3G โทรศัพท์มือถือรุ่นที่สาม บริษัทญี่ปุ่นพร้อมชนโนเกีย-อีริคสัน


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงทศวรรษ 1950 เมื่อครั้ง ที่ทากาชิ คาวาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ "มัตสุชิตะ คอมมิวนิเคชันส์" ยังหนุ่มแน่น เขามักประกอบวิทยุเป็นงานอดิเรก "ตอนเรียนมัธยมต้นผมก็หลง ใหลสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ และ การสื่อสาร ผมอยากจะอยู่ในโลกของสิ่งเหล่านี้" ปัจจุบันคาวาดะอายุ 63 ปี และดูเหมือนว่าเขากำลังเรียกวัยเด็กกลับมาอีกครั้ง จากการบริหารกิจการผลิตโทรศัพท์มือถือชั้นนำของญี่ปุ่น เทคโนโลยี ที่เขาสนใจเป็นพิเศษในเวลานี้ ก็คือ โทรศัพท์รุ่นที่สาม หรือ 3G นั่นเอง คาวาดะแวะเวียนไปยังศูนย์ออกแบบของบริษัทพร้อมกับตั้งคำถาม และคอยให้คำแนะนำต่างๆ กับบรรดานักออก แบบในศูนย์อยู่เสมอ "เขาว่าผมเป็นนักบริหารด้านเทคโนโลยีมากกว่าเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท" คาวาดะเล่า อันที่จริงการที่เขาชื่นชอบโทรศัพท์ 3G ก็เป็นเรื่อง ที่เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะจะมีวัยรุ่นที่นิยมเทคโนโลยีคนไหนกัน ที่ไม่ตื่นเต้นกับอุปกรณ์ ที่รวบ รวมเอาคุณสมบัติของโทรศัพท์มือถือ ทีวี วิทยุ กล้องวิดีโอ อินเทอร์เน็ตบราวเซอร์ เครื่องเล่น MP3 และอุปกรณ์อื่นๆ รวมไว้ด้วยกัน

ยิ่งสำหรับบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือญี่ปุ่นแล้ว โทรศัพท์ 3G ยังทำ หน้าที่สำคัญอีกอย่างคือ เป็นอาวุธต่อสู้ บริษัทอย่างมัตสุชิตะ มิตซูบิชิ อิเล็กทริก เอ็นอีซี โตชิบา และโซนี่ หวังกันว่าจะใช้โทรศัพท์รุ่นใหม่ยึดครองส่วนแบ่งตลาด มือถือ ที่มีมูลค่าถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ ในปี 1999 ให้ได้ ทั้งนี้ โนมูระ ซีเคียวริตี้ส์คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 76,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีกสองปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม บรรดาบริษัทญี่ปุ่นดังกล่าวกลับมุ่งความ สนใจไป ที่ตลาดหลังจากนั้น อีกห้าปี เมื่อยอดขายอุปกรณ์ 3G จะเข้ามาทดแทนโทรศัพท์มือถือรุ่นที่ใช้กันอยู่ได้ทั้งหมด "เทคโนโลยีใหม่นี้จะทำให้บริษัท ญี่ปุ่นเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดโลกต่อไป" เคนชิ ทาซากิ กรรมการผู้จัดการของการ์ตเนอร์ กรุ๊ปในญี่ปุ่น กล่าว

ทว่า การคุกคามของผู้ผลิตญี่ปุ่น ก็ไม่ได้ทำให้บริษัท ที่เป็นผู้ครองตลาดมือถืออยู่ในปัจจุบัน อย่างโนเกียแห่งฟินแลนด์ โมโตโรล่าแห่งสหรัฐฯ และ อีริคสันแห่งสวีเดน หวั่นกลัวใดๆ เพราะ ทั้งสามต่างก็เชี่ยวชาญในการขยายหรือรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้เป็นอย่างดี โดยตลาดที่จะเป็นสนามให้ทั้งสามต่อสู้กันอย่างหนักต่อไปก็คือ ยุโรป และเอเชีย ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดโลกเข้าสู่การแข่งขันเทคโนโลยี 3G ในที่สุด ตลาดเหล่านี้จึงเป็นที่หวงแหนของโนเกีย และอีริคสันอย่างเหนียวแน่น

ผู้นำตลาดโทรศัพท์มือถือยังต้องป้องกันตัวเองให้ดีในการแข่งขันรอบ ที่สองด้วย นั่นคือ ระหว่างยุโรปกับญี่ปุ่น บริษัทยุโรปนั้น ครองส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์มือถือของโลกรวมกันถึงราว 40% ในขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่สี่แห่ง ของญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งรวมกันเพียง 15%

หากยังจำกันได้ ฝ่ายญี่ปุ่นนั้น เคยพ่ายแพ้ไปในยก ที่หนึ่ง เพราะไปสนับสนุน เทคโนโลยี ที่ผิด โดยในปี 1993 เอ็นทีทีโดโคโม บริษัทโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของญี่ปุ่นเลือกใช้เทคโนโลยี พีดีซี หรือ "Personal Digital Cel-lular" (PDC) ซึ่งไม่สามารถต่อเชื่อมกับ ระบบจีเอสเอ็ม หรือ "Global System for Mobile Communications" ซึ่งเป็นระบบมาตรฐาน ที่ใช้กันอยู่ในตลาดนอกญี่ปุ่นได้ ครั้งนั้น บริษัทญี่ปุ่นต่างก็ต่อสู้กัน เพื่อเป็นหนึ่งด้านเทคโนโลยีพีดีซี ในตลาดในประเทศ โดยมองข้ามตลาดนอกประเทศไป และปล่อยให้บริษัท ที่ไม่ ค่อยมีคนรู้จักอย่างโนเกีย และอีริคสันครอบครองส่วนแบ่งในตลาดระบบ จีเอสเอ็ม จนเมื่อมัตสุชิตะ และโซนี่หันมาสนใจตลาดจีเอสเอ็ม บริษัททั้งสองก็ไม่อาจไล่ทันคู่แข่งสัญชาติยุโรปเสียแล้ว

โอกาส ที่ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย อีกครั้งคงมีไม่มากนัก แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมคาดการณ์ว่า ประเทศ ที่ใช้โทรศัพท์ระบบจีเอสเอ็มส่วนใหญ่จะเลือกใช้เทคโนโลยี 3G มาตรฐาน ที่เรียกกันว่า "Wideband Code Divi-sion Multiple Access" หรือ WCDMA ซึ่งจะทำให้บริษัทญี่ปุ่นเริ่มออกสตาร์ทพร้อมกับบริษัทยุโรปในตลาด 3G อย่างไรก็ตาม บริษัทญี่ปุ่นอาจจะนำหน้า ออกไปก่อน หากพิจารณาการที่โดโคโมมีกำหนดเปิดตัวบริการโทรศัพท์มือถือ 3G ในโตเกียวในเดือนพฤษภาคมปีหน้า ในขณะที่คู่แข่งจากยุโรปยังไม่สามารถเปิดตัวสินค้าแบบเดียวกันนี้ได้จนกว่าจะถึงฤดูร้อนปี 2002 บริษัทญี่ปุ่นจึงมีเวลาหนึ่งปีเต็มในการทดลองตลาด และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้ ในขณะที่สินค้าต้นแบบของค่ายยุโรปนั้น ยังเก็บตัวอยู่ในห้องทดลองเท่านั้น นักวิเคราะห์ จากโกลด์แมนซาคส์ในฮ่องกงกล่าวว่า "นี่จะส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นออกนำหน้า คู่แข่งรายอื่นในโลก" และการออกตัวก่อนใครก็ยังจะช่วยให้บริษัทญี่ปุ่นพบแอพพลิเคชั่นหลัก ที่ลูกค้าจะต้องใช้เหมือนกัน เหมือนอย่างที่อีเมลอยู่คู่กับพีซี

แต่ข้อได้เปรียบเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะเพียงพอแล้ว การตลาดที่แข็งแกร่งก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน โดยจะเห็นได้ว่ามีบริษัทไม่กี่แห่งในโลกเท่านั้น ที่แข่งขันกับมัตสุชิตะ และโซนี่ได้ในแง่นี้ (ชื่อยี่ห้อพานาโซนิค และเนชันแนลก็อยู่ในเครือของมัตสุชิตะด้วย) "หากลองดูตลาดสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านแล้ว ไม่มีสินค้าชนิดใดเลย ที่ไม่ถูกบริษัทญี่ปุ่นยึดครองตลาดอยู่" บิค ทิมมอนส์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายขายของเจ-โฟน ซึ่งเป็นบริษัทโทรศัพท์ อันดับ 3 ของญี่ปุ่นบอก "ตลาดโทรศัพท์ มือถือกำลังแทรกเข้าไปอยู่ในตลาดสินค้า กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านมากขึ้นทุกที และจุดนี้ญี่ปุ่นถนัดมาก" ดังนั้น การที่ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือทั้งหมดต่างก็เริ่มต้น แข่งขันค่อนข้างพร้อมกัน บริษัทญี่ปุ่นจึงมีความได้เปรียบอยู่บ้าง

อย่างไรก็ดี หากค่ายยุโรปคิดว่าตนเองต่างหาก ที่เป็นฝ่ายนำหน้าในตลาด นี้ นั่นก็หมายความว่าบริษัทเหล่านี้กำลัง ซุ่มทำงานบางอย่างเงียบๆ อยู่ อย่างที่ศูนย์เทคโนโลยีของอีริคสันในคิสตาใกล้ กรุงสตอกโฮล์ม แจน ลินด์เกรน (Jan Lindgren) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่รับผิดชอบด้านนโยบายอินเทอร์เน็ตก็กล่าว ปกป้องบริษัทในเรื่องการแข่งขัน โดยยอมรับว่าญี่ปุ่นนั้น เป็นคู่แข่ง ที่น่ากลัว แต่เขาก็เชื่อว่ายังมีสิ่งที่ญี่ปุ่นต้องไล่ให้ทันยุโรปอีกมาก "เรานับถือพวกเขา" ลินด์ เกรนบอกอย่างระมัดระวังคำพูด "แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหวาดกลัวเลย" ที่สำนักงานใหญ่ของโนเกียในกรุงเฮลซิงกิ ยโร นูโว (Yrjo Neuvo) ก็กล่าวถึงคู่แข่งญี่ปุ่นว่า "พวกเขาเก่งมากในเทคโนโลยีสำคัญบางแขนง โดยเฉพาะ อุปกรณ์ขนาดเล็กๆ และเก่งมากในแง่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้สะดวกในชีวิตประจำวัน" แต่เมื่อถูกถามว่า ความเก่งกาจดังกล่าว จะนำไปสู่การต่อกรกับ โนเกียในตลาดยุโรปได้หรือไม่ นูโวยอม รับว่าเป็นไปได้ "แต่เราก็ต้องสู้กลับ เหมือนกัน"

นอกจากความเห็นของเจ้าตลาดทั้งสองนี้แล้ว คนภายนอกก็มีความเห็นในประเด็นนี้แตกต่างกันไป โดยเฉพาะในแง่ความสามารถของบริษัทยุโรป ที่จะต้านทานกับการกระหน่ำบุกของคู่แข่งญี่ปุ่น แมทส์ เจ. ลาร์สสัน บรรณาธิการ ข่าวธุรกิจของหนังสือพิมพ์ Dagens Nyheter แห่งสวีเดนได้แสดงทัศนะห่วงใยอีริคสัน เขาเชื่อว่าจุดอ่อนที่สุดของ อีริคสันก็คือ การที่ไม่สามารถผลิตโทรศัพท์ขนาดกะทัดรัด ที่มีรูปลักษณ์น่าดึงดูดใจได้ "อีริคสันเป็นบริษัทของวิศวกร โดยวิศวกร และ เพื่อวิศวกร" เขา กล่าว "ปัญหาก็คือ บริษัทผลิตโทรศัพท์ ที่พวกวิศวกรคงสนใจแต่ผู้บริโภคทั่วไปไม่สนใจ" จุดบอดนี้สร้างปัญหาขึ้นแล้ว โดยก่อนหน้าเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา บริษัทได้วางตลาดโทรศัพท์รุ่นล่าสุด T20 และเป็นรุ่นแรก ที่ตั้งเป้าหมายจับตลาดวัยรุ่น T20 จำหน่ายพร้อมกระเป๋าหนังสัตว์พร้อมสายรัด ซึ่งเป็นงานฝีมือจากแลปแลนด์ ตัวกระเป๋านั้น ดูเก๋เหมาะกับวัยรุ่นก็จริง แต่โทรศัพท์กลับเทอะทะ ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับโทรศัพท์ของ โนเกียอีกหลายรุ่นก็เทียบกันไม่ได้ และยิ่งไม่ต้องพูดถึงรูปลักษณ์ทันสมัยของโทรศัพท์ญี่ปุ่น "นี่เป็นครั้งแรกของอีริคสัน ที่จะทำตัวเป็น วัยรุ่น บ้าง" ลาร์สสัน แย้งกลับ "จะให้บริษัทอย่างเราไปแข่งกับ โซนี่ และพานาโซนิคยังไง" นักวิเคราะห์ เสนอว่าอีริคสันควรรีบถอนตัวก่อน ที่จะต้องสู้กันจริง และขายแผนกโทรศัพท์ ที่ทำให้ขาดทุนออกไป

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครแนะให้โนเกียถอนตัวจากการเผชิญหน้ากับ คู่แข่งญี่ปุ่น ในฟินแลนด์การกล่าวเช่นนี้แม้เพียงนัยๆ ก็เป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะกิจการโนเกียนั้น ส่งผลกระทบ ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมด้วย รายได้ของโนเกียนั้น คิดเป็น 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของฟินแลนด์ โดยเป็นการส่งออกราว 30% และอัตราการจ้างงาน 1% ยิ่งหากถามความเห็นของชาวฟินแลนด์สักคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขายในห้าง สต๊อกมานน์หรือนักวิจัยระดับนำของประเทศ ต่างก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "โนเกียเป็นบริษัท ที่พิเศษกว่าใคร" แม้ แต่ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของฟินแลนด์ก็กล่าวว่า "ผมไม่คิดว่าจะมีอะไรเกินไปกว่าความสามารถของโนเกีย"

อย่างไรก็ตาม ทั้งโนเกีย และอีริค สันต่างก็ไม่ใช่บริษัท ที่ยอมแพ้ง่ายๆ ประเด็นหนึ่งก็คือ ทั้งคู่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ โนเกียมียอดขายโทรศัพท์กว่า 76 ล้านเครื่องในปี 1999 นำหน้าอีริคสัน ที่มียอดขาย 29.8 ล้านเครื่อง (มัตสุชิตะมียอดขายโทรศัพท์ 15.5 ล้านเครื่อง) นอกจากนั้น ทั้งสองยังมีความริเริ่มสร้างสรรค์ และความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีมายาวนาน อีกทั้งมีประสบ การณ์ในการเอาชนะอุปสรรคไม่น้อย โดยเฉพาะโนเกียนั้น เคยเกือบล้มละลาย มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 1991 เนื่องจากบริษัทเลิกทำธุรกิจ ที่หลากหลายแล้ว หันมาเน้น ที่โทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่ปัจจุบันบริษัทได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จทางการตลาดอย่างสูง และถือตัวว่าเป็นชื่อสินค้า ที่ได้รับการยอมรับสูงที่สุดรายหนึ่งของโลกด้วย ความเชี่ยว ชาญทางด้านวิศวกรรมของอีริคสันนับว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม บริษัทครอบงำตลาดในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งใช้ผลิตอุปกรณ์ ที่เป็นพื้นฐานสำหรับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และเป็นส่วนธุรกิจ ที่สำคัญยิ่งกว่าตัวโทรศัพท์ ที่เป็นจุดอ่อนอยู่ "เรามีจุดแข็งของเรา" ลินด์เกรนบอก

แต่ผู้ที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลบางคนก็โต้ว่าโทรศัพท์ 3G นั้น เป็นตัวแทนการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีอย่างมาก จนกระทั่งผู้นำตลาดในปัจจุบันก็อาจจะได้เปรียบผู้อื่นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ยิ่ง กว่านั้น หากเทคโนโลยีพัฒนาไปได้ตาม ที่ผู้เชี่ยวชาญคาดหมายแล้ว อุปกรณ์ 3G ก็จะเป็นอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่รุ่นแรกมากกว่า ที่จะเป็นเพียงโทรศัพท์ด้วยซ้ำ "โทรศัพท์มือถือเป็นเพียงสิ่งที่ใช้งานอยู่ข้างแก้ม แต่ 3G จะเป็นสิ่งที่คุณถือไว้ข้างหน้าตัวคุณ" อูล์ฟ เลสลีย์ (Ulf Lesley) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ของแผนกอุปกรณ์ 3G ของอีริคสันให้ความเห็น "การขาย 3G จะแตกต่างจาก การขายโทรศัพท์มือถือโดยสิ้นเชิง" ความแตกต่าง ที่ว่านี้จะถึงขั้น ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐานในแง่ของ สัมพันธภาพระหว่างสินค้า และผู้บริโภค ซึ่งถ้าเปรียบเทียบก็น่าจะเหมือนกับเมื่อครั้ง ที่โทรทัศน์เข้ามาแทน ที่วิทยุในบ้านเรือน หรือเมื่อพีซีมาแทนเมนเฟรมในสำนักงานนั่นเอง

ค่ายยุโรปนั้น รู้ดีถึงอันตรายของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีพื้นฐาน เพราะตนเป็นผู้ได้ผลประโยชน์หลักจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งล่าสุด ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่ทำให้เกิดโทรศัพท์มือถือนั่นเอง ในขณะที่ผู้ผลิตโทรศัพท์แบบติดตั้งพยายาม ที่จะเข้ามาจับตลาดโทรศัพท์มือถือ แต่ก็ไม่มีใครสามารถเทียบกับโนเกีย และอีริคสัน ซึ่งครองตลาดโลกมาได้นานนับทศวรรษ ลินด์เกรนยอมรับว่าบริษัททั้งสองกำลังอยู่ในระหว่างการก้าวกระโดดขั้นต่อไป หรือเรียกได้ว่าอยู่ในจุดแห่งการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง แต่เขายืนยันว่าจะไม่ใช่การ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่รู้ทิศทาง "เราเป็นคนสร้างเทคโนโลยีใหม่นี้ขึ้นมา ดังนั้น เราจึงได้เตรียมการรองรับไว้แล้ว" ทว่า นักวิเคราะห์จำนวนมากก็ไม่เชื่อตามนี้ โดยระบุว่าการเปลี่ยนแปลง ที่จะมาพร้อมกับเทคโนโลยี 3G นั้น จะส่งผล ต่อกฎเกณฑ์ ที่มีอยู่แต่เดิมทุกประการ นักวิเคราะห์แห่งโกลด์แมน ซาคส์ กล่าว ว่า "ความรวดเร็วในการเข้าถึงเทคโนโลยี จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจอย่างมาก และบริษัทญี่ปุ่นเตรียมการเรื่องนี้ได้ดีกว่า"

การเตรียมการที่ว่านี้เริ่มมาตั้งแต่ ปี 1996 เมื่อโดโคโมวางพื้นฐานงาน i-mode เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ และเป็นการทดสอบคร่าวๆ ให้กับเทคโนโลยี 3G ด้วย กล่าว คือ i-mode เป็นโทรศัพท์ ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต โดยผู้ใช้สามารถ เข้าสู่เวิลด์ไวด์เว็บ เพื่อส่ง และรับอีเมล เล่นเกม และจองตั๋วเดินทาง เป็นต้น เทคโนโลยีดังกล่าวบางครั้งเรียกกันว่า 2.5G เนื่องจากเป็นเทคโนโลยี ที่อยู่ระหว่างโทรศัพท์มือถือกับอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่แบบเต็มรูป ซึ่งเป็นรูปแบบการใช้งาน ที่เป็นที่ต้องการอย่างมากโดยเฉพาะในกลุ่มหนุ่มสาวญี่ปุ่น บริการที่ระบบจีเอสเอ็มให้กับผู้ใช้ และจัดว่ามีส่วนใกล้เคียงกับ i-mode ก็คือ บริการ Wireless Application Protocal หรือ WAP ที่เริ่มเปิดตัวไปเมื่อต้นปี 2000 ผู้ใช้บริการ WAP ต้องหมุนหมายเลขเข้าสู่ อินเทอร์เน็ต ซึ่งใช้อัตราเร็ว 9.6 กิโลไบต์ ต่อวินาที แต่ปัญหาก็คือ บริการ WAP กินเวลาค่อนข้างนานทำให้ผู้ใช้มักเลิกราไปในที่สุด "WAP เป็นชื่อฮิต ที่กลายเป็น สิ่งน่าเบื่อไปอย่างรวดเร็ว" นิตยสาร Wireless Internet ฉบับเดือนกันยา ยน ที่ผ่านมา ระบุ และบอกเครือข่ายจีเอส เอ็มเตรียมเปิดตัวเทคโนโลยี ที่เทียบเท่ากับ 2.5G อีกครั้งต้นปี 2001 แต่ก็นับว่าช้ากว่าทางญี่ปุ่น

ทั้งโนเกีย และอีริคสันยังพยายาม แก้ปัญหาความล่าช้ากว่าคู่แข่งญี่ปุ่น ด้วยการตั้งสำนักงานวิจัยขึ้นในญี่ปุ่น และทำงานด้านการสำรวจตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาคำตอบให้ได้ว่าเหตุใด i-mode จึงได้รับความนิยม และขยายต่อไปอีกว่า ผู้บริโภคจะมีปฏิกิริยาตอบรับกับโทรศัพท์มือถือ ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างไรบ้าง "เรากำลังพยายามเรียนรู้จาก i-mode" ทอร์ด วินเกรน (Tord Wingren) ผู้อำนวยการ แผนกโทรศัพท์ 3G ของอีริคสันเล่า และ ว่า "ไม่มีคำถามเลยในแง่ ที่ว่า i-mode เดินมาถูกทางในหลายๆ ด้าน" แต่นูโวแห่งโนเกียกลับไม่ยอมรับความคิด ที่ว่าประสบการณ์ด้าน i-mode จะทำให้ญี่ปุ่นเข้าใจเรื่องโมบายอินเทอร์เน็ตอย่าง ลึกซึ้งมากกว่าโนเกีย และอีริคสัน เขาบอกลูกค้าส่วนใหญ่ของโดโคโมเพิ่งได้ใช้โทรศัพท์ดังกล่าวในการส่ง และรับข้อความสั้นๆ ทั้ง ที่ผู้ใช้บริการเครือข่ายจีเอส เอ็มนั้น สามารถใช้ได้มาตั้งแต่ปี 1993 แล้ว นอกจากนั้น นูโวยังบอกโทรศัพท์ i-mode ที่มีขนาดเล็กบอบบางอาจไม่เหมาะกับเทคโนโลยี 3G ก็ได้ เพราะจอภาพนั้น เล็กเกินไปสำหรับภาพวิดีโอ (แต่ในความเป็นจริงมี i-mode บางรุ่นที่มีจอภาพขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว) "โทรศัพท์ i-mode ใช้งานไม่สะดวกหรอก" นูโวย้ำ "ลูกค้าในญี่ปุ่นชอบลองของใหม่ และ ไม่กลัว ที่จะเรียนรู้วิธีการใช้งาน ที่ซับ ซ้อน แต่ยุโรปต้องการความเรียบง่าย" ที่กล่าวมานี้ก็อาจจะจริง แต่บริษัทญี่ปุ่นนั้น เชี่ยวชาญในการทุ่มตลาดสินค้า เพื่อให้สินค้าติดตลาด ข้อเท็จจริง ที่ว่าลูกค้าในญี่ปุ่นนั้น ชอบเป็นหนูทดลองในเรื่องอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ทำให้ ผู้ผลิตสามารถใช้ตลาดในประเทศเป็นที่ทดสอบตลาดสินค้าไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วีซีอาร์ กล้องดิจิตอล ไปจนถึงวิดีโอเกม ต่างๆ

การประลองกำลังในตลาด 3G ครั้งแรกจะเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2001 เมื่อโดโคโมเปิดตัวบริการ 3G ระดับโลกเป็นครั้งแรก โดยในช่วงหกเดือนแรกจะเน้น ที่โตเกียวก่อน จากนั้น จึงขยายบริการไปยังโอซากา และนาโกยา ในช่วงปลายปี และอีกหลายเมืองในปี 2002 บริการในระยะแรกจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง นอกจากนั้น อุปกรณ์รุ่นแรกของ มัตสุชิตะ และเอ็นอีซีจะแปลงสัญญาณข้อมูล และเสียงได้เร็วกว่าโทรศัพท์มือถือทั่วไป โดยมีอัตราเร็วในการเชื่อมต่อสูงสุดถึง 384 กิโลไบต์ต่อวินาที บางรุ่นจะติดตั้งกล้องสำหรับประชุมทางวิดีโอได้ด้วย โดโคโมกำลังทดลองบริการดาวน์ โหลดดนตรีเพิ่มเติมโดยร่วมมือกับมัตสุชิตะ และโซนี่ ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่าจะเห็นโทรศัพท์ ที่เป็นเครื่องเล่น MP3 อีกด้วย (โซนี่จะเริ่มทำตลาดอุปกรณ์รุ่น pre-3G ในเดือนนี้ โดยให้ดาวน์โหลดดนตรีลงในหน่วยความจำแบบ "stick" แล้วนำไปใส่ในโทรศัพท์ และในอนาคต ตัวโทรศัพท์เองจะสามารถดาวน์โหลดจากอินเทอร์เน็ตได้โดยตรง)

ยิ่งกว่านั้น โทรศัพท์บางรุ่นจะมีบริการวิดีโอคลิปเป็นภาพกีฬาเด่นหรือตัวอย่างภาพยนตร์ด้วย แม้ว่าคุณภาพของภาพอาจจะยังไม่ดีนัก เพื่อให้การดาวโหลดข้อมูลมีขนาดเล็ก (ลูกค้าจะต้องจ่ายค่าข้อมูลแบบเหมาชุดแทน ที่จะจ่ายตามเวลาใช้งาน) แต่การที่มีหน่วยความจำต่ำทำให้ไม่อาจชมภาพยนตร์ได้นาน มัตสุชิตะจึงคาดการณ์ว่าเมมโมรีการ์ดขนาด 64 เมกะไบต์ ที่ใช้กันในปัจจุบันจะถูกแทน ที่ด้วยขนาด 128 เมกะไบต์ในปี 2001 แต่ก็ยังใช้ชมวิดีโอได้เพียงไม่กี่นาทีเช่นกัน หรือแม้แต่เมม โมรีขนาด 1 จิกะไบต์ (ราว 1,000 เมกะ ไบต์) ที่คาดว่าจะวางตลาดในอีกสองสามปีข้างหน้าก็สามารถชมวิดีโอได้นานเพียง 19 นาทีเท่านั้น

หลังจากการทดลองตลาดที่จะเข้มข้นนานราวปีหรือสองปี การปรับปรุง เทคโนโลยีอย่างรวดเร็วจะเกิดขึ้น และจะมีมากมายหลายรูปแบบ เป็นไปได้ว่าตลาดจะแตกย่อยเป็นส่วน เพื่อให้สอด คล้องกับความต้องการใช้งาน ที่ต่างกัน และตามกำลังซื้อของลูกค้า เช่น โทรศัพท์ มือถือแบบปกติ มือถือ ที่มีจอภาพใหญ่ขึ้นสำหรับเล่นเกม และประชุมทางวิดีโอ มือถือแบบ ที่เน้นการแปลงสัญญาณข้อมูล ขนาดของโทรศัพท์เองก็จะมีให้เลือกมากขึ้น โดย 3G จะมีขนาดใหญ่ที่สุดหนักที่สุด แม้ว่าผู้ผลิตโทรศัพท์จะเลิกผลิตโทรศัพท์น้ำหนักมากมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 แล้วก็ตาม ราคาคาดว่าจะตกราว 300-1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ผู้ผลิตโทรศัพท์ 3G จะแบกรับภาระ ค่าตัวอุปกรณ์แบบเดียวกับ ที่เกิดขึ้นกับโทรศัพท์มือถือ จุดที่จะมีการแข่งขันกันมากที่สุดจะอยู่ ที่เทคโนโลยีนั่นเอง โดยแต่ละรุ่นจะนำเสนอคุณสมบัติการใช้งาน ต่างๆ โดยพุ่งเป้าไป ที่ผู้ใช้กลุ่มนักธุรกิจก่อน ส่วนต่างกำไรจากอุปกรณ์ประเภทนี้จะสูง และมีแนวโน้มจะดึงดูดให้ผู้ที่อยู่นอกวงการโทรศัพท์มือถือมาร่วมแข่งขันด้วย ผู้ผลิตอุปกรณ์ประเภทพีดีเอ (Personal Digital Assistant) เช่น Palm และ Handspring คงเข้ามาเอี่ยว ในธุรกิจนี้ด้วย โดยอาจเป็นรูปแบบความ ร่วมมือกับบริษัทโทรศัพท์บางแห่ง

สำหรับบริษัทญี่ปุ่น แม้จะทดลอง ตลาดในบ้านตนเองแล้วแต่ก็ยังขาดการวางรากฐาน ที่จะสู้กับโนเกีย และอีริคสัน ที่ยึดตลาดจีเอสเอ็มไว้อย่างเหนียวแน่น ในปี 2000 มัตสุชิตะ คอมมิวนิเคชันส์จำหน่ายโทรศัพท์มือถือไปได้เพียงราว 15 ล้านเครื่องในตลาดต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดยุโรป มิตซูบิชิ อิเล็ก ทริกจำหน่ายโทรศัพท์ในยุโรป และจีนได้รวม 16 ล้านเครื่องสูงกว่าตลาดในประเทศ ที่มียอดจำหน่าย 7 ล้านเครื่อง บริษัทอีกหลายแห่งกำลังเล็งหาพันธมิตร ทางธุรกิจ ที่เป็นบริษัทโทรศัพท์ระดับรองๆ ลงมาในยุโรป อย่างโตชิบา ที่เพิ่งประกาศเป็นพันธมิตรกับซีเมนส์ใน ด้านการผลิตอุปกรณ์ 3G ทั้งนี้เนื่องจาก โตชิบาต้องการประสบการณ์ในด้าน จีเอสเอ็มของซีเมนส์ เนื่องจากโทรศัพท์ 3G รุ่นแรกๆ ที่วางตลาดในยุโรปจะใช้ ได้ทั้งสองระบบ คือ จีเอสเอ็ม และ WCDMA

ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตญี่ปุ่นก็ระมัดระวังอย่างมากว่าตนจะต้องเจอกับการแข่งขัน ที่หนักหน่วงยิ่งขึ้นในตลาดของตนเอง เพราะแต่เดิมนั้น ตลาด ญี่ปุ่นเคยใช้ระบบโทรศัพท์มาตรฐานเดียวมาตลอด ทำให้เมื่อโนเกียผลิตโทรศัพท์ i-mode ก็ไม่ได้พยายามทำตลาดในญี่ปุ่นมากนัก แต่เมื่อระบบ ที่รองรับ 3G ที่เป็นระบบสากลจะทำให้บริษัทจากยุโรปเข้ามารุกในตลาดของญี่ปุ่นได้ ยิ่งในภาวะ ที่ตลาดใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้วดัง ที่โนมูระคาดการณ์ไว้ว่า จะมียอดจำหน่ายโทรศัพท์ในญี่ปุ่นเพียง 45 ล้านเครื่อง ในปี 2000 ก็ยิ่งมีแนวโน้มว่าบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์ ที่มีขนาดเล็กในญี่ปุ่นจะต้องถอยออกจากตลาดไป ที่เหลือก็ต้องเล็งหาตลาดต่างประเทศ เพื่อรักษาระดับการประหยัดตามขนาดไว้ "เราได้เปรียบในฐานะ ที่ เป็นผู้บุกเบิกก่อนในตลาด 3G" คาวาดะ แห่งมัตสุชิตะบอก "แต่การจะอยู่รอดได้นั้น เราต้องเป็นหนึ่งในสามผู้นำตลาด โลกให้ได้" ไม่ว่าจะ เพื่อฉวยชิงส่วนแบ่งตลาดหรือการต่อสู้ เพื่อความอยู่รอด ระฆังยกสองของการต่อสู้ในตลาดโทรศัพท์มือถือก็เริ่มดังขึ้นแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.