CPRรับวิกฤตศก.ฉุดยอดขายวูบ35%อ่อยQ1ปีนี้ขาดทุนเหตุค่าใช้จ่ายสูง


ผู้จัดการรายวัน(26 มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ซีพีอาร์ โกมุ รับวิกฤตเศรษฐกิจกระทบธุรกิจยานยนต์ ส่งผลต่อยอดสั่งซื้อชิ้นส่วนประกอบรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทรุด คาดยอดขายปีนี้หดถึง 35% จากปีก่อนที่ทำไว้ 2.7 พันล้านบาท เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตคุณภาพสูงเพื่อให้ต้นทุนต่ำ หวังอัตรากำไรสุทธิขยับเพิ่มอีก 2% อ่อยไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุนเหตุค่าใช้จ่ายสูงจากการจ่ายชดเชยพนักงานที่ปลดออก

นายโทโมฮิสะ โอโนะ ประธาน บริษัท ซีพีอาร์ โกมุ อินดัสเตรียล จำกัด (มหาชน) หรือ CPR เปิดเผยว่า บริษัทคาดยอดขายปีนี้ลดลง 35% จากปีก่อนที่มียอดขาย 2.7 พันล้านบาท จากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อธุรกิจกลุ่มยานยนต์ให้มียอดการสั่งซื้อที่ลดลง ซึ่งบริษัทยังคงเน้นการเพิ่มอัตรากำไรสุทธิ ( Net Profit Margin) ขึ้นอีก 1-2% จากปีก่อนที่มีอัตรากำไรสุทธิที่ 8% โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ต้นทุนลด

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานช่วงไตรมาสแรกปีนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 51 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทยอมรับว่าจะมีผลขาดทุนแน่นอน เนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายสูงมาก จากการจ่ายเงินชดเชยให้พนักงานที่ปลดออกไป ทั้งในส่วนของพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราว ซึ่งปรับลดพนักงานของบริษัทนั้นได้ดำเนินการไปตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ โดยได้ปลดพนักงานในส่วนของพนักงานประจำไป 25 คน และพนักงานชั่วคราว 40 คน ซึ่งการปรับลดพนักงานครั้งนี้บริษัททำตามแรงบีบคั้นของวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ยอดการสั่งซื้อลดลง คาดว่าแนวโน้มต่อจากนี้บริษัทจะมียอดการผลิตและยอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นและไม่แย่เหมือนที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าบริษัทจะลดจำนวนพนักงานลงแต่กำลังการผลิตไม่ได้ลดลงตาม ขณะที่ต้นทุนลดลง

โดยประเมินว่ายอดขายไตรมาสแรกปีนี้จะตกลง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และในฐานะที่บริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยางล้วนและยางติดเหล็กที่เป็นส่วนประกอบของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทั้งภายในและต่างประเทศ โดยจำหน่ายให้แก่บริษัทผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์นิสสันเป็นหลัก รวมถึง ยามาฮา ซูซูกิ ฟอร์ด มาสด้า มิตซูบิชิ และตรีเพชรอีซูซู

" เราคาดว่าสถานการณ์ตอนนี้มาถึงจุดต่ำสุดแล้ว สำหรับธุรกิจของวงการยานยนต์ เราจึงมองว่ากำลังจะมีการปรับตัวดีขึ้น แต่ก็คงไม่ได้ฟื้นตัวเร็วนัก หรือถ้าฟื้นก็คงยังฟื้นตัวได้ไม่ดีเท่าปีที่แล้ว และเรามองว่าธุรกิจของบริษัทจะยังไม่สามารถทำยอดขายได้ดีเท่าปีที่แล้วแต่ก็ไม่แย่ไปกว่าที่จุดต่ำสุดที่เคยผ่านมาเมื่อปีที่แล้ว" นายโทโมฮิสะ กล่าว

อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นบริษัทได้รับผลกระทบในส่วนของออร์เดอร์ที่ลดลง ตามผู้ผลิตรถยนต์ที่ลดกำลังการผลิต ซึ่งบริษัทได้ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการเพื่อรับมือกับสถานการ์ที่เกิดขึ้น โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงกว่าเดิมที่เป็นอยู่ ถึงแม้จะมีจำนวนออร์เดอร์ที่ลดลง ก็ยังส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่ลดลงได้เช่นกัน และการเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้น โดยการลดต้นทุนให้ต่ำและเพิ่มคุณภาพให้สูงขึ้น เพื่อเป็นกลยุทธ์ในการแข่งขันกับคู่แข่งและเพิ่มยอดขายให้กับบริษัทอีกด้วย

ทั้งนี้ แผนการลดต้นทุนให้ต่ำของบริษัทที่จะมีการดำเนินการนั้นทำโดย การย้ายฐานการผลิตจากเดิมที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ก็มีการปรับเปลี่ยนย้ายฐานการผลิตมาในประเทศไทยแทน เพื่อลดต้นทุนเพราะการผลิตในไทยมีต้นทุนต่ำ สำหรับแผนงานนี้ในส่วนของการนำชิ้นส่วนเข้ามาที่ถือเป็นขั้นตอนแรก บริษัทได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ซึ่งยังคงเหลือในส่วนของการเริ่มผลิต(Mass Production) ที่รอการดำเนินการอยู่ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มได้ช่วงเดือนสิงหาคม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.