|
ลดราคาค่าทางด่วน
โดย
ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
วิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังคุกคามนานาประเทศอยู่ในห้วงเวลานี้กล่าวกันว่าเป็นภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกครั้งร้ายแรงที่อุบัติขึ้นหนึ่งครั้งในรอบ 100 ปี ทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1929 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หากแต่วิกฤติการเงินในครั้งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกอย่างญี่ปุ่นมากกว่าครั้งที่ผ่านมา
ท่ามกลางข่าวอันไม่น่าภิรมย์ที่ประดังกันเข้ามาในยามนี้อย่างเช่นการเลิกจ้างพนักงานชั่วคราวของบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่ง เงินเยนที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ดัชนีนิกเกอิในตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ดิ่งตัวลง การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในอัตราติดลบ เป็นต้น ตั้งแต่ภาครัฐและเอกชนไล่ไปถึงประชาชนในหน่วยย่อยของสังคมญี่ปุ่นต่าง เตรียมตัวรับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ประเมินไว้ว่าอาจจะทรุดหนักกว่าที่คิด
เมื่อพิจารณาในระดับมหภาคแล้วดูเหมือนว่า ญี่ปุ่นคงไม่สามารถพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกประเทศ เพื่อพยุงตัวฝ่ามรสุมวิกฤติเศรษฐกิจแห่งศตวรรษที่ 21 ได้มากเท่ากับการยืนหยัดบนลำแข้งของตัวเองผ่านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานภายในประเทศ
ในทางตรงกันข้ามกลุ่มชนชั้นกลางที่เป็นฟันเฟืองหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นมาช้านานกลับมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมารัดเข็มขัดออมเงินกันมากขึ้นซึ่งสวนทางกับความประสงค์ของภาครัฐที่พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีสภาพคล่องมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
หนึ่งในหลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศใช้เมื่อเร็วๆ นี้คือ การปรับลดราคาค่าบริการทางด่วนทั่วประเทศให้เหลือเพียง 1,000 เยน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2009 ถึง 31 มีนาคม 2011
อาจเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจนักที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นชุดนี้หยิบยกระบบทางด่วนขึ้นมาเป็นตัวชูโรงกระตุ้นเศรษฐกิจใน timing ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลงมาในระดับที่น่าพอใจซึ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการบินทั้งในและต่างประเทศที่บอบช้ำจากราคาน้ำมันโลกที่พุ่งทะยานขึ้นไปเป็นเวลาหลายเดือน ในขณะที่รถไฟ JR ก็ได้ปรับปรุงตารางเวลารถไฟท้องถิ่นใหม่ให้สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวรถไฟชินกันเซนที่เพิ่มขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารยิ่งขึ้นไปอีก
ดังนั้นวิธีการจูงใจให้ผู้คนหันมาเดินทางโดยรถยนต์กันมากขึ้นนี้จึงเป็นนโยบายเฉพาะกิจที่เสริมศักยภาพให้ระบบทางด่วนสามารถแข่งขันกับการคมนาคมทางอากาศและการขนส่งมวลชนในระบบรางได้ ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภายในของญี่ปุ่นในหลายมิติควบคู่กันนั้น รัฐบาลก็หวังผลทางจิตวิทยาสำหรับการเลือกตั้งในครั้งถัดไปเพื่อเรียกคะแนนนิยมที่ค่อยๆ ตกต่ำลงราวกับแปรผันตรงตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ยกตัวอย่าง การเดินทางจากโตเกียวถึงฟูกุโอกะในเกาะ Kyushu มีระยะทาง 1,074 กิโลเมตร สนนราคาค่าเดินทางโดยรถไฟชินกันเซน 22,320 เยน ใช้เวลา 5 ชั่วโมง โดยเครื่องบินของสายการบิน JAL หรือ ANA ราคาขั้นต่ำโดยประมาณ 20,000 เยน ใช้เวลา 2 ชั่วโมงไม่รวมเวลารอขึ้นเครื่อง โดยทางด่วนราคา 22,000 เยน (ไม่รวมค่าน้ำมัน) ใช้เวลานานกว่า 10 ชั่วโมง ซึ่งอัตราค่าบริการทางด่วนนี้จะลดเหลือ 1,000 เยน อย่างไรก็ตาม สามารถตรวจสอบราคาทั้งหมดที่แน่นอนก่อนออกเดินทางได้ทางอินเทอร์เน็ตซึ่งให้ข้อมูลรายละเอียดปลีกย่อยที่อาจแตกต่างกันตามเส้นทางที่เลือกใช้
กลายเป็นกระบวนทัศน์ที่กระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค การขนส่งและการท่องเที่ยวอาศัยจังหวะนี้สะท้อนบทบาทผ่านบริบทของแผนโปรโมตการท่องเที่ยวที่จัดขึ้นทั่วประเทศให้คล้องจองไปกับการโหมโรงแผนกู้เศรษฐกิจลดค่าทางด่วนต้อนรับเทศกาลชมดอกซากุระ-วันหยุด Golden Week ช่วงฤดูใบไม้ผลิ 2009 โดยเล็งเป้าหมายหลักไปที่กลุ่มนักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบในการเดินทาง อีกทั้งเป็นการช่วยลดต้นทุนสำหรับคณะทัวร์จากในและต่างประเทศที่เดินทางภายในประเทศญี่ปุ่นด้วยรถบัส รวมถึงบริษัทขนส่งสินค้าที่พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย
นอกจากนี้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวยังเอื้อประโยชน์กับอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายรถยนต์ได้จากตลาดภายในประเทศ
กระนั้นก็ตามเพื่อที่จะได้รับส่วนลดค่าทางด่วนนั้นผู้ขับขี่จำเป็นต้องติดตั้งระบบ ETC (Electronic Toll Collection) ในรถยนต์ซึ่งหากเป็น รถยนต์รุ่น (อย่างน้อย) ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา มักจะมีอุปกรณ์ไร้สาย ETC ที่ใช้ส่งสัญญาณกับเสาอากาศที่ Toll Gate ติดตั้งมาด้วย แต่สำหรับรถยนต์รุ่นเก่าที่ไม่มีอุปกรณ์ที่ว่าก็สามารถหาซื้อมาติดตั้งได้ตามศูนย์บริการทั่วประเทศ
อีกส่วนหนึ่งที่จำเป็นก็คือบัตร ETC สำหรับใช้ชำระค่าทางด่วนในลักษณะเดียวกับบัตรเครดิตซึ่งผู้ขับขี่สามารถสมัครใหม่เป็นบัตร All-in-one รวมกับบัตรเครดิตได้โดยตรงหรือจะเลือกสมัครเฉพาะ ETC เพิ่มลงไปในบัตรเครดิตที่ถืออยู่แล้วก็ได้
ผลสำรวจการจราจรติดขัดบนทางด่วนพบว่า 30% มีสาเหตุมาจากจำนวนรถสะสมที่รอจ่ายค่าผ่านทางบริเวณ Toll Gate ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถรับค่าผ่านทางเฉลี่ย 230 คันต่อชั่วโมง ในขณะที่ระบบ ETC ซึ่งเริ่มติดตั้งบนทางด่วนญี่ปุ่นในปี 2001 สามารถรับชำระค่าผ่านทางได้เฉลี่ย 800 คันต่อชั่วโมง
ระบบ ETC ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาการจราจรคับคั่งบนทางด่วนเท่านั้นแต่ยังช่วยประหยัดน้ำมันในระหว่างจอดรอชำระเงินซึ่งจากการตรวจวัดในบริเวณ Toll Gate พบว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงไปกว่า 50% นอกจากนี้สมาชิกบัตร ETC ยังได้รับส่วนลดพิเศษจากร้านค้าและปั๊มน้ำมันของ Service Area หรือ Parking Area* ซึ่งตั้งอยู่ภายในทางด่วน
รถทุกคันที่ลงทะเบียนและติดตั้งอุปกรณ์ ETC แล้วสามารถผ่าน Toll Gate ของบริษัททางด่วนทุกบริษัทที่โยงใยทั่วญี่ปุ่นได้ทั้งหมด โดยระบบจะคำนวณค่าบริการ-ส่วนลดที่ถูกต้องแม่นยำรวมถึงสามารถสะสมไมล์ได้ ในขณะเดียวกันข้อมูลของรถยนต์และภาพถ่ายวงจรปิดจะถูกเก็บบันทึกไว้ซึ่งสามารถนำไปใช้ประกอบการอ้างอิงเป็นประโยชน์ในกรณีสืบสวนและติดตามคดีได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การจัดระบบสำรองเพื่อรับปริมาณรถที่มากกว่าปกติในช่วงเทศกาลต่างๆ หรือการเตรียมรับมืออุบัติเหตุที่อาจเพิ่มขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นในอันดับต้นๆ เช่นกัน
แม้จะยังเร็วเกินไปที่จะประเมินประสิทธิผลของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการปรับลดราคาค่าบริการทางด่วนนี้แต่อย่างน้อยรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้แสดงให้เห็นถึงบทหนึ่งในการพยายามแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ ที่ต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
*อ่านเพิ่มเติม นิตยสารผู้จัดการ คอลัมน์ Japan Walker ฉบับมิถุนายน 2547
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|