|
CIMBใช้BTปล่อยกู้รายใหญ่
ผู้จัดการรายวัน(1 เมษายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ไทยธนาคารเปิดแผนดำเนินธุรกิจหลัง "สุภัค" นั่งซีอีโอ-เอ็มดี มุ่งขยายฐานลูกค้ารายใหญ่ผ่านเครือข่ายซีไอเอ็มบี ปรับโครงสร้างการบริหาร กดดันระดับผู้จัดการสาขาต้องมีศักยภาพชัดเจน รับปีนี้อาจยังไม่มีกำไรสุทธิเหตุต้องลงทุนเพิ่มหลังลุยขยายธุรกิจ และเดินหน้ารวมบล.บีที-บล.ซีไอเอ็มบี จีเค คาดเสร็จสิ้นใน 6 เดือน พร้อมสรุปแผนโดยรวมภายในเดือนพ.ค.นี้ ยันไม่มีแผนเออร์รีไทร์ หรือเปิดให้พนักงานหยุดโดยไม่รับเงินเดือนเหมือน บ.แม่
นายดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค ประธานบริหารกลุ่มซีไอเอ็มบี กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT เปิดเผยว่า การเพิ่มทุนของธนาคารไทยธนาคารโดยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนและการออก Hybrid Tier 2 ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 5,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว ทำให้ทางซีไอเอ็มบีมีสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารเพิ่มเป็น 93.15% ซึ่งการเพิ่มทุนดังกล่าวช่วยให้ธนาคารมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้นและมีความพร้อมที่จะเดินหน้าการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์แบบเต็มรูปแบบ โดยปัจจุบันเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารอยู่ที่ 12% เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier1) 6%
ทั้งนี้ ในส่วนของกระบวนการปรับเปลี่ยนชื่อธนาคารไทยธนาคารมาเป็น ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) นั้น คาดว่าจะทำได้แล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นมิถุนายนนี้ โดยขณะนี้รอเพียงการได้รับอนุญาตจากทางการเท่านั้น ส่วนโครงการปรับเปลี่ยนไทยธนาคาร (BankThai's Transformation Programme) นั้น ขณะนี้ได้เสร็จสิ้นขั้นตอนการวิเคราะห์แล้ว และได้เริ่มต้นเข้าดำเนินการเกี่ยวกับงานที่สามารถบรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว ได้แก่ การปรับปรุงกระบวนการทำงาน การเพิ่มผลิตภัณฑ์ และการพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับเครือข่ายของธนาคาร
อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจของธนาคารนั้นจะยังคงมุ่งไปที่ลูกค้าธุรกิจรายใหญ่เป็นหลัก เนื่องจากการปรับปรุงธุรกิจสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว ส่วนของธุรกิจรายย่อยนั้นธนาคารก็ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่ในการปรับปรุงพัฒนาจะมีขั้นตอนที่มีรายละเอียดมากกว่า จึงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
"ตอนนี้ยังไม่มีแผนที่จะนำหุ้นของไทยธนาคารออกจากตลาดหลักทรัพย์ แต่เมื่อกระบวนการต่างๆเสร็จสิ้นแล้ว ก็เพียงแต่จะเปลี่ยนชื่อที่ใช้เท่านั้น ส่วนเงินทุนของไทยธนาคารจะเพียงพอต่อการธุรกิจนานแค่ไหนนั้น เชื่อว่าเมื่อทำธุรกิจแล้วมีกำไรก็จะสามารถเดินต่อไปได้เรื่อย ๆ แต่ถ้าขาดเหลือทางซีไอเอ็มบีก็พร้อมจะใส่เติมเข้าไป"
สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทยังมีผลขาดทุนสุทธิ แม้ว่าการทำธุรกิจตามปกติจะมีกำไร หลังจากขยายธุรกิจเพิ่ม อาทิ ด้านคอร์เปอร์เรท วาณิชธนกิจ แต่ธนาคารจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อลงทุนปรับปรุงระบบ ,โครงสร้างองค์กร จึงทำให้ปีนี้อาจจะยังไม่มีกำไรสุทธิ
เปิด3แผนงานเร่งด่วน
ด้านนายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยธนาคาร กล่าวว่า แผนดำเนินการเร่งด่วนภายหลังจากเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารนั้น มี 3 อย่างคือ การจัดระบบตำแหน่งการบริหารโดยจะต้องมีการพิจารณาและปรับปรุงกระบวนการทำงานของโครงสร้างการบริหารใหม่ โดยเฉพาะผู้จัดการสาขาต่างๆ ต้องแสดงศักยภาพให้เห็นได้อย่างชัดเจน โดยอาจปิดบางสาขาที่ไม่ทำกำไร หรือโยกย้ายผู้จัดการสาขา อย่างไรก็ตาม การปิดสาขาไม่ได้ทำเพื่อลดต้นทุนเพียงอย่างเดียว เพราะจะมีการย้ายไปเปิดสาขาใหม่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการแข่งขัน เช่น ศูนย์การค้า หรือสถานที่สำคัญต่างๆ
นอกจากนี้ จะเร่งผลักดันธุรกิจสินเชื่อประเภท Corporate และ Investment Banking โดยจะขยายขอบเขตในการรุกสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงการปล่อยสินเชื่อแต่เมื่อมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างซีไอเอ็มบีเข้ามาชี้นำแนวทาง และให้การสนับสนุนในเครือข่ายธุรกิจน่าจะทำให้สายงาน Corporate เติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็วและเพิ่มการบริการใหม่เช่นที่ปรึกษาทางการเงิน Trade Finance, Cash Management รวมถึงเป็นที่ปรึกษาในการออกหุ้นกู้และควบรวมกิจการ โดยซีไอเอ็มบีเป็นกลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินขนาดใหญ่ของประเทศมาเลเซียและเป็นกลุ่มธนาคารผู้นำด้านธุรกิจธนาคารแบบครบวงจร (Universal Bank) ชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีเครือข่ายสำนักงานกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ทั้ง สิงคโปร์ อินโดนีเซียและประเทศไทย
"ธนาคารจึงเล็งเห็นว่าจะเป็นการเอื้ออำนวยให้มีฐานลูกค้าเป็นกลุ่มบริษัทที่ประกอบธุรกิจข้ามชาติและมีการทำธุรกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเท่าที่เห็นก็มีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งเข้าไปลงทุนในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็น BANPU, PTT ,CPF ซึ่งด้วยเครือข่ายของซีไอเอ็มบีที่มีครอบคลุมน่าจะทำให้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้หันมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคาร ซึ่งเป็นสาขาของซีไอเอ็มบี แต่ธนาคารยังคงมุ่งเน้นสร้างการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย ซึ่งถือเป็นฐานลูกค้าสำคัญของธนาคารอยู่ต่อไปเช่นกัน"
และอีกด้านเป็นการปรับปรุงด้านการให้บริการกับลูกค้า โดยทางซีไอเอ็มบี กรุ๊ปได้ส่งทีมงานเข้ามาแนะนำเกี่ยวกับการให้บริการที่รวดเร็วและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วรวมทั้งการที่ซีไอเอ็มบีเป็นผู้ประกอบธุรกิจธนาคารแบบครบวงจรจะช่วยในเรื่องจำนวนสาขาที่ครอบคลุมความต้องการ นอกจากนี้ยังมีบริการและผลิตภัณฑ์ด้านการเงินอื่นๆ ทั้งการประกันภัยและบริษัทหลักทรัพย์
ส่วนแผนงานธุรกิจโดยรวมนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม ส่วนแผนงานของสายงานธุรกิจรายใหญ่นั้น กลยุทธ์ในการทำตลาดต่อจากนี้จะไม่มุ่งแค่การปล่อยสินเชื่อเท่านั้น แต่จะมีการให้บริการในหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น วาณิชธนกิจ การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการออกหุ้นกู้รวมถึงการควบรวมกิจการ การรับบริหารเงินสด หรือธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น เนื่องจากการมีซีไอเอ็มบีร่วมเป็นพันธมิตรนั้นจะเป็นส่วนช่วยให้การทำธุรกิจในสายงานนี้จะมีการเติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
"เดิมเราเป็นแบงก์ที่อยู่เดี่ยว ๆ แต่ตอนนี้เรามาอยู่ในกลุ่มซีไอเอ็มบีทำให้เรามีเครือข่ายอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่มีคุณค่าในการทำธุรกิจ และตอนนี้ก็ความพร้อมในด้านพนักงานตอนนี้ก็มีพร้อมเพราะในสายงานธุรกิจรายใหญ่นี้ก็มีผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญ อีกทั้งทางซีไอเอ็มบียังได้ส่งตัวแทนเข้ามาช่วยในการทำงานร่วมกับไทยธนาคารประมาณ 15-20 คน"
นายสุภัคกล่าวว่า ทางคณะกรรมการธนาคารมีแผนที่จะให้ควบรวมกิจการของบริษัทหลักทรัพย์บีทีซึ่งมุ่งเน้นลูกค้าทั่วไปกับบริษัทหลักทรัพย์ซีไอเอ็มบี จีเค ซึ่งมุ่งเน้นลูกค้าสถาบันเข้าไว้ด้วยกัน โดยคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการควบรวม รวมถึงผ่านขั้นตอนการขออนุญาตจากผู้ถือหุ้นประมาณ 6 เดือน ซึ่งภายหลังการควบรวมจะผลักดันให้มาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นเกิน 1% จากเดิมบล.บีทีมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 0.5% ขณะที่บล.ซีไอเอ็มบีมีมาร์แชร์ประมาณ 0.5% เช่นกัน
ยันไม่มีแผนลดพนักงาน
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าทางซีไอเอ็มบี กรุ๊ป มีนโยบายลดต้นทุนระยะสั้นด้วยการให้ให้พนักงานสามารถลาหยุดได้สูงสุด 6 เดือนโดยที่จะไม่ได้รับค่าจ้างนั้น นายสุภัค กล่าวว่า ทางประเทศไทยไม่ได้มีโปรแกรมที่จะดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว เนื่องจากธนาคารทั้งผู้บริหารและพนักงานยังมีงานที่จะต้องทำอีกมาก เพื่อเดินหน้าการทำธุรกิจ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นแนวทางที่ซีไอเอ็มบี ซึ่งเป็นบริษัทแม่มอบอำนาจให้แต่ละธนาคารในเครือไปดำเนินการได้หากมีความจำเป็นต้องลดต้นทุนและพนักงานกลุ่มดังกล่าวอยู่ในหน่วยงานที่ไม่ได้มีภาระหนักแต่ไม่ใช่เป็นการบังคับให้หยุดงาน โดยถือเป็นโครงการที่จะให้พนักงานซึ่งทำงานหนักมาตลอดได้พักในเวลาที่เหมาะสมและมีโอกาสกลับมาทำงานได้อีก
"จะมีการเปิดโครงการเออร์รีรีไทร์หรือไม่นั้น จริง ๆ แล้วอยากให้คนอยู่แต่ก็เป็นไปได้ที่จะมีคนที่พอเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วรับวัฒนธรรมใหม่ไม่ได้แล้วจะออกก็ไม่เป็นไร เพราะที่ผ่านมาในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ก็มีคนที่อาจจะรู้สึกกดดันบางคนที่ลาออกไปบ้าง"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|