|
เกมชาตินิยม
โดย
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
เดือนกุมภาพันธ์ 2552 นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกต่างประหลาดใจไปตามๆ กัน เมื่อรัฐสภาสหรัฐฯ ให้ความเห็นชอบและประธานาธิบดีบารัค โอบามา ลงนามบังคับใช้กฎหมายที่มีมาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้สินค้าอเมริกันหรือ Buy American
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ หวังว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯ กระตุ้นตลาดหลักทรัพย์และกระตุ้นอัตราการจ้างงานให้ดีขึ้น โดยสถิติในเดือนกุมภาพันธ์ชี้ชัดว่าอัตราการว่างงานของคนสหรัฐฯ สูงถึงร้อยละ 8.1 นับว่าสูงที่สุดในรอบ 25 ปี
ช่วงเดือนมีนาคมระหว่างที่ผมเดินทางไปที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าเศรษฐกิจอเมริกันนั้นถดถอยอย่างหนักจริงๆ ห้างร้านหลายแห่งที่เคยคึกคักกลับกลายเป็นแทบจะไม่มีผู้คน เรียกได้ว่าคนขายมากกว่าคนซื้อ ส่วนร้าน ขายเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ที่ผมเคยใช้บริการอย่าง Circuit City ประกาศล้มละลาย เหลือทิ้งไว้แค่ป้ายชื่อกับอาคารเปล่าๆ นอกจากนี้โฆษณาเกี่ยวกับการซื้อรถ ผ่อนบ้านก็พยายามแข่งกันชูจุดขายอย่างเช่น ดอกเบี้ย 0% หรือมีโปรแกรม ช่วยผ่อนระหว่างที่ตกงาน เป็นต้น
นโยบาย Buy American ไม่เพียงเป็นเรื่อง น่าแปลกใจหรือน่าตกใจสำหรับชาวโลก เพราะแม้แต่ คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยก็แสดงความเห็นว่า "นโยบาย Buy American นั้นเป็นนโยบายที่ไม่เป็นอเมริกันเอาเสียเลย (Un-American)" กล่าวคือ แต่ไหนแต่ไรมาสหรัฐอเมริกาถือเป็นลูกพี่ใหญ่ที่ผลักดันให้ประเทศต่างๆ ยึดถือและเดินตามแนวทางปรัชญาเสรีนิยมทางเศรษฐกิจเหมือนกับตัวเอง ถ้าหากกล่าวเป็นภาษาวัยรุ่นหน่อยก็อาจกล่าวได้ว่า สหรัฐอเมริกานั้นเป็นประเทศที่ส่งเสริมการค้าเสรีในระดับ "ตัวพ่อ" นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้การประกาศมาตรการ Buy American ซึ่งอุดมไปด้วยกลิ่นอายของลัทธิกีดกันทางการค้า (Protectionism) จึงก่อให้เกิดทั้งความฉงน ความประหลาดใจ และความสับสนให้กับชาวโลกไม่น้อย
อุตสาหกรรมเหล็กโลกกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการ Buy American เนื่องจากรัฐบาลอเมริกันต้องการที่จะควบคุมการนำเข้าเหล็ก โดยหวังกีดกันสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและวัสดุก่อสร้างจากต่างประเทศไม่ให้ส่งเข้าไปขายในสหรัฐฯ ทว่า เมื่อนโยบายดังกล่าวถูกประเทศ/ภูมิภาคเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่อย่างสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นท้วงติง สหรัฐฯ ก็ยอมรับและเปลี่ยน ถ้อยคำในกฎหมายให้สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นสามารถหลุดรอดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี หรือที่ในศัพท์เศรษฐศาสตร์และการค้ารู้จักกันดีว่า Non Tariff Barrier (NTB) ไปได้
แน่นอนว่านโยบาย Buy American ย่อมมิได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กและประเทศที่ส่งออกเหล็กไปยังสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงคนไทยและการส่งออกสินค้าไทยบางประเภทไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย
ทั้งนี้หลังจากความตื่นตระหนกเกี่ยวกับ "ลัทธิกีดกันการค้า" ที่ถูกจุดขึ้นโดยมาตรการ Buy American ยังไม่สร่างซาดี กลางเดือนมีนาคม 2552 กระแสความตระหนกต่อลัทธิกีดกันทางการค้าอีกระลอกก็ถูกจุดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่ง
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 กระทรวงพาณิชย์จีน ได้ออกแถลงการณ์กรณีที่บริษัทโคคา-โคลาเสนอซื้อกิจการบริษัทน้ำผลไม้ฮุ่ยหยวน บริษัทน้ำผลไม้เจ้าใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ด้วยเม็ดเงินสูงถึงเกือบ 83,000 ล้านบาท (17,920 ล้านเหรียญฮ่องกง) ซึ่งข้อเสนอซื้อดังกล่าวนับว่าเป็นการซื้อกิจการบริษัทจีนที่มีมูลค่ามากที่สุดโดยบริษัทต่างชาติ โดยทางการจีนระบุว่า การซื้อกิจการครั้งนี้ขัดต่อกฎหมายต่อต้านการผูกขาดของจีน (Anti-Monopoly Law) ซึ่งประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2551 และจะนำมาซึ่ง "ผลกระทบเชิงลบต่อการแข่งขัน" ในประเทศจีน
"ถ้าบริษัทโคคา-โคลาสามารถซื้อกิจการบริษัท ฮุ่ยหยวนได้จริงจะทำให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มรายเล็กๆ ของจีนประสบความยากลำบากในการแข่งขันและในที่สุดจะนำไปสู่การขึ้นราคาในอนาคต" แถลงการณ์ของ กระทรวงพาณิชย์จีนระบุ
ข่าวคราวความสนใจในการซื้อกิจการ "ฮุ่ยหยวน" แบรนด์น้ำผลไม้ 100% เจ้าใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ซึ่งกินสัดส่วนของตลาดมากถึงร้อยละ 32.6 โดยโคคา-โคลา บริษัทน้ำอัดลมเจ้าใหญ่ที่สุดของโลก ปรากฏขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2551 ช่วงปลายของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่ง โดยจากกระแสชาตินิยมที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในหมู่ชาวจีนระหว่างมหกรรมโอลิมปิก ก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านการซื้อกิจการดังกล่าวเป็นวงกว้าง กระแสการต่อต้านดังกล่าวถูกปั่นขึ้นสูงถึงขนาดที่มีคนกล่าวหา จู ซินหลี่ ผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฮุ่ยหยวนว่า "ขายตัวให้ต่างชาติ" และ "ผู้ทอดทิ้งแบรนด์ของชาติ" เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ในหมู่ชาวจีน นักธุรกิจและสื่อมวลชนจีนเองก็มีผู้ที่ยึดหลักเหตุผลเพื่อที่จะวิเคราะห์สถานการณ์ให้หลุดพ้นจากกรอบของลัทธิชาตินิยมเช่นกัน โดยหนังสือพิมพ์หลายฉบับของจีนต่างตีพิมพ์บทวิเคราะห์ระบุว่า แม้การขายกิจการฮุ่ยหยวนให้กับต่างชาติจะเป็นการทำให้แบรนด์จีนตกไปอยู่ในเงื้อมมือของต่างชาติ และอาจจะเป็นการทำลาย "แบรนด์จีน" ก็จริง ทว่าชาวจีนเองก็ต้องแยกแยะประเด็นทางธุรกิจออกจาก การปกป้องผลประโยชน์ของชาติให้ชัดเจนด้วย
อย่างเช่นหนังสือพิมพ์ชิงเหนียนสือเป้าฉบับวันที่ 5 กันยายน 2551 ในหน้า A5 ได้ตีพิมพ์บทวิเคราะห์ว่า "ใครกันแน่ที่ทอดทิ้งฮุ่ยหยวน?" โดยเนื้อหาบทความดังกล่าวระบุว่า "แท้จริงแล้วหากชาวจีน 8 ใน 10 คน เลือกฮุ่ยหยวนเป็นทางเลือกแรกในการดื่มเครื่องดื่ม ฮุ่ยหยวนคงกลายเป็นเครื่องดื่มอันดับหนึ่งของโลกไปแล้วและไม่จำเป็นต้องขายกิจการให้กับโคคา-โคลา แถมฮุ่ยหยวนยังอาจจะสามารถซื้อกิจการโคคา-โคลาได้อีกด้วย"
นอกจากนี้บทวิเคราะห์ในชิงเหนียนสือเป้าฉบับดังกล่าวยังตีพิมพ์ภาพการ์ตูนวัยรุ่นชาวจีนที่ออก มาเรียกร้องให้ทุกคนช่วยกัน "ปกป้องฮุ่ยหยวน" แต่ขณะเดียวกันในมือตัวเองกลับถือขวดโคคา-โคลา ส่วนเท้าก็สวมรองเท้ายี่ห้อไนกี้ บทวิเคราะห์ดังกล่าวสรุปว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่ จู ซินหลี่ ที่ทอดทิ้งฮุ่ยหยวนหรอก แต่เป็นคนจีนนั่นแหละที่ "พูดอย่างทำอย่าง"
ในส่วนของบทวิเคราะห์ทางธุรกิจ หลังมีความชัดเจนว่าการซื้อกิจการฮุ่ยหยวนล้มเหลวอันเนื่องมาจากแถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์จีนและกระแสต่อต้านในสังคมจีนซึ่งยังเป็นกระแสสูง นักวิชาการจีนจำนวนหนึ่งก็ออกมาชี้ว่ารัฐบาลจีนอ่อนไหวเกินไปกับเรื่องนี้ และข้ออ้างของกระทรวงพาณิชย์ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะตลาดน้ำผลไม้ในจีนนั้นแข่งขันกันสูงมากและการควบรวมกิจการดังกล่าวก็ไม่เห็นว่าจะทำให้โคคา-โคลาสามารถผูกขาดตลาดได้แต่อย่างใด
ขณะที่หนังสือพิมพ์เป่ยจิงซังเป้า (Beijing Business Today) ฉบับวันที่ 20 มีนาคม 2552 ตีพิมพ์ บทวิเคราะห์ระบุว่า ความล้มเหลวของดีลดังกล่าว แม้ดูเหมือนจะเป็นชัยชนะของชาวจีน แต่ผู้ที่เจ็บช้ำที่สุดกลับไม่ใช่บริษัทโคคา-โคลา แต่เป็นชาวจีนเองโดยเฉพาะผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ของฮุ่ยหยวนที่ชื่อ "จู ซินหลี่"
เป่ยจิงซังเป้าระบุว่าในส่วนของโคคา-โคลา ความล้มเหลวในการซื้อบริษัทจีนไม่ถือว่าเป็นเรื่องเสียหายอะไรมากนักในระยะสั้น เนื่องจากในภาวะที่วิกฤติโลกอยู่ในสภาพสาหัสเช่นนี้ การถือเงินสดไว้ในมือย่อมเป็นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุด ในทางกลับกันบริษัทฮุ่ยหยวนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและบรรดาผู้ถือหุ้นที่ต้องเจ็บตัวหนักเพราะหลังดีลล้ม ราคาหุ้นของฮุ่ยหยวน ลดลงถึงร้อยละ 40 เหลือเพียง 4.8 เหรียญฮ่องกงต่อหุ้น จากที่เคยพุ่งขึ้นไปสูงที่สุดถึง 11.28 เหรียญฮ่องกงต่อหุ้น
นอกจากนี้ในมุมมองของการบริหารย่อมเกิดคำถามที่ว่า จู ซินหลี่จะทำอย่างไรต่อไปกับ "ฮุ่ยหยวน" ดี? บทวิเคราะห์ดังกล่าวระบุว่า การที่เขายินยอมขายกิจการย่อมแสดงให้เห็นว่าเขาเริ่มไม่มั่นใจว่าตนเองและครอบครัวจะผลักดันฮุ่ยหยวนให้ก้าวไปได้ไกลขนาดไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจที่ตึงตัวเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อการประกาศขายกิจการล้มเหลวเขาจึงเหลือหนทางเพียง 3 ประการคือ หนึ่ง กัดฟันสู้ต่อไป สอง ปล่อยไปตามยถากรรมและสุดท้ายคือ การขายกิจการให้กับบริษัทในประเทศแทน
อีกด้านหนึ่ง ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนข้ามชาติ กรณีโคคา-โคลาและฮุ่ยหยวนนั้น เป็นเรื่องระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนไม่น้อย เพราะความล้มเหลวของการซื้อ-ขายกิจการดังกล่าวในภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอยนั้นยิ่งกระตุ้นให้ผู้คนขาดความเชื่อมั่นในระบบการค้าเสรีและลดความเชื่อถือปรัชญาเศรษฐกิจ ที่เป็นกระแสหลักของโลกอยู่ ณ เวลานี้ว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้
เป็นที่น่าสังเกตว่า "แนวคิดชาตินิยม" มักถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอยู่เสมอๆ ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจและการเมือง ไม่ว่าจะในช่วงการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อราว 80 ปีก่อนหรือเมื่อเร็วๆ นี้ คือวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 โศกนาฏกรรม 9/11 ในปี 2544 รวมไปถึงวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุดที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ ณ เวลานี้ด้วย
ที่สำคัญ ผมคิดว่ารัฐบาลไทยและคนไทยน่าจะได้บทเรียนอะไรหลายอย่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจการลงทุนและการค้า รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดด้วย ทั้งๆ ที่ระบบเศรษฐกิจของบ้านเรานั้นเป็นทุนนิยมก่อนจีนตั้งนาน แต่การต่อต้านการผูกขาดกลับยังตกอยู่ในสภาพที่ล้าหลังอย่างยิ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|