|
GMS in Law กรณีศึกษา...จากมาบตาพุดสู่นครหลวงเวียงจันทน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ประเด็นซึ่งเป็นที่สนใจและเป็นที่กล่าวขานกันทั่วไป ไม่แพ้ประเด็นทางการเมืองในประเทศในช่วงที่ผ่านมาคงจะหนีไม่พ้น คำพิพากษาของศาลปกครองจังหวัดระยอง ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศพื้นที่เขตมาบตาพุดและบ้านฉาง ซึ่งเป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แหล่งเงินได้ที่เกิดจากการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) แหล่งใหญ่ของประเทศให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมมลพิษ ซึ่งจะนำไปสู่รูปแบบการจัดการที่แตกต่างจากระบบในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือจะมีการออกมาตรการเฉพาะขึ้นโดยเป็นการนำเสนอเบื้องต้นมาจากหน่วยงานระดับท้องถิ่น โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ นอกเหนือจากนโยบายโดยตรงจากส่วนกลางเท่านั้น
ข่าวการประกาศเขตควบคุมมลพิษดังกล่าว นำไปสู่ความตื่น-ตระหนกสำหรับนักลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก ด้วยเกรงจะกระทบกับการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ กรณีศึกษามาบตาพุดจึงถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในแวดวงสังคม ในฐานะบทเรียน การพิจารณาความสมดุลระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศกับสิทธิของชุมชนในด้านสิ่งแวดล้อม อันเป็นสิทธิที่รับรองภายใต้รัฐธรรมนูญ
สำหรับประเทศไทย นักลงทุนจำนวนมากมองว่าการก้าวมาตัดสิน โดยใช้หลักการของตุลาการภิวัฒน์ของศาลปกครองในกรณีนี้เป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ทำให้นักลงทุนจำนวนมากต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ นอกจากเรื่องของกฎหมายทั่วไปหรือด้านผลตอบแทน
แต่สำหรับนักลงทุนที่จะไปลงทุนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหลักที่ต้องคำนึงถึงตลอดมา ทั้งนี้เพราะรัฐบาลของ สปป.ลาวนั้นได้ให้ความสำคัญกับการปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศชาติในทุกภาคส่วนการลงทุน
บทความฉบับนี้ดิฉันจึงตั้งใจจะนำเสนอมุมมองของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ รวมถึงกฎหมายของ สปป.ลาว ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความแตกต่างกับมุมมองและการดำเนินการของรัฐบาลประเทศไทยในบางส่วน ซึ่งเป็นนัยสำคัญ โดยเฉพาะในส่วนของขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายและมาตรฐานในส่วนของการพิจารณาความเพียงพอในการปกปักรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการเตรียมตัวลงทุนในประเทศดังกล่าวซึ่งความเข้าใจในพื้นฐานที่ถูกต้อง ย่อมนำไปสู่การลงทุนที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับของชุมชนและรัฐบาล ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง
การให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลของ สปป.ลาวนั้นให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม อันถือเป็นมรดกร่วมกันของคนในชาติอย่างมาก จะเห็นได้จากนโยบายในการปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมที่จะมีการสอดแทรกอยู่ในกฎหมายเกือบทุกฉบับในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ หรือภายในประเทศ กฎหมายที่ดิน กฎหมายกสิกรรม กฎหมาย ท่องเที่ยว เป็นต้น โดยจะมีการกำหนดเป็นหน้าที่หลักสำหรับนักลงทุน ไม่ว่าจากภายใน หรือภายนอกประเทศที่จะเข้ามาลงทุนดำเนินการใดๆ ในประเทศในการที่จะต้องมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมในบริเวณที่ดำเนินการลงทุนนั้น
นอกจากในกฎหมายจะระบุไว้อย่างชัดเจนแล้ว เมื่อพิจารณาในส่วนของการตีความของหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด เช่น กระทรวงวางแผนและการลงทุน องค์การคุ้มครองที่ดินแห่งชาติ องค์การท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือกระทรวงใดๆ ก็ล้วนแต่คำนึงถึงปัจจัยด้านการดำเนินการปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญเช่นกัน โดยถือว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่จะมีการให้ความสำคัญ ซึ่งจะมีการสอบถามนักลงทุนที่จะเข้ามาเริ่มดำเนินการลงทุนใดๆ ก็ตามใน สปป.ลาว
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากจะถูกกำหนดเป็นหลักการกว้างๆ ทั่วไปให้ต้องปกปักรักษา ตามหลักการทั่วไปของกฎหมายแล้ว ในการดำเนินการลงทุนเป็นโครงการ ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ รัฐบาลยังได้กำหนดภาระบทบาทเป็นการเฉพาะสำหรับนักลงทุนในการที่ต้องดำเนินการทำบทรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงแผนการในการจัดการกับผลกระทบดังกล่าวอย่างครบวงจร (Environmental and Social Impact Assessment and its management plan: EIA, SIA and EMP) ขึ้นอีกด้วย ซึ่งการจัดทำรายงานดังกล่าวในบางกรณีถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่นักลงทุนต้องดำเนินการให้สมบูรณ์ก่อน เพื่อดำเนินการเข้าทำสัญญาหรือขอรับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐบาล หากไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง ย่อมเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการดำเนินการขั้นต่อๆ ไปของนักลงทุน
ยกตัวอย่างเช่น หากนักลงทุนจะดำเนินการเข้าดำเนินโครงการและต้องดำเนินการเช่า หรือทำสัมปทานที่ดินจากรัฐบาล ภายใต้กฎหมายที่ดินและกฎหมาย ป่าไม้ จะมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า นักลงทุนดังกล่าวต้องจัดทำบทรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยต้องได้รับการรับรองและได้รับทะเบียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน จึงจะสามารถดำเนินการทำสัญญาเช่าที่ดิน หรือสัมปทานที่ดินบริเวณดังกล่าวได้
หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในภาพรวม
รัฐบาลแห่ง สปป.ลาวได้จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อพิจารณาดูแลเรื่องของสิ่งแวดล้อมภายในประเทศทั้งระบบขึ้น คือ องค์การทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม (Water Resource and Environmental Authority: WREA) ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เพิ่งได้จัดตั้งขึ้นและได้รับการโอนอำนาจในด้านการดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาจากหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (Science, Technology and Environmental Authority: STEA) ปัจจุบัน STEA จะพิจารณาเฉพาะในส่วนของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะที่ WREA จะพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรวมศูนย์ครบวงจร
ในการดำเนินการของ WREA นั้น มีการจัดตั้งหน่วยงานย่อยขึ้นเพื่อดำเนินการรับผิดชอบงานในส่วนที่แตกต่างกันไป โดยหน่วยงานที่มีความสำคัญซึ่งนักลงทุนจำนวนมากต้องไปติดต่อ คือ หน่วยงานรับผิดชอบตรวจสอบบทรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental and Social Impact Assessment Authority: ESIA) ซึ่งจะรับผิดชอบตรวจสอบบทรายงานทุกฉบับที่นักลงทุนดำเนินการทำมา เพื่อออกใบทะเบียนยืนยันด้านสิ่งแวดล้อมรับรองให้กับนักลงทุน โดยหน่วยงาน ESIA มีการกำหนดส่วนแยกย่อย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบเชี่ยวชาญเฉพาะของแต่ละประเภทของหน่วยงาน เช่น หน่วยงานเฉพาะสำหรับกลุ่มธุรกิจกสิกรรมและอุตสาหกรรมทั่วไป หน่วยงานเฉพาะสำหรับกลุ่มธุรกิจประเภทการทำเหมืองแร่ หรือกลุ่มธุรกิจประเภททำโรงไฟฟ้า เป็นต้น ในหน่วยงานดังกล่าวก็จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในและนอกประเทศมาช่วยกันพิจารณาความเพียงพอของบทรายงานที่นำมาเสนอดังกล่าว
ขอบเขตบังคับสำหรับประเภทโครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม
สำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงาน STEA ดำเนินการจัดทำระเบียบการว่าด้วยการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมใน สปป.ลาว (Regulations on Environment Assessment in the Lao PDR) ขึ้น ซึ่งระเบียบการดังกล่าวถือเป็นระเบียบการหลักควบคุมการดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมทั้งหมดในประเทศ
โดยขอบเขตการบังคับใช้นั้นเขียนไว้กว้างมาก คือทุกๆ โครงการพัฒนาต้อง จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ไม่ว่าขนาดของโครงการดังกล่าวจะเป็นขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ต้องดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ดำเนินการก่อสร้างโรงงานเล็กๆ โรงแรมไปจนถึงการดำเนินการจัดทำโรงไฟฟ้า ต้องทำบทรายงานทั้งหมด แต่อาจแตกต่างกันที่ว่าบางประเภทอาจดำเนินการเพียงการประเมินผลกระทบในเบื้องต้น (Initial Environment Examination: IEE) เท่านั้น แต่ในบางประเภทที่มีผลกระทบรุนแรงก็ต้องดำเนินการจัดทำบทรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA)
ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดกรอบที่ชัดเจนในส่วนของการแบ่งประเภทหรือขนาดโครงการที่ต้องทำ IEE หรือ EIA จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยลำพัง ซึ่งจะพิจารณาจากการนำเสนอ Term of Reference และ Project Description ของโครงการนั้นๆ เป็นหลัก แต่ทั้งนี้หน่วยงาน WREA กำลังดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ ซึ่งจะมีความชัดเจนในประเด็นดังกล่าวมากขึ้น
การพิจารณาความสมบูรณ์ครบถ้วน ของบทรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม
ตามระเบียบการว่าด้วยการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น นักลงทุนเองนั้นไม่สามารถดำเนินการจัดทำบทรายงานเองได้ ทั้งนี้เนื่องจากมีการกำหนดคุณสมบัติโดยเฉพาะของผู้ที่จะทำรายงานผลกระทบดังกล่าวไว้ ต้องเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงาน ESIA ไว้ สำหรับบริษัทที่ให้บริการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยนั้นมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้ขึ้นทะเบียน นักลงทุนจึงต้องพิจารณาในประเด็นดังกล่าวด้วย เพื่อให้การจัดทำบทรายงานผลกระทบดังกล่าวถูกต้องสมบูรณ์
สิ่งที่นักลงทุนต้องพิจารณาก่อนดำเนินโครงการใดๆ ก็ตาม ภายใน สปป. ลาว คือโครงการดังกล่าวจะใช้พื้นที่บริเวณ ใด จะมีผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด มีวิธีการจัดการลดผลกระทบดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง ซึ่งทั่วไปแล้วส่วนของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้น สามารถจัดการได้ด้วยระบบภายในของนักลงทุนเอง
สำหรับส่วนของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนี้หากเป็นโครงการขนาดใหญ่มากอาจต้องมีจัดการประชุมให้นักลงทุนเข้าไปตอบคำถาม ข้อสงสัยของหน่วยงาน ESIA อาจมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ตามโครงการให้ความช่วยเหลือจาก World Bank มาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นมาตรฐานในการประเมินและพิจารณาความสมบูรณ์ของบทรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังกล่าวจะถูกยกระดับให้สูงขึ้น เป็นระดับ World Bank Guideline และอาจมีการปรับยกระดับตามการพัฒนาเพิ่มเติมของมาตรฐาน World Bank นอกจากนี้อาจมีการกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เข้ามาบังคับให้นักลงทุนต้องดำเนินการเพิ่มเติม เช่น ISO System เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนเองต้องพิจารณาในส่วนของมาตรฐานดังกล่าวอย่างละเอียด ก่อนจะตกลงผูกพันในบทรายงานที่ผ่านหน่วยงาน ESIA ดังกล่าว แต่ทั้งนี้หากนักลงทุนมีมาตรฐานหรือวิธีการอื่นๆ ในการดำเนินการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า ก็สามารถนำเสนอเพื่อขอให้หน่วยงานผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวพิจารณาเห็นชอบได้
แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม นักลงทุนต้องพิจารณาในส่วนของผลกระทบทางด้านสังคมของคนในบริเวณดังกล่าวอย่างมาก เพราะหากมีผลกระทบอย่างไร ต้องมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ (Public Hearing and Involvement) ให้ครบถ้วนและต้องมีการกำหนดแผนการในการบรรเทาผลกระทบดังกล่าวให้ชัดเจน ทั้งนี้การจัดการด้านสังคมและชุมชน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หน่วยงาน WREA ให้ความสำคัญมาก มีการกำหนดมาตรฐานเฉพาะ เป็นหลักการเบื้องต้นในการดำเนินการจัดทำแผนจัดการสังคมและชุมชนขึ้น
นอกจากนี้หากต้องมีการดำเนินการโยกย้ายประชาชนในชุมชนเดิมนั้นออกจากพื้นที่ กรณีดังกล่าวจะสร้างความยุ่งยากในการทำบทรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับนักลงทุนอีกเป็นอย่างยิ่ง เพราะหน่วยงานภาครัฐของ สปป.ลาว ให้ความสำคัญและคุ้มครองสิทธิของชุมชนในด้านของการต้องถูกบังคับโยกย้ายที่ดินของประชาชนอย่างมาก กล่าวคือหากจะต้องมีการโยกย้ายประชาชน ประชาชนที่ถูกโยกย้ายต้องได้รับการจัดรูปแบบการดำเนินชีวิตใหม่ที่มีมาตรฐานดีขึ้น หรือเท่าเทียมกับมาตรฐานการดำเนินชีวิตอยู่ในบริเวณเดิมและต้องมีการจ่ายค่าชดเชย ให้กับชุมชนดังกล่าว ภายใต้หลักการ Land for Land and House for House หากได้ไม่เท่าเดิม ก็ต้องมีการจ่ายเงินเพื่อชดเชยส่วนที่ขาดหายของประชาชนดังกล่าว ภายใต้หลักการ Regulation of Resettlement Action Plan and Compensation ซึ่งกำหนดขึ้นโดย WREA เป็นการเฉพาะ
การพิจารณาความครบถ้วนสมบูรณ์ของบทรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของ ESIA และหน่วยงานอื่นๆ ของ WREA นั้น จะพิจารณาในแง่ของวิธีการจัดการต่างๆ และพิจารณาในส่วนของการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินโครงการส่วนต่างๆ อีกด้วย ซึ่งจะต้องมีการกำหนดจัดสรรงบประมาณบางส่วนให้แก่หน่วยงาน WREA ระดับท้องถิ่น ในแขวงต่างๆ เพื่อดำเนินการตรวจสอบการดำเนินงานของนักลงทุนแต่ละโครงการด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการกำหนดต้นทุนมูลค่าโครงการ (Project Cost) ของนักลงทุน
กองทุนปกปักรักษาสิ่งแวดล้อม
นอกจากข้อกำหนดในส่วนของการจัดทำบทรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว นักลงทุนยังมีภาระบทบาท เพิ่มเติมที่ดำเนินการจัดสรรงบประมาณ บางส่วนจาก Project Cost เพื่อเข้ากองทุนปกปักรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายจัดตั้งกองทุน โดยกองทุนดังกล่าวจัดตั้งขึ้นในระดับศูนย์กลาง คืออยู่ภายใต้ WREA สำนักนายกรัฐมนตรี แต่การนำใช้งบประมาณดังกล่าวจะนำใช้เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นที่นักลงทุนดำเนินโครงการเป็นหลัก ตามบทบัญญัติกฎหมายจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ขอบเขตการบังคับใช้ของกฎหมายนั้นครอบคลุมโครงการต่างๆ ที่ลงทุนใน สปป.ลาว เป็นวงกว้างมากเช่นเดียวกับระเบียบการว่าด้วยการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ในการตีความของเจ้าหน้าที่กองทุนเองนั้น ในปัจจุบันจำกัดวงของโครงการที่ต้องจัดสรรงบประมาณไว้เพียงโครงการขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ เป็นหลักเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในอนาคตภายหลังการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องใน สปป.ลาว ซึ่งรวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มีแนวความคิดที่จะเสนอขยายขอบการบังคับใช้ให้โครงการอื่นๆ เข้าร่วมมีภาระบทบาทในการจัดสรรเงินเข้ากองทุนเช่นกัน
กรณีศึกษาจากมาบตาพุดสู่นครหลวง เวียงจันทน์
จากการศึกษาคำพิพากษาของศาลปกครองจังหวัดระยอง ประกอบกับหลักการต่างๆ ของกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย จะเห็นได้ว่า การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยนั้นเป็นการใช้อำนาจแบบรวมศูนย์ทั้งหมด และจำกัดวงในการจัดทำแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมไว้สำหรับโครงการเพียงบางประเภท ตามประกาศของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ไม่ได้กำหนดครอบคลุมการดำเนินโครงการ ทั้งหมดในประเทศให้เป็นทิศทางที่ต้องมีรูปแบบการดำเนินการประเมินผลกระทบและการจัดการสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ แต่จะเป็นไปในลักษณะของการจัด Zoning ประกาศเขตควบคุมเฉพาะมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการประกาศในแง่ของ กฎหมายสิ่งแวดล้อม ดังเช่นกรณีศึกษามาบตาพุดที่ออกมาในรูปแบบของการกำหนดเป็นเขตควบคุมมลพิษ หรือรูปแบบ ผ่านกฎหมายผังเมือง ควบคุมอาคาร หรือ กฎหมายอื่นๆ ส่วนประเด็นสำหรับสิทธิของชุมชนในด้านสิ่งแวดล้อมนั้น แม้จะมีการกำหนดรับรองเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ขาดกลไกที่ชัดเจน ในการคุ้มครองเป็นหลักการละเอียดสำหรับการนำใช้สิทธิดังกล่าว
ในทางตรงกันข้าม สำหรับมุมมองของรัฐบาล สปป.ลาว จะมีการกำหนดคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในทุกภาคส่วน ตั้งแต่วันแรกที่นักลงทุนเข้ามาเสนอดำเนินโครงการ โดยจะต้องจัดทำบทรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับบทวิพากษ์ เศรษฐกิจและสังคม (Feasibility Study) จะเป็นการนำเสนอปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ เป็นหลัก โดยรูปแบบการจัดทำบทรายงาน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเบื้องต้นหรือในลักษณะครบวงจรก็ต้องมีการจัดทำ โดยหน่วยงานของรัฐบาลจะพิจารณาเจาะเป็นแต่ละโครงการเป็นการเฉพาะ ไม่ได้มีระบบการจัด zoning แต่อย่างใด ซึ่งขอบเขตการบังคับจัดทำบทรายงานผลกระทบนั้นครอบคลุมกิจการ ตามโครงการทุกประเภท ซึ่งกว้างกว่าที่นำใช้ในกฎหมายของประเทศไทยมาก และในการดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบและการพิจารณาของหน่วยงานราชการจะมีการรับรองสิทธิชุมชนในด้านสิ่งแวดล้อมไว้อยู่แล้วเป็นการชัดเจน มีการกำหนดกลไกรายละเอียดชัดเจนกว่า ที่เป็นอยู่ของประเทศไทย ประกอบกับมาตรฐานของรัฐบาล สปป.ลาวนั้น ยึดตาม แนวทางของ World Bank ค่อนข้างมาก เป็นมาตรฐานที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว
ดังนั้น นักลงทุนที่ต้องการดำเนินโครงการไม่ว่าโครงการใดๆ ใน สปป.ลาว จึงต้องทำความเข้าใจในส่วนของการให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานรัฐบาลให้มาก เพราะดำเนินการให้ถูกต้องย่อมนำไปสู่การยอมรับทั้งในระดับชุมชนและระดับชาติ ซึ่งการยอมรับและความร่วมมือดังกล่าวเป็นปัจจัยช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินการทุกส่วนของนักลงทุนได้มากเลยทีเดียว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|