|
อีก 1 ยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน
โดย
เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ถ้าทุกคนยอมรับว่า จีนคือคู่ค้าที่ใหญ่และใกล้ชิดกับไทยมากที่สุดแล้ว ยุทธศาสตร์ในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยมิติในเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
ณ วัดเฉวียงจรู๋ วัดในศาสนาพุทธนิกายเซน ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูงทางตะวันตกเฉียงเหนือของนครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชน (สป.) จีน ที่ก่อสร้างขึ้นในสมัยปลายราชวงศ์ซ้อง ต่อเนื่องถึงต้นราชวงศ์หยวน ถือเป็น "วัดพุทธ" ที่ยังเหลืออยู่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ถูกทำลายไปในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน
ปัจจุบันวัดแห่งนี้กำลังเป็นสื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทยได้อย่างลงตัว
หลังจาก "หลวงพ่อญาท่าน" หรือพระครูปภัศรคุณ (มรณภาพเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2548) เดินทางมาแสวงบุญ ณ นครคุนหมิง ร่วมกับศาสตราจารย์หนิว ซือ เหว่ย ผู้เรียบเรียงพระธรรม "สุญญตา" เผยแผ่ ซึ่งต่อมามีนักธุรกิจฮ่องกงนำมาพิมพ์เผยแผ่แก่ผู้สนใจศาสนาพุทธในจีนแก่ผู้ที่ได้ไปยังวัดแห่งนี้
ณ ขณะนั้นหลวงพ่อญาท่านได้นำคณะศิษยานุศิษย์บุกเข้าไปในป่าหลังวัด ที่ปกติจะปิดล็อกด้วยกุญแจแน่นหนา จนพบหมู่เจดีย์เก่าแก่กลุ่มแรกจำนวน 3 องค์ ที่ต่อมามีการตรวจสอบยืนยันแล้วว่าเจดีย์องค์กลางสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หยวน เป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของปรมาจารย์ "เสวียงเปี้ยน" ที่ได้ชื่อว่าเป็นพระที่องค์กุบไลข่าน พระราชทานทินนามให้ว่า "หงจิ้ง" ผู้เผย แผ่คัมภีร์ "อนัตตา"
องค์ด้านซ้ายเป็นเจดีย์ของท่าน "เสวียงเจียน" ศิษย์เอกของปรมาจารย์ "เสวียงเปี้ยน" ที่ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเฉวียงจรู๋ ส่วนองค์ด้านขวาเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิท่านอู๋เซี่ยง สมัยราชวงศ์หมิง
เจดีย์ 3 องค์นี้ถือเป็นโบราณสถาน ของวัดในพระพุทธศาสนาที่ล้ำค่าในนครคุนหมิงในปัจจุบัน
"หลวงพ่อญาท่าน" นำศิษย์บุกฝ่าป่ารกเหนือเจดีย์หมู่ 3 องค์แรกจนพบเจดีย์ องค์ใหญ่เป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ที่อยู่ในสภาพเอียงเกือบทรุด ก่อนที่จะคุก เข่าก้มลงกราบพร้อมกับบอกว่า "พระธาตุประดิษฐานที่นี่"
ทั้งนี้ตามหนังสือแบบเรียนภาษาไทยสำหรับรายวิชาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของกระทรวงศึกษาธิการให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า "ไม้สิบสอง" เป็นชื่อแบบสถาปัตยกรรมของไทย ซึ่งมีวิธีย่อมุมไม้ มุมละ 3 หยัก 4 มุม รวมเป็น 12 หยัก เรียกชื่อสิ่งของตามวิธีนี้เช่น เจดีย์ไม้ 12 ถือเป็นสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมในกระบวนการช่างไทยรูปแบบหนึ่ง และพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานฉบับ พ.ศ.2525 ให้ความหมายไม้สิบสองว่าเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมไทย และศิลปกรรมไทยที่ย่อมุม
จากการสืบค้นเอกสารเก่าแก่ประจำวัด พบว่าพระเจดีย์องค์นี้ภายในบรรจุไว้ด้วย "พระธาตุ 5 สี" แต่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่มีผู้ใดดำเนินการขออนุมัติซ่อมแซมจากรัฐบาลกลางของ สป.จีน เพราะถือเป็นโบราณสถานอันเป็นเรื่องยากมากที่จะได้รับการอนุมัติให้บูรณะซ่อมแซมได้
เวลานั้น "หลวงพ่อญาท่าน" ได้สั่งให้ศิษยานุศิษย์ที่ร่วมคณะ รวมทั้ง "กัลยาณี รุทระกาญจน์" ประธานกรรมการบริษัทมณีต้าหมิง จำกัด นิติบุคคลไทยใน สป.จีน ที่ถือหุ้นโดยคนไทย 100% และ "โสรัต พรหมนารท" รองประธานบริษัทฯ ร่วมอยู่ด้วยขอตั้งจิตอธิษฐานให้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพบูรณะหมู่เจดีย์พร้อมพัฒนาภูมิทัศน์ ให้เหมาะแก่การนั่งวิปัสสนากรรมฐาน
(อ่านเรื่อง "มณีต้าหมิง ทัพหน้าทุนไทยในจีนตอนใต้" นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนสิงหาคม 2551 หรือ www. gotomanager.com ประกอบ)
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 "หลวงพ่อญาท่าน" สั่งให้ศิษยานุศิษย์ร่วมกันตั้งจิตอธิษฐาน แล้วทุกครั้งที่มีโอกาสบรรดาศิษยานุศิษย์กลุ่มนี้เข้าไปนั่งสมาธิในวัดแห่งนี้เรื่อยมาจนกระทั่งปลายปี พ.ศ.2548 จึงมีโอกาสเสนอความร่วมมือของชาวพุทธไทย-ไต้หวัน ต่อกรมการศาสนา สป.จีน เพื่อขออนุญาตซ่อมแซมบูรณะหมู่เจดีย์ พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์รวมถึงสร้างโบสถ์เจ้าแม่กวนอิม ต่อมาได้รับอนุมัติจากกรมการศาสนา นครปักกิ่ง เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2549
โสรัตเล่าให้ผู้จัดการ 360 ํ ฟังว่า ที่วัดเฉวียงจรู๋แห่งนี้มีรูปปั้นพระอรหันต์ 500 องค์ ซึ่งเป็นผลงานของประติมากร "หลี่ถ่วงชิง" ชาวเสฉวนที่ใช้เวลานานถึง 7 ปี กว่าจะปั้นเสร็จ (พ.ศ.2426-2433) ถือเป็นรูปปั้นพระอรหันต์ 500 องค์ที่สมบูรณ์ที่สุดที่ยังเหลืออยู่ในแผ่นดินจีนปัจจุบัน
นอกจากนี้คณะศิษยานุศิษย์ "หลวงพ่อญาท่าน" ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันบริจาคปัจจัยอัญเชิญ "พระธาตุ" จากประเทศไทยไปประดิษฐานไว้ในวัด พร้อมกับการบูรณะซ่อมแซมหมู่พระเจดีย์ ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ พร้อมจัดสร้างวิหารเจ้าแม่กวนอิมขึ้นภายในวัดแห่งนี้ด้วย
ความพยายามของเหล่าศิษยานุศิษย์ของ "หลวงพ่อญาท่าน" ในการขออนุญาตจากทางการ สป.จีนในการเข้าไปบูรณะซ่อมแซมหมู่พระเจดีย์ และการที่รัฐบาลกลาง สป.จีนตัดสินใจอนุญาตให้มีการบูรณะได้ ถือเป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์ และความใกล้ชิดกันในเชิงวัฒนธรรมระหว่างจีนและไทย โดยเฉพาะมณฑลทางตอนใต้อย่างหยุนหนันที่มีมาอย่างช้านาน
ความสัมพันธ์ในเชิงวัฒนธรรมที่ว่านั้นยังสามารถต่อยอดพัฒนาเป็นความสัมพันธ์เชิงธุรกิจ ภายใต้วิถีตะวันออกได้อีกมหาศาลในภายหลัง
ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองยุทธศาสตร์ตรงนี้ออก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|