แอฟริกาคุณคือจุดอ่อน


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

แอฟริกาซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติเคยรุ่งเรืองในยามที่เศรษฐกิจโลกเติบโตเช่นไรก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นนั้นในยามที่เศรษฐกิจโลกเกิดวิกฤติ

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในแอฟริกาได้ช่วยให้คนนับล้านๆ พ้นจากความยากจน ประชาธิปไตยเบ่งบานอย่างรวดเร็วไปทั่วทั้งทวีปอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในเดือนธันวาคม ธนาคารโลกรายงานว่าเศรษฐกิจของแอฟริกา ซับซาฮาราเติบโตถึง 5.4% ในปีที่แล้ว เทียบเท่ายุโรปและสูงกว่าละตินอเมริกา ทำให้ละตินอเมริกากลายเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจชะลอตัวมากที่สุดในโลกแทนที่แอฟริกาไป แม้กระทั่งบัดนี้ ชาวแอฟริกันจำนวนมากก็ยังคงเชื่อว่า พวกเขาจะรอดพ้นวิกฤติเศรษฐกิจโลกในครั้งอย่างแทบจะปราศจากรอยขีดข่วน

แต่คงจะไม่เป็นเช่นนั้น IMF เพิ่งจะคาดการณ์ว่า แอฟริกาจะเติบโต 3% ในปีนี้ เทียบกับ 4% ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ มี 3 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อแอฟริกาคือ สินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของแอฟริกา กลับมีราคาตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความต้องการซื้อที่ตกต่ำลงเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปัจจัยต่อมาคือประเทศแอฟริกาจำนวนมาก อยู่ได้ด้วยการได้รับความช่วยเหลือจากต่างชาติ และชาติตะวันตกที่เป็นผู้บริจาคความ ช่วยเหลือรายใหญ่ ซึ่งกำลังประสบวิกฤติเศรษฐกิจก็คงจะให้ความช่วยเหลือน้อยลง ในทำนองเดียวกัน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในแอฟริกาและการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานที่ไปทำงานนอกประเทศ ซึ่งคงจะลดต่ำลงเช่นกันจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจของแอฟริกา ส่วนปัจจัยสุดท้าย การล่มสลายของเศรษฐกิจอาจทำลายการเมืองในประเทศที่ไร้เสถียรภาพในแอฟริกา

เมื่อรายได้ลดต่ำลง ธุรกิจและรัฐบาลชาติต่างๆ ในแอฟริกา ก็อาจจำเป็นต้องล้มเลิกแผนพัฒนาต่างๆ ซึ่งย่อมทำให้ประชาชน ไม่พอใจ ทั้งๆ ที่ชาวแอฟริกาเพิ่งเริ่มจะมีความหวังว่า ชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้นแท้ๆ นักวิเคราะห์ในแอฟริกาใต้ชี้ว่า ชาวแอฟริกาส่วนใหญ่เชื่อว่า พวกเขาจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ แต่พวกเขาประเมินขนาดและความเข้มของวิกฤติครั้งนี้ต่ำเกินไป

สิ่งแรกที่ส่งผลกระทบต่อแอฟริกาไปแล้วคือราคาสินค้า โภคภัณฑ์ หากไม่นับทองคำและเมล็ดโกโก้แล้ว ราคาสินค้าประเภทวัตถุดิบต่างๆ ตกต่ำโดยถ้วนหน้า หลังจากราคาสินค้า โภคภัณฑ์พากันพุ่งกระฉูดทำลายสถิติมานาน 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นถึง 320% ราคาโลหะและแร่พุ่งขึ้นเกือบ 300% และราคาอาหารพุ่งขึ้น 138% ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็เริ่มตกต่ำลงในช่วงปลายปีที่แล้ว เดือนธันวาคม ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ราคาอาหารจะตกลงอีก 26% ระหว่างปี 2008-2010 ราคาน้ำมันจะตกลง 25% และราคาโลหะจะตกลง 32%

สำหรับประเทศในแอฟริกาที่ต้องพึ่งพารายได้จากน้ำมัน โลหะและแร่แล้ว นี่คือหายนะทางเศรษฐกิจโดยแท้ เศรษฐกิจของบอตสวานาแทบจะพึ่งพาการผลิตเพชรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่บริษัทเพชร De Beers ซึ่งเกือบจะเป็นบริษัทเดียวที่ทำให้บอตสวานาเติบโต ได้ปิดเหมืองเพชรเป็นเวลาหลายสัปดาห์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และยังประกาศจะลดการผลิตลง 50% ตลอดเดือนนี้ (เมษายน) ส่วนโครงการเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่หลายแห่ง ในโมซัมบิกก็ต้องปิดฉากลง เนื่องจากการผลิตเชื้อเพลิงลดต่ำลง

ในแอฟริกาใต้ การผลิตทองคำในปีที่แล้วลดลง 13.6% หรือ ลดลงจนเท่ากับระดับการผลิตในปี 1922 ส่วนราคาทองแดงที่ร่วง ลงถึง 60% ทำให้ต้องปิดเหมืองและเลิกจ้างหลายพันตำแหน่งในเขต Copperbelt แหล่งผลิตทองแดงของแซมเบีย ซึ่งมีทองแดงเป็นแหล่งสร้างรายได้ถึง 80% ของรายได้เงินตราต่างประเทศ และเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เศรษฐกิจของแซมเบียเติบโต แทบจะไม่มีรัฐบาลชาติใดเลยในแอฟริกาที่มีความสามารถมากพอที่จะอาศัยช่วงที่เศรษฐกิจยังดีๆ เร่งเดินหน้าด้านการพัฒนา เมื่อเศรษฐกิจมาวิกฤติเช่นนี้โอกาสที่จะทำเช่นนั้นก็ยิ่งเลือนรางลงอีก

ประเทศในแอฟริกาที่จะได้รับผลกระทบเป็นรายต่อไป คือประเทศที่พึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นหลัก อย่างเช่นรวันดาและแทนซาเนีย รวมทั้งโมซัมบิกที่นอกจากจะพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์แล้ว ยังพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของ GDP ด้วย ซึ่งเท่ากับยิ่งได้รับผลกระทบสองต่อ และประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐฯ ไม่ได้กล่าวถึงสัญญาตอนช่วงหาเสียงที่จะเพิ่มเงินช่วยเหลือที่ให้ต่อแอฟริกาเป็นสองเท่าอีกต่อไปแล้ว นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบัน Nordic Africa Institute ในสวีเดนชี้ว่า ชาติตะวันตกซึ่งประสบวิกฤติเศรษฐกิจหนัก คงจะไม่เคารพพันธะที่จะเพิ่มเงินช่วยเหลือที่ให้แก่แอฟริกาเป็นสองเท่าจาก 4 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2010 อีกต่อไป

การลงทุนในแอฟริกาก็จะหดตัวลงเช่นกัน สถาบัน Institute of International Finance ประเมินว่า การลงทุนที่จะไหลเข้าสู่ชาติกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงแอฟริกา อาจลดลงมากถึง 80% ในปีหน้า สัปดาห์ก่อน IMF เตือนว่า หากวิกฤติเศรษฐกิจโลกยังรุนแรง ต่อไป จำนวนประเทศที่จะเข้าขั้นอันตรายอาจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เป็นเกือบ 40 ประเทศ และส่วนใหญ่จะอยู่ในแอฟริกาที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮาราหรือแอฟริกาซับซาฮารา ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตเหนือ 3% เล็กน้อยในปีนี้ เทียบกับ 4% ของประเทศที่มีรายได้ต่ำอื่นๆ ทั้งหมด

วิกฤติเศรษฐกิจอาจทำให้แอฟริกาไร้เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังในแอฟริกามานาน แม้ก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก เคนยาก็เกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติ หนึ่งปีหลังจากนั้นรายได้จากการท่องเที่ยวของเคนยา ตกฮวบลงถึง 35% การผลิตกาแฟ ชา และดอกไม้เมืองร้อน ซึ่งเป็น อุตสาหกรรมการเกษตรที่ได้ราคาดีของเคนยาได้รับผลกระทบอย่าง หนัก เนื่องจากเกษตรกรกลัวจนไม่กล้ากลับบ้านเพราะกลัวจะถูกฆ่าตาย ไลบีเรียกับเซียรา ลีโอนพึ่งพารายได้จากการขายยางเป็น หลัก แต่ราคายางก็ตกต่ำอย่างต่อเนื่องตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

เมื่อราคาน้ำมันพุ่งกระฉูดถึง 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนั้น ระดับความรุนแรงในไนจีเรียอยู่ในระดับต่ำ แต่เมื่อราคาน้ำมันอยู่ที่ ประมาณ 40 ดอลลาร์ในขณะนี้ ความไร้เสถียรภาพในไนจีเรียก็เพิ่มขึ้น ในขณะที่ในชาติตะวันตกหวังพึ่งการแทรกแซงจากภาครัฐในยามวิกฤติ แต่ในแอฟริกาภาครัฐคือตัวปัญหาเสียเอง การล่มสลายของเศรษฐกิจซิมบับเวเป็นผลมาจากนโยบายที่ผิดพลาด และสิ่งสุดท้ายที่ซิมบับเวต้องการ ก็คือการแทรกแซงจากภาครัฐโดยรัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดี Robert Mugabe

ปัญหาทั้งหมดข้างต้นนี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยความจริงที่ว่า ประเทศเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตของแอฟริกาที่ใหญ่ที่สุด คือแอฟริกาใต้ ก็กำลังเจ็บตัวอย่างหนักจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกเช่นกัน แอฟริกาใต้เป็นประเทศเดียวในแอฟริกา ที่เชื่อมโยงกับตลาดการเงินโลก จึงได้รับผลกระทบเต็มๆ จากวิกฤติการเงินโลกครั้งนี้ ธุรกิจต่างๆ ของแอฟริกาใต้ที่ได้เข้าไปลงทุนทั่วแอฟริกา ได้ช่วยกระตุ้นการเติบโตของแอฟริกาโดยรวม แอฟริกาใต้เพียงประเทศเดียวก็ผลิตสินค้าเกือบครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดของแอฟริกาแล้ว มีการประเมินว่า ทุกๆ 1% ที่เพิ่มขึ้นของ GDP ต่อหัวในแอฟริกาใต้ในระยะ 5 ปี จะทำให้ประเทศอื่นๆ ที่เหลือในแอฟริกาพลอยได้รับอานิสงส์เติบโต ไปด้วย ประมาณครึ่งหนึ่งของการเติบโตที่เพิ่มขึ้นในแอฟริกาใต้

มาบัดนี้หลังจากเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองมาตลอดกว่า 10 ปี แอฟริกาใต้กลับถึงคราวที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว เศรษฐกิจ แอฟริกาใต้ติดลบ 1.8% ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว เดือนกุมภาพันธ์ยอดขายรถใหม่ในแอฟริกาใต้ตกลง 36% เมื่อเทียบกับ หนึ่งปีก่อน บริษัทผลิตรถยนต์ขอให้รัฐบาลแอฟริกาใต้เข้าอุ้มถึง 1 พันล้านดอลลาร์ Bank of America Corp.-Merrill Lynch & Co เพิ่งทำนายว่า เศรษฐกิจแอฟริกาใต้จะติดลบ 0.6% ในปีนี้ เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกของแอฟริกาใต้และการบริโภคภายในประเทศลดต่ำลง

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสิ่งดีอยู่บ้างสำหรับแอฟริกา การที่ราคาน้ำมันและอาหารตกลงนำความโล่งใจมาสู่ชาติยากจนในแอฟริกา ที่เคยได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤติราคาอาหารแพงเมื่อปีก่อน Antoinette Sayeh จาก IMF ชี้ด้วยว่า ประเทศในแอฟริกาสามารถรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ดีกว่าในอดีตมาก เนื่องจากมีระดับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่สูงพอสมควร คำถามคือแอฟริกาจะทำอย่างไรต่อไป วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ทำให้มองเห็นแล้วว่า การพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศและ ใช้นโยบายพัฒนาตามอย่างตะวันตกนั้น ยังไม่เพียงพอเพราะหลังจากเงินช่วยเหลือหลายแสนล้านดอลลาร์ถูกใช้หมดไป ปรากฏว่าชาวแอฟริกาในปัจจุบันนี้กลับยิ่งยากจนลงกว่าเมื่อ 60 ปีก่อนเสียอีก

นอกจากนี้ วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ยังทำให้มองเห็นความล้มเหลวของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในแอฟริกา ที่ไม่อาจวางนโยบายเศรษฐกิจอย่างสอดคล้องต้องกัน และในยามวิกฤติเช่นนี้ก็คงจะยากยิ่งขึ้นไปอีกหากจะพยายามทำเช่นนั้น แต่ถ้าหากจะบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่แอฟริกาจะต้องจับมือกันทางด้านเศรษฐกิจ ก็คงจะไม่มีเวลาไหนที่จะเหมาะสมไปกว่าเวลานี้อีกแล้ว


แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค 16 มีนาคม 2552


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.