ชิน โสภณพนิช…ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว หลังการตายของเขาเมื่อวันที่
4 มกราคม 2531 เรื่องราวและประสบการณ์ในการบริหารธนสารสมบัติของเขาในย่านแฟซิฟิกริม
เป็นตำนานเล่าขานที่ถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์เพื่อการศึกษาแก่ชนรุ่นหลังอย่างมากมายเอกอุในฐานะ
"นักธุรกิจการธนาคาร" ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพพร้อมบารมีที่มีต่อบุคคลต่างๆ
ในแวดวงธุรกิจไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ไม่มีใครปฏิเสธความมีอัจฉริยภาพของชินที่ติดตัวมากับเขาตั้งแต่เกิดจนตาย…
ขณะเดียวกันก็จักไม่มีใครปฏิเสธความมีคุณธรรมน้ำมิตรต่อกัลยาณมิตรของเขาอย่างเสมอต้นเสมอปลายด้วยเช่นกัน
ในทางบุคลิกภาพส่วนตัว ชินได้ทิ้งสิ่งเหล่านี้ไว้ให้กับผู้อยู่ข้างหลัง…บุตร-ธิดา
ไว้สานต่อต่อไป ซึ่งไม่ยากนักที่จะกระทำต่อได้
แต่ในด้านเส้นทางการบริหารในฐานะบิดาผู้บุกเบิกลู่ทางการทำมาหากินในย่านแปซิฟิกริม
จนได้รับการยกย่องนับถืออย่างจริงใจจากเพื่อนร่วมยุคยังเป็นสิ่งที่น่าสงสัยอยู่ว่า
ผู้อยู่ข้างหลังเขา จักสานต่อเส้นทางนี้ต่อไปหรือไม่? และจะบริหาร "อาณาจักรธุรกิจของโสภณพนิช"
ที่เขาทิ้งมรดกไว้ให้หลายคณานัปกันอย่างไร?
ชินมีภรรยา 2 คน คนแรกเสียชีวิตไปแล้วมีลูก 2 คน คือ ระบิล และ ชาตรี โสภณพนิช
คนที่สองยังมีชิวิตอยู่มีลูก 5 คน คือ ชาญ โชติ ชัย ชดช้อย และเชิดชู โสภณพนิช
ลูกทั้ง 7 คนที่เกิดจากภรรยาทั้ง 2 คนของเขาเป็นบุคคลที่มีภูมิหลังการศึกษาที่ดีเกือบทุกคน
แต่ละคนได้รับผลพวงจากมรดกธนสารสมบัติของเขามากมายพอที่จะสร้างอาณาจักรส่วนตัวทางธุรกิจได้อย่างสบายๆ
"นายห้างฯ ได้แบ่งสรรมรดกให้แก่ลูกๆ เรียบร้อยแล้วกว่า 10 ปี โดยให้แต่ละคนตั้งบริษัทโฮลดิ้งคัมปะนีของตนขึ้นมา
เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการลงทุนสร้างอาณาจักรธุรกิจของแต่ละคนขึ้นมา"
แหล่งข่าวใกล้ชิด "ชิน" ให้ข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ"
ถึงเทคนิคสมัยใหม่ในการแบ่งมรดกให้แก่ลูกๆ ของชิน
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าลูกจากภรรยาคนแรกคือ ระบิลและชาตรีนั้นในฐานะพี่ชายคนโตของน้องๆ
มีอาณาจักรธุรกิจของตัวเองที่ยิ่งใหญ่เอามากๆ… ทั้ง 2 คนเกิดในจีนผืนแผ่นดินใหญ่มาตุภูมิเดียวกับบิดา
ตำบลเตี๋ยะเอี๊ย มณฑลซัวเถา และเติบโตในวัยเยาว์ที่นั่น ระบิลหรือโรบิน ชาน
(ชื่อในสารบบสำมะโนประชากร-ฮ่องกง) นั้น มีบริษัทโรบิน ชานโฮลดิ้งของตนเอง
ขณะที่ชาตรีมีบริษัทชาตรีโสภณเป็นโฮลดิ้งคัมปะนี
ระบิลดูแลอาณาจักรธุรกิจของตัวเองและบางส่วนประมาณ 30% ของพ่อในฮ่องกงและฐานธุรกิจบางส่วนในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมีฐานธุรกิจหลักอยู่ที่
THE COMMERCIAL BANK OF HONG KONG ซึ่งระบิลถือหุ้นอยู่ประมาณ 30% ขณะที่แบงก์กรุงเทพและโตไกแบงก์ถืออยู่แห่งละ
10% เท่านั้น
ระบิลเป็นคนฉลาด เขาใกล้ชิดกับชินมากในฐานะพ่อกับลูกที่ใช้ชีวิตร่วมกันในฮ่องกงเป็นเวลานาน
ในช่วงสมัยที่ชินต้องอพยพลี้ภัยการเมืองไปอยู่ฮ่องกงสมัยจอมพลสฤษดิ์เรืองอำนาจ
เมื่อชินกลับมาอยู่เมืองไทยและไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ - ฮ่องกง หลังยุคสฤษดิ์เป็นต้นมาระบิลทำงานเคียงคู่กับชินมาตลอด
จึงทราบดีว่าอาณาจักรธุรกิจของชินในย่านแปซิฟิกริมมีอะไรบ้าง
และเมื่อชินได้จัดแบ่งสรรมรดกแก่ลูกๆ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 70 ระบิลก็ได้รับมรดกดูแลผลประโยชน์ของระบิลและของพ่อในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่มากกว่าน้องคนอื่นๆ
(ดูตารางประกอบ)
วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม 2531 งานสวดพระอภิธรรมศพชิน ระบิลนำบริษัทเครือข่ายของเขาเป็นเจ้าภาพ
ประกอบด้วย THE COMMERCIAL BANK OF HONG KONG, ASIA INSURANCE H.K., ROBINA
CREDIT LTD., H.K., BANGKOK MERCANTILE LTD. H.K., UNION ASIA H.K และ ASIA
INVESTMENT LTD., H.K.
บริษัททั้ง 6 แห่งของระบิลนี้ล้วนแล้วแต่ประกอบธุรกิจด้านการเงินทั้งสิ้น!
ซึ่งประจักษ์เด่นชัดว่าระบิลใช้ฐานธุรกิจการเงินเหล่านี้เป็นกลไกสำคัญในการสร้างอาณาจักรธุรกิจส่วนตัวของเขา
มิผิดเพี้ยนกับชินที่ตลอดชีวิตของเขาจมปลักกับธุรกิจประเภทนี้ทั้งสิ้น
"โรบินเหมาะแล้ว ที่เป็นผู้ได้รับมรดกและดูแลผลประโยชน์ของตระกูลที่ชินสร้างไว้ในต่างประเทศ
เพราะเขาคุ้นเคยวัฒนธรรมในการทำธุรกิจในเมืองไทยน้อยมาก" แหล่งข่าวให้ความเห็น
ว่ากันว่าระบิลก็เหมือนชินที่ใช้ฐานธุรกิจประเภทการเงินเป็นหัวหอกในการสร้างอาณาจักรส่วนตัว
ด้วยมันเป็นธุรกิจที่นำมาซึ่งอำนาจ บารมีและผลตอบแทนแบบที่ไม่ต้องเสี่ยงภัยมากนัก
เพียงแต่รู้จักฉวยโอกาสและการสร้างขุมข่ายติดต่อเท่านั้น
ชาตรีน้องชายระบิลก็เช่นกัน ความที่เขาอยู่เมืองไทยนานหลังสำเร็จการศึกษาและฝึกอบรมด้านการธนาคารจากอังกฤษ
ชินต้องการให้ชาตรีอยู่แบงก์กรุงเทพซึ่งขณะนั้นชินเริ่มทอแสงความสามารถในการนำแบงก์ฟันฝ่าวิกฤติการณ์มาได้ตลอดรอดฝั่ง
ชินนำชาตรีมาให้บุญชูช่วยดูแลฝึกปรือด้าน BANKING และการตรวจสอบภายใจระยะเริ่มแรกที่ชาตรีเริ่มเข้ามาทำงานกับพ่อของเขาในแบงก์
บุญชูส่งชาตรีต่อมาให้คุณสหัส มิลินทสูต สมุห์บัญชีช่วยฝึกปรือด้านบัญชีและการตรวจสอบภายใน
วิทยายุทธ์ด้านบัญชีและการตรวจสอบที่สหัสถ่ายทอดให้ชาตรีนั้นมีคุณค่าอย่างมากต่อชาตรีจนชาตรีเรียกคุณสหัสว่า
"อาจารย์" ทุกคำ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงปัจจุบันนี้
แต่ชาตรีก็ไม่ค่อยได้ใช้วิทยายุทธ์ที่รับจากสหัสมาทำ BANK เท่าใดนัก ใช่…เขาใหญ่เกินไปแล้ว
และภูมิหลังของเขาก็ไม่ใช่คนที่พึงพอใจกับวิถีการทำงานแบบนักบัญชีด้วย
เขาเป็น "พ่อค้า" ดุจเดียวกับพ่อและพี่ชายที่ใช้ CONNECTION
มาเป็นประโยชน์ในการ "ฟัน" กำไรให้กับตนเอง (เหตุผลง่ายมาก เพราะวิธีนี้สะสมทุนได้เร็วมากนั่นเอง
แต่ไม่แปลกเพราะลักษณะเช่นนี้มันเกมธุรกิจที่ปฏิบัติกันทั่วโลก)
ชาตรีเป็นพี่ใหญ่ของน้องๆ ในเมืองไทย เขาเป็นผู้ถือหุ้นรายบุคคลที่มากที่สุดในแบงก์กรุงเทพถึง
10% มีความเชื่อกันอย่างมากว่าชาตรีกับแบงก์กรุงเทพต้องไม่แยกจากกันอย่างเด็ดขาด
เหตุผลคือหนึ่ง-แบงก์กรุงเทพใหญ่คับฟ้าสำหรับสมรภูมิย่านเอเชียแปซิฟิก สอง-การเป็นใหญ่ในแบงก์กรุงเทพเป็นบารมีที่เหล่าเซียนในธุรกิจไทยต้องสยบหัวให้
และสาม-การอยู่ในแบงก์กรุงเทพมันง่ายต่อการใช้มันเป็นฐานในการสร้างประโยชน์ทางธุรกิจที่แยบยล
ชาตรีกับระบิลนั้นต่างกันตรงจุดที่ว่าความนึกคิดในการแสวงหาดินแดนทำธุรกิจเพื่อสร้างอาณาจักรสำหรับตนเอง
กล่าวคือชาตรีใช้ CONNECTION ทุกส่วนที่พ่อและตัวเขาสร้างไว้ในนาม "โสภณพนิช"
ไปยังดินแดนทุกแห่งในประเทศไทยที่สามารถเอื้ออำนวยผลประโยชน์ทางธุรกิจแก่อาณาจักรส่วนตัวเขาได้
โดยอาศัยยี่ห้อแบงก์กรุงเทพเป็นตัว BACK-UP ขณะที่ระบิลจำกัดตัวเองอยู่เฉพาะดินแดนในเอเชียแปซิฟิกเท่านั้นด้วยเขาไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมพ่อค้าไทยนั่นเอง
แต่ชาตรีกับระบิลก็มีความเหมือนกัน ในเส้นทางสร้างอาณาจักรธุรกิจส่วนตัว
นั่นคือใช้ฐานธุรกิจการเงินเป็นหัวจักรในการปฏิบัติการ…
ชาตรีมีอาณาจักรส่วนตัวในธุรกิจการเงินหลายแห่งในเมืองไทย เช่น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ
สินเอเชีย บริษัทหลักทรัพย์เอเชียและกรุงเทพ-มิตซุย ลิสซิ่ง เป็นแขนขาที่เขาสามารถควบคู่ได้อย่างแน่นหนา
ขณะที่ระบิลเป็นคนฉลาดหลักแหลม ชาตรีกลับเป็นคนที่สันทัดในการสร้างบารมีและฉกฉวยโอกาส
ทุกวันนี้บนชั้น 25 ตึกธนาคารกรุงเทพคือที่ทำงานของเขาที่เปรียบเสมือนกองบัญชาการใหญ่
มีสต๊าฟระดับ ดร.หลายคนแวดล้อม ซึ่งพร้อมที่จะรับคำสั่งและให้คำปรึกษาแก่เขาอย่างใกล้ชิดทั้งในกิจกรรมของแบงก์และอาณาจักรส่วนตัวของชาตรี
ชาตรีไปไกลกว่าพ่อของเขาแล้ว ด้วยทรัพยากร "หลายสมอง หลายมือ"…!!
ส่วนระบิล เขาคือพี่ใหญ่ของตระกูลที่กำลังเดินตามรอยเท้าพ่ออย่างไม่ผิดเพี้ยน