สถาปัตยกรรมสีเขียว หวังทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ธนาคารกสิกรไทยใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการจัดหาสำนักงานใหม่แห่งที่ 3 เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานและสำนักงานใหม่แห่งนี้ยังเป็น Green Building ที่กสิกรไทยบอกว่าสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ธนาคารเลือกก่อตั้งสำนักงานใหม่แห่งที่ 3 อยู่ในบริเวณพื้นที่เมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ

ชื่อของอาคารแต่ละแห่งกำหนดไปตามชื่อถนน เหมือนอาคารสำนักงานใหญ่อีก 2 แห่งที่อยู่บนถนนพหลโยธินและถนน ราษฎร์บูรณะที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา

เป็นเรื่องจริงเมื่อธนาคารกสิกรไทยจะก่อตั้งสำนักงานใหม่ทุกครั้งจะคิดถึงเรื่องฮวงจุ้ยเป็นเรื่องสำคัญในอันดับต้นๆ ส่วนหนึ่งเพราะบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเชื่อว่าฮวงจุ้ยดีย่อมทำให้ธนาคารมั่งคั่ง

โดยเฉพาะอาคารราษฎร์บูรณะได้ปรับเปลี่ยนฮวงจุ้ยอยู่หลายรอบไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่ทั้งในอาคารและนอกอาคาร

แม้กระทั่งห้องทำงานของบัณฑูรก็ไม่เว้นจะต้องปรับเช่นเดียวกัน

สำนักงานใหญ่บนถนนพหลโยธินและถนนราษฎร์บูรณะ เป็นตึกที่ธนาคารกสิกรสร้างขึ้นใหม่ แต่สำนักงานใหญ่ถนนแจ้งวัฒนะ ธนาคารเลือกซื้อตึกเก่าปรับปรุง ให้เป็นตึกใหม่

แม้จะเป็นตึกเก่าที่นำมาปรับปรุงใหม่แต่เมื่อซินแสเข้ามาดูสถานที่แล้วแทบ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงฮวงจุ้ย

ธีรนันท์ ศรีหงส์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยบอกว่าซินแสให้ความเห็นว่าเป็นตึกที่ฮวงจุ้ยดีอยู่แล้วและหันหน้าไปทางทิศเหนือ

แต่หลักใหญ่ในการปรับฮวงจุ้ยของอาคารแจ้งวัฒนะจะเลือกให้ผู้บริหารทำงานบนชั้น 8 ซึ่งเป็นเลขมงคล

ส่วนตัวอาคารติดกระจกโดยรอบมีช้างหยกวางไว้ใกล้กระจกเพราะเชื่อว่าเป็น การสลายพลังที่จะเข้ามา

รวมทั้งวางเหรียญเงินเหรียญทองไว้ตามจุดต่างๆ ที่เป็นส่วนไหลเวียนเข้าออกของเงิน

การปรับฮวงจุ้ยเพียงเล็กน้อยทำให้ตึกแจ้งวัฒนะเป็นอาคารที่มีการปรับฮวงจุ้ยน้อยที่สุดเท่าที่เคยทำมา

ธนาคารเลือกวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นวันเปิดตัวอาคารอย่างเป็นทางการ มีการตั้งศาลติดตั้งครุฑหน้าอาคารและทำบุญเลี้ยงพระ

ก่อนที่ธนาคารจะซื้ออาคารดังกล่าว อาคารนี้เคยเป็นตึกเก่าร้างมากว่า 10 ปีหลังจากประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 มีอาคารเก่าอีกหลายหลังที่ตั้ง อยู่บริเวณเดียวกัน แต่ธนาคารกสิกรไทยตัดสินใจซื้อตึกเก่าและปรับปรุงใหม่ทั้งหมด

ตึกที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังของธนาคารยังเป็นอาคารเก่าที่ไม่ได้รับการปรับปรุงจนถึงวันนี้

ตึกที่อยู่ด้านหน้าของธนาคารกสิกร ไทยเป็นตึกที่ธนาคารนครหลวงไทยเป็นเจ้าหนี้ ส่วนตึกที่อยู่ด้านหลังมีธนาคารกรุงเทพเป็นเจ้าหนี้

ธนาคารซื้อตึกเก่าหลังนี้มาด้วยราคา 700 ล้านบาทและใช้งบประมาณตกแต่งปรับปรุงทั้งภายในและภายนอกเป็นจำนวนเงินประมาณ 3,000 ล้านบาททำให้ธนาคารประหยัดกว่าการสร้างตึกใหม่ 300 ล้านบาท

ธนาคารได้เปรียบเทียบการนำตึกเก่ามาปรับปรุงใหม่ทำให้ไม่ต้องลงทุนวัสดุใหม่ทั้งหมด พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นอย่าง เป็นรูปธรรมที่ทำให้ลดค่าใช้จ่ายโดยรวม

อาคารที่สร้างแล้วอยู่ในชุมชนที่มีระบบสาธารณูปโภคทำให้ประหยัดทรัพยากรหลายด้าน อาทิ เสาเข็ม 3,700 ต้น คอนกรีต 34,000 cu.m เหล็ก 6,850 ล้านกิโลกรัม และไม้แบบ 200,000 ตารางเมตร

อาคารแจ้งวัฒนะเป็นอาคารที่ธนาคารกำหนดแนวคิดให้เป็นต้นแบบอาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาตรฐานโลก หรือที่ธนาคารกสิกรไทยเรียกว่า "อาคารแจ้งวัฒนะ สถาปัตยกรรมสีเขียว" หรือ Green Building

อาคารแจ้งวัฒนะออกแบบและก่อสร้างโดยยึดมาตรฐานของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) เป็นระบบการวัดระดับความเป็นอาคารสีเขียวขององค์กรทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อดำเนินการสนับสนุนและให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดในเรื่องการออกแบบที่ยั่งยืนของประเทศสหรัฐอเมริกา U.S. Green Building Council (USGBC)

การออกแบบและก่อสร้างใช้มาตรฐาน TEEN (Thailand Energy & Environment Assessment Method) ประหยัดพลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อาคารมีทั้งหมด 11 ชั้นจากเดิมมี 10 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 66,000 ตารางเมตร

ชั้น 9-10 และชั้น 11 จะเดินทะลุหากันได้โดยมีบันไดเชื่อมอยู่ตรงกลางตึก เจ้าหน้าที่กสิกรบอกว่าทั้ง 3 ชั้น เรียกว่าใจบ้าน เป็นส่วนที่รับแสงเข้ามาภายในอาคารช่วยประหยัดพลังงาน

ส่วนชั้น 3-5 และชั้น 6 สามารถเดินทะลุได้เช่นเดียวกันโดยไม่ต้องใช้ลิฟต์ แต่อาคารแห่งนี้จะไม่มีชั้น 4 ซึ่งเป็นตัวเลข ที่คนจีนเชื่อกันว่าไม่เป็นมงคล

กระจกรอบตัวอาคารเป็น Insulated Laminate ไม่สะท้อนแสงและเป็นฉนวนใยแก้วกันความร้อน

การออกแบบและวัสดุกันความร้อน ทำให้แต่ละชั้นสามารถเดินหากันได้ทำให้ประหยัดไฟฟ้าได้ 30%

ส่วนน้ำที่ใช้ในอาคารแห่งนี้จะนำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) ทำให้ประหยัดน้ำได้ 50%

ความตั้งใจที่จะสร้างให้เป็นอาคารสีเขียวทำให้ธนาคารมีเป้าหมายมาตรฐานรางวัลระดับ Gold และอยู่ระหว่างยื่นเรื่องให้คณะกรรมการจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาตรวจสอบอาคาร

สำนักงานใหญ่แห่งที่ 3 อาคารแจ้งวัฒนะมีเป้าหมายเพื่อเป็นหน่วยงานสนับสนุนการทำงานและเป็นศูนย์คอมพิวเตอร์สำรอง

ส่วนอาคารราษฎร์บูรณะ ผู้บริหารจะนั่งเป็นหลักเพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายทิศทางธุรกิจ นอกจากนี้มีสายงานด้านธุรกิจบุคคล ฝ่ายบุคคลและฝ่ายไอทีบางส่วน

อาคารพหลโยธินเป็นฝ่ายปฏิบัติการ มีฝ่ายอนุมัติสินเชื่อ ฝ่ายบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้าและฝ่ายบริหารเครดิต เป็นกลุ่มทำงานที่เหมาะสมอยู่ใจกลางเมือง เพราะมีรถไฟฟ้า

ธีรนันท์บอกว่าการก่อตั้งอาคารสำนักงานใหญ่แห่งที่ 3 เป็นแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารที่ต้องการมีระบบสำรองรองรับการทำงานกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินกับอาคารพหลโยธินหรืออาคารราษฎร์บูรณะ

ตามหลักภูมิศาสตร์ที่เลือกตั้งสำนักงานบนถนนแจ้งวัฒนะเพราะอาคารอยู่ห่างจากอาคารพหลโยธิน 20 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากสำนักงานราษฎร์บูรณะ 45 กิโลเมตร

ด้วยระยะทางที่ไม่ไกลทำให้สามารถ ขนย้ายพนักงานและระบบการทำงานได้ในเวลา 20 นาที

อาคารแจ้งวัฒนะมีพนักงานทำงาน 2,500 คน ประกอบด้วยหน่วยงานหลายฝ่าย ศูนย์คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่เป็นศูนย์คอมพิวเตอร์สำรอง ฝ่ายปฏิบัติการผลิตภัณฑ์เครดิตผู้บริโภค ฝ่ายปฏิบัติการเงินสดและการชำระเงิน และบริษัท โพรเกรส กันภัย จำกัด และฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ (call center)

อาคารแห่งนี้ยังรับหน้าที่รับ-ฝากเงิน รวมถึงเป็นศูนย์ทดลองใช้บริการเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น ทดลองการประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เรนส์ (VDO Conference) หรือการประชุมเห็นหน้าโดยผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ทำให้พนักงานประหยัดเวลาในการเดินทาง

หากมองในมุมของยุทธศาสตร์การให้บริการรับฝาก-ถอนเงิน ธนาคารกสิกรสามารถให้บริการลูกค้าในเมืองทองธานีที่มีที่พักอาศัยจำนวนมาก แม้จะมีตึกร้างอยู่บ้างก็ตามแต่ก็มีชุมชนขนาดใหญ่ที่อยู่โดยรอบเมืองทองธานี

ธนาคารกสิกรไทยก็ไม่ปฏิเสธว่าส่วนหนึ่งเพื่อรองรับบริการลูกค้ากลุ่มข้าราชการที่กำลังผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดบน ถนนแจ้งวัฒนะที่จะเริ่มมาทำงานในเร็วๆ นี้

ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเป็นอีกราย หนึ่งที่มองเห็นยุทธศาสตร์นี้เช่นเดียวกันได้เข้าไปยึดภูมิศาสตร์บนถนนแจ้งวัฒนะที่อยู่ตรงกันข้ามกับกระทรวงยุติธรรมพร้อม เปิดตัวไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

แม้ธนาคารประเมินว่าลูกค้าส่วน ใหญ่ที่ใช้บริการเป็นลูกค้าทั่วไปที่มีรายได้ ไม่สูงมาก เป็นกลุ่มที่ต้องการใช้บริการโอน เงินไปต่างจังหวัด ทำให้อาคารแจ้งวัฒนะ ติดตั้งระบบเอทีเอ็ม ฝาก ถอน โอนเงินไว้นอกอาคาร คาดหวังจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียม

เป้าหมายของธนาคารกสิกรไทยจะชูภาพลักษณ์อาคารแจ้งวัฒนะให้เป็นสถาปัตยกรรมสีเขียวแต่การเลือกถนนแจ้งวัฒนะเป็นสำนักงานใหญ่แห่งที่ 3 ก็ได้รับประโยชน์ทางด้านธุรกิจควบคู่ไปด้วย

การมองข้ามช็อตของธนาคารกสิกรไทยน่าจะทำให้อาคารแจ้งวัฒนะได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่องในคราวเดียวกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.