|

ธนาคารฟันน้ำนม ธุรกิจแห่งอนาคต
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
"ถ้าฟันน้ำนมหลุดให้ขว้างขึ้นไปบนหลังคา เพื่อจะได้ให้ฟันใหม่งอกออกมาแทน" หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับฟันน้ำนมที่ผู้ใหญ่บอกกล่าวเมื่อครั้งวัยเด็ก
เด็กๆ หลายคนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงแล้วก็ทำตาม แต่บางคนก็คิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหล
ฟันน้ำนมเมื่อในอดีตหากหลุดไปก็ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์แต่เมื่อเวลาล่วงเลย ผ่านหลายสิบปีวิทยาการเริ่มมีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ฟันน้ำนมที่เคยมองว่าไม่มีประโยชน์และทิ้งไว้บนหลังคา
มาวันนี้ฟันน้ำนมกลายเป็นสเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิดที่ปลูกถ่ายให้กลายเป็นเนื้อเยื่อหรืออวัยวะสำคัญของร่างกายเพื่อใช้ในการรักษาโรคต่างๆ
เซลล์ต้นกำเนิดแบ่งออกเป็นหลายชนิดแต่มีเซลล์ชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาไปเป็นเนื้อเยื่อและอวัยวะอื่นได้มากกว่า 200 ชนิด
ซึ่งเรียกเซลล์ต้นกำเนิดนี้ว่า มีเซนไคมัส (Mesenchymal)
มีเซนไคมัสมาจากแหล่งต่างๆ ของร่างกาย อาทิ ไขกระดูก เลือดจากสายสะดือ เนื้อเยื่อไขมันและฟันน้ำนม
จากผลการวิจัยอ้างว่าเซลล์ต้นกำเนิดสามารถรักษาโรคเกี่ยวกับเหงือกและฟัน โรคเพดานโหว่ โรคอัลไซเมอร์ อัมพฤกษ์ การบาดเจ็บของไขสันหลัง กล้ามเนื้อลีบ โรคข้อกระดูกและโรคที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน
ด้วยผลงานที่อ้างอิงถึงการรักษาโรคจึงทำให้ นพ.กำพล ศรีวัฒนกุล มีความคิดที่จะนำผลงานจากหิ้งไปสู่ห้าง ด้วยการแปรเปลี่ยนงานวิจัยไปสู่ธุรกิจ บริษัทจึงมีแนวคิดจัดตั้งบริษัทเพื่อเป็นธนาคารรับฝากฟัน
จากประกายความคิดดังกล่าว นพ.กำพลเริ่มศึกษาประโยชน์ของสเต็มเซลล์ที่เกิดจากฟันน้ำนมและเริ่มเสาะหาข้อมูลจริงจนกระทั่งได้พบกับบริษัท ไบโออีเดน อิงค์ จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการจัดเก็บสเต็มเซลล์จากฟันน้ำนมเป็นรายแรกของโลก
เขาเริ่มพูดคุยกับ ดร.เพชรินทร์ ศรีวัฒนกุล พี่สาวแท้ๆ อดีตนักวิจัยเพาะเลี้ยงเซลล์ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และปัจจุบันยังเป็นที่ปรึกษาให้กับสถาบันดังกล่าว
แต่พี่สาวของเขาไม่เห็นด้วยที่จะเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์เพื่อนำไปรักษาคนไข้ เพราะในวงการแพทย์หมอจำนวนมากยังไม่ยอมรับวิธีการรักษาดังกล่าว
หลังจากได้คุยกับพี่สาวหลายครั้ง เพื่อชี้ให้เห็นประโยชน์ของสเต็มเซลล์ที่จะมีต่อวงการแพทย์ในอนาคตและมีหมอหลายกลุ่มเริ่มยอมรับการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ ทำให้ ดร.เพชรินทร์เริ่มมีความคิดเห็นคล้อยตามและตกลงใจร่วมทุนกับ นพ.กำพลในที่สุด
นพ.กำพลและ ดร.เพชรินทร์เดินทางไปเจรจาเพื่อขอซื้อแฟรนไชส์ทำธุรกิจดังกล่าวในประเทศไทยและกลุ่มประเทศในเอเชีย
หลังจากได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี นพ.กำพลริเริ่มจัดตั้งบริษัทไบโออีเดน เอเซีย จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจธนาคารจัดเก็บและแช่แข็งเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากฟันน้ำนมและฟันคุด
บริษัทเริ่มเปิดบริการอย่างเป็นทางการเดือนตุลาคม 2551 แต่เริ่มรับดูแลจัดเก็บฟันเมื่อเดือนมกราคม 2552 ที่ผ่านมา
โครงสร้างการบริหารงาน นพ.กำพล ทำหน้าที่เป็นประธานดูแลด้านนโยบายและการตลาด ส่วน ดร.เพชรินทร์เป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการ (Laboratory Director)
บริษัทมีเป้าหมายใช้เงินลงทุนจำนวน 20 ล้านบาทและในช่วงเริ่มต้นบริษัทใช้เงินลงทุนจำนวน 10 ล้านบาทเป็นเงินที่เก็บจากน้ำพักน้ำแรงของเขาและพี่สาวส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินร่วมทุนจากกลุ่มทันตแพทย์ ส่วนอีก 10 ล้านบาทกู้โดยไม่มีดอกเบี้ย
เงินกู้ไม่มีดอกเบี้ยเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินที่ผ่านการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)
นพ.กำพลบอกกับ ผู้จัดการ 360 ํ แม้ว่าธุรกิจรับฝากฟันจะเป็นที่รู้จักและนิยมในต่างประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยจะต้องใช้เวลาก่อให้เกิดการยอมรับในกลุ่มบุคคลทั่วไปรวมไปถึงหน่วยงานแพทย์ ทั้งภาครัฐและเอกชนด้วย
เพราะธุรกิจที่ต้องอ้างอิงกับวงการแพทย์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความรู้อย่างมากเพื่อให้เกิดการยอมรับและนพ.กำพลก็เชื่อว่าต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน
"การรักษาด้วยการฝังเข็มเมื่อ 20 ปีก่อนไม่มีใครเชื่อว่าจะรักษาโรคได้ แต่มาวันนี้ได้รับความนิยม ก็เหมือนเช่นการรักษาโรคด้วยสเต็มเซลล์ก็ต้องใช้เวลาเช่นเดียวกัน"
นพ.กำพลยอมรับว่าธุรกิจที่เขาทำนี้เป็นธุรกิจที่ผู้ลงทุนจะต้องไม่มีความโลภหวังผลกำไรในเวลา 2-3 ปี เป็นธุรกิจเสี่ยงสูงและเขาเชื่อว่าหากเขานำโครงการนี้ ไปเล่าให้กับสถาบันการเงินฟัง แน่นอนว่าไม่มีสถาบันการเงินไหนปล่อยเงินกู้อย่างแน่นอน
แต่หลังจากได้รับการแนะนำจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติให้ธุรกิจดำเนินงานในรูปแบบเชิงนวัตกรรมผสมผสานกับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงทำให้บริษัทเริ่มต้นทำงานควบคู่ไปกับงานวิจัย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติให้ทุนสนับสนุน 1.2 ล้านบาทเพื่อศึกษาวิธีการจัดเก็บ จัดส่ง และพัฒนากระบวนการจัดเก็บแช่แข็งฟันให้อยู่นาน ขณะที่ สวทช. สนับสนุนด้านอุปกรณ์ นักวิจัย และให้เช่าสถานที่ราคาไม่แพงเพื่อจัดทำห้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
สถานที่ดังกล่าวยังมีบทบาทในการจัดเก็บฟันน้ำนมและฟันคุด
การให้บริการจัดเก็บฟันคุดเป็นบริการใหม่ที่บริษัททำการวิจัยและคิดค้นขึ้นมาเอง โดยมี ดร.เพชรินทร์เป็นผู้คิดค้นขึ้นมาซึ่งแตกต่างจากบริษัท ไบโออีเด็น อิงค์ที่จัดเก็บได้เพียงฟันน้ำนม
ความสามารถในการจัดเก็บฟันคุดทำให้บริษัท ไบโออีเดน อิงค์ ซื้อลิขสิทธิ์ดังกล่าวไปให้บริการในต่างประเทศ ทำให้ต้องจ่ายผลตอบแทนให้กับบริษัทไทยด้วย
ขณะเดียวกันบริษัทก็ต้องจ่ายค่าแฟรนไชส์คืนกลับให้กับบริษัท ไบโออีเดน อิงค์เช่นเดียวกัน โดยบริษัทจะจ่ายให้ 3% จากรายได้เป็นระยะเวลา 5 ปี
เหตุผลที่บริษัทเลือกให้บริการรับฝากฟันน้ำนมและฟันคุดมากกว่ารับฝากเซลล์จากไขกระดูก เม็ดโลหิตหรือเลือด สายรกเพราะการจัดเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากฟันไม่เจ็บปวดสามารถปล่อยให้ฟันหลุดเองและมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดเก็บจากเซลล์อื่นๆ
ในด้านการรักษาฟันน้ำนมสามารถพัฒนาเป็นเซลล์สมองและสเต็มเซลล์จากลูกหลานที่เกิดจากฟันน้ำนมยังสามารถให้กับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย โดยไม่มีการปฏิเสธ เมื่อเปรียบเทียบกับการรับเซลล์จากบุคคลอื่นจะมีโอกาสที่เซลล์จะทำงานร่วมกันได้อยู่ในระดับที่มีความเป็นไปได้ประมาณ 1 ต่อ 5 หมื่น (1: 50000)
ในด้านการตลาดบริษัทชูแนวคิดการฝากฟันเป็นการจัดเก็บเพื่อตนเองและเพื่ออนาคต
ฟันน้ำนมมีทั้งหมด 20 ซี่ แต่ฟันที่มีประสิทธิภาพในการเก็บรักษาจะมีทั้งหมด 6 ซี่ ฟันหน้าล่างและบนแถวละ 6 ซี่
ฟันน้ำนมจะเกิดขึ้นกับเด็กในอายุระหว่าง 5-13 ปี ซึ่งไทยมีประชากรเด็กประมาณ 9 ล้านคน
ส่วนฟันคุดเป็นฟันที่สามารถจัดเก็บสเต็มเซลล์ได้เช่นเดียวกันและฟันคุดเกิดจากฟันกรามซี่สุดท้ายที่เกิดจากเด็กวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 17-21 ปี หากไม่เกิดในช่วงนี้จึงเรียกว่าฟันคุด
ในการทำตลาดบริษัทจะเน้นจัดเก็บฟันน้ำนม โดยกำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะต้องจัดเก็บฟันได้ 20-30 ซี่ต่อเดือน แต่เป้าหมายไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะสถานการณ์ไม่เอื้อจากภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลงกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงรวมทั้งปัญหาการเมือง
บริษัทตั้งเป้าหมายระยะยาวไว้ว่าจะต้องจัดเก็บฟันได้จำนวน 600 ซี่ ที่จะทำให้บริษัทถึงจุดคุ้มทุนโดยในปีแรกจะจัดเก็บจำนวน 300 ซี่
รายได้หลักของบริษัทคือค่าบริการจัดเก็บฟัน
ค่าบริการที่บริษัทกำหนดไว้สำหรับผลิตภัณฑ์ชุดจัดเก็บฟันน้ำนมและฟันคุด และบริการคัดแยกและเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดจำนวน 35,000 บาทต่อซี่ ค่าบริการจัดเก็บเซลล์ต้นกำเนิดระยะเวลา 1 ปี 5,000 บาท
ลูกค้าที่เลือกจัดเก็บระยาวตั้งแต่ 1 ปีถึง 20 ปี ค่าบริการ 70,000 บาทต่อซี่
อุปสรรคในการทำธุรกิจนี้คือไม่สามารถโฆษณาหรือไปสัญญาในเอกสารให้ความรู้ว่าสเต็มเซลล์สามารถรักษาอะไรได้เพราะจะเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค
ด้วยวิชาชีพที่เป็นแพทย์และอดีตรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหิดล ส่วน ดร.เพชรินทร์เป็นนักวิจัยที่สถาบันโรคมะเร็งที่ทำงานเพาะเลี้ยงเซลล์มาระยะยาว ทำให้ นพ.กำพลเลือกเน้นที่จะให้ความรู้ด้วยการจัดอบรมและผู้ฟังสนใจก็จะแนะนำให้ติดต่อกับบริษัท รวมไปถึงการมีเว็บไซต์และเขียนหนังสือก็เป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถเล่าประสบการณ์งานวิจัยได้
นพ.กำพลตระหนักอยู่เสมอว่าธุรกิจสเต็มเซลล์เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์เป็นเรื่องอ่อนไหวและไม่สามารถยอมรับได้ในระยะเวลาอันสั้น
หลักการทำการตลาดของบริษัทจะไม่หวือหวา เน้นสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยสร้างความเข้าใจให้กับหมอรวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์
อีกด้านหนึ่งเป็นการทำการตลาดให้รู้จักในวงกว้างมากขึ้น โดยบริษัทเริ่มจากจับมือกับคลินิกทันตแพทย์ที่มีเชนกระจายไปทั่วเมือง อาทิ ทองหล่อ เด็นตัล บิลดิ้ง สีลม เด็นตัลบิลดิ้ง และศูนย์ทันตกรรมพญาไท
ตามเป้าหมายจะต้องมีคลินิคทันตแพทย์ที่มีสาขารวมกันประมาณ 100 แห่ง ซึ่งขณะนี้ร่วมมือกันแล้ว 20-30 แห่ง แผนการทำการตลาดของ นพ.กำพล ไม่ได้ให้บริการเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่บริษัทได้รับสิทธิจากบริษัท ไบโออีเดน อิงค์ ให้สามารถบริการลูกค้าในกลุ่มเอเชียได้ ส่วนบริษัท ไบโออีเดน อิงค์จะดูแลตลาดในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ส่วนประเทศ อังกฤษจะดูแลลูกค้าในกลุ่มยุโรป
การทำตลาดในต่างประเทศ บริษัทจะใช้สหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นแหล่งอ้างอิงเพื่อให้ลูกค้ายอมรับ แม้ นพ.กำพล ตระหนักดีว่าความสามารถของคนไทยไม่ด้อยกว่าทั้งสองประเทศที่กล่าวก็ตาม
การทำการตลาดในต่างประเทศบริษัทมองว่าประเทศในเอเชียมีความกล้าที่จะรักษาโรคภัยด้วยสเต็มเซลล์ อาทิ ไทย จีน อินเดีย บริษัทจึงมีแนวคิดที่จะให้บริการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการรักษา
นพ.กำพลคาดการณ์ไว้ว่าจะร่วมมือกับพันธมิตรโรงพยาบาลในประเทศได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า
ธุรกิจรับฝากฟันเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจสเต็มเซลล์ นพ.กำพลเชื่อว่าต้องรอคอยอย่างอดทนจึงจะประสบความสำเร็จในระยะยาว
เขายอมรับว่าความสำเร็จในธุรกิจนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเขาอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันเขามีอายุ 60 ปีและ ดร.เพชรินทร์มีอายุ 65 ปี
ความสำเร็จผลิดอกออกผลตกทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน แต่เขาคาดหวังไว้ลึกๆ ในใจก็คือความภูมิใจที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองและวงศ์ตระกูล
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|