สก๊อตต์ & เกษม อัดประสิทธิ์ สงครามเดิมพันสูงที่ไม่ต้องคำนึงถึงสายสัมพันธ์เก่า

โดย สุดจิตร์ ไชยตระกูลชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

"บิสสิเนส อีส วอร์" (BUSINESS IS WAR) ยังคงเป็นสัจจธรรมของโลกธุรกิจ และเมื่อเป็นสงคราม สายสัมพันธ์ต่อให้แนบแน่นขนาดไหนก็สะบั้นได้อย่างไม่มีเยื่อใย ประวัติศาสตร์ในอดีตได้บันทึกไว้หลายบทหากจะหวนย้อนกลับไปพินิจกันให้ถ่องแท้

เหตุการณ์บางอย่างเพียงแต่รอวันเวลาของการปะทุ สำคัญว่าอะไรจะเป็นชนวนเท่านั้น!!!

ประสิทธิ์ ณรงค์เดช ปีนี้อายุ 53 เกิดที่อุบลราชธานี เป็นคนอีสานที่มีเชื้อสายจีน พ่อชื่อเปี้ยน แม่ชื่อเฮียง

ครอบครัวของเขาเป็นผู้มีอันจะกิน มีกิจการหลายอย่างทั้งค้าข้าวและโรงสี

ประสิทธิ์ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนวัดสีทอง ที่จังหวัดอุบลฯบ้านเกิด จากนั้นเข้ากรุงเทพฯมาเรียนที่เซ็นต์คาเบรียลและเตรียมอุดมฯ แล้วเข้าจุฬาฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมอุตสาหการ) ที่เขาผูกพันเอามากๆ ตราบเท่าทุกวันนี้

หลังจากนั้นบินไปเรียนวิศวกรรมเคมี ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส เมืองออสติน มหาวิทยาลัยมีอันดับที่ติดท็อปเทนจากการจัดอันดับของนิตยสารยูเอสนิวส์แอนด์เวิลด์รีพอร์ต นอกจากนี้ยังไปคว้าประกาศนียบัตรทางด้าน DISEL AND THERMAL GENERATOR ENGINEERING จาก AUSBURG เยอรมันตะวันตก และยังได้ดอกเตอร์กิตติมศักดิ์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาฯ สถาบันเก่าของเขาด้วย

เส้นทางการศึกษาของประสิทธิ์ ณรงค์เดช เป็นการศึกษาในสายวิทยาศาสตร์ เขาจบวิศวฯซึ่งน่าเสียดายว่าไม่ได้ปฏิบัติตามสูตรสำเร็จ ไม่ได้เรียนเอ็มบีเอ มิเช่นนั้นอาจจะมีผลต่อธุรกิจของเขาในภายภาคหน้าก็ได้

ประสิทธิ์เริ่มชีวิตการทำงานครั้งแรกด้วยการเป็นทหาร 1 ปีเมื่อปี 2500 ตอนที่เขาอายุ 22 ปีและเริ่มงานจริงๆ ที่บริษัทบราวน์แอนด์รู๊ท เมืองฮุสตัน มลรัฐเท็กซัส

อยู่อเมริกา 5 ปี ชักคิดถึงเมืองไทยเลยกลับมารับราชการที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ไม่ถึงปี "เขาไม่ชอบระบบราชการ" ผู้ใกล้ชิดเขาบอก จึงได้ย้ายมาเป็น PROJECT SALE ENGINEER ที่บริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ถึง 3 ปี

3 ปีที่อยู่เบอร์ลี่ยุคเกอร์ดูเขาจะผูกพันเป็นพิเศษกับบริษัทนี้ "เห็นได้จากกิจการต่างๆ ของเขามักจะมีเบอร์ลี่ฯไปเกี่ยวไม่มากก็น้อย" ผู้อยู่ในวงการตั้งข้อสังเกต

ส่วนเกษม ณรงค์เดช ผู้น้องอายุน้อยกว่าประสิทธิ์ 1 ปี เกิดและเรียนเหมือนกับประสิทธิ์ผู้พี่ชายมาโดยตลอด เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดสีทองและเข้ากรุงเทพฯมาเป็นศิษย์ที่เซ็นต์คาเบรียลและเตรียมอุดมฯ แถมเอ็นทรานซ์เข้าจุฬาฯเหมือนกันอีกจะมีที่แตกต่างกันก็ตรงที่เกษมเรียนบัญชี และไปต่อที่มหาวิทยาลัยแคนซัสเท่านั้น

เกษมเริ่มชีวิตการทำงานเมื่อปี 2502 โดยเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชีที่จุฬาฯ จนปี 2506 บินไปเป็น TRAINING AS AUDITOR และกลับมาเป็นอาจารย์บรรยายที่จุฬาฯอีกทีเมื่อปี 2506 จนในปี 2509-2510 ไปเป็น CHIEF ACCOUNTANT ที่กรมทางหลวง และอยู่กรมทางหลวงจนถึงปี 2512 ก่อนจะถูกประสิทธิ์ดึงตัวมาทำกิจการส่วนตัวร่วมกัน

ประสิทธิ์ ณรงค์เดช หลังจากที่ลูกจ้างอยู่ที่เบอร์ลี่ยุคเกอร์มานานพอสมควร เขาอยากจะเป็นเถ้าแก่ดูบ้าง บริษัทอนามัยภัณฑ์จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในยุทธจักรกระดาษชำระและผ้าอนามัย

อนามัยภัณฑ์หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า THAI HYGIENIC PRODUCT CO.,LTD. ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 24 ปีที่แล้วหรือเมื่อปี 2507 โดยประสิทธิ์ ณรงค์เดช เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่รวบรวมบรรดาพี่น้องณรงค์เดชและญาติที่สนิทชิดชอบมาร่วมหุ้น

ทุนจดทะเบียนเมื่อเริ่มก่อตั้ง 2,200,000 บาท แบงเป็น 2,200 หุ้น หุ้นละ 1,000 บาท ผู้ถือหุ้นก็เป็นคนกันเองทั้งนั้นถือว่าเป็นธุรกิจของครอบครัว ดูๆ นามสกุลของผู้ถือหุ้นก็คงจะบอกได้ อย่างประสิทธิ์กับเกษมก็นามสกุลณรงค์เดช หรืออย่างตระกูลสุวรรณมาศนี่ก็ญาติๆ กัน ตระกูลนฤปกรณ์ก็ดองกับณรงค์เดช เพราะเป็นนามสกุลเดิมของเกษรีผู้เป็นภรรยาของประสิทธิ์

2 ปีถัดมาอนามัยภัณฑ์เพิ่มทุนเป็น 4,000,000 บาท แบ่งเป็น 4,000 หุ้น หุ้นละ 1,000 บาทเหมือนกัน เป็นการเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นใหม่ ซึ่งได้รับคำยินยอมจากผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ 90% ตามข้อบังคับบริษัท

การเพิ่มทุนคราวนี้ของอนามันภัณฑ์มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ จากรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2509 ระบุว่าอนามัยภัณฑ์ได้เข้าร่วมทุน (JOINT VENTURE) กับต่างชาติแล้ว บริษัทที่เข้าร่วมทุนในครั้งนี้คือบริษัทสเตอร์ลิงอินเตอร์เนชั่นแนล จากประเทศสหรัฐอเมริกา

คนที่เข้ามาเป็นตัวแทนของสเตอร์ลิงฯคือมิสเตอร์ พี.แอล.นิวตัน

กรรมการของอนามัยภัณฑ์ถกเถียงเรื่องการร่วมทุนกับต่างชาตินี้อย่างหนัก เพราะเป็นการพลิกโฉมหน้าของบริษัทไปอีกระดับหนึ่ง

หนึ่งนั้นต้องมีการเพิ่มทุน เพราะการเข้าร่วมทุนของต่างชาติจะให้มีหุ้นเท่าเดิมย่อมเป็นไปไม่ได้

สองสัดส่วนผู้ถือหุ้นจะต้องเปลี่ยนไปแน่นอนอำนาจการบริหารอาจจะไม่ใช่สิทธิ์ขาดของคนในตระกูลณรงค์เดชและญาติๆ อีกต่อไป

และสามการจอยท์เวนเจอร์ในครั้งนี้ทางฝ่ายณรงค์เดชจะได้อะไรบ้าง?

กรรมการของบริษัทประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ถึงสามครั้งสามครา

ประสิทธิ์ ณรงค์เดช ในฐานะกรรมการผู้จัดการถึงกับนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ทนายความใหญ่อดีตนายกรัฐมนตรี

อนามัยภัณฑ์มีความเกรงกลัวมาก โดยเฉพาะกลัวจะสูญเสียกิจการ "เซลล็อกซ์" ซึ่งเป็นตัวสินค้าที่เป็นขุมเงินขุมทองของอนามัยภัณธ์หรือเป็นหม้อข้าวของณรงค์เดช โดยเฉพาะอย่างยิ่งของประสิทธิ์

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เมื่อตรวจร่างสัญญาแล้วได้ร่างข้อที่จะป้องกันการสูญเสียกิจการเซลล็อกซ์ว่า "ทั้งนี้โดยมีข้อแม้ว่า ถ้าหากผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยตกลงใจจะขายกิจการให้แก่สเตอร์ลิงฯ แล้ว ฝ่ายไทยยังคงมีสิทธิ์ที่จะดำเนินกิจการนี้ และกิจการอื่นๆ ที่อาจเป็นคู่แข่งกับงานของสเตอร์ลิงได้ และฝ่ายไทยมีสิทธิ์ที่จะใช้ชื่อ "CELLOX" โดยสิทธิ์ขาดแต่เพียงผู้เดียว

ดูจากการร่างสัญญาในครั้งนี้แล้วคงเห็นความหวงแหนของอนามัยภัณฑ์ที่มีต่อชื่อ "เซลล็อกซ์" ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้นหม่อมเสนีย์ยังได้แนะนำให้เติมข้อความลงไปในข้อ 11 เป็น (A) ว่า "บริษัทอนามัยภัณฑ์ จำกัด จะยังคงใช้ยี่ห้อ "CELLOX" ในผลิตผลของผ้าอนามัยและกระดาษทิสชูอื่นๆ"

ข้อความหลังนี้ยิ่งบ่งชัดว่าอนามัยภัณฑ์ของประสิทธิ์ ณรงค์เดช ให้ความสำคัญกับแบรนด์เนมเซลล็อกซ์อย่างไร เพราะประการหนึ่ง "เซลล็อกซ์" ไม่เพียงแต่เป็นกระดาษทิสชูเท่านั้น แต่ยังเป็นยี่ห้อของผ้าอนามัยด้วย ซึ่งผ้าอนามัยยี่ห้อเซลล็อกซ์ตัวนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่ง "ผู้จัดการ" จะกล่าวถึงต่อไป

และแล้วทางฝ่ายสเตอร์ลิงฯ ก็ยินยอมรับข้อเสนอของอนามัยภัณฑ์ทุกประการ และนี่คือที่มาของการเพิ่มทุนครั้งแรก

การเพิ่มทุนในครั้งนี้เป็นการออกหุ้นเพิ่มจากเดิมอีก 1,800 หุ้นเป็นทั้งหมด 4,000 หุ้นดังที่กล่าวมาแล้ว แต่การร่วมลงทุนในครั้งนี้แต่ละฝ่ายจะถือหุ้นฝ่ายละเท่าๆ กันคือ 2,000 หุ้น

สเตอร์ลิงฯ ถึงจะซื้อหุ้นที่ออกใหม่ทั้งหมด 1,800 หุ้นก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น "นายประสิทธิ์ ณรงค์เดช จะโอนขายหุ้นให้แก่ฝ่ายสเตอร์ลิงฯอีก 200 หุ้น รวมเป็น 2,000 หุ้น" รายงานการประชุมครั้งนั้นกล่าวไว้

ประสิทธิ์ ณรงค์เดช ประธานและกรรมการผู้จัดการของอนามัยภัณฑ์ได้รับค่าตอบแทนคุณงามความดีครั้งนี้ โดยได้รับเงินปันผลเพิ่มเติมอีก ของหุ้นจากเดิมที่ถืออยู่เพราะ "นายประสิทธิ์ได้วิ่งเต้นติดต่อเกี่ยวกับการขยายกิจการของบริษัท การทำสัญญาต่างๆ และเตรียมหาตลาดสำหรับสินค้าใหม่ของบริษัทได้สำเร็จลุล่วง"

การตอบแทนความดีความชอบของประสิทธิ์ในครั้งนี้ถึงกับตราเป็นข้อบังคับเอาไว้เลยในข้อที่ 6 และเป็นการตอบแทนความดีความชอบเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ประสิทธิ์เป็นครั้งที่ 1

ไม่ใช่ครั้งเดียวแน่ของประสิทธิ์ แต่ครั้งเดียวของอนามัยภัณฑ์!!!

สำหรับรายงานการประชุมในครั้งนั้นยังมีบันทึกที่น่าสนใจต่อไปอีกว่า "บริษัทเรามีโครงการจะผลิตผ้าพันแผล และผ้าปิดแผล และจะตั้งโรงงานผลิตกระดาษ เยื่อกระดาษ ตลอดจนเครื่องใช้กระดาษภายในบ้าน แต่ยังมิได้จดวัตถุประสงค์ลงในบริคณห์สนธิ จึงเห็นสมควรให้เพิ่มเติมไว้"

ในการประชุมครั้งเดียวกันนี้เอง ที่ประชุมยังระบุวัตถุประสงค์ของบริษัทอย่างแจ่มชัดว่าบริษัทจะ…

ทำการผลิตและทำการค้าสินค้าประเภทเครื่องใช้อนามัยภัณฑ์ เช่น ผ้าอนามัย สายคาดอนามัย กระดาษเช็ดหน้า กระดาษเช็ดมือ กระดาษชำระ กระดาษปูโต๊ะ เครื่องใช้ภายในบ้านที่ทำด้วยกระดาษ ผ้าพันแผล ผ้าปิดแผล จาน และถ้วยกระดาษ เป็นต้น

ประกอบกิจการอุตสาหกรรม เช่น ตั้งโรงงานผลิตเครื่องอนามัยภัณฑ์ โรงงานกระดาษ เยื่อกระดาษ และเครื่องใช้อื่นๆ

หลังจากสเตอร์ลิง อินเตอร์เนชั่นแนลเข้ามาจอยท์เวนเจอร์ ก็เป็นวันที่อนามัยภัณฑ์บุกหนัก

บริษัทอนามัยภัณฑ์ที่ประสิทธิ์ ณรงค์เดชเป็นเถ้าแก่เองเป็นครั้งแรก ก็ดูจะมีอนาคตสดใสสินค้าสองตัวที่เป็นขุมทองของอนามัยภัณฑ์ก็คือกระดาษชำระยี่ห้อเซลล็อกซ์และผ้าอนามัยยี่ห้อเซลล็อกซ์

เซลล็อกซ์ช่วงที่ออกมาใหม่ๆ เป็นสินค้าที่มาแรงเอามากๆ วางตัวเองเป็นผ้าอนามัยแบบแถบปลาย ซึ่งเป็นสิ่งแปลกใหม่ในตอนนั้น ถือเป็นคู่แข่งตัวสำคัญของโกเต๊กซ์ซึ่งครอบครองตลาดมานานถึง 29 ปี

อนามัยภัณฑ์ยังได้ออกกระดาษทิสชูยี่ห้อเซลล็อกซ์อีกเช่นกัน โดยประกอบคลีเน็กซ์ของค่ายคิมเบอร์ลี่-คล๊าค ทำให้ฝ่ายหลังพลิกตำราพิชัยยุทธรับเกือบไม่ทัน

อนามัยภัณฑ์นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นทางธุรกิจของประสิทธิ์ และสินค้าที่เป็นแกนของอนามัยภัณฑ์แล้วเขาไม่หยุดเท่านี้

9 มกราคม 2511 มีบริษัทหนึ่งไปจดทะเบียนที่กรมทะเบียนการค้าชื่อบริษัทแปรรูปกระดาษไทย ทุนจดทะเบียน 2,000,000 บาท แบ่งเป็น 2,000 หุ้น หุ้นละ 1,000 บาท วัตถุประสงค์ของบริษัทเพื่อทำการผลิตและทำการค้าสินค้ากระดาษต่างๆ เช่น กระดาษเช็ดหน้า กระดาษเช็ดมือ กระดาษชำระ กระดาษปูโต๊ะ ฯลฯ ผู้ก่อตั้งก็คือประสิทธิ์คนเดิมจากอนามัยภัณฑ์

ดูวัตถุประสงค์ของบริษัทที่จดทะเบียนไว้ช่างเหมือนกับวัตถุประสงค์เดียวกันกับอนามัยภัณฑ์ หรือนี่เป็นก้าวต่อไปของการจะเป็นเจ้าพ่อกระดาษชำระ "อาจเป็นได้ถ้าดูบริษัทที่เขาไปมีส่วนร่วมก่อตั้งต่อๆ ไป" คนในวงการให้ความเห็น

บริษัทนี้ร่วมเปิดดำเนินงานเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2511 วัตถุประสงค์ที่ระบุไว้เมื่อวันดำเนินงานกลับแตกต่างออกไปกับเมื่อวันจดทะเบียน

"ประกอบกิจการค้า การแปรรูปกระดาษ นำกระดาษม้วนใหญ่มาตัดเป็นกระดาษชำระ" เป็นวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนว่าจะมุ่งเน้นกระดาษชำระเป็นหลัก และเหตุการณ์ต่อมาก็ได้พิสูจน์ว่าวัตถุประสงค์นี้จริง

สิ่งที่แปลกเอามากๆ ของบริษัทนี้คือ เมื่อเริ่มดำเนินการมาได้เพียง 29 วัน ก็มีการเพิ่มทุนใหม่อีกแล้ว

29 เมษายน 2511 บริษัทแปรรูปกระดาษไทยได้เพิ่มทุนโดยการออกหุ้นใหม่ จาก 2,000,000 บาท เพิ่มอีก 8,000,000 บาท เป็น 10,000,000 บาท โดยการออกหุ้นใหม่อีก 8,000 หุ้น หุ้นละ 1,000 บาท และในการเพิ่มทุนครั้งนี้ได้ถือโอกาสเปลี่ยนชื่อ เป็นบริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย

ผลจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ ผู้ที่มีบทบาทอย่างมากคือ ประสิทธิ์ ณรงค์เดช อีกเช่นเคย และประสิทธิ์ก็ได้รับรางวัลอีก ด้วยคำสรรเสริญคล้ายกับเมื่อครั้งได้รับที่อนามัยภัณฑ์

"ก่อนที่จะมีการจ่ายเงินปันผลทุกคราว บริษัทจะกันเงินไว้จำนวนหนึ่งเพื่อเป็นรางวัลตอบแทนนายประสิทธิ์ ณรงค์เดช ที่ได้ช่วยเหลือบริษัทเป็นพิเศษในการขยายกิจการ การทำสัญญา ตลอดจนการหาตลาดสำหรับสินค้าใหม่เพื่อสะดวกแก่การกำหนดเงินรางวัลดังกล่าว บริษัทจึงให้เงินรางวัลเป็นเงินปันผล ซึ่งผู้ถือหุ้นควรจะได้รับ 100 หุ้น" เป็นการระบุในข้อบังคับของบริษัทในข้อ 6 เช่นกัน

น่าสังเกตว่าถ้อยคำที่ใช้คล้ายกับของอนามัยภัณฑ์มาก เพียงแต่ใช้ถ้อยคำที่ดูน่าเกลียดมากกว่า "ภายหลังคุณประสิทธิ์ท่านกลัวคนจะหมั่นไส้เอาโดยเฉพาะตอนหลังที่ไปร่วมทุนกับต่างชาติ ท่านจึงขอให้ยกเลิก" แหล่งข่าวที่รู้เองดีทวนอดีตให้ฟัง

บริษัทสก๊อตต์ เปเปอร์ จำกัด ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตกระดาษชำระรายใหญ่ที่สุดในโลก (อ่าน "สก๊อต เปเปอร์ เมื่อวันฟ้าใส") เข้าร่วมทุน โดยในระยะแรกเป็นการรับโอนหุ้น จากประสิทธิ์ ณรงค์เดช เป็นส่วนใหญ่ หลักฐานจากกรมทะเบียนการค้าระบุว่าวันเดือนปีที่จดทะเบียนเข้าเป็นผู้ถือหุ้นคือ 30/6/12 สก๊อตต์ เปเปอร์ โดยพีเตอร์ เอรี วอส เป็นผู้รับมอบอำนาจถือหุ้นในครั้งนี้ 5,000 หุ้น

ในเวลาเดียวกันมีบริษัทต่างชาติที่เก่าแก่อีกสองบริษัทที่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทยด้วย คือบริษัทบอร์เนียว (ในประเทศไทย) ถือหุ้นอยู่ 1,400 หุ้น และบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ถืออยู่ 500 หุ้น น่าสังเกตว่าทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทการค้าที่น่าจะเป็นกลไกลทางด้านการจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัทในอนาคต

รายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทครั้งที่ 1/2512 ระบุว่า "เนื่องด้วยบริษัทสก๊อตต์เปเปอร์ จำกัด ได้เข้าร่วมหุ้นดำเนินกิจการด้วยบริษัทที่จะดำเนินกิจการให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปและเพื่อเป็นเกียรติแก่บริษัทดังกล่าว ประธาน (ประสิทธิ์ ณรงค์เดช) จึงเสนอเปลี่ยนชื่อบริษัทเสียใหม่ โดยขอให้เปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัทกระดาษไทย-สก๊อตต์ จำกัด" เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "THAI-SCOTT PAPER COMPANY LIMITED"

ในการประชุมในครั้งนั้น ระบุว่า ตามข้อตกลงข้อ 7 ระหว่างอนามัยภัณฑ์และบริษัทสก๊อตต์เปเปอร์ คัมปะนี บริษัทจะต้องซื้อเครื่องจักรเพื่อติดตั้งโรงงาน

ฝ่ายประสิทธิ์ได้มอบให้คาร์ฟินสกี้ผู้จัดการนานาชาติฝ่ายเทคนิคของบริษัทสก๊อตต์ เปเปอร์ ให้เป็นผู้เจรจาขอซื้อจากโรงงานหลายแห่งในเยอรมันและญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้รับการสนองตอบ คงมีแต่บริษัทชาโน ไอออน เวิร์คส์ คัมปะนี ลิมิเต็ด ได้เสนอราคาและเครื่องจักรดังต่อไปนี้

ชาโน ไอออน เวิร์คส์ เสนอเครื่องจักรสำหรับผลิตกระดาษราคาประมาณ 400,000-450,000 เหรียญสหรัฐ

เงื่อนไขการชำระเงินคือ 20% เมื่อสั่งซื้อ 10% เมื่อจัดทำสัญญา ส่วนที่เหลือให้ผ่อนชำระภายใน 4-5 ปี อัตราดอกเบี้ย 7%

เหตุผลของการสั่งซื้อเครื่องจักรจากชาโนไอออน เวิร์คส์ คัมปะนี คาร์ฟินสกี้แถลงในครั้งนั้นว่า "ได้เคยสั่งซื้อกับบริษัทดังกล่าวมาแล้วสองครั้งนำไปติดตั้งที่ฟิลิปปินส์ ส่วนอีก 3 เครื่องติดตั้งที่โรงงานของบริษัทสก๊อตต์นั้นจะขายให้โรงงานใดมิได้ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบของสก๊อตต์เสียก่อน"

แสดงถึงความหวงแหนโนว์-ฮาวของสก๊อตต์ออกมาอย่างชัดเจน และบ่งบอกถึงความไม่พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตแก่หุ้นส่วนในประเทศด้อยพัฒนา ทั้งๆที่ประเทศเหล่านั้นต้องการอย่างมาก

หลังจากที่ถกกันในเรื่องการซื้อเครื่องจักรเพื่อติดตั้งโรงงานลงตัวแล้ว บ๊อบ ซีทลิน ตัวแทนบริษัทบอร์เนียว และเค.เอ.โครเนนเบอร์ก ตัวแทนบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ ได้ลุกขึ้นถามที่ปนะชุมอย่างตรงไปตรงมาว่า "กิจการของสก๊อตต์จะมีโอกาสรุดหน้ากว่า "คิมเบอร์ลี่-คล๊าค" ซึ่งกำลังเริ่มผลิตกระดาษโดยใช้เครื่องจักรจากเยอรมันหรือไม่" ที่ประชุมตอบแบบโอเวอร์ว่า "กิจการของสก๊อตต์จะรุดหน้าคิมเบอร์ลี่-คล๊าคภายใน 5-6 เดือน "เพราะกว่าเครื่องจักรจะส่งมอบก็อีก 8-10 เดือนข้างหน้าในเวลาเดียวกันนี้เอง ประสิทธิ์ ณรงค์เดช ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการ และได้เรียกชำระมูลค่าหุ้นเพิ่มอีก 25%

หลังจากนั้นในปี 2514 มีการเพิ่มทุนอีกครั้งหนึ่งเป็น 15,000,000 บาท แบ่งเป็น 15,000 หุ้นหุ้นละ 1,000 บาท

การเพิ่มทุนหนล่าสุดนี้สก๊อตต์ เปเปอร์ เข้ามาถือหุ้นประมาณครึ่ง นอกนั้นก็เป็นของพลพรรคณรงค์และเบอร์ลี่ยุคเกอร์

นอกจากไทย-สก๊อตต์แล้วประสิทธิ์ยังได้ไปก่อตั้งบริษัทประสิทธิ์อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งดำเนินธุรกิจคล้ายๆ กัน เช่น ผลิตเยื่อกระดาษและเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ของเจอร์เก้นด้วย บริษัทนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2513

2515 ก่อตั้งบริษัทบีดีเอฟ-อินทนิล ผลิตพลาสเตอร์และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของนีเวีย จากประเทศเยอรมัน ที่กำลังเป็นคู่แข่งสำคัญของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันในปัจจุบัน

2516 ก่อตั้งบริษัทสุราทิพย์ที่เป็นผู้ผลิตเหล้ายี่ห้อธาราและแสงโสม

2517 ไปมีส่วนร่วมก่อตั้งพรรคพลังใหม่

ประสิทธิ์จึงเริ่มเป็นนักการเมืองหลังจากที่เป็นนักธุรกิจมานาน และได้เข้าไปเป็นรัฐมนตรีอยู่พักใหญ่ ปี 2521-2522 ประสิทธิ์ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและหลังจากนั้นได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ช่วงสั้นๆ

การก้าวเข้าไปเล่นการเมืองของประสิทธิ์จนได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ทำให้ประสิทธิ์ต้องวางมือจากธุรกิจ ประสิทธิ์ขอลาออกจากกรรมการบริษัทอนามัยภัณฑ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2520 และลาออกจากตำแหน่งประธารกรรมการและกรรมการบริษัทไทย-สก๊อตต์ในช่วงเดียวกัน

เกษรี ณรงค์เดช ผู้เป็นภริยาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการแทนสามีและวอลเตอร์ แอลไมเยอร์ ได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทไทย-สก๊อตต์แทนประสิทธิ์ ณรงค์เดช ผู้หลงใหลกลิ่นอายการเมือง

การเข้าๆ ออกๆ ของประสิทธิ์ ณรงค์เดช ในครั้งนี้ ไม่เป็นผลดีต่อเขาเลยแม้แต่น้อย

เกษม ณรงค์เดช ผู้น้องหลังจากที่พี่ชายชักชวนเข้าร่วมทำกิจการส่วนตัว เขาก็เข้าร่วมด้วยเกือบทุกบริษัทที่พี่ชายเข้าไปดำเนินกิจการ ไม่ว่าจะเป็นอนามัยภัณฑ์หรือว่าไทย-สก๊อตต์ที่กำลังเป็นปัญหา

ปี 2512-2513 เขาขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทอนามัยภัณฑ์ปี 2514-2516 เป็นผู้จัดการโรงงานกระดาษไทย-สก๊อตต์ และในปี 2517-2518 เขาก็ก้าวขึ้นเป็นรองประธานบริษัทกระดาษไทย-สก๊อตต์ (ฝ่ายผลิต) และขึ้นเป็นเพรสิเด้นท์กระดาษไทย-สก๊อตต์ ตั้งแต่ 2519

เกษมออกจะโชคดีที่ได้แต่งงานกับคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ได้เป็นลูกเขย ของถาวร พรประภา แห่งสยามกลการ แต่เขาดูจะโชคร้ายที่มีคนค่อนแคะว่าได้ดีเพราะเมีย ซึ่งดูจะไม่ยุติธรรมสำหรับเขา "ทำไมคุณไม่บอกว่าคุณ เกษม จาติกวนิช โชคดีเพราะเป็นเขยล่ำซำและได้ดีเพราะคุณหญิงชัชนีบ้างล่ะ" แหล่งข่าวค่อนข้างฮึดฮัดกับคำที่ "ผู้จัดการ" บอกเล่าให้ฟัง

แต่ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าระหว่างพี่น้องทั้งคู่นี้ถ้าจะให้เครดิตกันละก็ ประสิทธิ์ดูจะมีภาษีเหนือกว่าเกษมผู้น้องอย่างน้อยก็หลายช่วงตัว

เกษมดูจะด้อยกว่าพี่ชายเพราะไม่ได้เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจอะไรเลย ไม่เหมือนประสิทธิ์ซึ่งดูจะมีไฟในการบุกเบิกอย่างไม่หยุดยั้งเสร็จจากบริษัทโน้นก็เตรียมไปก่อตั้งบริษัทนี้ไม่มีวันหยุด

เกษมก็ดูจะอยู่ภายใต้ร่มเงาของพี่ชายคนนี้มาโดยตลอดเช่นกัน!

"ก็ขนาดคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช คนยังถามว่าเธอเป็นอะไรกับประสิทธิ์ ไม่ยักกะถามว่าเธอเป็นอะไรกับเกษม ทั้งๆ ที่แต่งงานกันมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว" คนในวงการตั้งข้อสังเกต

แล้วปี 2521 เกษม ก็ขึ้นเป็นประธานบริษัทสยามยามาฮ่า บริษัทในเครือสยามกลการ

ว่ากันว่าพี่น้องคู่นี้ต่างไม่พอใจกันเงียบๆ มานานแล้วอีกทั้งสไตล์และปรัชญาการบริหารก็แตกต่างกัน

"ผมว่าอาจจะเป็นเพราะว่าคุณเกษมไม่ค่อย พอใจคุณประสิทธิ์ก็ได้ที่ชอบไปเล่นการเมืองแล้วทิ้งธุรกิจ เพราะเกษมเขาก็ทุ่มให้ธุรกิจอย่างเต็มที่แต่ผลงานออกมากลับเป็นของประสิทธิ์เสียมากกว่า อาจจะเป็นอย่างนั้นนะผมไม่ค่อยแน่ใจ" แหล่งข่าวกระซิบด้วยความลังเล

เรื่องของความขัดแย้งบางครั้งก็ไม่มีเหตุผลความขัดแย้งของพี่น้องบางคู่อาจจะไม่มีอะไรกันเลยก็ได้ เพียงแต่เมียไม่ถูกกันก็มี

"แต่ที่แน่ๆ พี่น้องคู่นี้เขาไม่ถูกกันแน่ ตอนนี้เท่าที่ทราบเขาไม่พูดกันแล้วในเรื่องการงาน แต่โดยเรื่องการสนทนาปราศรัยในฐานะพี่น้องก็มีบ้างแต่ห่างเหินกันจริงๆ คุณ ไม่แน่นแฟ้นเหมือนเก่า" แหล่งข่าวที่รู้จักสองณรงค์เดชดีพอสมควรเล่าให้ฟัง

สิ่งที่ทำให้ความขัดแย้งของสองพี่น้องเป็นรูปร่างชัดเจนคือ สก๊อต เปเปอร์ พาร์ทเนอร์ผู้ร่วมจอยท์เวนเจอร์กับอนามัยภัณฑ์เมื่อ 18 ปีก่อนนั่นเอง

สก๊อตต์ เปเปอร์ หลังจากสามารถแก้วิกฤติการณ์ที่คุกคามสถานะของบริษัทผู้ผลิตกระดาษชำระรายใหญ่ที่สุดในโลกได้แล้ว ก็เริ่มหันมาบุกตลาดต่างประเทศอย่างหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดเอเชียอาคเนย์

สก๊อตต์ เปเปอร์ ก็เหมือนกับบริษัทต่างชาติอื่นๆ เริ่มวิวัฒนาการจากบริษัทในประเทศ เป็นบริษัทข้ามชาติ (MULTINATIONAL) และกลายเป็นบริษัทโลกไปในที่สุด

สก๊อตต์ เปเปอร์ก็หนีไม่พ้นวัฏจักรนี้ การเริ่มเข้ามาในประเทศไทยของสก๊อตต์ เปเปอร์ ดูจะช้ากว่าบริษัทข้ามชาติอื่นๆ อย่าง ลีเวอร์บราเธอร์ซึ่งเข้ามาในราว 2497 หรือคอลเกตปาล์มโอลีฟที่เข้ามาเมื่อปี 2501 ไม่ต้องไปเทียบกับอี๊สเอเชียติ๊กซึ่งเข้ามาเมื่อ 103 ปีก่อน

บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ (ซึ่งภายหลังส่วนใหญ่ก็ได้วิวัฒนาการกลายเป็นบริษัทโลกไปมากมาย) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของฝรั่งชาติตะวันตก ยังคงยึดถือแนวความคิดเดิมที่ว่าตลาดเมืองไทยไม่กว้างใหญ่นักการลงทุนของกลุ่มนี้เพียงตั้งบริษัทลูกมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง มิได้ตั้งรกรากสู่ผลิตสินค้าจากรากฐาน ส่วนใหญ่เน้นการบรรจุหีบห่อ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือลีเวอร์บราเธอร์เข้ามาก่อนปี 2497 แต่เพิ่งจะเริ่มคิดตั้งโรงงานเมื่อปี 2502 หรือที่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนก็คราวที่พร็อคเตอร์แอนด์แกมเบิ้ล เข้ามาเมืองไทยอยู่พักใหญ่แล้วถอยฉากออกไป "เพราะมองว่าประเทศไทยไม่มีศักยภาพเพียงพอ ผมถือว่าการถอนตัวออกไปจากประเทศไทยของพ็อคเตอร์แอนด์แกมเบิ้ลในครั้งนั้นเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดมากที่สุด และตอนนี้พีแอนด์จี ก็มองเห็นว่าเมืองไทยมีศักยภาพสูงพอที่จะมาลงทุนตั้งโรงงานแบบฟูมิแกล ก็ค่อนข้างจะสายเกินไปเสียแล้ว" เจริญ วรรธนะสินบอก "ผู้จัดการ"

แต่การเข้ามาของสก๊อตต์เมื่อ 18 ปีก่อนเป็นการเข้ามาจอยท์เวนเจอร์กับทางณรงค์เดชซึ่งกำลังจะพัฒนาตนเองให้กลายเป็นเจ้าพ่อกระดาษชำระอยู่

สก๊อตต์เองนั้นมองเห็นว่าเมืองไทยมีศักยภาพพอสมควร และเมืองไทยตลาดกระดาษชำระจะมีพอที่จะเป็นคู่แข่งได้ก็มีแต่เพียงคิมเบอร์ลี่-คล๊าคเท่านั้น แต่สก๊อตต์ก็ทำอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้ เพราะสถานการณ์ที่บริษัทแม่คือสก๊อตต์ เปเปอร์ที่สหรัฐอเมริกาก็กำลังย่ำแย่ เพราะวัฒนธรรมองค์กรแบบเก่าๆ ซึ่งทำให้สก๊อตต์อ่อนแอเปิดโอกาสให้คู่ต่อสู้โจมตีอย่างหนัก สก๊อตต์ต้องสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไปกว่าครึ่ง จนสก๊อตต์เพิ่งจะได้วีรบุรุษขี่ม้าขาวมาช่วยฟื้นฟูสก๊อตต์จนเข้มแข็งดังเดิม

มันก็เปรียบเสมือนสงครามนั่นแหละที่เมื่อจัดการกับปัญหาภายใจประเทศได้ก็ถึงคราวที่จะรุกรานประเทศอื่น เพียงแต่การรุกครั้งนี้เป็นการรุกทางธุรกิจเท่านั้น

การเติบโตภายในสหรัฐอเมริกาของสก๊อตต์เปเปอร์ค่อนข้างจะข้างจะลดต่ำลง ถึงวันนี้ "ผมก็ต้องจัดการกับตลาดต่างประเทศบ้างล่ะ" เป็นคำกล่าวของ PHILIP E. LIPPINCOTT CEO. SCOTT PAPER

สก๊อตต์ เปปอร์ เริ่มสยายปีกเข้าไปรุกในตลาดกระดาษชำระในประเทศอังกฤษ มีโรงงานผลิตกระดาษในเบลเยี่ยมและที่กำลังสร้างอีกแห่งที่ฝรั่งเศส

ส่วนตลาดเอเชียอาคเนย์นั้น เมื่อตอนปลายเดือนพฤศจิกายน สก๊อตต์ เวิร์ลด์ไวด์ ก็ได้เปิดสำนักงานปฏิบัติการภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิคขึ้นที่ฮ่องกงเพื่อ "รับออร์เดอร์จากตลาดเอเชียและแปซิฟิก" เป็นคำกล่าวของ จอห์น บัลเลอร์ รองประธานฝ่ายปฏิบัติการภาคพื้นแปซิฟิกของสก๊อตต์เวิร์ลด์ไวด์

สก๊อตต์ เปเปอร์ได้ปรากฎโฉมในเอเชียเมื่อ 26 ปีมาแล้ว

มีการปฏิบัติการในญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศไทย แถมยังให้ LICENCES ในฮ่องกง อินโดนีเซีย และออสเตรเลียอีกด้วย

"เรามองว่าตลาดเอเชียมีศักยภาพสูงมากและเราต้องการพัฒนากลยุทธ์ให้เป็นหนึ่งเดียว" บัทเลอร์ บอกไว้ชัดในมีเดียแอนด์มาร์เก็ตติ้ง

ในแต่ละประเทศที่สก๊อตต์ไปร่วมทุนอยู่มักจะมีการดำเนินงานเป็นเอกเทศ "เราต้องการที่จะรวมบริษัทและ LICENCES" บัทเลอร์บอกวัตถุประสงค์

สก๊อตต์ เวิร์ลด์ไวด์ เติบโตในต่างประเทศตลอดระยะเวลา 30 ปีมานี้ โดยใช้กลยุทธ์จอยท์เวนเจอร์ เมื่อราว 5 ปีมานี้สก๊อตต์เริ่มยุทธวิธีใหม่โดย "เราต้องการจะควบคุมการจอยท์เวนเจอร์ทั้งหมด"

ยุทธวิธีใหม่ที่สก๊อตต์นำมาใช้นี้ "ในไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการควบคุมการผลิต"

ระดับความพอใจของสก๊อตต์ต่อเอเชียอาคเนย์อยู่ในเกณฑ์แฮปปี้ทั้งส่วนแบ่งการตลาด อัตราความเจริญเติบโตและในแง่ของผลกำไร

ในเมืองไทยสก๊อตต์ เปเปอร์เข้ามาตั้งแต่ปี 2512 หรือ 18 ปีล่วงมาแล้ว การเข้ามานั้นอย่างที่บอกแล้วว่าเข้ามาโดยผ่านกลยุทธ์ร่วมทุน

ถึงจะเข้ามาในเมืองไทยถึง 18 ปีแล้วก็ตามแต่เวลาที่ผ่านมาโรงงานกระดาษไทย-สก๊อตต์ก็ผลิตกระดาษทั้งสองยี่ห้อซึ่งขายในตลาดเดียวกันคือยี่ห้อเซลล็อกซ์ของอนามัยภัณฑ์และยี่ห้อสก๊อตต์เอง

ปรากฎว่ากระดาษทั้งสองยี่ห้อนี้ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 60% แต่เซลล็อกซ์ขายดีกว่ามาก "เรื่องทำให้สก๊อตต์ไม่พอใจมานานแล้ว" แหล่งข่าวในวงการบอก

ราวๆ เดือนตุลาคมก็มีจดหมายเวียนไปตามร้านค้าต่างๆ ว่า บริษัทกระดาษไทย-สก๊อตต์มองหมายให้บริษัทสก๊อตต์เทรดดิ้ง เป็นผู้จัดจำหน่ายกระดาษชำระยี่ห้อสก๊อตต์เพียงยี่ห้อเดียว และประกาศไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระดาษชำระยี่ห้อเซลล็อกซ์แต่อย่างใด

ประสิทธิ์ ณรงค์เดช ไม่ทราบเรื่องนี้เลยเพราะอยู่ในระหว่างตกลงขายหุ้นกัน

"คุณประสิทธิ์แกโกรธมากเพราะถือว่าเป็นการล้ำเส้นกัน อะไรกันกำลังเจรจากันอยู่ ดันไปออกจดหมายอย่างนี้เราก็เสียหายหมดสิ" แหล่งข่าวกล่าวแบบมีอารมณ์แทนเจ้านาย

และแล้วในที่สุดสก๊อตต์ เปเปอร์ก็บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้สามารถซื้อหุ้นมาไว้ในครอบครองถึง 80% สก๊อตต์ ทุ่มทุนคราวนี้หนักมากเพราะราคาหุ้นตามที่จดทะเบียนเพียง 1,000 บาท ราคาตลาดก็ประมาณ 10,000 บาท แต่สก๊อตต์ให้ราคาถึงหุ้นละ 25,000 บาท สูงกว่ามูลค่าจดทะเบียนถึง 15 เท่า

ใครไม่ขายก็ฉลาดน้อยไปละ!

ดูการให้ราคาหุ้นสูงเอามากๆ ของสก๊อตต์เปเปอร์ ในครั้งนี้ก็พอจะคาดเดาถึงระดับความตั้งใจที่จะคอนโทรลการจอยท์เวนเจอร์ได้พอสมควร

การเข้าควบคุมบริษัทกระดาษไทย-สก๊อตต์ในครั้งนี้ สามารถมองเห็นรอยร้าวของความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดีด้วย

ประสิทธิ์ผู้พี่ประกาศขายหุ้นให้สก๊อตต์ไปแต่ไม่ยอมขายลิขสิทธิ์เซลล็อกซ์ที่หวงแหน เพราะเป็นตัวทำเงินทำทองอย่างที่ว่าไว้

เกษม ณรงค์เดช ผู้น้องแม้จะถือหุ้นในสก๊อตต์ไม่มากแต่ไม่ยอมขายหุ้นแถมบอกอีกว่าการที่เซลล็อกซ์ไม่ยอมขายลิขสิทธิ์การผลิตให้นั่นไม่ทำให้สก๊อตต์กระเทือนเลย ยังขายดีอยู่เหมือนเดิมว่างั้นเหอะ

ช่างไม่แคร์ความรู้สึกของผู้พี่สักนิด!!!

เกษมยังบินไปอเมริกาเพื่อตกลงทางธุรกิจกับสก๊อตต์ด้วยซ้ำ

สก๊อตต์ตัดสินใจเลือกเกษมในครั้งนี้อาจจะคิดถูกก็ได้ เพราะอย่างน้อยเกษมก็ไม่หลงใหลกลิ่นอายทางการเมืองและทุ่มให้กับธุรกิจเต็มที่

ฝีมือของเกษม ดูที่บริษัทสยามยามาฮ่า ก็พอจะเห็นกันได้บ้าง

ยามาฮ่าที่เคยเป็นเจ้าตลาดมอเตอร์ไซค์ มาปี 2530 เสียแชมป์ให้ซูซูกิแต่แล้วกลับตีตื้น จนบัดนี้คาดว่าอาจเรียกตำแหน่งเดิมกลับคืนมาได้แล้ว

กลยุทธ์ของสก๊อตต์อาจใช้วิธีเดียวกับลีเวอร์ก็ได้ที่เลือกใช้คนท้องถิ่นเป็นผู้บริหารมากกว่าจะใช้ฝรั่งเป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งมีแต่จะบั่นทอนศักยภาพในการทำงานเหมือนอย่างคอลเกตฯ ที่ต้องรอคำสั่งและนโยบายจากบริษัทแม่กว่าจะตัดสินใจแต่ละครั้งก็ถูกคู่แข่งชิงลงมือก่อนเสียแล้ว

สก๊อตต์เองก็เคยเข็ดเขี้ยวกับวัฒนธรรมองค์กรแบบรอการตัดสินใจจากเบื้องบนที่ฟิลาเดลเฟียอย่างเดียว ซึ่งเป็นฝันร้ายของสก๊อตต์ เปเปอร์ ตราบจนทุกวันนี้

ดังนั้นที่เกษมบอกว่า "ถือหุ้นมากน้อยไม่สำคัญ เพราะการตัดสินใจอยู่ที่ฝ่ายไทย" น่าจะมีส่วนถูกมากๆ อย่างน้อยที่สุดตอนนี้เกษมก็ยังเป็นประธานกรรมการบริษัทกระดาษไทย-สก๊อตต์อยู่ ถึงจะถือหุ้นน้อยก็ไม่เป็นอุปสรรคถ้าจะมีการเลือกกรรมการใหม่ เพราะจากข้อบังคับของบริษัทระบุว่ากรรมการไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถือหุ้นด้วยซ้ำ

หลักฐานที่กรมทะเบียนการค้าของบริษัทกระดาษไทย-สก๊อตต์ส่วนใหญ่จะเป็นการแต่งตั้งกรรมการแทนคนที่ลาออกอยู่เป็นจำนวนมาก

สก๊อตต์ เปเปอร์ คงไม่ต้องการให้ประธานกรรมการเป็นฝรั่งเพราะมีการเปลี่ยนแปลงมากอาจจะมีผลต่อการบริหารงานในระยะยาว

อีกประการหนึ่งการได้เกษมมาเป็นประธานกรรมการนั้น "อย่าลืมนะว่าคุณเกษมเขาเป็นเขยพระประภา และสยามกลการที่กำลังฟื้นตัว ผมว่าสก๊อตต์เลือกคุณเกษมน่ะเหมาะที่สุดแล้ว" แหล่งข่าวให้ความเห็น

ประสิทธิ์ ณรงค์เดช ในวันนี้ต้องผจญมรสุมปัญหานานัปการ บริษัทไทยไพโอเนียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ที่เขาไปบริหารอยู่ก็ประสบปัญหา

ไทยไพโอเนียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์เกิดขึ้นเมื่อปี 2520 เป็นโรงงานถลุงแร่ดีบุกที่ได้รับการอนุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพราะในช่วงนั้นไทยซาร์โก้ถูกโจมตีว่าเป็นบรรษัทข้ามชาติที่ถูกรีดและกอบโกย ประกอบกับมีความขัดแย้งกับบรรดานายเหมือง จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลในสมัยนั้นอนุญาตให้ตั้งโรงงานถลุงแร่ดีบุกได้เพิ่มอีก 2 โรงคือไทยเพรเซ่น สเมลเตอร์ ที่นครปฐม และไทยไพโอเนียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ เป็นแห่งที่สองที่ได้รับอนุญาตให้เปิด

ไทยไพโอเนียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ เริ่มก่อตั้งและดำเนินงานโดยกลุ่มทุนที่ประกอบด้วย สุชาติ ภูพานิช, ถาวร พระประภา, ประสิทธิ์ ณรงค์เดช, เพียรศักดิ์ ซอโสตถิกุล, สุชาติ หวั่งหลี และ ประเสริฐ ฟูตระกูล ส่วนนอกนั้นเป็นสถาบันการเงินชั้นนำอย่างธนาคารกรุงเพท ธนาคารกสิกรไทย และบรรษัทเงินทุนการเครดิตของ พร สิทธิอำนวย

ไทยไพโอเนียร์กำหนดทุนดำเนินการเบื้องต้นไว้ 155 ล้านบาท โดยเป็นทุนจดทะเบียน 70 ล้านบาท เงินกู้จากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม 55 ล้านบาท และอีก 30 ล้านบาทเป็นเงินกู้จากต่างประเทศ

นอกจากนั้นก็ได้รับเป็นเครดิตเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อแร่และเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตจากธนาคารกรุงเพท ธนาคารกสิกรไทย รวมทั้งธนาคารฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ อีกราวๆ 300 ล้านบาท

ดำเนินการไปได้พักใหญ่ๆ ก็ขาดทุนถึง 300 ล้านบาท โดยธนาคารกรุงเทพเป็นเจ้าหนี้ถึง 200 ล้านบาท

ชาตรี โสภณพนิช เจ้าหนี้รายใหญ่เข้าควบคุมมีการเจรจาเพื่อขายกิจการนี้ให้แก่กลุ่มที่สร้างโรงงานไทยแลนด์แทนทาลัมอยุ่นานแต่ไม่เป็นที่ตกลง จนโรงงานแทนทาลัมถูกเผาก็เลยจบกัน

ไทยไพโอเนียร์ก็เลยยังไม่ได้เปลี่ยนเจ้าของแต่หนี้สินขนาดนั้นบรรดาเจ้าหนี้จะปล่อยไว้ได้อย่างไร?

มีการฟ้องร้องกันอุตลุต ประสิทธิ์ ณรงค์เดช ในฐานะเป็นผู้บริหารคนหนึ่งก็โดนกับเขาด้วยธนาคารที่มีปัญหามากคือธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ประสิทธิ์ถึงกับต้องนำเอาแบรด์เซลล็อกซ์ไปเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงิน

ช่วงที่ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ยึดแบรนด์เซลล็อกซ์อยู่นั้นปรากฏว่ามีกระดาษชำระยี่ห้อชาร์มมี่ ของบริษัทวิคตอรี่ พาวพ์ แอนด์ เปเปอร์ ซึ่งมีลักษณะโลโก้คล้ายกับเซลล็อกซ์ ซึ่งมีแนวโนมว่าจะไปได้ดี บริษัทกระดาษไทย-สก๊อตต์เคยทำหนังสือขอให้เปลี่ยนโลโก้ แต่ไม่มีผลเพราะยี่ห้อของเซลล็อกซ์ในขณะนั้นเป็นของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้

ต่อมาภายหลังประสิทธิ์ได้ไปติดต่อกับบริษัทดัชต์ เคมิคัล โปรดักส์ เข้ามาเทคโอเอวร์ไทยไพโอเนียร์ฯ เรื่องยุ่งๆ จึงได้ยุติและจึงได้เจรจานำเอาแบรด์เซลล็อกซ์กลับคืนมาได้

ด้านบริษัทกระดาษไทย-สก๊อตต์เองก็ประสบปัญหาการเงิน ดีที่ว่าได้สก๊อตต์ เปเปอร์ บริษัทแม่ที่อเมริกามาอุ้มชูไว้ จนสามารถประคองตัวจนมีกำไร

ส่วนผ้าอนามัยเซลล็อกซ์ของประสิทธิ์ ณรงค์เดช ที่เป็นแบรนด์ของทางอนามัยภัณฑ์นั้นก็กำลังประสบภาวะวิกฤติถึงขั้นหยุดทำการผลิตทั้งๆ ที่เซลล็อกซ์เคยเป็นน้องใหม่มาแรงที่ทำเอาโกเต๊กซ์เจ้าตลาดในสมัยนั้นต้องเจ็บปวดมาแล้ว

เซลล็อกซ์หลังจากประสบความสำเร็จในครั้งนั้นก็ตกต่อลงไปเล็กน้อยตามหลักขึ้นสูงสุดแล้วมักจะกลับสู่สามัญ

สมัยนั้นเซลล็อกซ์ยังครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับสองรองจากโกเต๊กซ์ เพราะผ้าอนามัยแบบแถบปลายที่ฉีกตลาดออกไปจากโกเต๊กซ์ซึ่งกำลังสนุกสนามกับแบบห่วงอยู่

แต่พอหมดยุคแถบปลายก็เข้าสู่ยุคแถบกาวและยุคแถบกาวนี่แหละที่ทำเอาเซลล็อกซ์ย่ำแย่ เพราะออกช้าแถมมีปัญหาด้านการจัดจำหน่ายช่วงนั้นอนามัยภัณฑ์ย้ายสดริบิวเตอร์บ่อยมาก จากบอร์เนียวแล้วเอาไปขายเอง แล้วย้ายไปเบอร์ลี่ และก็ย้ายไปขายเองอีกครั้ง

เซลล็อกซ์มาดีอีกช่วงก็ตอนเซลล็อกซ์ 84 หลังจากที่ล้มเหลวจากเซลล็อกซ์จอย หลังจากนั้นเป็นต้นมาเซลล็อกซ์ก็ร่วงจากอันดับสองลงมาเพราะการเข้าตลาดของโมเดส ซึ่งประสบความสำเร็จเอามากๆ

เซลล็อกซ์ซึ่งยังสนุกสนานกับของแถมอยู่อย่างไม่ลืมหูลืมตาดูคู่แข่งไม่ยอมพัฒนาผลิตภัณฑ์

บอร์เนียวซึ่งเป็นฝ่ายการตลาดก็เคยเตือนไปหลายทีแล้วแต่ไม่ฟัง "แถมอยู่แต่หวี ไม่รู้จะขายหวีหรือจะขายผ้าอนามัยกันแน่" แหล่งข่าวกล่าวอย่างหงุดหงิด

บอร์เนียวก็เลยส่งไปให้เบอร์ลี่ เบอร์ลี่ทำตลาดให้ไม่ไหวก็ส่งไปให้บอร์เนียวอีก ส่งกลับไปกลับมา "เหมือนเมื่อคราวที่จะออกแถบกาวนั่นแหละ ทำให้เซลล็อกซ์พลาดเอามากๆ" คนวงการผ้าอนามัยวิจารณ์

จนปลายปี 2529 ประสิทธิ์ ณรงค์เดช ติดต่อทางโมลิเก้จากสวีเดนมาร่วมกันลงทุนเปิดโรงงานไทยแซนเซล

โมลิเก้ จากสวีเดน เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องการผลิตผ้าอนามัย "เรียกว่าสาวๆ สวีดิชเกือบๆ 100% ใช้ลีเบรส" คนรู้เรื่องดีเล่า

ลีเบรสเป็นผ้าอนามัยตัวใหม่ของประสิทธิ์ที่เขาคิดว่ามีอนาคต "ลีเบรสออกรูปทรงมาโค้งมนตลาดไปไม่สวยอย่างที่คิดเพราะสาวไทยยังไม่คุ้น" คนภายในกระซิบเรื่องตลาดให้ฟัง

เนื่องจากเป็นสินค้าตัวใหม่จึงต้องทุ่มเททรัพยากรอย่างเต็มที่ "ก็ดีใช้ได้นะมีมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 8%" แหล่งข่าวคุย

เซลล็อกซ์ผ้าอนามัยเจ้าเก่าก็เลยต้องหยุดผลิตบอร์เนียวไม่สบอารมณ์เป็นอย่างมากประกาศเลิกทำตลาดให้ ประสิทธิ์จึงต้องส่งไปให้เบอร์ลี่ทำอีกตัว

ในด้านการเมืองเอง ประสิทธิ์ก็ล้มเหลวไม่เหมือนเมื่อก่อนที่บุญพาวาสนาส่งได้เป็นถึงรัฐมนตรี

ปี 2526 สอบตกที่อุบลฯ มาปี 2529 เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนพรรคกิจประชาคมแถวๆ อุบลฯ "ในทางการเมืองประสิทธิ์เป็นคนใจไม่ถึง" ส.ส.คนหนึ่งวิจารณ์

ว่ากันว่าการที่ประสิทธิ์ไม่ลงสมัคร ส.ส.ครั้งนี้เป็นเพราะทางโมลิเก้ขอร้องว่าถ้าจะลงทุนร่วมกันห้ามสมัคร ส.ส.

โชคดีของประสิทธิ์ที่ไม่ลงสมัครเมื่อปี 2529 เพราะปีนั้นคนดังๆ สอบตกกันมากเหลือเกิน และโอกาสจะนั่งเก้าอี้เสนาบดีคงจะเลือนราง

ด้านการลงทุนผลิตผ้าเทียมเพื่อใช้ในวงการผลิตผ้าอนามัยกับบริษัทเปเปอร์แพคที่แอล.เอ.ก็ไม่แฮปปี้เท่าใดนักเพราะรัฐบาลไม่อำนวยความสะดวก

นอกจากนี้ประสิทธิ์ยังเผชิญกับยุทธวิธีใหม่ของสก๊อตต์ เปเปอร์ ดังกล่าวมาแล้ว

ประสิทธิ์หลังจากขายหุ้นไทย-สก๊อตต์ เปเปอร์ให้ทางบริษัทแม่ไปแล้ว เขาประกาศทันทีว่าเขาจะทำแบรด์เซลล็อกซ์ต่อไป

"เขาต้องทำต่อไปแน่ก็เซลล็อกซ์น่ะเขาสร้างมากับมือ และเป็นยี่ห้อที่ขายดีที่สุดในตลาดด้วยสก๊อตต์เองก็รู้เขาก็เสียดายอยู่ไม่น้อยที่ประสิทธิ์ไม่ยอมขายลิขสิทธิ์ยี่ห้อให้เขา" แหล่งข่าววงการกระดาษชำระบอก

ประสิทธิ์ก็ประกาศเช่นนั้นจริงๆ "ผมไม่ทิ้งเซลล็อกซ์แน่ๆ"

ประสิทธิ์พยายามหาแหล่งผลิตอื่นเพื่อผลิตเซลล็อกซ์ไม่ให้ขาดตลาด อันจะเป็นโอกาสทองให้แบรด์อื่นฉกฉวย

แต่ประสิทธิ์ก็ไม่สามารถหาแหล่งผลิตที่มีขนาดใหญ่และมีคุณภาพได้

เซลล็อกซ์จึงต้องหายไปจากท้องตลาดด้วยประการฉะนี้

ถึงเซลล็อกซ์จะมีผ้าอนามัยชื่อเดียวกันกับกระดาษชำระอยู่ แต่ก็หยุดทำการผลิตแล้ว

ช่วงนี้จึงเป็นช่วง "สูญญากาศเซลล็อกซ์" โดยแท้

จากนี้ไปบริษัทกระดาษไทย-สก๊อตต์จะดำเนินธุรกิจอย่างไรต่อไปในประเทศไทยหลังจากได้กว้านซื้อหุ้นจากประสิทธิ์ ณรงค์เดช เบอร์ลี่ยุคเกอร์และพนักงานบางส่วนจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

เรียกว่าสก๊อตต์ เปเปอร์ เทคโอเวอร์บริษัทกระดาษไทย-สก๊อตต์สำเร็จแล้วก็ว่าได้ เพราะครอบครองหุ้นถึง 80%

ปริศนาสำคัญข้อนี้จะเปิดออก ก็ต้องตอบปัญหาพื้นฐานสำคัญ นั่นคือยุทธวิธีที่สก๊อตต์ เปเปอร์ นำมาใช้คือ CONTROL OVER THE JOINT VENTURE WORK หรือไม่?

หลังจากบริษัทกระดาษไทย-สก๊อตต์ ประกาศเลิกผลิตกระดาษทิสชูยี่ห้อ เซลล็อกซ์ สิ่งที่แสดงถึงความตั้งใจอย่างแรงกล้าจนออกมาล้ำเส้นก็คือการส่งจดหมายเวียนไปตามร้านค้าว่าบริษัทกระดาษไทย-สก๊อตต์จะยุติการผลิตกระดาษชำระยี่ห้อเซลล็อกซ์โดยสิ้นเชิงดังไม่กล่าวมาแล้ว

เป็นการตัดบัวชนิดไม่เหลือเยื่อใย ชนิดไม่คำนึงถึงการร่วมเสพสุขมาเกือบ 20 ปี

"การส่งจดหมายเวียนครั้งนี้แสดงว่าเขามั่นใจว่า การเจรจาซื้อหุ้นจากประสิทธิ์คงจะเป็นผลสำเร็จ และเขาคงไม่แน่ใจว่าประสิทธิ์คงจะไม่ขายลิขสิทธิ์เซลล็อกซ์" แหล่งข่าวที่รู้เรื่องดีบอก

ดูรูปการณ์ที่ออกมาในครั้งนี้ไม่น่าแปลกใจเลยว่าน่าจะมีการเตรียมการมาก่อนแล้วเป็นแน่

การออกจดหมายไปตามร้านค้าทั่วประเทศอย่างนี้ไม่ใช่เป็นการบังเอิญแน่ๆ "ผมว่าต้องไปรับไฟเขียวไม่งั้นเขาไม่กล้าทำ" แหล่งข่าวฝ่ายประสิทธิ์ฮึดฮัด

และนั่นเป็นแผนการแรกที่จะ DISCREDIT เซลล็อกซ์อย่างไม่ต้องสงสัย "เราก็งงๆ จู่ๆ ก็ได้รับจดหมายเวียนจากบริษัทกระดาษไทย-สก๊อตต์ว่าจะเลิกผลิตเซลล็อกซ์แล้ว เพราะว่าบริษัทเขาผลิตทั้งสองยี่ห้อมาตลอดนี่" ยี่ปั้วย่านรังสิตบอกด้วยท่าทีที่ยังไม่หายจากอาการรุนแรง

แผนการต่อมาที่จะขจัดแบรนด์ รอยัลตี้ของเซลล็อกซ์ให้หมดจากหัวใจผู้บริโภคก็คือการใช้การโฆษณา

หลังจากเกิดกรณีจดหมายเวียนไม่นานบนจอโทรทัศน์ก็ปรากฎโฆษณาชิ้นหนึ่งเป็นกระดาษชำระยี่ห้อเซลล็อกซ์แล้วก็มีมือมาจับหันไปเป็นสก๊อตต์

เพื่อทำให้คนเข้าใจว่าเซลล็อกซ์ตายไปจากท้องตลาดแล้ว เพราะบริษัทกระดาษไทยสก๊อตต์ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซลล็อกซ์เลิกผลิต หันมาผลิตแต่ยี่ห้อสก๊อตต์แล้ว ใครที่เคยติดอกติดใจ "เซลล็อกซ์" ก็โปรดหันมาใช้สก๊อตต์แทน

เอเยนซี่ที่ทำโฆษณาชิ้นเฉียบนี้คือ เจดับบลิวทีหรือเจวอลเตอร์ทอมป์สันผู้เป็นต้นคิดทีสเซอร์แอดทีซิกมาที่มีบริษัทอื่นเลียนแบบกันอย่างมโหฬารและเจดับบลิวที นี่แหละที่บริษัทแม่ถูกดับบลิวพีพีกรุ๊ปของอังกฤษเทคโอเวอร์ ซึ่งมีผลมากต่อลูกค้าในอเมริกา แต่สำหรับเมืองไทยแล้ว ไม่เป็นไร

คนที่เห็นโฆษณาชิ้นนี้แล้วพอใจก็น่าจะเป็นคนของกระดาษไทย-สก๊อตต์ ซึ่งไม่รู้ว่าเกษม ณรงค์เดช ประธานกระดาษไทย-สก๊อตต์ จะเบิกบานสักเพียงใด

แต่ที่แน่ๆ คนที่หัวเสียและค่อนข้างจะขมขื่นมากก็นามสกุลณรงค์เดชเหมือนกัน เพียงแต่ชื่อประสิทธิ์เท่านั้นและคู่ซี้ของประสิทธิ์ก็ย่อมต้องไม่พอใจด้วยเช่นกัน นั่นคือเบอร์ลี่ยุคเกอร์

"เราเตรียมจะฟ้องแน่เรียกค่าเสียหาย 80 ล้านบาท ทำอย่างนี้เราเสียนี่" แหล่งข่าวในเบอร์ลี่คู่บุญของอนามัยภัณฑ์บอก

ล่าสุดได้ยื่นโนติ๊สไปแล้วว่าถ้าไม่ยุติการโฆษณาแบบกระทืบให้หายไปจากตลาดแบบนั้นจะฟ้องกันจริงๆ ล่ะ

ผลก็คือบนจอโทรทัศน์ไม่ปรากฏการหมุนเซลล็อกซ์อีกต่อไป

สงครามระหว่างอดีตพาร์ทเนอร์เริ่มแล้วค่อนข้างจะแจ่มชัดเสียด้วย ฝ่ายหนึ่งคือกระดาษไทย-สก๊อตต์ที่เกษม ณรงค์เดช ผู้น้องรั้งตำแหน่งประธานบริษัทอีกฝ่ายหนึ่งคือประสิทธิ์ ณรงค์เดชผู้ชอกช้ำ

ทั้งสองฝ่ายต่างสะสมยุทโธปกรณ์กันอย่างเปิดเผย

นั่นก็คือการประกาศตั้งโรงงานผลิตกระดาษกันอย่างขนานใหญ่

ประสิทธิ์ ณรงค์เดช หลังจากที่ไม่สามารถหาโรงงานที่มีศักยภาพทางการผลิตอย่างที่ต้องการได้แล้ว เขาจึงได้ร่วมกับทางการผลิตอย่างที่ต้องการได้แล้ว เขาจึงได้ร่วมกับทางเบอร์ลี่ยุคเกอร์ตั้งโรงงานผลิตกระดาษ ชื่อว่าไทเปเปอร์โปรดักส์ เงินลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท

แต่กว่ากระดาษทิสชูยี่ห้อเซลล็อกซ์จะเข้าสู่ตลาดอีกครั้งอย่างเร็วที่สุดก็ปลายปีนี้ แต่อย่างช้าก็ต้องปีหน้า

โอกาสของเซลล็อกซ์ช่างไม่สดใจเลย!!!

"ตอนนี้ทางโรงงานไทยแซนเซลลาได้สั่งซื้อเครื่องแปรรูปกระดาษเข้ามาแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 1 เครื่อง เอาไว้เพื่อผลิตกระดาษกล่อง" แหล่งข่าวบอกความคืบหน้า

ทางด้านบริษัทกระดาษไทย-สก๊อตต์นั้นเล่า

ไทย-สก๊อตต์เตรียมทุ่มเงินถึง 1,070 ล้านบาทในสามโครงการ

หนึ่ง ขยายกำลังผลิตเยื่อกระดาษ จาก 20 ตัน ต่อปีเป็น 50 ตันต่อปี โครงการนี้ลงทุน 650 ล้านบาท

สอง ขยายกำลังผลิตกระดาษชำระจาก 10,000 ตันเป็น 24,000 ตันต่อปี โครงการนี้ 300 ล้านบาท เริ่มปี 2532

สาม โครงการสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 4 เมกะวัตต์ โดยใช้ลิกไนต์ แกลบขยะเป็นเชื้อเพลิง 120 ล้านบาทสำหรับโครงการที่สามารถประหยัดต้นทุนไปได้ถึง 1,500 บาทต่อวัน

ถ้าทั้งสามโครงการสำเร็จดังที่ไทย-สก๊อตต์คุยไว้ เซลล็อกซ์เห็นท่าจะย่ำแย่แน่ๆ แต่ "ตอนนี้โรงงานกระดาษไทย-สก๊อตต์ อยู่ในภาวะอึมครึมมีการกแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างชัดเจน คือรู้ๆ อยู่ว่าใครจะออกไปอยู่กับคุณประสิทธิ์ แล้วตอนนี้นะคุณ เครื่องทำงานได้เพียงเครื่องเดียว อีกเครื่องไม่ทำงานเพราะช่างเตรียมลาออกไปอยู่กับคุณประสิทธิ์หมดแล้ว อีกไม่นานคงเห็นประกาศรับคนงาน" แหล่งข่าวที่รู้เรื่องดีแย้มให้ฟัง

ดูจากข่าวที่ผ่านสื่อมวลชนแล้ว ทั้งสองฝ่ายได้ลั่นกรองรบกันอย่างเปิดเผย

เพียงแต่ตอนนี้สก๊อตต์เป็นฝ่ายได้เปรียบมากๆ เท่านั้นเอง

ประสิทธิ์ ก็ชกลมไปก่อนปีหน้าฟ้าใหม่ก็คงจะได้ลดตลาดกันอย่างจริงๆ จังๆ อีกครั้ง

คราใดที่ประมุขยุทธจักร (MARKET LEADER) อ่อนแอ (VULNERABLE) มักจะมีผู้ต้องการประลองยุทธ์เพื่อขึ้นนั่งบัลลังก์แทนทุกครั้งไป

ประวัติศาสตร์ได้จารึกถึงความพ่ายแพ้ของบรรดาประมุขยุทธจักรไว้หลายบท เพียงแต่ว่าในปีนี้มิแน่ว่าอาจจะต้องเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งบทก็ได้

"แฟ้บ" เป็นที่เลื่องชื่อขนาดไหนคงไม่ต้องพูดถึงอีก ก็ขนาดเรียกชื่อแฟ้บแทนคำว่าผงซักฟอกก็คงจะเป็นหลักฐานยืนยันถึง "แบรนด์รอยัลตี้" ได้เป็นอย่างดี แต่แฟ้บก็สูญเสียตำแหน่งแชมป์ให้บรีสและในปัจจุบันยังตกเป็นรองเปาบุ้นจิ้นด้วย นั่นเป็นเพราะการดำเนินกลยุทธ์ผิดพลาดจนบัดนี้แฟ้บยังถือเป็นฝันร้ายและความหวังที่จะขึ้นสู่ประมุขยุทธจักรลางเลือนเหลือหลาย

เอ่ยชื่อยาสระผม เกือบทุกคนต้องนึกถึงแฟซ่า ถึงกับมีเพลงร้องกันเล่นในหมู่นักศึกษาว่า "แฟซ่าสระผม ยาอมโบตัน ฯลฯ" แต่เพราะแฟซ่าหายไปจากตลาดพักใหญ่ ตำแหน่งประมุขยุทธจักรยาสระผมก็ตกเป็นของซันซิลไปในที่สุด

แฟซ่าไม่มีทางช่วงชิงบัลลังก์กลับคืนมาได้อีกเลย เหมือนกับที่แฟ้บไม่สามารถช่วงชิงความเป็นเจ้าตลาดผงซักฟอกกลับคืนมาได้ มิหนำซ้ำส่วนแบ่งตลาดของค่ายคอลเกตเริ่มที่จะหดหายไป

โกเต๊กซ์ดำรงตำแหน่งยอดฝีมืออันดับหนึ่งในแขนงวิชาผ้าอนามัยมานานถึง 29 ปี ก็มีจอมยุทธ์ระดับ GURU มาท้าชิงมีนามกรว่า "เซลล็อกซ์" วิชาไม้ตายคือ "แถบปลาย" ซึ่งทำเอาโกเต๊กซ์เจ้าของสุดยอดวิชา "ห่วง" เกือบเอาตัวไม่รอด

โกเต๊กซ์มาเสียมงกุฎแชมป์ผ้าอนามัยให้กับ "โมเดส" จอมยุทธ์หน้าเก่าที่อำลายุทธจักรไปเมื่อหลายทศวรรษก่อน เมื่อกลับเข้าสู่บู๊ลิ้มพร้อมกับฝึกฝนวิทยายุทธ์อย่างช่ำชอง ด้วยการทะลวงเซ็กเม้นต์ใหม่และงัดเอากลยุทธ์ทางตลาดทุกรูปแบบมาใช้

เดี๋ยวนี้โมเดสเป็นราชินีผ้าอนามัยแทนโกเต๊กซ์เสียแล้ว

ตอนนี้โกเต๊กซ์อย่างมากก็เป็นแค่รองแชมป์

นั่นเป็นบทเรียนทางการตลาดในอดีตของการสูญเสียความเป็นผู้นำในแต่อุตสาหกรรม

ฉะนั้นการอำลายุทธจักรเพื่อฝึกวิทยายุทธ์ของเซลล็อกซ์ในครั้งนี้นับว่าหวาดเสียวแทนกระดาษชำระยี่ห้อนี้เป็นอย่างยิ่ง

ให้บุญชู โรจนเสถียร รักษาแบงก์กรุงเทพไว้ให้ชิน โสภณพนิช ยังง่ายเสียกว่าให้เก็บตำแหน่งแชมป์ไว้ให้เซลล็อกซ์

ที่สำคัญไม่มีใครเป็นผู้รักษาไว้เสียด้วย!!!

ยุทธจักรกระดาษชำระมีมูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท เป็นกระดาษชำระประมาณ 60% ที่เหลือเป็นกระดาษเช็ดหน้า กระดาษเช็ดมือ ฯลฯ

เฉพาะกระดาษชำระแบบม้วนแบ่งเป็นสามระดับ

ระดับบนราคา 6 บาท เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างเดลซี่ของค่ายคิมเบอร์ลี่-คล๊าคและเลดี้สก๊อตต์ของค่ายไทย-สก๊อตต์เปเปอร์

ผลการขับเคี่ยวกันดูเหมือนว่าเดลซี่จะมีภาษีมากกว่า เดลซี่ครอบคอรงส่วนแบ่งการตลาดกระดาษทิสชูประมาณ 20%

ระดับกลางขนาด 5 บาทเป็นการห้ำหั่นกันอยู่สองยี่ห้อ ซึ่งครอบครองส่วนแบ่งการตลาดรวมกันถึง 60% คือเซลล็อกซ์และสก๊อตต์

ทั้งคู่เป็นผลิตภัณฑ์ของไทย-สก๊อตต์ เปเปอร์แต่แบรด์เซลล็อกซ์ครอบครองพื้นที่การตลาดมากมายเกินครึ่ง

ซึ่งเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่สก๊อตต์ไม่พอใจเอามากๆ

ตลาดล่างราคา 4 บาท ก็มีแบรนด์ซอฟท์ในเครือไทย-สก๊อตต์ เปเปอร์ เป็นแบรนด์นำอีกเช่นเคย

ดูๆ ไปแล้วไทย-สก๊อตต์ เปเปอร์ คุมไว้ได้ทั้งสามระดับ คู่แข่งที่แท้จริงของไทย-สก๊อตต์ คือคิมเบอร์ลี่-คล๊าค ซึ่งที่ประชุมเคยถามว่าเมื่อติดเครื่องจักรแล้วจะชนะคิมเบอร์ลี่-คล๊าค ไหมวันนี้ก็คงได้รับคำตอบแล้ว

คิมเบอร์ลี่-คล๊าคในวันนี้อยู่ในสภาพที่อึดอัดมาก "เพราะสก๊อตต์วางหมากสกัดไว้หมด เดลซี่จะลดมาอยู่ระดับกลางก็ไม่ได้เพราะถ้ามาอยู่ระดับ 5 บาทเมื่อไร เป็นถูกเลดี้สก๊อตต์ช่วงชิงตลาดบนไปเป็นแน่" แหล่งข่าววงการกระดาษชำระบอก

ตลาดระดับกลางเมื่อสามารถกำจัดเซลล็อกซ์ออกไปจากตลาดได้เสียอีกหนึ่ง ตลาดนี้ผู้ที่จะเป็นเจ้าก็จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากสก๊อตต์

ลองว่าสามารถคุมตลาดกลางได้เท่ากับอนาคตเจ้ายุทธจักรอยู่แค่เอื้อม

เมื่อเปรียบเทียบทีมงานขายกันแล้ว "เซลส์ของสก๊อตต์มาถี่นะ มาเกือบทุกอาทิตย์แหละ แต่ของเดลซี่มาเดือนละครั้งได้" ยี่ปั้วใหญ่แถวรังสิตบอก

ยิ่งช่วงนี้เซลล์ของสก๊อตต์ทำงานหนักเพราะนี่เป็นโอกาสทองแล้ว ที่จะต้องรีบทำตลาดอย่างเต็มที่เนื่องจากเจ้ายุทธจักรเดิมหายไปจากท้องตลาดเพราะยุทธวิธีของสก๊อตต์นั่นเอง

เหลียวมองดูสก๊อตต์ในวันนี้จะย้อนไปดูบริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกาช่างมีบางสิ่งบางอย่างคล้ายคลึงกัน บริษัทแม่ที่อเมริกาเมื่อแข็งแรงดังเดิมแล้วก็ซื้อหุ้นคืนจากบริษัท BRASCAN จากแคนาดาเพื่อควบคุมการผลิตของบริษัทและกลยุทธ์นี้เองได้กลายมาเป็นยุทธวิธีของสก๊อตต์ในเอเชีย

ระยะแรกดูเหมือนว่ายุทธวิธีใหม่ของสก๊อตต์ค่อนข้างเวอร์ค เพราะคนส่วนใหญ่ก็หันกลับมาใช้ยี่ห้อสก๊อตต์แทน

ตั้งแต่ต้นปีมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองมาจากคิมเบอร์ลี่-คล๊าค ได้นำกระดาษชำระเดลซี่ขนาดใหญ่มูลค่า 8 บาทออกสู่ตลาด เน้นจุดขายที่ความประหยัดและคุณภาพ

คิมเบอร์ลี่-คล๊าค เริ่มเข้าสู่สมรภูมิแล้ว การออกขนาดใหม่นั่นเป็นการนำเอากลยุทธ์แบบตีโอบเข้ามาใช้

"เข้าสู่ตลาดที่ยังไม่มีคนสนใจ" เป็นวิธีการที่คิมเบอร์ลี่-คล๊าค หยิบขึ้นมาใช้เป็นการชิมลาง

"เพราะเดลซี่เขากระดาษเนื้อละเอียดมากๆ และบาง เวลาใช้ก็ต้องทบหลายๆ ชั้น มันจึงหมดเร็วกว่ายี่ห้ออื่น เขาก็เลยเพิ่มปริมาณ" แหล่งข่าวในวงการตั้งข้อสังเกต

สก๊อตต์จะประมาทเดลซี่ไม่ได้เช่นกัน เพราะเดลซี่เคยสร้างความฮือฮาในอดีตมาแล้วด้วยแคมเปญ "เศรษฐีเดลซี่" ทำเอาผู้ใช้รอเศรษฐีมาแลกเงินอยู่พักใหญ่

"อาจจะมีสัญญาณการแข่งขันเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น จับตาให้ดีก็แล้วกัน" แหล่งข่าวเตือน

การเข้ามาดำเนินยุทธวิธีใหม่ของสก๊อตต์ เปเปอร์ ในเอเชียในครั้งนี้ เป็นการยาตราของ GLOBAL CORPORATION ผู้ได้เปรียบกว่าประสิทธิ์ ณรงค์เดช ผู้ผลิตเซลล็อกซ์ในทุกๆ ด้าน

สก๊อตต์ มีข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันหลายประการ การเป็นบริษัทระดับโลก การมีเงินทุนพร้อม เทคโนโลยีทางการผลิต ช่องทางการจัดจำหน่ายการวิจัยและพัฒนา และที่สำคัญการที่สก๊อตต์ยังอยู่ในตลาด และในสภาวะที่เข้มแข็งด้วย

ล่าสุดไม่รุ้ว่พระเจ้าจะเข้าข้างสก๊อตต์หรือไรนิตยสารผู้บริโภคฉบับเดือนธันวาคม ได้มีการทดสอบกระดาษชำระ 11 ยี่ห้อ

ยี่ห้อที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติดีเด่นทุกประการมีเพียงยี่ห้อเดียวคือ สก๊อตต์ ทั้งสีและความสม่ำเสมอ สภาพของเนื้อกระดาษ ความสะอาดและรอยปรุ

โชคดีมักมาติดๆ กันอย่างนี้เสมอ

การทุ่มเททรัพยากรทั้งมวลของสก๊อตต์เข้าไทยในครั้งนี้ ผลที่ตามมาเป็นการสะท้อนการแยกทางเดินธุรกิจอย่างเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนของสองพี่น้องตระกูลณรงค์เดช

ประการถัดมาสก๊อตต์จะเพิ่มคู่แข่งขันในยุทธจักรกระดาษชำระรายใหม่ เพราะประมุขยุทธจักรคนเดิมถูกเบียดตกเวทีประวัติศาสตร์ไปแล้ว โดยสหายผู้ร่วมเสพสุขกันมาเกือบสองทศวรรษเสียด้วย

การร่วมมืออันยาวนานเกือบ 20 ปีได้สิ้นสุดลงแล้ว

แต่สงครามจริงๆ เพิ่งจะเริ่มต้น แต่คิดก็มันส์หยดแล้ว

ใครจะเป็นฝ่ายกำชัยระหว่าง DOMESTIC COMPANY ผู้เชี่ยวชาญสมรภูมิอย่างเซลล็อกซ์หรือ GLOBAL CORPARATION ผู้ชาญศึกอย่างสก๊อตต์ ผู้รอวันสวมมงกุฎเจ้ายุทธจักรอย่างเป็นทางการในเร็ววัน

แต่อย่างช้าปีหน้าของเซลล็อกซ์จะกลับมา

เตรียมคิดค้นกลยุทธ์ไว้รับมือเถอะ

"บิสสิเนส วอร์" ครั้งนี้ เลือดพล่าน อย่างไม่ต้องสงสัย!!!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.