หวั่นเศรษฐกิจกระทบยาว MFCเบนหุ้นกู้เพิ่มผลตอบแทน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(23 มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

เอ็มเอฟซีห่วงรัฐเก็บรายได้ต่ำกว่า 1 แสนล้าน แนะรัฐเร่งเพิ่มภาษีน้ำมัน และ ธปท.ต้องลดสภาพคล่องส่วนเกินกว่า 5 แสนล้านบาทลง ด้านกลยุทธ์การลงทุนพร้อมลดสัดส่วนพันธบัตรรัฐบาล เพิ่มสัดส่วนหุ้นกู้เรตติ้งดี ส่วนกองหุ้นตะลุยเก็บกลุ่มปันผลเกิน 6% มั่นใจทั้งปีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารเติบโตได้ 20%

ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) เอ็มเอฟซี ประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ส่งผลให้แนวโน้มจัดเก็บรายได้และกำไรของบริษัทเอกชน รวมทั้งรัฐวิสาหกิจอาจลดลง รวมทั้งความสามารถจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลไม่ได้ตามที่ประมาณการไว้ โดยช่วง 5 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการถึง 8.8 หมื่นล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีนี้รัฐบาลจะเก็บรายได้ลดลงกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจแน่นอน

“รายได้ของรัฐที่ลดลงอาจมีผลกระทบต่อโครงการที่ลงทุน และการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่เพดานหนี้สาธารณะที่ใกล้เต็มอาจส่งผลให้การกู้เงินของรัฐทำได้ไม่มากนัก รัฐบาลต้องรีบหาช่องทางเพิ่มรายได้”

ทั้งนี้รัฐบาลยังสามารถปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันได้อีกเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดอยู่ระดับต่ำ และช่องทางนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากนัก รวมทั้งช่วยสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งเกษตรกรจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ด้วย โดยคาดว่าการปรับเพิ่มภาษีน้ำมันจะส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ช่องทางการหาแหล่งเงินทุนของภาครัฐอาจมาจากการกู้ยืมเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยอาจให้ธปท.ไปซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชนหรือเข้าไปกู้ยืมเงินของธนาคารพาณิชย์ที่มีสภาพคล่องล้น โดยเฉพาะเงินฝากที่ถูกกว่าเงินกู้ถึง 14% หรือมีสภาพคล่องส่วนเกินประมาณ 5 แสนล้านบาท

“นโยบายผ่อนคลายดอกเบี้ยของธปท.จะไม่เห็นแล้วเพราะแบงก์พาณิชย์มีโอกาสลดดอกเบี้ยเงินฝากลงอีก จากปัจจุบันที่ 0.5-0.75% ซึ่งปีนี้อาจเห็น 0.25-0.50% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้เท่าเดิม”

ด้าน ศุภกร สุนทรกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ. เอ็มเอฟซี กล่าวว่า ผลกระทบจากดอกเบี้ยทั่วโลก และของไทยปรับลดลง ส่งผลให้ผลตอบแทนจากเงินฝากและพันธบัตรรัฐบาลลดลงจนไม่น่าสนใจ จึงปรับกลยุทธ์หันไปเพิ่มสัดส่วนลงทุนหุ้นกู้เอกชนเพิ่มขึ้น โดยพิจาณาอันดับความน่าเชื่อถือเป็นหลักเนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 1-2%

“ปีนี้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่หลายแห่งหันมาออกหุ้นกู้มากขึ้น จึงแข่งขันผลตอบแทนสูง ซึ่งเป็นผลดี และเพิ่มทางเลือกลงทุน ส่วนกองหุ้นจะเน้นหุ้นปันผลสูง เช่น กลุ่มโรงพยาบาล ,อสังหาบางบริษัท และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค เช่น CPF CPALL ให้ปันผลสูงกว่า 6% แต่จะเพิ่มความระมัดระวังลงทุนด้วยการถือเงินสดมากขึ้น รวมทั้งเลือกใช้ตราสารอนุพันธ์บริหารเสี่ยง”

ส่วน พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การจัดการ(AUM)ปีนี้ 20% หรือ 2.6 หมื่นล้านบาท โดยเน้นลงทุนกองทุนอสังหาริมทรัพย์เติบโตดีอยู่ ส่วนรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 25-30%จากปีก่อน แม้ปีนี้มีโอกาสสูงจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจระลอก 2 เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำลงต่อเนื่อง และสถาบันการเงินหลายแห่งขาดสภาพคล่องหนัก และมีสถาบันการเงินอีกมากที่ไม่ได้เปิดเผยสินทรัพย์ความเสียหาย ทำให้รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.