พื้นที่ค้าปลีกสยาม-ราชประสงค์คึกคัก 2 ยักษ์ใหญ่สยามพารากอน-เซ็นทรัล เดินหน้าก่อสร้างเต็มสูบ
"เซ็นทรัล" ชี้หลัง 2 ศูนย์ยักษ์เปิดตัวด้วยแม่เหล็กครบมือ ศูนย์เล็กในพื้นที่เดี้ยง
ระบุเซ็นทรัลจับลูกค้าทุกกลุ่มต่างจากพารากอนเน้นคนมีตังค์ ดึงภัตตาคารหรูต่างประเทศเปิดบริการบน
อาคารสำนักงานชั้น 50-51 หวังขายวิวใจกลางเมือง เล็งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่
ส่วน"อัมรินทร์ พลาซ่า" ดิ้นปรับตัวส่ง "เอราวัณ แบงค็อก"ร้านค้า
หรูจับไฮเอนด์
หลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายผลักดันกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์การท่องเที่ยวและชอปปิ้งเอเชีย
หรือชอปปิ้ง สตรีท ทำให้ภาพ การแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกตั้งแต่ย่านสยามสแควร์ถึงสี่แยกราชประสงค์คึกคักอย่างเห็น
ได้ชัด โดยปลายปี 2548 จะมีศูนย์การค้าระดับหรูอย่างสยามพารากอนที่ใช้งบลงทุน 10,000
ล้านบาท ซึ่งเป็นการร่วมทุนของค่าย ผู้นำค้าปลีกในประเทศไทยอย่างสยามเซ็นเตอร์และเดอะมอลล์จะเปิดบริการเพิ่มอีกแห่ง
ส่วนโครงการเซ็นทรัล เวิลด์ พลาซ่า พื้นที่เดิม ของศูนย์การค้าเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์
ที่ได้มืออาชีพอย่างเซ็นทรัลพัฒนาเข้าไปบริหารและเป็นเจ้าของใหม่ ได้เดินหน้าปรับปรุงพื้นที่ในอาคารมาได้ระยะหนึ่งแล้ว
คาดว่าการปรับปรุงทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2548 ด้วยงบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท
เช่นกัน
ความเคลื่อนไหวของยักษ์ใหญ่ในวงการค้าปลีกไทย ทำให้ผู้ประกอบการรายเดิมในพื้นที่ราชประสงค์ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคตเช่นกัน
โดยเฉพาะกลุ่มอัมรินทร์ที่บริหารพื้นที่อัมรินทร์พลาซ่า ได้เตรียมเปิดตัวโครงการศูนย์การ
ค้าไฮเอนด์ในชื่อเอราวัณ แบงค็อก ในปลายปี 2547
เซ็นทรัลชี้ศูนย์ฯเล็กถูกบีบ
นายกอบชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท
เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เข้าไปพัฒนาโครงการเซ็นทรัล เวิลด์
พลาซ่า ในพื้นที่ศูนย์การค้าเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์เดิม ตัวโครงการแบ่งออกเป็น
3 ส่วน คือ ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และโรงแรม โดยมีพื้นที่ในโครงการทั้งหมด
7-8 แสนตารางเมตร ถือว่าใหญ่ที่สุดในย่านใจกลางเมืองขณะนี้
ปัจจุบันเซ็นทรัลพัฒนาได้เข้าไปปรับปรุงพื้นที่แล้วทั้งศูนย์การค้าและอาคารสำนักงาน
ที่มีโครงสร้างอาคารเก่าอยู่แล้ว โดยพื้นที่ศูนย์การค้าหลักๆ ที่จะปรับปรุงคือ
เพิ่มพื้นที่ห้างสรรพสินค้าเซน จาก 18,000 ตารางเมตร เป็น 36,000-40,000 ตารางเมตร
หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยขยายพื้นที่เข้าในส่วนพลาซ่า
ปรับปรุงพื้นที่พลาซ่าบริเวณส่วนกลางอาคาร ด้วยการจัดโซนร้านค้าใหม่ นอกจากนี้ในพื้นที่เอนเตอร์เทนเมนต์
ชั้น 7-8 จะเพิ่มแม่เหล็กประเภทบันเทิงใหม่ๆเข้ามาอีก โดยพื้นที่ศูนย์การค้าส่วนแรก
จะเสร็จปลายปี 2547 และเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการปลายปี 2548
ส่วนอาคารสำนักงานเซ็นทรัล เวิลด์ ทาวเวอร์ สูง 51 ชั้น พื้นที่ขายรวม 1 แสนตารางเมตร
ได้เริ่มเข้าไปก่อสร้างแล้วด้วยงบประมาณ 4,200 ล้านบาท และจะเปิดให้บริการในเดือน
ส.ค.2547
ในปี 2548 ที่ 2 ศูนย์การค้าใหญ่ทั้งสยามพารากอน และเซ็นทรัล เวิลด์ พลาซ่า เปิดดำเนินการอย่างสมบูรณ์แบบ
คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากกับศูนย์การค้าพื้นที่ที่มีขนาดเล็ก มีสินค้าและบริการเฉพาะอย่างเท่านั้น
ซึ่งศูนย์การค้าเหล่านี้จะต้องวางตัวให้ชัดเจนว่าจะจับลูกค้ากลุ่มใด เพื่อให้อยู่รอด
ท่ามกลางการแข่งขันสูง จาก 2 ศูนย์การค้ายักษ์ใหญ่ที่ตั้งเป้าโกยลูกค้าทุกระดับชั้น
พารากอนจับไฮเอนด์ไม่ใช่คู่แข่ง
นายกอบชัย กล่าวต่อว่า แม้ว่าสยามพารากอน และเซ็นทรัล เวิลด์ พลาซ่าจะเป็นศูนย์การค้าที่มีพื้น
ที่ขนาดใหญ่ และมีบริการที่หลากหลาย แต่บริษัทมองว่าเซ็นทรัลยังแตกต่างตรงที่สยามพารากอนมุ่งจับกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์
ชาวต่างชาติ จากการมีร้านเพชรพลอยในศูนย์ฯจำนวนมาก ขณะที่เซ็นทรัลมีร้านค้าและบริการหลากหลายจับกลุ่มลูกค้าได้ทุกระดับชั้น
"เซ็นทรัล เวิลด์ พลาซ่าจะจับกลุ่มลูกค้าทุกระดับชั้นที่มีวิถีชีวิตทันสมัย
ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา วัยเริ่มต้นทำงาน ไปยังวัยชราที่ยังรักการใช้ชีวิตเพื่อหาความสุขในศูนย์การค้า
จากบริการและสินค้าหลากหลาย ที่ทุกกลุ่มลูกค้าจับจ่ายใช้สอยได้" นายกอบชัย
กล่าว
ขายจุดเด่นทาวเวอร์ชมวิวกลางเมือง
สำหรับอาคารสำนักงานเซ็นทรัล เวิลด์ ทาวเวอร์ สูง 51 ชั้น บริษัทจะพัฒนาชั้น
50 และ 51 ให้เป็นร้านอาหารหลากหลายสไตล์จากหลายสัญชาติ ซึ่งนำ รูปแบบมาจากภัตตาคารบนอาคารสูงในต่างประเทศ
เช่น อาคารจอห์น แฮนด์ค็อก ที่ชิคาโก สหรัฐฯ อาคารราฟเฟิล ซิตี้ ที่สิงคโปร์ โดยต้องการพัฒนาเป็นจุดชมวิวใจกลางเมืองที่สวยที่สุดและสูงที่สุด
เพื่อให้คนไทยและนักท่องเที่ยวได้ซื้อโอกาสขึ้นมาชมวิว และรับประทานอาหารกลางเมือง
และในอนาคตจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของกรุงเทพฯ
จากนโยบายของภาครัฐที่จะผลักดันให้เกิดชอปปิ้ง สตรีท บนถนนสุขุมวิท สำหรับนักท่องเที่ยว
ต่างชาติ จึงได้เตรียมสร้างสะพานลอยใต้รางรถไฟฟ้า บีทีเอส ระหว่างสถานีสยามเซ็นเตอร์ถึงชิดลม
เพื่อให้ นักท่องเที่ยวเดินชอปปิ้งระหว่างสยามสแควร์ ราชประสงค์ โดยเซ็นทรัลได้เตรียมงบ
160 ล้านบาท ทำ ทางเชื่อมบริเวณสะพานลอยใต้รางรถไฟฟ้าเข้าสู่ โครงการเซ็นทรัล เวิลด์
พลาซ่า ทั้งจากสถานีสยามฯ และชิดลม
ส่วนการขายพื้นที่อาคารสำนักงานขณะนี้มีผู้แจ้งความจำนงเข้ามาแล้ว 60,000 ตารางเมตร
ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ แต่คาดว่าจะมีผู้เช่าจริง 50% เท่านั้น โดยตั้งเป้าปิดการขายพื้นที่ทั้งอาคารภายใน
1 ปี หลังจากเปิดบริการในเดือน ส.ค.2547
อาคารเซ็นทรัล เวิลด์ พลาซ่า ถือเป็นอาคารสำนักงานย่านศูนย์กลางธุรกิจ(CBD) แห่งสุดท้าย
ที่ยังมีพื้นที่ว่างเหลืออยู่ เพราะอาคารสำนักงานในย่าน นี้ที่เป็นอาคารสร้างใหม่
คือ ออลซีซั่น เพลส ขายพื้นที่ เต็มหมดแล้วในปีนี้ สำหรับราคาค่าเช่าต่อตารางเมตร
ต่อเดือน ในย่านซีบีดีประมาณ 500 บาท ซึ่งเซ็นทรัล เวิลด์ ทาวเวอร์ จะให้เช่าในอัตราดังกล่าวเช่นกัน
อย่าง ไรก็ตามคาดว่าการลงทุนทั้งศูนย์การค้าและอาคารสำนักงานจะคุ้มทุนได้ใน 8-9
ปี
ผุดโรงแรม 4 ดาว 2 พันล้านบาท
ส่วนโรงแรมในโครงการจะอยู่ด้านหลังศูนย์การค้าอิเซตัน ซึ่งบริษัทจะปล่อยเช่าพื้นที่ระยะยาว
30 ปี ให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาลงทุน ขณะนี้มีผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศติดต่อเข้ามาแล้วหลายราย
โดยจะเปิดกว้างให้ผู้ลงทุนที่อยู่นอกเครือเซ็นทรัลเสนอโครงการเข้ามาด้วย และเลือกผู้ที่ให้ผลประโยชน์สูงสุด
ในเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นโรงแรมระดับ 4-4 ดาวครึ่ง จำนวน 400 ห้อง ใช้งบลงทุน
2,000 ล้านบาท โดยจะเปิดตัวผู้ลงทุนในเดือน ต.ค. นี้ ส่วนการก่อสร้างจะใช้เวลาประมาณ
3 ปี
"เอราวัณ แบงค็อก" เล็งจับไฮเอนด์
นายวิวัฒน์ เจริญสวัสดิพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท อัมรินทร์
พลาซ่า จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่าง ปรับปรุงอาคารห้างสรรพสินค้าโซโก้เก่า
ส่วนที่อยู่ด้าน หน้าโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ โดยจะปรับเป็นศูนย์การค้าระดับไฮเอนด์ภายใต้ชื่อ
"เอราวัณ แบงค็อก" (Erawan Bangkok)
คอนเซ็ปต์ของศูนย์ฯจะประกอบด้วยร้านค้าอินเตอร์แบรนด์จากต่างประเทศ แต่จะเป็นรูปแบบร้านค้าที่แตกต่างจากเกษร
ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม โดยจะหาร้านค้าแบรนด์เนมระดับหรูที่ยังไม่เปิดบริการในประเทศไทย
หรือร้านที่ยังไม่มีสาขาอยู่ในพื้นที่ย่านราชประสงค์มาเปิดบริการ 60-100 ร้านค้า
รวมร้านค้าในประเทศด้วย
ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้เช่าไปตกแต่งภายในเดือนเม.ย.2547
คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในเดือน ต.ค. 2547 โครงการดังกล่าวลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท
มีพื้นที่ 12,000 ตารางเมตร