|
twitter: ยักษ์เล็กคว่ำยักษ์ใหญ่
โดย
ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ตอนที่ผมเล่น twitter ใหม่ๆ นั้น ผมเห็นมันเป็นของเล่นจริงๆ เพราะตอนนั้น twitter ก็เหมือนการหาเพื่อนกลุ่มใหม่ เพียงแต่เราจะมีกิจกรรมที่แตกต่างจากเว็บไซต์แนวโซเชียลเน็ตเวิร์คอื่นๆ ในแง่ที่เราจะบอกเพื่อนๆ ในกลุ่มของเราว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ เช่นเดียวกับที่เราจะติดตามความเป็นไปของเพื่อนๆ ผ่านการบอกเล่าของเพื่อนด้วยเช่นกัน
จากหนทางปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับกลุ่มเพื่อนนี้กลายเป็นช่องทางในการนำ มาประยุกต์ใช้งานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการ โฆษณาประชาสัมพันธ์ การสร้างกลุ่มเพื่อน ใหม่ผ่านเพื่อนในกลุ่มของเราในลักษณะเดียวกับ hi5 ที่สามารถเข้าไปดูว่า เพื่อนใน กลุ่มของเรากำลังติดตามชีวิตของใคร ถ้าสนใจก็เข้าไปติดตามต่อกันเป็นทอดๆ ได้
ดังนั้น twitter จึงไม่ใช่แค่ของเล่นในกลุ่มเพื่อนเท่านั้น แต่ตอนนี้มันกำลังจะกลายเป็นอะไรมากมายที่เหล่าผู้ประกอบการในซิลิกอนวัลเลย์และอีกหลายล้านคนทั่วโลกเฝ้ามองอย่างไม่กะพริบตา พวกเขามองว่า twitter จะกลายเป็นกูเกิ้ลสองหรือเฟซบุ๊ก (Facebook) สอง หรือเป็นอะไรสักอย่างที่เป็นการผสมผสานของทั้งกูเกิ้ลและเฟซบุ๊กและกำลังจะไร้เทียมทานในอนาคตอันใกล้นี้
อาจกล่าวได้ว่า twitter เป็นบริการบล็อกขนาดจิ๋วเพราะจำกัดจำนวนตัวอักษรในการส่งแต่ละครั้ง ซึ่งสามารถใช้เป็นช่องทางระบายอารมณ์ได้ นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางในการติดตามความเป็นไปในโลกนี้ได้อีกด้วย twitter ยังเป็นช่องทางที่ใช้ในการแสดงออกถึงประสบการณ์ร่วมในการทำกิจกรรมหรือใช้บริการสินค้าและบริการต่างๆ ได้ด้วยโดยเฉพาะการแสดงออกแบบเรียลไทม์ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเพิ่งไปใช้บริการโรงแรมหรือร้านอาหารมาหยกๆ ความรู้สึก ณ เวลา นั้นสามารถแสดงออกเป็นข้อความสั้นๆ ผ่าน twitter ให้คนทั่วไปได้รับรู้ ซึ่งเทคโนโลยีความก้าวหน้าด้านคอมพิวเตอร์และการสื่อสารในปัจจุบันก็ทำให้เราไม่จำเป็นต้องเดินไปหาเครื่องคอมพิวเตอร์ในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่มาส่ง เพราะเราสามารถส่งข้อความสั้นๆ เหล่านั้นผ่านโทรศัพท์มือถือได้เลย
การที่เป็นบล็อกขนาดจิ๋วซึ่งมีข้อจำกัดของจำนวนตัวอักษรก็ทำให้การแสดงออกผ่าน twitter จะต้องใช้คำสั้นๆ ที่สื่อความหมาย
นอกจากนี้หลายคนยังใช้ twitter ในการพูดคุยประสบการณ์การใช้สินค้าแบรนด์ต่างๆ โดยเป็นความรู้สึก ณ ขณะเวลาที่ใช้ความรู้สึกโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการใช้สินค้านั้นๆ ที่สำคัญสินค้าแบรนด์ต่างๆ เหล่านั้นก็ต้องการรับรู้ถึงความรู้สึกเหล่านี้เช่นกัน และพวกเขาก็ต้องการตอบสนองความรู้สึกนั้นๆ ทันที รวมถึงการอรรถาธิบายสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น นี่อาจเป็นช่องทางในการติดตามพฤติกรรมผู้บริโภค และใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาปรับปรุงสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่งได้ด้วย
twitter นั้นจะมีส่วนที่เรียกว่า search.twitter.com ซึ่ง twitter ซื้อ Summize ซึ่งเป็นเสิร์ชเอ็นจิ้นอีกตัวหนึ่งไว้ตั้งแต่กลางปีที่แล้วและความสามารถของ Summize มาใช้ในส่วนค้นหาของพวกเขา โดยส่วนค้นหาของ twitter นี้จะช่วยให้สามารถตามติดพฤติกรรมและความนึกคิดของผู้บริโภคได้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับผู้ใช้งานทั่วไปก็สามารถค้นหาข่าวสารความเป็นไปในช่องค้นหานี้ได้เช่นกัน
twitter เริ่มเห็นช่องทางทำมาหากิน โดยพวกเขาพยายามสร้างโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ จากช่องทางที่เปิดเพิ่มเติมขึ้นมา ก่อนหน้านี้พวกเขาอาศัยรายได้ส่วนหนึ่งจากผู้ใช้ที่มีแอคเคาน์พิเศษรวมถึงกลุ่มที่ต้องการใช้งานฟังก์ชันพิเศษๆ แต่ตอนนี้ twitter พยายามที่จะรวบรวมฐานสมาชิกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ก่อน ปัจจุบันมีสมาชิกที่ลงทะเบียนถึงหกล้านรายทั่วโลก รวมถึงการรวบรวมความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ ให้มากที่สุดเช่นกัน โดยข้อมูลเหล่านี้ ถือว่ามีมูลค่ามหาศาลมากและตอนนี้ดูเหมือน twitter จะเป็นผู้ครอบครองข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านี้เพียงรายเดียว ซึ่งกูเกิ้ลรวมทั้งคู่แข่งอีกหลายๆ เจ้ายังไม่สามารถทำได้
ที่ผ่านมากูเกิ้ลได้แสดงให้เห็นมาตลอดว่า พวกเขาสามารถทำเงินจากเสิร์ชเอ็นจิ้นได้ โดย 40 เปอร์เซ็นต์ของโฆษณาออนไลน์ในทุกวันนี้จะทุ่มลงไปกับการโฆษณาผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้นทั้งสิ้น นั่นหมายความว่า twitter กำลังเปิดพรมแดนการต่อสู้ครั้งใหม่ในโลกออนไลน์
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ twitter จะต้องพิจารณาก็คือไม่ใช่แค่โฆษณาเท่านั้นที่สามารถทำเงินได้บนอินเทอร์เน็ต แต่สำหรับข้อมูลที่พวกเขาครอบครองอยู่นี้ พวกเขาต้องพยายามหาเครื่องไม้เครื่องมือที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นให้มากที่สุด นั่นก็เป็นสิ่งที่เหล่าสินค้าแบรนด์ต่างๆ กำลังรอคอย
Scout Labs และหน่วยงานวิจัยอีกหลายๆ แห่งกำลังพยายามทำสิ่งนี้เช่นกัน พวกเขามองว่าบนอินเทอร์เน็ตนั้นเต็มไปด้วยการพูดคุยมากมายตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง แน่นอนว่าในบรรดาการพูดคุยเหล่านั้นจะต้องมีบ้างที่พวกเขาพูดถึงสินค้าแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง แล้วทำอย่างไรเราถึงจะรับรู้จึงสิ่งที่พวกเขาพูดคุยกันอยู่แล้วพวกเขาพูดอะไรกันบ้าง
Scout Labs สร้างแอพพลิเคชั่นบนเว็บซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อทำให้เราสามารถติดตามสิ่งที่พวกเราพูดคุยกันบนอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เพื่อช่วยให้เราสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของเรา รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าด้วย Scout Labs เน้นการเก็บข้อมูลทั้งด้านบวกและลบที่พูดถึงแบรนด์ต่างๆ ในรูปของบล็อก, วิดีโอ และภาพ
พวกเขาจะกำหนดหัวข้อขึ้นมาว่าจะเก็บมาจากแบรนด์ไหนบ้าง เช่น อาจจะเป็นสิ่งของ เช่น โค้ก, บุคคลอย่างฮิลลารี คลินตัน หรือสโลแกนอย่าง 'Just Do It' เป็นต้น จากนั้นนำหัวข้อนั้นย้อนไปค้นหาย้อนหลังในแต่ละช่วงเวลาที่กำหนด
แต่ละเรื่องของแบรนด์นั้นๆ จะถูกจัดเป็นกลุ่มโดยแสดงในรูปของ Dashboard เราสามารถดูได้ว่า ในแต่ละบล็อก, วิดีโอ หรือภาพต่างๆ ในเว็บไซต์ทั่วโลกพูดถึงอย่างไรบ้างกับสินค้าแบรนด์นั้นๆ นอกจาก นี้ยังดูด้วยว่าความคิดเห็นต่างๆ นั้นลดลงหรือเพิ่มขึ้นในแต่ละช่วงเวลาอย่างไรบ้าง Scout Labs สามารถวิเคราะห์ถึงว่าแต่ละบล็อก, วิดีโอ หรือภาพต่างๆ ที่พูดถึงแบรนด์นั้นๆ พูดถึงในแง่ดี, ร้าย หรือกลางๆ นำไปสู่การให้ค่าแต่ละบล็อกว่าจะส่งผลต่อแบรนด์มากน้อยเพียงใดด้วย โดยส่วนหนึ่งใน Dashboard ของ Scout Labs อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจาก twitter
ลองคิดดูนะครับว่า ถ้าเราสามารถวิเคราะห์ว่าข้อความที่แสดงความเห็นกันใน twitter เป็นบวก, ลบ หรือกลางๆ ได้ ที่สำคัญนี่เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ด้วย มูลค่าของข้อมูลเหล่านั้นจะมหาศาลเพียงใด
ก่อนหน้านี้การวิเคราะห์แบรนด์ต่างๆ นี้มักจะเป็นในลักษณะใช้แรงงานคนมากกว่า โดยเหล่าที่ปรึกษาต่างๆ จะอาศัยการเก็บข้อมูลข่าวสารเรื่องราว อ่านเอาข้อมูลและนำข้อมูลมารวบรวมและวิเคราะห์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลามากพอสมควร ต้องติดตามข้อมูลเรียลไทม์เป็นระยะเวลายาวนานเพื่อเอามาวิเคราะห์หลังจากนั้นอีกหลายเดือน ที่สำคัญมีต้นทุน ในการดำเนินการสูงมาก Scout Labs รวมถึงระบบอื่นในลักษณะเดียวกันกำลังจะมาทำให้เราทำงานง่ายขึ้น เร็วขึ้น และต้นทุนต่ำลง อย่างไรก็ตาม ความยากก็ยังอยู่ที่เราจะวิเคราะห์มันออกมาได้อย่างไรให้เที่ยงตรงที่สุด
ปัจจุบันมีคู่แข่งในตลาดวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ เช่น Umbria, Buzzlogic และ Nielsen BuzzMetrics เป็นต้น ซึ่งตลาดนี้คงต้องแข่งขันกันอีกนาน และเราก็กำลังรอคอยผลิตภัณฑ์ชั้นเลิศออกมา
ความเคลื่อนไหวแบบมาแรงแซงทางโค้งของ twitter ส่งผลให้เฟซบุ๊กจำเป็น ต้องเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในเว็บไซต์ของพวกเขาซึ่งเปรียบเสมือนการต้อนรับน้องใหม่อย่าง twitter อย่างเป็นทางการ
ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเฟซบุ๊ก ประกาศการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ในเว็บไซต์ของพวกเขาตั้งแต่โฮมเพจ, หน้าโปรไฟล์ข้อมูลรวมถึง activity ต่างๆ ว่ากัน ว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการเข้ามาสู่วงการอย่างเป็นทางการของ twitter ในฐานะที่เป็นระบบกระจายข้อความแบบเรียลไทม์ (a real-time message broadcasting system) ซึ่งเฟซบุ๊กวิเคราะห์ว่า twitter กำลังเติบโตมากกว่าการเป็นแค่การติดต่อในวงเพื่อนๆ เท่านั้น และส่งผลกระทบกับพวกเขาอย่างแท้จริง
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเฟซบุ๊ก ได้แก่ การทำให้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางเชื่อมต่อระหว่างแฟนๆ ของเหล่าดารานักร้อง รวมถึงสินค้าแบรนด์ต่างๆ ด้วย ซึ่ง twitter ทำตัวเป็นช่องทางการติดต่อที่สำคัญในลักษณะนี้ โดยอาศัยความสามารถที่ทำให้เหล่าแฟนๆ อัพเดตข้อมูลเรื่องที่พวกเขา สนใจนั้นได้แบบทันท่วงที หรือแบบเรียล ไทม์มาก่อน
นอกจากนี้เฟซบุ๊กยังเพิ่มความเร็วและความถี่ของการอัพเดตข้อมูลข่าวสารที่ส่งไปยังหน้า Personal ของแต่ละคนด้วย ก่อนหน้านี้ในส่วนนี้เฟซบุ๊กจะอัพเดตทุกๆ สิบนาที ซึ่งเป็นเวลาที่ช้าเกินกว่าความต้องการของคนใช้งานทั่วไป เฟซบุ๊กจึงนำเสนอการอัพเดตแบบเรียลไทม์ รวมทั้งระบบการติดตามความเคลื่อนไหวของสมาชิกรายอื่น ซึ่งถือเป็นการเลียนแบบฟังก์ชันของ twitter อย่างแท้จริง
ก่อนหน้านี้ twitter ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของเฟซบุ๊กที่พวกเขาต้องการจะเข้าครอบครอง โดยพวกเขาเคยได้รับข้อเสนอจำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่พวกเขาก็ปฏิเสธไป ในเมื่อเฟซบุ๊กซื้อ twitter ไม่ได้ พวกเขาก็หันมาสู้แทน โดย Live Feed เป็นอีกฟังก์ชันหนึ่งที่เฟซบุ๊กหวังว่าจะมาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของ twitter ได้
เช่นเดียวกับที่กูเกิ้ลก็ต้องการจะครอบครอง twitter เช่นกัน โดยสิ่งที่กูเกิ้ลต้องการจาก twitter ก็คือการเป็นเสิร์ชเอ็นจิ้นแบบเรียลไทม์นั่นเอง ถึงวันนี้กูเกิ้ลช่วยทำให้คำถามเกี่ยวกับการค้นหาสิ่งต่างๆ เป็นภาพที่เห็นชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กูเกิ้ลทำได้เพียงแค่ค้นหาสิ่งที่ได้ทำเป็นรูปหน้าเว็บเพจเรียบร้อยแล้วเท่านั้น โดยกูเกิ้ลจะอาศัยเทคโนโลยีของตนในการเก็บข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ในฐานข้อมูลของพวกเขา แต่ถ้าเราต้องการหาข้อมูลในสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นล่ะ นั่นคือเรากำลังจะก้าวไปสู่การค้นหาแบบเรียลไทม์ ซึ่ง twitter ก็เป็นคำตอบของเรื่องนี้ twitter กำลังจะตอบคำถามที่ว่า "คุณกำลังทำอะไรอยู่" ได้
เรื่องของ twitter เรื่องของเสิร์ชเอ็นจิ้นแบบเรียลไทม์และเรื่องของการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคกำลังเป็นประเด็นที่พูดคุยกันอย่างออกรส โดยเฉพาะ การมองหาโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ
นี่อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งในโลกอินเทอร์เน็ต
อ้อ...อย่าลืมติดตามชีวิตของผมได้ที่ http://twitter.com/ikkechai นะครับ
อ่านเพิ่มเติม :
1. Manjoo, F. (2009), 'What is the Heck is twitter?: It's not a Google killer, and it's not a facebook killer, http://www.slate.com/id/2213036/
2. Arrington, M. (2009), It's time to start thinking of twitter as a search engine,' http://www.techcrunch.com/2009/03/05/its-time-to-start-thinking-of-twitter-as-a-search-engine/
3. Arrington, M. (2008), 'Confirmed: twitter acquires Summize search engine,' http://www.techcrunch.com/2008/07/15/confirmed-twitter-summize-search-engine/
4. Hendrickson, M. (2009), 'Scout Labs Brand Tracker Now Generally Available,' http://www.techcrunch.com/2009/02/18/scout-labs-brand-tracker-now-generally-available/
5. Scout Labs, http://www.scoutlabs.com/
6. Umbria, http://www.umbrialistens.com/
7. Buzzlogic, http://www.buzzlogic.com/
8. Nielsen BuzzMetrics, http://www.nielsen-online.com/
9. Schonfeld, E. (2009), 'facebook's Response to twitter,' http://www.techcrunch.com/2009/03/04/facebooks-response-to-twitter/
10. Battelle, J. (2009), 'Twitter=YouTube,' http://battellemedia.com/archives/004832.php
11. Battelle, J. (2008), 'From Static to Realtime Search,' http://battellemedia.com/archives/004738.php
12. O'Brien, C. (2009), 'O'Brien: How Twitter could be a threat to Google,' http://www.mercurynews.com/opinion/ci_11776452?nclick_check=1&forced=true
13. twitter, http://twitter.com/
14. Facebook, http://www.facebook.com/
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|