ทักษิณสั่งดูผลเงินแข็งเข็น"บาทบอนด์"สกัด!


ผู้จัดการรายวัน(4 กันยายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ทักษิณสั่งขุนคลัง-อุ๋ย ศึกษาผลกระทบ หากค่าเงินบาทต่ำกว่า 40 บาทต่อดอลลาร์ ที่แนวโน้มเป็นได้สูงปีนี้ ขณะที่คลังแจงหากค่าเงินแข็งแตะ 38 บาท อาจส่งผลเสียหายเศรษฐกิจ แบงก์ชาติต้องแทรกแซงหนัก ด้านโอฬารชงเรื่องเสนอ คลัง เตรียมเปิดทางบัญชีผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ (Non-residence) ซื้อบาทบอนด์ด้วยผลตอบแทนจูงใจได้-ไม่ต้องผ่านดีลเลอร์ แต่ต้องซื้อขายผ่านกองทุนรวม เพื่อปิดทางเก็งกำไรบาท อีกช่อง หลังเงินไทยยังแข็งต่อเนื่องที่ 40.82 บาทต่อดอลลาร์วานนี้

ขณะที่ทักษิณมั่นใจรัฐ-แบงก์ชาติดูแลค่าบาทได้ ไม่กระทบผู้ส่งออกแน่ ระบุความเคลื่อน ไหวเงินบาทยังเป็นไปตามทิศทางดอลลาร์-เยน ยันอีกรอบที่บาทแข็งค่า เพราะเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ยอมรับเก็งกำไรคู่กับระบบทุนนิยม ไม่ห่วงกรณีแบงก์ชาติใช้เงินพยุงบาทให้มีเสถียรภาพ

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสั่งการ ร.อ. สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รมว.คลัง และม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ศึกษารายละเอียดผลกระทบภาพรวมเศรษฐกิจ กรณีค่าเงินบาทแข็งตัวต่ำกว่า 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากกระทรวงการคลังวิเคราะห์เบื้องต้นแล้วว่า ภายในปีนี้ ค่าเงินบาทมีแนวโน้ม จะแข็งค่าขึ้นถึง 39 หรือ 38 บาทต่อดอลลาร์

กระทรวงการคลังวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆที่เป็นสาเหตุให้บาทแข็งค่าขึ้นว่า จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น ส่งผลเงินต่างประเทศไหลเข้าลงทุนเงินบาทมากขึ้น รวมถึงเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยดี และการขยายตัวเศรษฐกิจ หรือการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ดี คาดว่าปีนี้ไม่ต่ำกว่า 6% ปี 2547 ไม่ต่ำกว่า 8%

แตะ 38 แบงก์ชาติต้องแทรกแซง

แหล่งข่าวชี้แจงว่า กรณีบาทปรับตัวแข็งค่าแตะ 39 บาทต่อดอลลาร์ คลังดูภาพรวมแล้ว เบื้องต้น อาจไม่กระทบเศรษฐกิจมากนัก ยังรับได้ แต่หากแข็งตัวถึง 38 บาท ธปท. คงต้องแทรกแซงแน่นอน เพราะอาจส่งผลกระทบ ก่อความเสียหายเศรษฐกิจไทยแน่นอน

ช่วงนี้ กระทรวงการคลังมองว่าภาคเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นหนี้เงินสกุลต่างประเทศ จะได้ประโยชน์ชำระหนี้ต่างประเทศอย่างมาก แต่ภาครัฐคงทำได้ยากแล้วเพราะส่วนใหญ่หนี้ที่เหลือเป็นหนี้ระยะยาว ที่ต้องชำระตามสัญญากู้ยืม

เนื่องจากที่ผ่านมา หนี้ส่วนไหนที่ชำระก่อนกำหนดได้ รัฐบาลก็รีไฟแนนซ์ หรือชำระก่อนกำหนด ไปมากแล้ว ตั้งแต่ 20 ก.ย. 2545 ถึงปัจจุบัน ทำให้ ไทยประหยัดดอกเบี้ยและเงินต้นส่วนหนี้ต่างประเทศ แล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบัน หนี้ต่างประเทศที่รัฐบาลค้ำและไม่ ค้ำประกัน ประมาณ 7.6 แสนล้านบาท หรือ 23.42% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด 2.8 ล้านล้านบาท

ปีนี้หลุด 40 บาทแน่

"มีแนวโน้มว่าค่าเงินบาทของไทยมีสิทธิแข็งค่าต่ำกว่า 40 บาทต่อดอลลาร์ภายในปีนี้แน่นอน อาจ แข็งค่าถึง 38 บาทต่อดอลลาร์ก็เป็นได้ ท่านนายกรัฐมนตรีจึงสั่งให้คลังและธปท. ศึกษาผลกระทบอย่างใกล้ชิด ว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเสียหายหรือได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง"

"สำหรับภาคส่งออก ย่อมต้องได้รับผลกระทบ แน่นอน แต่ที่ผ่านมา ท่านรัฐมนตรีคลังชี้แจงกับท่านนายกรัฐมนตรีแล้วว่า แม้จะกระทบต่อภาคการส่งออก แต่ก็มีผลทำให้สินค้านำเข้าจากต่างประเทศถูกลงด้วย เช่น เครื่องจักร น้ำมัน และอื่นๆ ซึ่งจะสามารถ ช่วยลดต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยได้" แหล่งข่าวกล่าว

ชงคลังออกบาทบอนด์สกัดเก็งกำไรบาท

นายสมหมาย ภาษี โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยวานนี้ (3 ก.ย.) ว่าสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ที่นายโอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีคลัง เป็นประธาน เสนอคลังออกพันธบัตรสกุลเงินบาทขายตลาดในประเทศ (Baht bond on-shore) โดยให้ผู้มีเงินบาท และมีถิ่นฐานนอกประเทศ (Non-residence) ซื้อบาทบอนด์ได้โดยตรง โดย ไม่ต้องผ่านดีลเลอร์ ซึ่งจะทำให้ผู้อาศัยนอกประเทศ สามารถลงทุนได้ โดยต้นทุนถูกลงวิธีการดังกล่าวต้อง ซื้อขายผ่านกองทุนเพื่อการลงทุน

อย่างไรก็ตาม วิธีดำเนินการดังกล่าว ต้องรัดกุมรอบคอบ รวมถึงผลตอบแทนพันธบัตรต้องมาก พอจูงใจนักลงทุนเหล่านี้ เพื่อไม่ให้กระทบอัตราแลก เปลี่ยน จะทำให้รัฐบาลควบคุมความเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความผันผวน-การเก็งกำไรค่าเงินบาทที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ วิธีนี้จะทำให้ตลาดเงินไทยแข็งแกร่ง กว้างขึ้น และเงินบาทเข้มแข็ง อีกทั้งยังส่งเสริมเงินบาทให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย นายสมหมายกล่าว

ให้แบงก์ชาติดูรายละเอียด

เรื่องดังกล่าว ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รมว.คลัง กล่าวว่าคุยกันแล้วเรื่อง Baht bond on-shore ซึ่ง ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ส่วนกรณีเกรงว่าเมื่อนอนเรส-ซิเด้นซ์ซื้อบาทบอนด์ จะส่งผลกระทบอัตราการแลกเปลี่ยน ร.อ.สุชาติกล่าวว่า เรื่องนี้ แบงก์ชาติจะดูแล ในรายละเอียดใกล้ชิด

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยวานนี้ ความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท ที่แข็งค่าขึ้น ช่วงนี้ ว่าการที่บาทแข็งค่าขึ้นตอนนี้ เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีแนวทางแก้ปัญหาเก็งกำไรจากวิธีที่นักลงทุนใช้หุ้นชอร์ตเซล เพื่อ ให้ได้เงินบาทกลับไป เวลาแลกออกเป็นดอลลาร์จะ ได้กำไรจากส่วนต่างค่าเงิน

ล่าสุด ธปท.สั่งห้ามไม่ให้แบงก์ในไทยให้ยืมตราสารต่างๆ ทำชอร์ตเซล สำหรับนักลงทุนผู้มีถิ่น ฐานต่างประเทศ

ส่วนกรณีเงินบาทแข็งค่ากระทบผู้ส่งออก นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าคงไม่มีปัญหา เพราะถ้าค่าเงิน ยังคงอยู่ระหว่าง 39-40 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่เป็นไร พ.ต.ท. ทักษิณยืนยันว่ารัฐบาล-แบงก์ชาติ จะดูแลไม่ให้ค่าบาทกระทบผู้ส่งออกแน่ เขากล่าวว่า ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศดีขึ้น ทำให้ค่าเงินบาท แข็งขึ้น ประกอบกับความน่าเชื่อถือภาวะเศรษฐกิจประเทศ ทำให้เงินต่างชาติไหลเข้า แต่ยังเก็งกำไรเล็ก น้อย

ศก.ไทยดีดันบาทแข็ง

แต่ถ้าห่วงว่าค่าเงินจะแข็งถึง 39 บาทต่อดอล-ลาร์ จะกระทบผู้ส่งออกรายย่อย พ.ต.ท.ทักษิณคิด ว่าคงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะรัฐฯและธปท.พยายามสกัดกั้นไม่ให้เก็งกำไร แต่ถ้าเข้ามาลงทุนใช้จ่ายในประเทศ ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นต้องดูแลค่าเงิน บาทให้มีเสถียรภาพ แต่คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้าสู่ ภาวะค่าเงินบาทแข็ง เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานประเทศ ดีจริงๆ

"ตอนนี้ เศรษฐกิจของไทยจะโตอีกหลายปี และมีการระวังไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ ต้อง ดูตัวเลขทุกอย่างเหมือนการตรวจร่างกาย เช็กเลือดว่า ไขมันมากน้อยแค่ไหน แต่เราพูดไม่ได้ว่า ค่าเงิน บาทควรจะอยู่ในระดับที่เหมาะสมตรงจุดไหน ต้อง เป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานและทิศทางของค่าเงินสหรัฐฯ กับค่าเงินเยนที่เราผูกไว้" นายกรัฐมนตรีกล่าว

เก็งกำไรคู่ทุนนิยม

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวอีกว่า"การที่ธปท.ใช้เงินดูแล ค่าเงินบาท เขาไม่ห่วง เพราะถือเป็นการดูแลไม่ให้เก็ง กำไรในระดับอันตราย การเก็งกำไรคู่กับระบบเศรษฐ-กิจทุนนิยม รวมทั้งตอนนี้ ปัญหาหนี้ระยะสั้นก็ลด ในอดีต เรามีหนี้ระยะสั้นสูงกว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่ปัจจุบัน เรามีสัดส่วนหนี้ระยะสั้น เพียง 1 ใน 3 ของทุนสำรอง จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่ไทย ที่กลับจะเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้ง" บาทแข็งขึ้นเช้าวานนี้

ขณะที่เงินเยนและบาทแข็งค่าขึ้นเช้าวานนี้ มาอยู่ที่ 116.64 เยน/ดอลลาร์ 40.932 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่เงินยูโรอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 1.0947 ดอลลาร์/ ยูโร โดยดอลลาร์ได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการประกาศดัชนีการผลิต ISM ประจำเดือนสิงหาคมของสหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้

นายวราพงษ์ ธารทิพย์จิตเกษม ผู้จัดการกลุ่ม ค้าเงิน ธนาคารทหารไทย กล่าวว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 40.85 บาทต่อดอลลาร์วานนี้ ซึ่งยังเป็นระดับสูงสุด ในรอบ 13 เดือน แม้วันอังคาร(2 ก.ย.) อ่อนค่าลงเคลื่อนไหว 41.08-41.10 บาทต่อดอลลาร์ หลังจาก ธปท. ประกาศมาตรการป้องกันเก็งกำไรค่าเงินบาท

ปัจจัยทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นคือ การที่ฟิทช์ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ทำให้เกิดแรง ซื้อเงินบาทและขายดอลลาร์ ประกอบกับเงินเยน ญี่ปุ่น แข็งค่าขึ้นจาก 117 เยนต่อดอลลาร์ ซื้อขายที่ 116.30 เยนต่อดอลลาร์ ยิ่งหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่า มากขึ้นอีก เงินบาทวานนี้กรอบความเคลื่อนไหว ระหว่าง 40.75-41 บาทต่อดอลลาร์

ส่วนเงินสกุลภูมิภาค ล่าสุด เงินเยน ญี่ปุ่น เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 116.28 เยนต่อดอลลาร์ เงิน เปโซ ฟิลิปปินส์ เคลื่อนไหวที่ 54.81 เปโซต่อดอลลาร์ และเงินรูเปียะห์ อินโดนีเซีย เคลื่อนไหวที่ 8,485 รูเปียะห์ต่อดอลลาร์

ร.อ.สุชาติ กล่าวว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มแข็งแกร่งดีขึ้นมาก ยืนยันได้จากสถาบันจัดอันดับเครดิตอื่น ๆ มีมุมมองต่อประเทศไทยดีขึ้น อาทิ สถาบันจัดอันดับมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส จากแดนมะกัน ปรับเครดิตตราสารหนี้ 3 ธนาคารใหญ่ของไทยเดือนที่ผ่านมา คือธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย และกสิกรไทย

เร็วๆ นี้ มูดี้ส์ฯ ครบกำหนดต้องเดินทางมาประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย หลังจากสถาบันจัดอันดับ สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (เอสแอนด์พี) เพื่อนร่วมชาติมะกัน สำรวจ 2 เดือนก่อน

ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นขณะนี้ ร.อ.สุชาติกล่าวว่า ธปท. ดูแลใกล้ชิด เนื่องจากการที่บาทแข็งค่าขึ้น เป็น ไปตามภาวะเศรษฐกิจที่กำลังดีขึ้น ซึ่งธปท.จะดูแลค่าเงินไม่ให้กระทบการส่งออกมากนัก

นายสุภัค ศิวะรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่าปัจจัยกระทบกับค่าเงินบาทที่แข็งตัว ขึ้นมากช่วงนี้ จากอัตราเติบโตเศรษฐกิจไทยที่ชัด เจนมาก อีกทั้งระดับทุนสำรองระหว่างประเทศสูงขึ้น และการใช้หนี้ IMF ก่อนกำหนด นอกจากนี้ ดัชนีหุ้นไทยกำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนักลงทุนจากต่างประเทศมองว่า ยังมีโอกาสสูงขึ้นได้อีก และที่แบงก์ ชาติเป็นห่วง คือการเก็งกำไรค่าเงินบาทมากเกินไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.