สว่าง ทั่งวัฒโนทัย "คนดูแลซิตี้โน้ต (CITI NOTE) ของซิตี้แบงก์


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

คนที่สนใจแวดวงในธุรกิจการเงินการธนาคาร หลายคนคงรู้จักผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งของซิตี้แบงก์ ที่เรียกว่า ซิตี้ โน้ต (CITI NOTE) ว่าคืออะไร? แต่อีกจำนวนไม่น้อย "ผู้จัดการ" เชื่อว่า คงไม่มีใครรู้ว่า บุคคลที่อยู่เบื้องหลังการออกซิตี้โน้ตและบริหารซิตี้โน้ตเป็นใคร?…และเขาผู้นั้นใช้ "เทคนิค" การบริหารซิตี้โน้ตอย่างไร?

สว่าง ทั่งวัฒโนทัย คือ "เขา" คนนั้น จบ MBA จากโอคลาโฮมา สเตทยูฯ ผู้ใช้เวลา 5 ปี ในเครือข่ายซิตี้คอร์ป กว่าจะได้โปรโมทเป็นเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารยศชั้น A.V.P. คุมสายงานด้านตลาดเงิน ซึ่งเป็นสายงานหนึ่งใน 4 สายงานของฝ่ายวาณิชธนกิจ (INVESTMENT BANK DEPT.) ของซิตี้แบงก์

สว่างเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ไอเดียการออกซิตี้โน้ตนี้ซิตี้แบงก์เมืองไทยเอามาจากสาขาในออสเตรเลีย "มันมีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือการระดมเงินบาทระยะสั้น (3 เดือน) อัตราดอกเบี้ยตายตัว เพื่อนำไปปล่อยต่อให้แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ HEDGING PRODUCTS ของแบงก์หรืออาจเอาไปปล่อยกู้ระยะสั้น โดยแบงก์จะสามารถทำกำไรได้จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินบาทกับดอลลาร์ที่เรียกว่า "GAPPING"

วิธีการหากำไรจาก GAPPING ทำอย่างไร? ก็เห็นจะต้องบอกว่าอย่างนี้…

สมมติวันนี้ซิตี้แบงก์ประมูลขาย CITI NOTE 3 เดือนได้ในอัตราดอกเบี้ย 6.9% วันรุ่งขึ้นมีลูกค้ามาขอซื้อดอลลาร์ล่วงหน้า 3 เดือน ซิตี้แบงก์ก็จะเอาเงินบาทที่ระดมได้จากการประมูลขาย CITI NOTE นี้มา CONVERSE กลับเป็นดอลลาร์ขายให้ลูกค้า ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินบาท (3 เดือน) กับดอกเบี้ยดอลลาร์ (3 เดือน) ที่เรียกว่า GAPPING นี้ก็คือ RATE การขายดอลลาร์ล่วงหน้านั่นเอง ซึ่งคิดจากหนึ่ง - ค่าเงินบาทระดับ SPOT RATE สมมติให้เท่ากับ 25.36 บาท สองอัตราดอกเบี้ย 3 เดือนของดอลลาร์ 7.30% และสาม - อัตราดอกเบี้ย CITI NOTE = 6.9% ดังนั้น กำไรจาก GAPPINT ก็คือ 7.30-6.90% = 0.40% หรือค่าดอลลาร์ล่วงหน้า 3 เดือน เมื่อเทียบกับบาทคือ 25.40% บาท/ดอลลาร์

กำไรจากการเอา CITI NOTE มาปล่อยต่อในรูปบริการด้าน HEDGING PRODUCTS แก่ลูกค้านี้ สว่างกระซิบให้ฟังว่า เป็นดอกผลที่สำคัญมากของ INVESTMENT BANK ของซิตี้แบงก์!

ดอกผลที่ว่านี้จะถึง 1 ล้านเหรียญ หรือไม่นั้น สว่างไม่ได้บอก แต่ที่รู้มา ซิตี้แบงก์ค่อนข้างจะพออกพอใจกับผลงาน CITI NOTE ที่สว่างดูแลอยู่นี้เอามากๆ…

เส้นทางอนาคตของสว่างทั่งวัฒโนทัย ในซิตี้แบงก์จะขึ้นเป็น V.P. อย่างที่นพพร พงษ์เวช เคยเป็นมาก่อนหน้านี้หรือไม่ "ผู้จัดการ" ไม่ทราบ แต่อยากจะให้ผู้ใฝ่รู้และสนใจในธุรกิจการธนาคารระดับมือเซียนๆ ได้จับตาดูบทบาทของเขาต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.