หินฟู, พญางูใหญ่ และช้างเผือก

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

เส้นทางรถไฟสายหนองคาย-ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ ที่เริ่มเปิดวิ่งอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนมีนาคม ถือเป็นปรากฏการณ์ที่จุดประกายความน่าสนใจลงทุนของ สปป.ลาว ให้เกิดขึ้นอย่างไม่อาจมองข้าม

แม้แดดยามสายที่ส่องตรงมายังสถานีรถไฟท่านาแล้งในวันนั้นจะร้อนจนทำให้อากาศบริเวณสถานีอบอ้าว แต่ทิวแถวของนักเรียน-นักศึกษา ตั้งแต่ระดับประถม มัธยม ไปจนถึงอุดมศึกษากว่า 300 คน ที่ยืนถือธงชาติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว สลับกับธงชาติไทยอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็มิได้แสดงท่าทีเหนื่อยล้าออกมาให้เห็นแต่อย่างใด

เหล่าเด็กชายหญิงเหล่านี้กำลังใจจดใจจ่อรอการมาถึงของขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ วิ่งระหว่างหนองคาย-ท่านาแล้ง ที่มีกำหนดออกจากสถานีรถไฟหนองคาย ในเวลาประมาณ 10.30 น. โดยใช้เวลาในการวิ่งข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งแรกประมาณ 15 นาที เพื่อมาถึงสถานี ท่านาแล้ง

นอกจากจะเป็นขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์เพื่อเปิดใช้เส้นทางรถไฟสายแรกของ สปป.ลาวแล้ว ภายในขบวนรถเที่ยวนี้ ยังมีโบกี้ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีเสด็จมาพร้อมกับรถไฟขบวนนี้ด้วย

เด็กเหล่านี้ล้วนตื่นเต้นที่จะได้มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพฯ อย่างใกล้ชิดที่จะทรงมาเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟสายประวัติศาสตร์เส้นนี้

ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่คนใน สปป.ลาว รอคอยมานานแสนนาน...

ทางรถไฟเส้นนี้ถูกสร้างขึ้นพร้อมกับการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งแรกที่ จ.หนองคาย โดยพระราชพิธีเปิดใช้สะพานอย่างเป็นทางการได้จัดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2537

ภายหลังการเปิดใช้สะพาน การ ก่อสร้างทางรถไฟส่วนขยายจากบริเวณสะพานมายังสถานีรถไฟหนองคาย และไปยังสถานีรถไฟท่านาแล้ง มีความคืบหน้า ช้ามาก จนเพิ่งจะสร้างเสร็จและมีพิธีเชื่อม รางระหว่างกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ก่อนเริ่มต้นการทดลองวิ่ง

มองในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในพระราชพิธีเปิดใช้สะพานอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2537 พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จไปเป็นองค์ประธานร่วมกับหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศ แห่ง สปป. ลาว (ในขณะนั้น) ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์และเปิดหน้าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศในบริบทใหม่ จากที่เคยระแวงซึ่งกันและกันในช่วงสงครามอินโดจีน กลายเป็นมิตรประเทศคู้ค้าและหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

พระราชพิธีเปิดสะพานจัดขึ้นบริเวณกึ่งกลางสะพาน ซึ่งถือเป็นเขตแดนร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ

มองในมิติเศรษฐกิจ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ถือปฐมบทที่ทำให้นโยบายในการปรับยุทธศาสตร์ประเทศของ สปป.ลาว จากประเทศที่ไม่มี ทางออกสู่ทะเล (Land Lock) ไปสู่ประเทศ ที่เป็นจุดเชื่อมต่อ (Land Link) เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น

เพราะหลังจากได้มีการเปิดใช้สะพานดังกล่าวเป็นต้นมา ภายใน สปป. ลาวได้มีการก่อสร้างโครงข่ายคมนาคมทางบกที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งแนวเหนือ-ใต้และตะวันออก-ตะวันตกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากสะพานมิตรภาพแห่งแรกที่หนองคาย ได้มีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 2 ที่จังหวัดมุกดาหาร เชื่อมกับแขวงสะหวันนะเขต ในอีก 10 กว่าปีต่อมา

มีการเปิดเส้นทางหมายเลข 9 เชื่อมระหว่างมุกดาหาร-สะหวันนะเขต และเมืองเว้ของเวียดนาม

มีการเปิดใช้เส้นทางสาย R3a ที่เชื่อมระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ไปจนถึงเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ต่อขึ้นไปถึงเมืองโม่หานของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีเส้นทางอย่างดีวิ่งขึ้นไปถึงเมืองคุนหมิง มลฑลหยุนหนัน

รวมถึงมีการประกาศโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 และ 4 ที่ จ.นครพนม และ จ.เชียงราย

ฯลฯ

แต่หากมองในมิติของความเชื่อ การเกิดขึ้นของสะพานมิตรภาพและเส้นทางรถไฟเส้นนี้ถือเป็นการล้างคำสาปที่คนลาวเชื่อและยึดถือมาตลอดกว่าพันปีลงไปได้อย่างสิ้นเชิง

คนลาวมีความเชื่อมาตลอดว่าการที่ สปป.ลาว เป็นประเทศที่ยากจนติดต่อกันมาหลายปีนั้น นอกจากโดยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลแล้ว ยังเป็นผลมาจากการที่ประเทศต้องคำสาปที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในยุคที่พระยาศรีโคตรบูร ผู้ครองนครในบริเวณตอนกลางของลาวถูกลอบปลงพระชนม์

ตามตำนานของลาวก่อนที่พระยาศรีโคตรบูรจะเสด็จสวรรคต ความโกรธแค้นที่ถูกลอบปลงพระชนม์ จึงได้สาปแช่งเอาไว้ว่า "ขอให้ดินแดนสองฝั่งโขง ไม่ได้พบกับความเจริญอย่างถึงที่สุด และถึงจะเจริญก็เพียงแค่ช่วงช้างพับหู-งูแลบลิ้น" เท่านั้น

แต่ในคำสาปดังกล่าวจะมี 3 สิ่งที่สามารถแก้หรือล้างคำสาปนี้ออกไปได้

3 สิ่งนั้นคือ "หินฟูน้ำ-พญางูใหญ่เข้ามา-ช้างเผือกเข้ามา"

ภายหลังจากเปิดใช้สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาวแห่งแรก เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ได้มีความพยายามตีความว่าคำสาปที่ลาวได้ประสบมาตลอดนั้นกำลังจะหมดสิ้นลงแล้ว เพราะการบังเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ 3 อย่าง

"หินฟูน้ำ" ถูกตีความว่าหมายถึงสะพาน เป็นการเปรียบถึงการที่หินซึ่งอยู่ใต้น้ำ ได้ฟูลอยขึ้นมาอยู่เหนือน้ำ

"ช้างเผือก" ถูกบางคนตีความว่าหมายถึง "ฝรั่ง" หรือชาวตะวันตกที่เดินทางเข้าไปยัง สปป.ลาว เป็นจำนวนมาก ภายหลังจากที่ สปป.ลาว มีนโยบายเปิดกว้างเพื่อรับการลงทุนจากต่างประเทศและมีโครงการลงทุนของประเทศต่างๆหลายโครงการเกิดขึ้น

แต่หลายคนก็ตีความในความหมาย ที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น!!!

ส่วน "พญางูใหญ่" คือปรากฏการณ์ สุดท้ายที่เพิ่งบังเกิดขึ้น ทุกคนตีความตรงกันว่าหมายถึงขบวนรถไฟสายหนองคาย-ท่านาแล้ง ที่เพิ่งเปิดใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา

เมื่อสิ่งที่สามารถล้างคำสาปเมื่อกว่า 1 พันปีก่อนได้ปรากฏขึ้นโดยครบถ้วน พร้อมเพรียงกันแล้ว ทำให้คนลาวเกิดความเชื่ออย่างปิติยินดีว่า จากนี้ไปผืนแผ่นดินลาวได้หลุดพ้นจากคำสาป และจะพบแต่ความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ

แม้การมองเฉพาะมิติความเชื่อข้างต้นจะไม่ตรงกับหลักทางวิทยาศาสตร์ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใน สปป.ลาว ช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้บ่งบอกสัญญาณบางอย่างว่าผืนแผ่นดินที่เงียบสงบแห่งนี้กำลังมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นทุกขณะ

สปป.ลาวเริ่มส่งออกพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่จำนวนมาก และมีการวางแผนที่จะก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกให้ครบ 144 แห่ง

ทรัพยากรของลาวโดยเฉพาะแร่โลหะ เช่น ทองคำ ทองแดง และเหล็ก เริ่มมีการผลิตและสามารถส่งออกได้แล้ว ในจังหวะเดียวกับราคาสินแร่โลหะทั้งหลาย ในตลาดโลกมีราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

มีการลงทุนภาคบริการเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในลักษณะเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (อ่าน "เซินเจิ้นลาว บนสามเหลี่ยมทองคำ" นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมีนาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

ปีหน้า สปป.ลาวมีแผนจะเปิดการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่ง สปป. ลาวอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก

ปีที่แล้ว สปป.ลาวได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และปลายปีนี้ สปป.ลาวก็จะได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์

ฯลฯ

เหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่อาจมองข้ามได้...

10.45 น. อุณหภูมิบริเวณสถานีรถไฟท่านาแล้ง ยังคงเพิ่มสูงขึ้นแต่สีหน้าของทุกคนที่อยู่ในบริเวณสถานียังไม่ย่อท้อ

ทันทีที่ขบวนรถไฟมาถึงทิวแถวธงชาติของทั้ง 2 ประเทศ ถูกชูขึ้นพร้อมโบกสะบัดแสดงการต้อนรับ

เมื่อขบวนรถไฟหยุดลง บุนยัง วอละจิต รองประธานประเทศแห่ง สปป. ลาว ยืนรอรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี อยู่ที่ชานชาลา พร้อมนำเสด็จไปยังห้องรับรอง ก่อนเริ่มต้นพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟอย่างเป็นทางการ ซึ่งถูกจัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติ

จบจากพระราชพิธีเปิดเดินรถไฟสายหนองคาย-ท่านาแล้งในวันที่ 5 มีนาคมแล้ว สมเด็จพระเทพฯ ยังได้ประทับอยู่ในนครเวียงจันทน์ 1 คืน ก่อนที่วันรุ่งขึ้นพระองค์เสด็จเป็นองค์ประธาน ในพิธีวางศิลาฤกษ์สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ที่จัดขึ้นในเวลาต่อเนื่องกันในแขวงคำม่วนกับจังหวัดนครพนม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.