เมื่อกรุงเทพฯ อายุ 300 ปี

โดย วิมล อังสุนันทวิวัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

นับจากวันที่เริ่มสร้างกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2325 มาถึงวันนี้ เมืองหลวงแห่งนี้มีอายุถึง 226 ปีแล้ว กรุงเทพฯ ก่อกำเนิดขึ้นมาท่ามกลางไฟกรุ่นของสงครามระหว่างไทยกับพม่าที่ยังคงดำเนินอยู่ไม่เสร็จสิ้น การวางแผนสร้างเมืองในช่วงเริ่มแรกจึงไม่ได้เกิดจากการคิดเพ้อฝันขึ้นมาลอยๆ หากทว่ามีแรงบันดาลใจจากอาณาจักรอยุธยาอันรุ่งเรืองมาก่อนหน้านี้ ประกอบเข้ากับความจำเป็นในการปกป้องตนเองจากข้าศึกศัตรู ทั้งจากภายนอกและภายในราชอาณาจักรที่ยังรุกรบไม่เลิกรากันง่ายๆ

แม้อยุธยาซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าจะถูกไฟแห่งสงครามเผาผลาญจนเหลือแต่เศษซาก หากทว่าวิญญาณแห่งความรุ่งเรืองอลังการของมันได้สืบต่อมายังกรุงเทพฯ ดังปรากฏให้เห็นในงานศิลปะและสถาปัตยกรรม รวมถึงแบบแผนการสร้างชุมชนช่วงต้นรัตนโกสินทร์

ทุกวันนี้หากเราไปเดินท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่าแถบริมน้ำเจ้าพระยา เราจะยังได้สัมผัสกับบรรยากาศที่อวลไปด้วยความทรงจำข้ามกาลเวลา เล่าขานเรื่องราวที่เคยดำเนินมาในอดีต ผ่านรูปทรงของอาคารบ้านเรือนหรือวัดวาอารามที่มีรูปลักษณ์แตกต่างไปตามยุคสมัย ผ่านผู้คนที่อยู่อาศัยและดำเนินชีวิตในชุมชนแถบละแวกนั้น เป็นภาพที่แม้จะดูจำเจ แต่ทว่ามันก็ค่อยๆ คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในพื้นที่ของเมือง

กรุงเทพฯ ทุกวันนี้กลายเป็นเมืองที่ทันสมัยไม่แพ้เมืองใดในโลกภายในตัวเมืองคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากทั่วสารทิศ ทั้งชาวต่างจังหวัดจากทุกภาคและชาวต่างประเทศจากทั่วโลก มาอยู่กินใช้ชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย แม้ว่าเศรษฐกิจและการเมืองจะเป็นอย่างไรก็ตาม เมืองแห่งนี้ไม่เคยหยุดนิ่งมาจนถึงปัจจุบัน...กรุงเทพฯ กลายเป็น "สวรรค์เมืองฟ้าอมร" สมชื่อเมืองกันแล้วหรือไม่

ไม่ว่ากรุงเทพฯ จะเป็นเช่นไรแต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ประทับใจ ในความเป็น "กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร" จนในที่สุดหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ก็ได้รังสรรค์เรื่องราวกรุงเทพฯ กว่า 200 ปีที่แล้วมาร้อยเรียงเล่าขานผ่านงานศิลปะในนิทรรศการ "กรุงเทพฯ 226" เพื่อสัมผัสให้เข้าถึงจิตวิญญาณแห่งเมืองว่างดงามหรืออัปลักษณ์เพียงใด หรือมีอะไรแฝงเร้นในเงาสลัวของชีวิตเมืองที่ดำเนินไปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หากกรุงเทพฯ ยังมีอายุยืนยาวต่อไปได้อีก 100 ปี กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2625 จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ถ้าจะต้อง จินตนาการจากสภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่

งานศิลปะที่นำมาจัดแสดงแบ่งเป็น 4 โซน คือ

โซนแรก กรุงเทพฯ ปฐมบท (Bangkok Early Days)

เป็นช่วงเริ่มสถาปนากรุงธนบุรีโดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จนถึงช่วงสถาปนาและสร้างกรุงรัตนโกสินทร์โดยรัชกาลที่ 1 งานศิลปะของโซนนี้จะมีอายุระหว่าง พ.ศ.2325-2111 โดยเสนอเรื่องราวผ่านภาพวาดแผนที่ที่เขียนโดยชาวต่างชาติในยุคดังกล่าว แผนที่จากสายลับพม่าและภาพถ่ายต่างๆ รวมถึงศิลปะงานช่างสาขาต่างๆ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม

จุดสำคัญคือ งานประติมากรรมพระเศียรพระเจ้าตากสิน โดยฝีมือของ อ.ศิลป์ พีระศรี, ภาพรัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์และภาพรัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างพระนคร

ศิลปะในยุคนี้ได้สะท้อนภาพกรุงเทพฯ ที่ยังคงได้รับอิทธิพลจากสมัยอยุธยามาอย่างต่อเนื่อง แล้วคลี่คลายต่อเติมด้วยศิลปะแบบจีนมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะมีการติดต่อค้าขายกันอย่างกว้างขวางและสร้างสรรค์ความเป็นตัวตนในยุครัตนโกสินทร์เข้าผนวกไว้ ด้วยการลดทอนรูปแบบบางอย่างลงเนื่องด้วยเป็นช่วงที่ยังมีการศึกสงครามอยู่จนสิ้นรัชกาลที่ 3 สงครามกับรอบข้างจึงสงบลงอย่างสิ้นเชิง เช่น พระพุทธรูปสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ดูเรียบง่าย ไม่ได้ทรงเครื่องครบถ้วนอย่างสมัยอยุธยาอีกแล้ว

โซนที่สอง กรุงเทพฯ ทันสมัย (Modernized Bangkok) และพระนครวันวาน (Nostalgic Past)
ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ในราวพุทธศตวรรษที่ 25 หรือนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในหมู่ชนชั้นนำ โดยได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมาก เริ่มมีการสร้างพระพุทธรูปในแบบที่ดูสมจริงเหมือนมนุษย์ งานศิลปะจำนวนมากได้รับอิทธิพลจากสภาพสังคมดังกล่าว โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน วัดหรือวัง ล้วนมีการสร้างสรรค์ตามอย่างตะวันตกปรากฏให้เห็นทั่วไป งานศิลปะในส่วนนี้มีทั้งภาพวาด งานประติมากรรม และแบบจำลองสถาปัตยกรรม

ภาพเมืองกรุงเทพฯ โดยรวมจึงสะท้อนให้เห็นความงามแบบโบราณอย่างมีแบบฉบับของมันเองที่แตกต่างจากสมัยอยุธยา แล้วเลื่อนไหลคลี่คลายให้เห็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ โดยหลีกหนีไม่พ้นอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งส่งผลให้งานศิลปะเกิดรูปลักษณ์ที่มีความแตกต่างแบบราวฟ้ากับดินในช่วงข้ามเส้นแบ่งแดนแห่งการปกครอง สาระที่สะท้อนผ่านงานศิลปะจากเรื่องราวในวรรณคดี หรือชนชั้นนำ ก็คลี่คลายมาสู่การนำเสนอภาพชีวิตใกล้ตัวที่พบเห็นได้ทั่วไปมากขึ้นทุกที

โซนที่สาม เส้นขอบฟ้าใหม่ (New Bangkok Skyline)
นับตั้งแต่ พ.ศ.2523-ปัจจุบัน ประเทศก้าวเข้าสู่ช่วงที่การสื่อสาร การคมนาคมและการค้ากับต่างประเทศทั่วโลกมีความก้าวหน้ามาก งานศิลปะของกรุงเทพฯ มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย โดยศิลปินได้สะท้อนภาพความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสภาพสังคม ที่เอาไปผูกโยงกับการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติอย่างกว้างขวางเป็นอันมากนั่นเอง

กรุงเทพฯ สะท้อนภาพความเป็นเมืองมากขึ้น ผู้คนในเมืองเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต จากการพึ่งพาธรรมชาติตามแม่น้ำลำคลอง หันไปสู่การพึ่งพิงเทคโนโลยีอันทันสมัย กินอยู่กันในตึกระฟ้าสูงมากขึ้นทุกที ด้วยรูปแบบที่แปลกแยกจากตัวตนดั้งเดิมไปเรื่อยๆ ซึ่งมาพร้อมกับการปกครองแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในชีวิต ความเป็นอยู่ มีการสัญจรหลักโดยทางถนนที่แออัดมากขึ้น มีมลพิษมากขึ้น งานศิลปะจึงเต็มไปด้วยมุมมองที่หลากหลาย มีทั้งด้านความงามและความเสื่อมที่มาคู่กับความเจริญของเมือง

ความงามของเมืองจึงปรากฏขึ้นบนความขัดแย้งของการดำรงอยู่และกลบฝังหรือทำลายอัตลักษณ์เดิมที่เคยสร้างสมมาตั้งแต่ช่วงต้นยุคให้ค่อยๆ หมดไป รวมถึงศิลปินพยายามมุ่งสะท้อนภาพความใฝ่ฝันถึงการโหยหาอดีตอันรุ่งเรืองให้หวนกลับมาอย่างมองไม่เห็นทางออกที่เป็นรูปธรรมในอนาคต ความสับสนยุ่งเหยิงของเมืองจึงยังดำรงอยู่ต่อไปและนับวันจะขยายตัว มากขึ้นทุกที

โซนที่สี่ กรุงเทพฯ ในฝัน (Dream Bangkok)
ดูเหมือนว่าในสายตาของศิลปินเกือบทั้งหมด มุ่งสะท้อนความในใจถึงการไม่ยอมรับความเป็นไปของกรุงเทพฯ ในปัจจุบันตามที่เป็นอยู่ ศิลปินหลายคนพยายามจินตนาการ ถึงกรุงเทพฯ ในความฝันว่ามันควรเป็นอย่างไรในอนาคต ด้วยอารมณ์ลีลายั่วล้อเสียดสีที่ปรากฏในผลงาน

งานที่จัดแสดงในส่วนนี้มีทั้งงานสื่อผสม ภาพพิมพ์ ภาพวาด งานที่สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคการตกแต่งภาพถ่าย หรือแบบจำลองภาพเมืองกรุงเทพฯ ใน พ.ศ.2625 ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 แนวคิด เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ที่สะท้อนถึงความวิตกต่อปัญหากรุงเทพฯ ว่าจะยิ่งทับทวีและหวนระลึกถึงความงามในอดีตว่าจะทำอย่างไรให้ย้อนกลับคืนมา ถ้าเพียงแต่คนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ในวันนี้จะตระหนกและเกิดความตระหนักในการมาร่วมมือกันสร้างสรรค์วิถีชีวิตใหม่ อย่างเข้าใจถึงแก่นแท้ของจิตวิญญาณแห่งเมือง

ศิลปินเชื่อว่าความงามของเมืองเป็น "สิ่งที่เลือกกำหนดได้" จึงเปิดทางเลือกให้ผู้เข้าร่วมชมงานมาร่วมสร้างสรรค์ชิ้นงานผ่านสื่อผสมรูปแบบต่างๆ ในบางชิ้นงานที่จัดแสดง เพื่อเตือนให้ระลึกได้ว่าการสร้างเมืองไม่ใช่ภารกิจ เฉพาะของใครเพียงคนเดียว แต่ทุกคนที่เข้ามาสู่เมือง คือ ผู้ร่วมสร้างความงามหรือความเสื่อมได้เท่ากัน ถ้าหากเพียงแต่คุณจะตระหนักถึงหน้าที่ของ "พลเมือง" อย่างแท้จริง เมืองจะดำรงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน ซึ่งอีกกว่า 100 ปีข้างหน้า กรุงเทพฯ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าวันนี้คนในเมือง มี "สำนึกพลเมือง" กันแค่ไหน

กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2625
งานนิทรรศการครั้งนี้ได้จัดกิจกรรมด้านศิลปะที่เกี่ยวเนื่องหลากหลาย เพื่อขยายความจิตวิญญาณแห่งเมืองให้โดดเด่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านวรรณกรรม ละคร หรือการสร้างโมเดลจำลองภาพกรุงเทพฯ ในอีกเกือบ 100 ปีข้างหน้าว่าจะมีหน้าตาออกมาอย่างไร เพื่อสะท้อนภาพกรุงเทพฯ จากสภาพที่เห็นอยู่ ด้วยการสร้างโมเดลจำลองพื้นที่เขตดินแดง คลองเตย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและสยามสแควร์ ขนาด 1x1 เมตร อัตราส่วน 1:5,000 ซึ่งวิธีการนี้เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกนิยมทำกันมานานแล้ว เพื่ออธิบายภาพอนาคตของเมือง แล้วนำไปจัดแสดงให้ประชาชนทุกคนมีส่วนเข้าร่วมวิพากษ์วิจารณ์ และนำไปปรับสร้างเมืองให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยได้จริงต่อไป โดยแบ่งออกเป็น 4 แนวคิด ดังนี้

แนวคิดแรก...โดย Apostrophe's
เน้นหนักไปทางการนำปัญหาปัจจุบันของกรุงเทพฯ มาขยายให้มากขึ้นแบบสุดโต่ง กรุงเทพฯ ในอนาคตจึงมีตึกสูงกว่าปัจจุบันเป็นสองเท่า มีบริเวณที่เป็น Entertainment City เช่น แหล่งอาบอบนวดอย่างโดดเด่น มีเส้นทางให้รถราเข้าถึงแหล่งต่างๆ ของเมืองให้สะดวกยิ่งกว่าปัจจุบัน โดยเน้นการใช้ชีวิตอยู่ในโลกีย์วิสัย หรือทุนนิยมสุดโต่ง เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาของกรุงเทพฯ ว่าเกิดจากการควบคุมผังเมืองที่ไร้ผล ถ้าจะแก้ปัญหานี้ได้ทุกคนในเมืองต้องมาช่วยกันตอบว่าต้องการอยู่กันอย่างไรในอนาคต

แนวคิดที่สอง... โดย This design Co., Ltd
เมืองมีตึกสูงเสียดฟ้า พื้นเมืองที่ติดพื้นดินอาศัยอยู่กันหนาแน่นมากขึ้น โครงสร้างพื้นฐานในอนาคตจะพัฒนาต่อยอดจากของเดิม ดังนั้นจะมีโครงข่ายทางด่วนลอยฟ้าและรถไฟฟ้ามากขึ้น เหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยวพันกันขดไปขดมายิ่งกว่าปัจจุบัน มีแหล่งบันเทิงเริงรมย์ที่ทันสมัยใจกลางเมืองที่เข้าถึงได้สะดวกสบาย มีแหล่งพลังงานใหม่ๆ มาหล่อเลี้ยงเมือง คนเข้าชมสามารถร่วมต่อเติมโมเดลเล่นได้ตามใจ จะคล้ายๆ กับแนวคิดแรก ทั้งการนำเสนอรูปแบบปัญหาและการแสวงหาทางออกเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมกันสร้างสรรค์

แนวคิดที่สาม... โดย phdstudio
จะเห็นว่าเมืองในปัจจุบันขยายไปอย่างกระจัดกระจาย ไม่มีทิศทาง เมื่อมีการตัดถนนสายใหม่ ก็จะมีหมู่บ้านจัดสรรเกาะไปตามถนนสายหลักที่เชื่อมออกมาจากกรุงเทพฯ และมีสิ่งก่อสร้างเกาะงอกออกมาเรื่อยๆ อนาคตน่าจะโตกระจัดกระจายขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ

ตัวเนื้อเมืองจะประกอบด้วยชั้นล่างสุดเป็นถนน มีต้นไม้นิดหน่อย มีอาคารติดดิน เพราะคนไทยยังติดที่จะอยู่บ้านติดดิน ถ้าโตจนหนาแน่น ก็มีโครงสร้างพื้นฐานที่ลอยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทางยกระดับ รถไฟลอยฟ้า มีไฮไลต์ใจกลางเมือง เป็นพวกธุรกิจและอาคารสำนักงาน ถ้าเมืองโตขึ้นไปอีกก็จะแน่นไปเรื่อยๆ แต่บอกไม่ได้ว่า "ความยั่งยืน" ของเมือง อยู่ตรงไหน คนจะใช้ชีวิตอยู่ได้จริงๆ หรือเปล่า

จากสภาพปัจจุบันมีสัดส่วนพื้นที่มีพื้นที่ สีเขียวอยู่บ้าง มีโลว์ไลต์ (บ้านติดดิน) มีไฮไลต์บ้าง เมืองขยายโดยคงสัดส่วนเดิมอยู่อย่างนี้ แล้วก็จำลองภาพเมืองเดิมนี้สะท้อนหัวกลับไปข้างบน เป็น 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นเมืองคนจนชั้นบนเป็นเมืองคนรวย มีตึกสูงมากมายเรียงรายแน่นขนัดทั้งสองชั้น โดยชั้นบนเป็นเมืองหัวกลับ ถูกปิดด้วยตาข่ายเหมือนรวงผึ้ง มีโครงสร้างพื้นฐานทันสมัยยิ่งกว่าที่เห็นในปัจจุบัน เน้นโครงข่ายถนน ถนนลอยฟ้า รถไฟฟ้า

โมเดลนี้ชี้ให้เห็นสภาพปัญหาของกรุงเทพฯ ว่าเป็นเมืองที่โตมาจากการวางผังแบบเกษตรกรรมและไม่มีการวางผังเมืองที่ดีตามมาทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย ปัจจุบันราคาที่ดินสูงมากจึงยากต่อการวางผังใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเวนคืนที่ดิน การเป็นเจ้าของที่ดิน การแก้ปัญหามลพิษ แนวคิดนี้จึงตอบโจทย์กลุ่มผู้แย่งชิงการใช้พื้นที่เดียวกัน เป็นวิธีที่จะรบกวนผังเมืองเดิมน้อยที่สุด

แนวคิดที่สี่...โดย S+PBA
แนวคิดนี้ทำโมเดลออกมาเป็นงานสถาปัตยกรรม 80% และนำเสนอความคิดเชิงศิลปะ 20% โดยมีความเชื่อว่ากรุงเทพฯ จะมีวิถีทางพัฒนาของมันเอง เพราะมีลักษณะเป็น Bio Complex City เป็นเมือง Hybrid ที่ไม่มีใครเหมือน ไม่ว่าจะดีหรือไม่ มันจะมีหน้าตาที่ไม่เหมือนเมืองทุกเมืองในโลกที่เคยรู้จัก เพียงแต่ไม่มีใครเคยถามว่า "กรุงเทพฯ จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร" และมักชอบเอาโจทย์ ของทุกที่ในโลก เช่น โจทย์ของเมืองฝรั่ง เมืองญี่ปุ่น มาใส่เป็นโจทย์ของไทย แล้วคิดกันไปต่างๆ นานา

เนื้อโมเดลนี้ไม่สูงเท่าแบบอื่น เพราะคิดโดยยึดหลักสภาพชั้นดินจริงของเมืองกรุงเทพฯ ที่จะไม่สามารถรองรับการสร้างเมืองที่สูงมากไปกว่านี้ ในโมเดลมีวัสดุ 2 อย่าง คือแท่งไม้และแท่งโลหะเป็นโครงหลัก แล้วมีวัสดุที่เป็นโครงสร้างเล็กๆ กระจายเต็มไปหมด แทบไม่เห็นพื้นที่เมืองเดิมเลย

ที่มาของแนวความคิดนี้มาจากความสะเทือนใจที่เคยเห็นเพื่อนข้างบ้านทะเลาะกัน สุดท้ายมีคำพูดออกมาว่า "คนกรุงเทพฯ แล้งน้ำใจ" คนออกแบบสะท้อนความรู้สึกว่า

"จะเห็นว่าเราได้เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลก ภูมิใจกันทั้งชาติ ผมเป็นคนเดียวหรือเปล่าที่ไม่รู้สึกภูมิใจตรงนี้ เพราะผมเคยเห็นฝรั่งที่อยู่เมืองตัวเองแต่งตัวอย่างดีเรียบร้อย จะมาเข้าออกโรงแรม แต่คนคนเดียวกัน ใส่กางเกงขาก๊วยลากแตะเข้าโรงแรมชั้นหนึ่งของเรา อยากข้ามถนนตรงไหนก็ข้าม พอใช้รถขับปาดซ้ายปาดขวา จอดในที่ห้ามจอด ตำรวจเรียกปุ๊บเห็นเป็นฝรั่งรีบโบกให้ไป บางคนเรียกเมืองกรุงเทพฯ ว่า "เป็นเมืองใช้แล้วทิ้ง"

ความคิดนี้เกิดขึ้นกับฝรั่งอย่างเดียวหรือเปล่า คนไทยก็คิด กรุงเทพฯ คือประเทศไทย คนต่างจังหวัดเข้ามาอยู่เต็มไปหมด เข้ามาอยากจะทำอะไรก็ทำ สุดท้ายก็บอกว่า "เมืองกรุงแล้งน้ำใจ กลับบ้านดีกว่า" หมายความว่า กรุงเทพฯ เป็น Common Area ของคนทั้งโลกและของคนไทยด้วยกันเองเมืองนี้ยอมให้คุณทำได้หมด แล้วก็ทิ้งกรุงเทพฯ ไว้ คอยด่าว่ามันต่างๆ นานา นี่ไม่ใช่วิธีการพัฒนากรุงเทพฯ เราควรสะท้อนจิตใจออกมาให้ได้ว่า กรุงเทพฯ ควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร"

โมเดลนี้ไม่ได้สะท้อนภาพปัญหา แต่สร้างความใฝ่ฝันถึงกรุงเทพฯ ในหน้าตาที่ควรจะเป็นให้เป็นประเด็นเปิดทางว่า ควรประกอบด้วยของ 2 สิ่ง คือสถาปัตยกรรมที่เป็นแกนหลักของเมือง เช่น Infrastructure โรงพยาบาล หน่วยราชการ พิพิธภัณฑ์ พื้นที่เขตพระ-ราชฐาน สถานที่สำคัญต่างๆ ส่วนที่เหลือเป็น Multi Purpose Area ทุกอย่างเป็น Temporary Structure หมด

ดังนั้นภาพรวมจึงมี Common Area ขนาดใหญ่ แล้วถูกรุกเข้ามาด้วย Temporary Structure ซึ่งจัดการให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้ง่าย สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย เน้นการเปิดพื้นที่ที่เป็น Public Area ที่แท้จริงด้วยกิจกรรมของเมืองร่วมกัน ให้มีความปลอดภัย ตอบสนองคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะเชื่อว่าในความไร้ระเบียบก็มีการจัดระเบียบโดยตัวมันเองอยู่ เพียงแต่สถาปนิกต้องตอบโจทย์ วิถีชีวิตผนวกเข้าไปกับการสร้างฟอร์มและฟังก์ชัน ทำให้งานไม่ได้จบลงเพียงแค่กรอบ ของวัตถุที่จับต้องได้เท่านั้น พื้นที่รอยต่อระหว่างอาคารถ้าจัดการได้ดี ก็มีหน้าตาที่งดงามไม่เหมือนใครในโลกได้เช่นกัน

จากแนวคิดทั้งหมดที่นำเสนอ คงพอจะทำให้มองเห็นภาพกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2625 กันได้ชัดเจน จะเห็นว่าในความไร้ระเบียบจนอัปลักษณ์ของกรุงเทพฯ นั้นก็ยังแฝงเร้นระเบียบโดยตัวของมันเอง สีสันที่หลากหลายของความแตกต่างที่มาอยู่รวมกันได้ ภายใต้กลิ่นอายของอิสรภาพและความสนุกสนานที่ไม่อาจหาได้จากที่ใดในโลก ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่มีหน้าตาไม่เหมือนใคร

กรุงเทพฯ ในอนาคตจะยังดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างไร วันนี้คุณจะเป็นคนหนึ่งที่เข้ามามีส่วนร่วมจัดการเมืองด้วยกันไหม หรือจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนที่มุ่งแต่จะเข้ามาหาประโยชน์แล้วจากไป ทิ้งความอัปลักษณ์ทับถมทวีจนไม่รู้ว่าอีกกว่า 100 ปี จะยังมีกรุงเทพฯ ให้อาศัยกันได้อีกต่อไปหรือไม่

หากเกิดความตระหนกและตระหนักขึ้นในหัวใจกันบ้างแล้วก็ถึงเวลาเสียทีที่จะลุก ขึ้นมาร่วมกันค้นหา "คุณค่าที่แท้จริงของเมือง" ว่าคืออะไร และอะไรคือสิ่งที่ควรสืบทอดให้ดำรงอยู่ต่อไป อะไรเป็นสิ่งที่ต้องขจัดขัดเกลาออกไป ไม่มีสูตรสำเร็จว่าเคยทำที่อื่นได้ จะสำเร็จได้แน่ในกรุงเทพฯ อย่างที่มักจะชอบไปฝากความหวังไว้กับชาติอารยะทั้งหลายที่นิยมทำกันในหมู่นักวิชาการ นักพัฒนา ข้าราชการ นักธุรกิจและนักการเมืองในโครงการพัฒนาเมืองที่ผ่านๆ มา และโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกในเร็วๆ นี้

เพราะทุกสิ่งที่ปรากฏพบเห็นได้ในพื้นที่เมือง มันคือ "วิถีชีวิต" ที่อยู่ร่วมกันของคนทั้งหมด ไม่ใช่อำนาจการบริหารจัดการในมือของกลุ่มใดกลุ่มเดียว เมืองจึงกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลมหายใจและมีปฏิกิริยาตอบโต้สื่อสารกับผู้คนตลอดอายุขัยของมัน เฉกเช่นเดียวกันกับการดำรงอยู่ของมวลสิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนผืนโลก อัตลักษณ์ของเมืองจึงไม่ใช่เป็นเพียงหน้าตาของสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏขึ้นเท่านั้น หากมันคือ "วัฒนธรรม" ของกลุ่มคนในพื้นที่เดียวกันอันเป็นมรดกแห่งชีวิตที่จะสืบทอดสู่คนรุ่นหลังในที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.