที่กรองด์ ปาเลส์ (Grand Palais) ระหว่างวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2009 ก่อนที่จะเปิดการประมูล ระหว่างวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ โดยแบ่งออกเป็น 5 หมวด กล่าวคือ หมวดภาพเขียนอิมเพรสชั่นนิสต์และโมเดิร์น ดรออิ้งโบราณและศตวรรษที่ 19 อาร์ตเดโก (arts decoratifs) ศตวรรษที่ 20 เครื่องทอง และงานศิลป์อื่นๆ Christie's ประเมินมูลค่าคอลเลกชั่นนี้ไว้ถึง 300 ล้านยูโร โดยยึดราคาที่ซื้อขายในตลาดและไม่ได้คำนึงมูลค่าที่อาจเพิ่มขึ้นด้วยว่าเป็นคอลเลกชั่น ของดีไซเนอร์ดังของฝรั่งเศส
ประชาชนที่เข้าชมคอลเลกชั่นงานศิลป์ของอีฟส์ แซงต์-โลรองต์และปิแอร์ แบร์เจมีถึง 25,000 คน และต้องเข้าแถวคอยถึง 4 ชั่วโมงจึงจะได้เข้าบริเวณที่แสดงนิทรรศการ ใครๆ ก็อยากเห็นรสนิยมด้าน ศิลป์ของอีฟส์ แซงต์-โลรองต์
ปิแอร์ แบร์เจ สะสมงานศิลป์ตั้งแต่ก่อนรู้จักกับอีฟส์ แซงต์-โลรองต์เสียอีก งานศิลป์ชิ้นแรกที่ทั้งสองร่วมซื้อ คือไม้แกะสลักเป็นนกด้วยช่างชาวโกตดิวัวร์ (Cote d'Ivoire) หรือไอโวรีโคสต์ (Ivory Coast) นั่นเอง นับว่าทั้งสองเป็นนักสะสม งานศิลป์แอฟริการุ่นแรกๆ
พลันที่ภาพงานศิลป์บางภาพเผยแพร่ไป รัฐบาลจีนเรียกร้องขอคืนรูปปั้นบรอนซ์รูปหัวกระต่ายและหัวหนู ซึ่งถูกขโมยจากพระราชวังฤดูร้อนระหว่างที่กองทัพฝรั่งเศสและอังกฤษบุกเข้าเผาในปี 1860 ส่วนสมาคมพิทักษ์ศิลปะจีนในยุโรปได้ยื่นฟ้องต่อศาลให้ระงับการประมูล ทว่าศาลฝรั่งเศสได้ตัดสินให้มีการประมูลได้
หัวสัตว์บรอนซ์ทั้งสองชิ้นนี้ประดับน้ำพุในพระราชวังฤดูร้อนซึ่งจักรพรรดิราชวงศ์จิงขอให้นักบวชเจซูอิตส์ (jesuites) สร้างพระราชวังสไตล์ยุโรปให้ ผู้ออกแบบบ่อน้ำพุคือ บาทหลวงชาวฝรั่งเศสชื่อมิเชล เบอนัวต์ (Michel Benoist) และผู้ออกแบบ รูปปั้นหัวสัตว์บรอนซ์ที่ประดับน้ำพุคือ จูเซปเป กาสติกลีโอนี (Giuseppe Castiglione) นักบวชชาวอิตาลี มีทั้งหมด 12 หัวด้วยกัน อันเป็นสัญลักษณ์ของปีนักษัตร ปัจจุบันได้พบร่องรอยของหัวสัตว์ 7 หัว ประกอบด้วยหัวลิง วัว หมู เสือและ ม้า ซึ่งมีการซื้อขายที่ฮ่องกงและนิวยอร์กในปี 1987 และ 2007 ผู้ซื้อหัวม้าที่ฮ่องกงในปี 2007 คือ สแตนลีย์ โฮ (Stanley Ho) มหาเศรษฐีเจ้าของกิจการกาสิโนในมาเก๊า และมอบคืนแก่รัฐบาลจีน หัวสัตว์เหล่านี้ จัดแสดงที่ Poly Art Museum กองทัพจีนเป็นผู้ก่อตั้ง อีฟส์ แซงต์-โลรองต์และปิแอร์ แบร์เจซื้อรูปปั้นหัวหนูและกระต่ายมาพร้อมหนังสือรับรอง
พลันที่การประมูลสิ้นสุดลง รัฐบาลจีนก็ออกมาประณามการประมูลขายรูปปั้น หัวหนูและกระต่าย และกล่าวว่า Christie's ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการประมูลครั้งนี้จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และพึงคำนึงถึงผลกระทบต่อ การก่อตั้ง Christie's ในประเทศจีน ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนได้ติดต่อกับ Christie's ขอให้ระงับการประมูลงานศิลป์ทั้งสอง ทว่า Christie's ยังดึงดันให้มีการประมูลงานศิลป์ ที่ถูกขโมยไปจากจีน ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศจะต้องคืนงานศิลป์ดังกล่าวแก่ประเทศต้นกำเนิด การกระทำของ Christie's ก่อความเสียหายแก่วัฒนธรรมของชาวจีนยังความไม่พอใจแก่ประชาชนทั้งประเทศ
การประมูลงานศิลป์ที่อีฟส์ แซงต์-โลรองต์และปิแอร์ แบร์เจสะสมทำเงินได้ถึง 373.5 ล้านยูโร มากกว่าที่ประเมินไว้ รูปปั้นหัวหนูและกระต่ายแต่ละหัวขายได้ 15.7 ล้านยูโร ผู้ประมูลได้เป็นนักสะสมศิลปะจีน และเป็นเจ้าของบริษัทประมูลขนาดเล็กในเซียะหมิงทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน เขาให้สัมภาษณ์นักหนังสือพิมพ์ว่า ได้ทำหน้าที่ของชาวจีนแล้ว และคิดว่าไม่ว่าชาวจีนคนไหนก็คงทำอย่างที่ตนทำ และเขาจะไม่จ่ายเงินประมูลแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ของกองทุนสมบัติชาติของจีนได้ย้ำคำพูดของนักธุรกิจชาวจีนผู้นี้ โดยจะไม่ยอมจ่ายเงินเพื่อนำรูปปั้นทั้งสองกลับประเทศ อย่างไรก็ตาม Poly Art Museum เคยจ่ายเงิน 5.4 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อรูปปั้นหัวนักษัตร 3 หัว
ผู้ประมูลต้องนำเงินมาชำระภายใน 1 สัปดาห์ ในกรณีรูปปั้นหัวนักษัตรนี้มีการยืดเวลาเป็นหนึ่งเดือน หากนักธุรกิจชาวจีน ผู้นี้ไม่นำเงินมาชำระงานศิลป์ 2 ชิ้นจะกลับเป็นสมบัติของปิแอร์ แบร์เจ
ในการประมูลงานศิลป์ซึ่งเอกชนสะสมแต่ละครั้ง รัฐบาลฝรั่งเศสต้องตรวจสอบว่างานศิลป์ดังกล่าวได้รับอนุญาตให้นำ ออกนอกประเทศหรือไม่ งานศิลป์ที่อยู่ในฝรั่งเศสนานกว่า 50 ปี รัฐสามารถไม่ออกหนังสือให้นำออกนอกอาณาจักรได้ และจัดเป็นสมบัติของชาติ ทว่าในกรณีของงานศิลป์ที่อีฟส์ แซงต์-โลรองต์และปิแอร์ แบร์เจสะสมไว้ไม่ค่อยน่าสนใจสำหรับพิพิธภัณฑ์ฝรั่งเศส จึงไม่เข้าข่ายนี้ ภาพเขียนของมงเดรียง (Mondrian) เลเจร์ (Leger) ปิกัสโซ (Picasso) ในคอลเลกชั่น ของอีฟส์ แซงต์-โลรองต์และปิแอร์ แบร์เจ อยู่ในฝรั่งเศสไม่นานพอที่จะประกาศให้เป็น สมบัติของชาติได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฝรั่งเศสได้เข้าร่วมประมูลงานศิลป์ครั้งนี้ และประมูลได้งานศิลป์เพียง 7 ชิ้นเท่านั้น การเลือกประมูลจะถูกกำหนดโดยภัณฑารักษ์ทั้งหลาย ทั้งนี้โดยไม่ได้คำนึงว่าเป็นผลงานสะสมของดีไซเนอร์ใหญ่ หากคำนึงถึงคอลเลกชั่นที่สมบูรณ์ซึ่งรัฐมีอยู่ ด้วยเหตุนี้รัฐจึงมิได้ประมูลซื้อภาพเขียนของอองรี มาติส (Henri Matisse) ทั้งนี้เพราะพิพิธภัณฑ์โมเดิร์นอาร์ต (Musee national d'art moderne) มีผลงานของมาติสมากอยู่แล้ว หรือภาพพอร์เทรตของแองเกรอะส์ (Ingres) ซึ่งพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) ก็มีมากพอสมควรและเพิ่งขอให้เอกชนช่วยซื้อภาพพอร์เทรตของจิตรกรผู้นี้เป็นเงินถึง 19 ล้านยูโร เป็นต้น
ในการประมูลซื้องานศิลป์ครั้งนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสได้อนุมัติงบประมาณ 13 ล้านยูโร ซึ่งนับว่ามากสำหรับงบประมาณที่จัดสรรให้ในแต่ละปีเพียง 40-45 ล้านยูโรสำหรับการจัดซื้องานศิลป์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|