นารายณ์ภัณฑ์ - เดอะมอลล์ The Rise AndThe Fall ผนึกกำลัง


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

เรื่องของนารายณ์ภัณฑ์และเดอะมอลล์ที่จับมือกันเปิดโครงการศูนย์หัตถกรรมสินค้าไทย ดูจะเป็นตัวอย่างของการปรับตัวของธุรกิจที่มีจุดเริ่มต้นต่างกันเป็นคนละเรื่อง

นารายณ์ภัณฑ์จนถึงปีนี้เป็นปีที่ 51 นับจากปี 2480 ที่เริ่มก่อตั้งในชื่อร้านไทยอุตสาหกรรม ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของกองอุตสาหกรรม กระทรวงเศรษฐการ การเจริญเติบโตเป็นฉันใดคงไม่ต้องเอ่ยอ้างอีก

แม้ในปี 2505 จะย้ายมาขึ้นกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม ก็หาได้ทำให้ผลประกอบการของนารายณ์ภัณฑ์ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นก็หาไม่

จนขวบปีที่ 47 ของนารายณ์ภัณฑ์จึงได้เกิดปรากฎการณ์ประหลาดที่ไม่เกิดบ่อยนัก กระทรวงอุตสาหกรรมก็หาได้ทำให้ผลประกอบการของนารายณ์ภัณฑ์ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นก็หาไม่

จนขวบปีที่ 47 ของนารายณ์ภัณฑ์จึงได้เกิดปรากฎการณ์ประหลาดที่ไม่เกิดบ่อยนัก กระทรวงอุตสาหกรรม สมัย อบ วสุรัตน์ เป็นรัฐมนตรี ประกาศ "ปรับปรุงการดำเนินงานของนารายณ์ภัณฑ์ ให้มีลักษณะเป็นธุรกิจเพื่อให้สามารถสนองนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในครอบครัว"

นารายณ์ภัณฑ์ถูก อบ วสุรัตน์ PRIVATIZATION เข้าสู่อ้อมอกเอกชนไปในที่สุด

ปี 2528 เป็นปีแรกที่เอกชนแสดงศักยภาพให้เห็นตามทฤษฎีที่ว่า "ไม่มีกิจการแสวงหากำไรสูงสุดใดที่ราชการทำได้ดีเท่าเอกชน"

สุภีร์ สนิทวงศ์ เป็นกรรมการผู้จัดการคนแรกหลังการเปลี่ยนโฉม โดยเอกชนถือหุ้น 70% ในขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมถือเพียง 30% ที่เหลือ

ปี 2529 อภิชัย จันทรเสน ก็ก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการคนที่สอง

ผลจากการที่เอกชนเข้าบริหาร ได้มีการขยายสาขาออกไปมากมายจากที่หลานหลวงเพียงแห่งเดียว ก็ขยายไปที่โซโก้ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ เพนนินซูลาพลาซ่า ร้านค้าปลอดภาษีของการบินไทยที่สีลม และที่พาต้าอินทรา

นอกจากนี้ยังขยายไปต่างจังหวัด ที่เชียงใหม่ ร้านค้าปลอดภาษีที่ภูเก็ต ในโรงแรมเมอริเดียนและที่พัทยาในโรงแรมรอยัลคลิฟ

ปีนี้เป็นปีเติบโตแบบก้าวกระโดดของนารายณ์ภัณฑ์อย่างเห็นได้ชัด "เราจะร่วมกับทางเดอะมอลล์เปิดศูนย์หัตถกรรมสินค้าไทยที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ เป็นนารายณ์ภัณฑ์พาวิลเลี่ยน" กรรมการผู้จัดการนารายณ์ภัณฑ์บอกถึงจังหวะก้าวล่าสุด

นารายณ์ภัณฑ์เริ่มต้นจากระบบราชการแล้วไม่ประสบความสำเร็จ แต่กลับมีชีวิตชีวาเอามากๆ เมื่อเอกชนเข้ามาเทคโอเวอร์

ช่างแตกต่างเป็นตรงข้ามกับเดอะมอลล์ 1 ที่ราชดำริเสียเหลือเกิน

เดอะมอลล์เป็นห้างสรรพสินค้าที่เกิดจากการจับมือของภัทรประสิทธิ์และอัมพุชที่ดองกันโดยเกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว

สมัยนั้นแถวราชดำริยังเป็นทำเลทอง จะมีก็แต่เพียงไทยไดมารู ซึ่งนับวันมีแต่จะโรยรา และเซ็นทรัล ชิดลม ที่ไม่รุ่งเรืองมากๆ อย่างที่จิราธิวัฒน์คิด เดอะมอลล์ในช่วงนั้นก็เลยตักตวงกำไรอย่างสนุกสนาน "ตอนนั้นว่ากันว่าเขาขายพื้นที่ 100 ยูนิต ได้ภายใน 3 วัน หลังเปิดจอง ขึ้นหรือไม่ขึ้นผมต้องบอกไหม" คนวงการห้างสรรพสินค้าทวนอดีตให้ฟัง

อัมพุชเองก็หวังว่าราชดำริคงจะเป็นทำเลทองให้ตนเก็บเกี่ยวตลอดไป แต่เป็นธรรมดาของเมืองไทยอยู่เอง ธุรกิจใดที่ทำกำไรดีมักจะมี NEW COMER เข้ามาอยู่เรื่อยๆ ช่วงปี 2527 ห้างสรรพสินค้าในย่านใกล้เคียงผุดขึ้นมามากมาย มากเสียจนอัมพุชต้องหาทำเลทองใหม่ให้เดอะมอลล์

อัมพุชไปเบิกเดอะมอลล์ที่รามคำแหง ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยเดอะมอลล์ที่ราชดำริ

เดอะมอลล์ที่ราชดำริได้รับการปรับโฉมเป็น "โมเดอร์นคอมเพล็กซ์" เน้นบูติก แต่ช่างเป็นโชคร้ายเสียนี่กระไร บูติกตลาดล่างก็บูมตามและฟาดฟันโมเดอร์นคอมเพล็กซ์เสียอยู่หมัด

มาถึงวันนี้ เดอะมอลล์ต้องมาคิดถึงอนาคตของตัวเองแล้วเพราะ "ก็อยู่ในสภาพที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมาก ห้างเก่าที่มีอยู่ก็มากมาย แถมยังจะมีเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่กำลังจะเปิดที่จอดรถเราก็ไม่มี พื้นที่ก็ขยายไม่ออก" ศุภลักษณ์ อัมพุช ลูกสาวคนเก่งของศุภชัย อัมพุช เจ้าของห้างเดอะมอลล์ระบายให้ฟัง

เดอะมอลล์จึงต้องวางตำแหน่งตัวเองใหม่ "เราตกลงใจที่จะร่วมกับทางนารายณ์ภัณฑ์เปิดเป็นนารายณ์ภัณฑ์พาวิลเลี่ยน" ศุภลักษณ์ บอก

ว่าไปแล้วก็เป็นทางออกของทั้ง 2 ฝ่าย ในขณะที่เดอะมอลล์ต้องการปรับโฉม ส่วนนารายณ์ภัณฑ์ต้องการขยายอาณาจักร

และงานนี้ทางนารายณ์ภัณฑ์ได้มานิ รัตนสุวรรณ นักการตลาดระดับ GURU อดีตกรรมการผู้จัดการพรีเมียร์มาเก็ตติ้ง และยังเป็นนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยมาร่วมวงไพบูลย์ด้วยคนหนึ่ง

มานิตเข้ามาเป็นเพียงที่ปรึกษาทางด้านการตลาดของนารายณ์ภัณฑ์ แต่บทบาทของเขาคงจะไม่เป็นเพียงแค่ที่ปรึกษาเท่านั้น "เขาคงจะเข้ามาวางแนวคิดทางการตลาด เขานี่แหละที่จะเป็นตัวที่จะบอกทิศทางตลาดในอนาคตของนารายณ์ภัณฑ์พาวิลเลี่ยน" คนในวงการทำนายเหมือนอย่างที่หลายๆ คนคิด

มานิตเข้ามาร่วมในโครงการนารายณ์ภัณฑ์พาวิลเลี่ยนเพราะการชักชวนของอาจารย์เก่า คือ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ซึ่งเป็นประธานที่ปรึกษานารายณ์ภัณฑ์ และตัวมานิตเองก็ชอบ เพราะอยากทำมาร์เก็ตติ้งศิลปวัฒนธรรมไทยอยู่แล้วด้วย

"ผมจะเอาหลักมาร์เก็ตติ้งเข้ามาใช้ในการจัดการนารายณ์ภัณฑ์พาวิลเลี่ยน ในอนาคตจะมีการตั้งโรงละครที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ทุกรูปแบบ" มานิต กล่าวถึงโครงการในอนาคตอันใกล้

แผนการจอยน์เวเจอร์ของเดอะมอลล์และนารายณ์ภัณฑ์ในวันนี้ยังไม่ลงตัวนัก เพราะ "เรายังไม่ได้เตรียมแผนการอะไรสมบูรณ์ดีเลย เพราะหนังสือพิมพ์ผู้จัดการของคุณไปลงข่าวก่อนเราเลยต้องแถลงข่าวอย่างกะทันหัน มานิต รัตนสุวรรณ ยอมรับ

เดอะมอลล์จึงเพียงแค่มอบพื้นที่ 15,000 ตารางเมตรให้นารายณ์ภัณฑ์จัดการปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์สินค้าหัตถกรรมที่สมบูรณ์แบบที่สุด

ปัญหาที่จะตามมาก็คือ "เรื่องเกี่ยวกับร้านค้า คุณดูต่อไปเถอะเดี๋ยวต้องมีการโวยวายแน่ๆ พวกบูติคเขาจะปรับตัวกันอย่างไร เมื่อพบกับสภาพการเปลี่ยนโฉมชนิดหน้ามือเป็นหลังมือแบบนี้" คนที่เฝ้ามองตั้งข้อสังเกต

มองนารายณ์ภัณฑ์และเดอะมอลล์จับมือกันในครั้งนี้คงจะเห็นสัจธรรมทางธุรกิจได้ดี นารายณ์ภัณฑ์เริ่มต้นด้วยการบริหารแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ แบบราชการแล้วก็หันมาบุกแหลกนั่นเป็นเพราะเอกชนเข้ามาบริหารแทนรัฐส่วนเดอะมอลล์สตาร์ทด้วยความรุ่งโรจน์ แต่จบลงด้วยลักษณะไม่น่าประทับใจในสายตาผู้เฝ้ามอง

นารายณ์ภัณฑ์พาวิลเลี่ยนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเดือนเมษายนนี้ จนถึงวันนี้การตกลงอย่างเป็นทางการยังไม่ลงตัว แต่สำหรับอนาคตแล้ว "น่าจะโชติช่วงชัชวาลอย่างไม่ต้องสงสัย" แหล่งข่าวทำนายผลของการผนึกกำลังครั้งนี้กับ "ผู้จัดการ"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.