จุดขายระดับภูมิภาคภายใต้กรอบ IMT-GT

โดย วิมล มุสิกะรักษ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ความตื่นตัวในการพลิกฟื้นการเชื่อมโยงเครือข่ายการท่องเที่ยวระหว่างกันของ 3 ชาติ ในกรอบความร่วมมือ "โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจมาเลเซีย-อินโดนีเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT)" ได้ถูกจุดพลุขึ้นมาอีกครั้งแล้วในเวลานี้

แถมยังมีแนวโน้มว่านับจากนี้ไปการท่องเที่ยวของ 3 ชาติ IMT-GT จะเป็นไปแบบคึกคักเอาเสียด้วย

เนื่องเพราะเป้าหมายไม่ได้อยู่แค่การบูมตลาดท่องเที่ยวระหว่างกันของ 3 ประเทศดังกล่าวเท่านั้น แต่กลับต้องการที่จะอาศัยเครือข่ายที่เชื่อมร้อยกันนี้เป็น "จุดขายใหม่" ให้กับตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

โดยเฉพาะเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ตลาดในกลุ่มประเทศใน "สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันตกเฉียงใต้" หรือ "อาเซียน" (Association of South East Asia Nation: ASEAN)

ทั้งนี้ พลุท่องเที่ยว IMT-GT ที่ว่านี้เพิ่งถูกจุดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยเกิดขึ้นจากการที่ไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนคร หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นำคณะเดินทางไปโรดโชว์ด้านการท่องเที่ยวยังเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ ในประเทศมาเลเซียระหว่างวันที่ 11-14 มีนาคม 2552

ทริปโรดโชว์เทศบาลนครหาดใหญ่นี้วางแผนให้ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน Matta Fair 2008 (Malaysia Association of Tour and Travel Agent: Matta) ที่มาเลเซียจัดขึ้น ณ Putra World Trade Center ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคมที่ผ่านมา

การจัดงานเพื่อส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวของมาเลเซียครั้งนี้นับว่ายิ่งใหญ่พอสมควร เนื่องจากมีผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมออกบูธ เพื่อขายแพ็กเกจท่องเที่ยวล่วงหน้าถึง 900 บูธ มีการประเมินว่าเฉพาะในระหว่างงาน 3 วัน มีเงินสะพัดถึงประมาณ 500 ล้านบาททีเดียว

ในวันที่ 13 มีนาคมที่มีพิธีเปิดงาน Matta Fair 2008 อย่างเป็นทางการนั้น คณะของนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ พร้อมด้วยวิวัฒน์ บุญยศักดิ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย และบรูไน ได้ถือโอกาสเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของการท่องเที่ยวมาเลเซีย ณ The Legend Hotel ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และเปิดขายการท่องเที่ยวของนครหาดใหญ่ไปในตัวด้วย

สำหรับฝ่ายมาเลเซียมีมาดามชอง ยอค ฮาร์ (Madam Chong Yoke Har) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดนานาชาติ ฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวมาเลเซียเป็นหัวหน้าคณะ

ในระหว่างอาหารกลางวันครั้งนั้นนอกจากความพยายามโน้มน้าวเพื่อเปิดเกมรุกตลาดการท่องเที่ยวระหว่างกันแล้ว ทั้งฝ่ายไทยและมาเลเซียก็ยังพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างออกรสชาติ

โดยเฉพาะต่างฝ่ายต่างก็ยอมรับว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศ สหรัฐอเมริกา แล้วลุกลามไปในหลายประเทศของซีกโลกตะวันตกนั้น ได้สั่นคลอนเศรษฐกิจของทั้งไทยและมาเลเซีย ซึ่งผลสะเทือนที่ชัดเจนในด้านการท่องเที่ยวก็คือ เวลานี้ทั้ง 2 ประเทศมีจำนวนนักท่องเที่ยวหดหายไปแล้วกว่า 20%

ในกรณีของตลาดท่องเที่ยวของเมืองหาดใหญ่นั้นถือว่าต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจาก มาเลเซียสูงถึงประมาณ 90% ขณะที่นักท่องเที่ยวจากมาเลเซียที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ทั่วไทย ก็นับว่าจำนวนไม่น้อยเช่นกันในแต่ละปี

ดังนั้น เทศบาลนครหาดใหญ่จึงประกาศจุดขายต่อนักท่องเที่ยวมาเลเซียว่า หาดใหญ่คือประตูสู่ประเทศไทย เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งการคมนาคมขนส่ง การสื่อสารที่ทันสมัย มีโรงแรมที่พักและอาหารให้เลือกอย่างหลากหลาย หาดใหญ่ถือเป็นเมืองหลวงของภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนสำคัญที่เข้าร่วมอยูในโครงการ IMT-GT มาตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นแหล่งชอปปิ้งขึ้นชื่อ มีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ วัฒนธรรมและประเพณีที่หลากหลาย และแหล่งท่องเที่ยวประเภทให้ความบันเทิงก็มากมาย

อีกทั้งนครหาดใหญ่ยังมีแผนพัฒนาสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวในระดับสากลอีกด้วย โดยเฉพาะในห้วงเวลา 1-2 ปีนี้จะมีการทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาทเพื่อสร้างจุดขายใหม่ คือโครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้า (Cable Car) ในสวนสาธารณะของเทศบาลขึ้นเขาคอหงส์ เพื่อไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และชมวิวทิวทัศน์ รวมถึงสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์ดาราศาสตร์หรือหอดูดาว และโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินเฟส 2 เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทัศนียภาพของเมืองหาดใหญ่ เป็นต้น

นอกจากนี้สิ่งที่ฝ่ายไทยพยายามตอกย้ำให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียรับรู้ตลอด คือไทยยังจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย เพราะเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกัน ค่าใช้จ่ายสำหรับท่องเที่ยวถูกกว่า ที่สำคัญสามารถให้ความบันเทิงและมีมิตรไมตรีมอบให้ตลอดเวลา

โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ 11-14 เมษายนที่กำลังจะถึงนี้ Hat Yai Midnight Songkran เป็นที่เดียวของประเทศไทยที่เล่นน้ำสงกรานต์ตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืน สร้างจุดขายที่โดดเด่นเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียได้เป็นอย่างดี ซึ่งปีนี้ได้นำปาร์ตี้โฟมมาเอาใจนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ร่วมด้วยกิจกรรมการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินวงไทเทเนียม การประกวดนางสาวสงกรานต์ แต่ปีนี้พิเศษโดยจะมีการประกวดนางสาวสงกรานต์นานาชาติ เพื่อต้อนรับสาวนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกด้วย

ในเรื่องของการทำประชาสัมพันธ์ตลาดท่องเที่ยวของไทยในมาเลเซียในปีนี้ วิวัฒน์ชัย บุญยภักดิ์กล่าวว่า ททท.จะรุกประชาสัมพันธ์ในหลายรูปแบบ ส่วนที่เน้นเป็นพิเศษคือการใช้สื่อทั้งในและนอกรถไฟลอยฟ้ากลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งประเมิน ว่าชาวมาเลเซียจะได้เห็นสื่อนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน นอกจากนี้แล้วก็จะซื้อเวลาตาม คลื่นวิทยุ จัดรายการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยให้เป็นที่รู้จักผ่านการเล่นเกมถามตอบชิงรางวัล ซึ่งจะเป็นของที่ระลึกจากประเทศไทย

ส่วนตลาดท่องเที่ยวของมาเลเซียนั้นนักท่องเที่ยวจากไทยที่เข้าไปท่องเที่ยวในมาเลเซียมีปริมาณอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากสิงคโปร์ แต่หากรวมเอาจำนวนแรงงานเข้าไปด้วยแล้ว ไทยจะตกไปอยู่อันดับที่ 3 โดยมีอินโดนีเซียขยับขึ้นมาแทน ที่เหลือตามด้วยนักท่องเที่ยวจากตลาดบรูไนและจีน

ทว่าการพูดคุยระหว่างมื้อกลางวันของทั้งฝ่ายไทยและมาเลเซีย ส่วนที่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญที่สุดน่าจะอยู่ที่ทั้ง 2 ฝ่าย แสดงความคิดเห็นต้องตรงกันว่า ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ควรจะตื่นตัวเพื่อพลิกฟื้นการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างกันขึ้นมาใหม่ ทั้งในด้านแหล่งท่องเที่ยวและการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะการเชื่อมต่อเส้นทางบินซึ่งกันและกัน

โดยเฉพาะมาดามชอง ยอค ฮาร์ ถึงกับเอ่ยปากว่า เวลานี้มาเลเซียตื่นตัวในเรื่องของตลาดท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียนมาก จึงอยากให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายการท่องเที่ยวระหว่างมาเลเซีย ไทยและอินโดนีเซียเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของทั้ง 3 ประเทศต้องร่วมปรึกษาหารือกันใกล้ชิดในเรื่องนี้

การยอมรับถึงการตื่นตัวของมาเลเซียที่จะเจาะตลาดท่องเที่ยวกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นไปพร้อมๆ กับข่าวคราวว่า ภายในปี 2552 นี้มาเลเซียได้ทุ่มงบประมาณด้านการทำตลาดท่องเที่ยวถึงราว 3 หมื่นล้านบาท โดยจะเน้นใช้สื่อในระดับโลกเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ อาทิ BBC และ CNN เป็นต้น ยังคงยึดกลยุทธ์ตอกย้ำในคอนเซ็ปต์ที่ว่าการได้มาท่องเที่ยวมาเลเซีย เท่ากับได้เที่ยวทั่วเอเชีย หรือ Truly Asia อย่างแท้จริง

โดยประมาณ 30% ของงบประมาณดังกล่าวหรือราว 3 พันล้านบาท มาเลเซียจะนำไปใช้ในกระบวนการประชาสัมพันธ์และการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ แนวความคิดให้มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายของทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว ก็คือ กระบวนคิดที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรอบความร่วมมือโครงการ IMT-GT ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2536 แล้วนั่นเอง

ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของ 3 ชาติภายใต้กรอบโครงการ IMT-GT เคยบูมติดต่อกันอยู่หลายปีก่อนที่จะชะลอ แล้วก็ถูกลืมไปหลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งระบาดไปในหลายประเทศ

เป็นที่น่าสังเกตว่า กระแสเสียงให้มีการฟื้นความร่วมมือด้วยการท่องเที่ยวในกรอบ โครงการ IMT-GT ขึ้นมาใหม่ แล้วต้องการใช้เป็นสะพานเชื่อมไปสู่จุดขายใหม่ยังตลาดอาเซียนนั้น ตามมาติดๆ กับการที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เมื่อปลายกุมภาพันธ์ต่อเนื่องถึงต้นมีนาคมที่เพิ่งผ่านมา

อีกทั้งช่วงก่อนหน้านั้นไม่นานอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีก็ได้แสดงออกให้เห็นชัดเจนว่า รัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำชุดนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาร่วม 3 ชาติภายใต้โครงการ IMT-GT โดยถึงกับประกาศในช่วงต้นกุมภาพันธ์ที่ไปเยือนประเทศอินโดนีเซียไว้อย่างชัดแจ้งแล้วด้วย

อาจจะเป็นเพราะความร่วมมือในโครงการ IMT-GT เกิดขึ้นจากการผลักดันของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นสำคัญ โดยเฉพาะ 2 บุคคลแกนหลักของพรรคในตอนนั้นคือ ชวน หลีกภัย ช่วงนั้นนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตอนนั้นมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชื่อสุรินทร์ พิศสุวรรณ

แม้เวลานี้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเปลี่ยนมือมาอยู่ที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนหนุ่มแต่ชวน หลีกภัยก็ยังมีตำแหน่งเป็นถึงประธานที่ปรึกษาพรรคและแม้สุรินทร์ พิศสุวรรณจะหลุดวงโคจรจากพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว แต่กลับได้นั่งในเก้าอี้สำคัญเป็นถึงเลขาธิการอาเซียน

และถ้ามองยังฟากฝั่งของมาเลเซีย ก็ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีของมาเลเซียคนปัจจุบันคือ อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี ใน อดีตก็เคยเป็นรัฐมนตรีที่กำกับดูแลโครงการ IMT-GT ของฝ่ายมาเลเซียโดยเฉพาะมาแล้ว

นี่กระมังที่จะเป็นเหมือนแรงหนุนส่งให้ความคิดที่จะพลิกฟื้นความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในกรอบ "IMT-GT" เชื่อมต่อไปเป็นจุดขายของ "อาเซียน" น่าจะมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับแต่นี้ต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.