เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ถ้าใครข้ามสะพานกรุงธนจากฝั่งกรุงเทพฯ ไปฝั่งธนฯ
เหลียวมองทางด้านขวามือก็จะเห็นโครงสร้างอาคารสูงตระหง่านตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาฟากฝั่งธนฯ
และมักจะต้องตั้งคำถามอยู่เสมอๆ ว่าอาคารแห่งนี้จะสร้างให้เป็นอะไรกันแน่?
หลายปีผ่านไปพร้อมๆ กับโครงสร้างอาคารที่อยู่แค่ไหนก็ยังคงแค่นั้น โดยไม่มีอะไรคืบหน้าทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่าในที่สุดก็คงจะต้องทุบทิ้งหรือทรุดโทรมไปเอง
ว่าไปแล้วก็น่าเสียดายไม่น้อยเหมือนกัน
แต่นั่นก็คงจะเป็นสิ่งที่ลืมไปได้แล้ว!!
อาคาริมน้ำที่สร้างคาราคาซังหลายปีถึงวันนี้กลับโดดเด่นเป็นสง่าโดยเฉพาะในยามค่ำคืน
เมื่อประดับไฟระยิบระยับสะท้อนกับพริ้วคลื่นของสายน้ำและใครต่อใครต่างรู้จักในชื่อ
"รอยัลริเวอร์ โฮเต็ล" โรงแรมหรูแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ฝั่งธนฯ โดยที่ผู้ลงทุนก็ถือว่าจุดนี้เป็นจุดขายจุดหนึ่งสวนทางกับความเชื่อที่ว่า
ฝั่งธนฯ เป็นย่านที่ทำอะไรไม่ค่อยจะขึ้นโดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆ ระดับนี้
"เราวิเคราะห์ตลาดผิดไปในช่วงนั้น คือเรามีที่ดินแปลงนี้อยู่ก็คิดจะทำเป็นตลาดสี่มุมเมืองรองรับการย้ายตลาดปากคลองตลาดที่เป็นนโยบายรัฐบาลยุคนั้น"
วินัย สกุลชัยวาณิชย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เจ้าพระยาสยาม (1975) เจ้าของอาคารโรงแรมรอยัลริเวอร์
เล่าถึงปมเงื่อนที่ทำให้อาคารแห่งนี้ปล่อยร้างอยู่หลายปีก่อนจะลงตัวกลายเป็นโรงแรมหรูในทุกวันนี้ได้สำเร็จ
บริษัทเจ้าพระยาสยาม (1975) นั้นตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2518 มีตระกูลสกุลชัยวาณิชย์ถือหุ้นอยู่ครึ่งหนึ่งส่วนอีกครึ่งถือโดยตระกูลธรรมวโรกับตระกูลวงศ์ชัยบูรณ์
เจ้าพระยาสยามวางเป้าหมายทำธุรกิจซื้อขายที่ดินและรับเหมาก่อสร้าง โดยที่โครงการใหญ่ในช่วงนั้นก็คือการสร้างตลาดและอาคารพาณิชย์บนที่ดินย่านฝั่งธนใกล้ๆ
กับสะพานกรุงธนดังกล่าว
"เราสร้างอาคารพาณิชย์จำนวน 300 คูหา สร้างโรงภาพยนตร์ลาสเวกัสแล้วก็ตั้งใจว่าจะสร้างตลาด
ที่เห็นเป็นอาคารสูงนั่นแหละชั้นล่างจะเป็นตลาดเหมือนๆ กับปากคลองตลาด ส่วนชั้นบนก็จะใช้เป็นที่พักของพ่อค้า
แม่ค้า มีท่าเรือขนส่งสินค้าทีท่ารถเราเตรียมการใหญ่มาก เพื่อจะรองรับการย้ายปากคลองตลาด…"
วินัย สกุลชัยวาณิชย์ บอกกับ "ผู้จัดการ"
และก็คงเป็นจริงตามความตั้งใจของเจ้าพระยาสยามในฐานะผู้ลงทุนไปแล้ว ถ้าเผอิญ
ไม่มีปัญหาว่า ปากคลองตลาดยังไม่ย้ายและตลาดที่เจ้าพระยาสยามลงทุนสร้างไปแล้วนั้น
เอาเข้าจริงก็ต้องถือว่าเล็กเกินกว่าที่จะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ถึงขั้นสามารถดึงดูดให้คนหันมาจับจ่ายสินค้าแทนปากคลองตลาดที่อยู่มาเก่าแก่
อาคารพาณิชย์ 300 คูหารวมทั้งโรงหนังยังพอเอาตัวรอดไปได้ แต่อาคารริมน้ำที่ตั้งใจจะสร้างเป็นตลาดสดในที่สุดก็ต้องปล่อยทิ้งไว้เช่นนั้นโดยที่เจ้าพระยาสยามเองก็ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ
ไม่ทราบว่าจะหันเหไปทำอะไร
"ก็ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสูงด้วย เขาก็เลยไม่กล้าตัดสินใจผลีผลาม…"
แหล่งข่าวที่ทราบเรื่องเล่าให้ฟัง
ในช่วงปี 2525 เป็นช่วงที่ตลาดคอนโดมีเนียมกำลังบูมเจ้าพระยาสยามก็ร่ำๆ
ว่าจะใช้อาคารที่สร้างคาราคาซังนี้ทำเป็นคอนโดมีเนียม
ว่ากันว่าทุกอย่างลงตัวถึงขึ้นจัดทำแผนการตลาดแผนประชาสัมพันธ์กันไว้แล้วเสร็จสรรพ
แต่เผอิญติดขัดเรื่องข้อกฎหมายและคอนโดมีเนียมแห่งหนึ่งเพิ่งจะโดนเล่นงานสดๆ
ร้อนๆ (โดยที่มีการดัดแปลงอาคารเหมือนๆ กับที่เจ้าพระยาสยามกำลังคิดจะดัดแปลง)
เจ้าพระยาสยามก็เลยต้องถอยอีกครั้ง
อดีตตลาดสดที่เกือบจะกลายเป็นคอนโดมีเนียมริมน้ำอยู่รอมร่อถูกปล่อยให้รกร้างไร้การเหลียวแลอีกครั้ง
และก็คงไม่มีใครกล้าคิดว่าที่นี่จะสามารถพลิกฟื้นได้สำเร็จ
"ซึ่งก็ไม่เชิงหรอกครับ เขาคิดตลอดเวลาว่าจะต้องพลิกฟื้นให้ได้ แต่บังเอิญกำลังมีเรื่องวุ่นๆ
ก็เลยไม่มีเวลาลงมือจริงจัง" แหล่งข่าวคนเดิมเล่าเพิ่มเติม
สมบูรณ์ สกุลชัยวาณิชย์พ่อของวินัย เสียชีวิตในช่วงนั้นและหุ้นส่วนฝ่ายธรรมวโรซึ่งมีกำธรเป็นหัวเรือใหญ่เกิดเบื่อหน่ายความล่าช้าก็ประกาศขายโครงการที่ค้างอยู่
โดยตั้งราคาไว้สูงถึง 100 ล้านบาท ในขณะที่บรรยากาศทั่งๆ ไปก็ยังเป็นช่วงเงินฝืด
ดอกเบี้ยสูงอีกทั้งยังมีมาตรการจำกัดสินเชื่อแบงก์ไม่ให้ขยายตัวเกิน 18 เปอร์เซ็นต์ผสมโรงเข้าไปอีก
สรุปแล้วทุกอย่างสำหรับเจ้าพระยาสยามแล้วก็มีแต่ความยุ่งเหยิงไปหมด
มาเริ่มคลี่คลายก็ราวๆ ต้นๆ ปี 2529 แล้วนั่นแหละ
วินัยที่เข้าดูแลกิจการแทนสมบูรณ์ผู้พ่อที่ถูกยิงเสียชีวิตรับซื้อหุ้นในส่วนของฝ่ายธรรมวโรทั้งหมด
เขาเตรียมการเงียบๆ ด้วยการเข้าเจรจากับแบงก์ไทยพาณิชย์ขอการสนับสนุนทางด้านการเงินและในช่วงเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้น
เจ้าพระยาสยามโดยวินัย สกุลชัยวาณิชย์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการก็ประกาศใช้อาคารที่ปล่อยว่างดังกล่าวก่อสร้างเป็นโรงแรมระดับ
4 ดาวมีจำนวนห้องพัก 404 ห้อง
และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นโครงการ รอยัลริเวอร์โฮเต็ล ที่เพิ่งจะเปิดให้บริการไปเมื่อเร็วๆ
นี้ และทุกอย่างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้แล้ว
"โรงแรมของเราจัดเป็นซุพีเรีย เฟิร์สท์ คลาส เราอิงคอนเซ็ปท์โรงแรมแบบรีสอร์ทโฮเต็ลเน้นบรรยากาศริมน้ำ
จุดขายของเราอยู่ที่เทอเรสริมน้ำซึ่งกว้างขวางมาก เราสามารถโปรโมท เอฟแอนด์บี
ของเราได้เต็มที่ นอกจากนี้เรายังเป็นโรงแรมที่อยู่ฝั่งธนฯ ที่มองแสงสียามค่ำคืนของฝั่งกรุงเทพฯ
ได้เต็มตา ในขณะที่อื่นๆ อยู่ทางฝั่งกรุงเทพฯ มองฝั่งธนฯ ก็มีแต่เงาตะคุ่มของต้นไม้"
เฉลิมพล มหุตติการ ผู้จัดการทั่วไปของรอยัลริเวอร์โฮเต็ลพูดถึงโรงแรมที่เขาถูกทาบทามให้เข้ามาบริหาร
เฉลิมพล เป็นหนึ่งในจำนวนหลายๆ คนที่ถูกดึงตัวเข้ามารับผิดชอบงานใหญ่ย่านฝั่งธนฯ
ที่กลุ่มเจ้าพระยาสยามเป็นผู้ลงทุนเขามีอดีตเป็นศิษย์เก่าวิศวะจุฬาฯ ที่ออกมาเมื่อยังเรียนเพียงปี
3 เคยทำงานอยู่โรงแรมปรินซ์ของชนัตย์ ปิยะอุยช่วงหนึ่งก่อนเดินทางไปศึกษาต่อทางด้านการโรงแรมที่สหรัฐฯ
เฉลิมพลร่วมงานอยู่กับโรงแรมมโนราห์ก่อนหน้าจะมาอยู่ที่นี่ และเขาเข้ามาพร้อมกับดึงมนูญ
อินทรโยธา ผู้อำนวยการฝ่ายขายของรอยัลออร์คิดเชอราตันมาเป็นรองผู้จัดการทั่วไป
สมนึก สุสาริกานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเอฟแอนด์บีจากเซนจูรี่พลาซ่าโรงแรมในสหรัฐฯ
ถูกดึงเข้ามารับผิดชอบงานด้านที่เขาถนัดและไชยวรรณ วจีทัศนีย์ อดีตผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโส
เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย
ซึ่งก็ต้องนับว่าล้วนแต่เป็นมือเก่าผู้คร่ำหวอดด้วยกันทุกคน
รอยัลริเวอร์ โฮเต็ล ผงาดขึ้นเหนือลำน้ำเจ้าพระยาแล้วในวันนี้
กว่าจะเป็นรอยัลริเวอร์โฮเต็ล ได้ในวันนี้ผู้ลงทุนเหน็ดเหนื่อยมากๆ กับระยะเวลาที่ยืดเยื้อและพลิกผันของโครงการ
ส่วนเส้นทางข้างหน้าจะเป็นฉันใดนั้น ก็คงจะต้องลุ้นกันต่อไป