หวังค่าธรรมเนียมดันรายได้ หุ้นแบงก์ใหญ่รอรับอานิสงส์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

แนวโน้มปล่อยกู้ใหม่ลด ส่วนต่างดอกเบี้ยหด ผลักแบงก์ขึ้นค่าธรรมเนียมชดเชย โบรกฯคาดแบงก์ใหญ่สาขาเยอะได้เปรียบ แม้ว่าโดยภาพรวมของกลุ่มแล้วจะเป็นสัดส่วนไม่มากก็ตามที

การที่ธนาคารพาณิชย์ ได้มีการปรับเพิ่มค่าธรรมเนียม เช่น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมรายปีบัตรATM เป็น 200 บาท และธนาคารกรุงไทย(KTB) ก็ได้มีการขึ้นค่าธรรมเนียมบัตรเงินด่วนทุกประเภท รวมทั้งธนาคารพาณิชย์อื่นๆก็มีการปรับขึ้นเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณของการปรับตัวในช่วงที่ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้น้อย และ ส่วนต่างดอกเบี้ยจ่ายและดอกเบี้ยรับ(NIM) มีแนวโน้มแคบลง จึงต้องหารายได้ด้านอื่นๆมาชดเชย

สุกัญญา อุดมวรนันท์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ จากบริษัทหลักทรัพย์(บล.)กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์เริ่มมุ่งหวังรายได้ค่าธรรมเนียมมากขึ้นเพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า อีกทั้งยอดการปล่อยสินเชื่อมีการปรับลดลง โดยธนาคารที่คาดว่าจะมีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือธนาคารกสิกรไทย (KBANK)เนื่องจากเป็นปีแห่งการขยายธุรกิจ ล่าสุดได้ร่วมมือกับไทยประกันชีวิต ซึ่งธนาคารตั้งเป้ารายได้ค่าธรรมเนียม 3 ปีโต30% รวมทั้งการปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมบัตรATM อาจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งปี 2552เติบโตประมาณ 20% จากปี2551ที่มีรายได้ดังกล่าวเติบโตถึง 27.2% หรือจำนวน 21.04หมื่นล้านบาท จึงแนะนำ “ซื้อเมื่ออ่อนตัว”โดยให้ราคาเหมาะสม 60 บาท

รวมทั้งการที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่ได้เข้าซื้อ จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส(GECAL) ก็คาดว่าจะทำให้ค่าธรรมเนียมทั้งปีจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% เช่นกัน จึงแนะนำ “เก็งกำไร” ที่ราคาเหมาะสม 10.80 บาท ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) คาดว่าจะมีรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งปีอยู่ที่ 15% เนื่องจากเป็นธนาคารที่มีสาขามากที่สุดในกลุ่ม แต่การที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจ จึงส่งผลให้มีรายได้จากค่าธรรมเนียมเติบโตน้อยกว่า KBANK และ BAYแนะนำ “ซื้อเมื่ออ่อนตัว”SCB ให้ราคาเหมาะสม 60 บาท ขณะที่ BBL เชื่อว่าการที่เป็นธนาคารขนาดใหญ่จะมีรายได้ค่าธรรมเนียมทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ 15% แนะนำ “ซื้อเมื่ออ่อนตัว”ราคาเหมาะสม 80 บาท

“แม้รายได้จากดอกเบี้ยในปีนี้จะตกต่ำลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเนื่องจากฐานรายได้ที่กว้างขึ้นและสินเชื่อที่ลดปริมาณลงตามเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่าแบงก์จะเริ่มรุกรายได้ค่าธรรมเนียมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายธุรกิจหรือออกผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนรายได้ค่าฟีในช่วงดอกเบี้ยขาลง”

ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์จาก บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) มองว่า แม้ที่ผ่านมากลุ่มธนาคารพาณิชย์จะปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมบัตร ATM ซึ่งทดแทนปริมาณสินเชื่อที่ปรับตัวลดลงมหาศาลจากยอดส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยปรับตัวลดลงมาก แต่เชื่อว่าการปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมบัตร ATM จะสามารถเพิ่มรายได้ดอกเบี้ยได้ประมาณ 2% เท่านั้นนับว่าน้อยมากเมื่อนำมาเทียบกับสัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยต่อสินเชื่อรวมที่มีถึง 20%

นอกจากนี้จากการที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ต่างขยายกิจการด้าน Bank Assuranceเพื่อหวังรายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และอาจมีผลกระทบต่อยอดขายให้ลดลง ขณะที่ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวยังซ้ำเติมรายได้ดอกเบี้ย ส่งผลให้กลุ่มธนาคารต้องหาวิธีเพิ่มรายได้มากขึ้น แต่การปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมบัตรATMคาดว่าจะได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มเพียง 2% และเมื่อนั้นมาหักลบกับสินเชื่อที่ลดลงของกลุ่มธนาคารก็แทบไม่ได้เป็นสัดส่วนอะไรมากนัก แต่สำหรับธนาคารที่ได้รับประโยชน์มากจะเป็นแบงก์ใหญ่ซึ่งมีเครือข่ายบริการกว้างขวางทั่วประเทศ ได้แก่ BBL, KTB, KBANK และ SCB


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.