|
“นวลิสซิ่ง”ผ่าตัดแปลงโฉมธุรกิจซื้อพอร์ตลูกหนี้บ.ต่างชาติ-ตั้งทีมขายประกัน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(23 มีนาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
“นวลิสซิ่ง” หาทางออก ช่วงติดเบรกธุรกิจจำนำทะเบียนรถ เพราะผลประกอบการปีนี้สีแดงเถือกจากพอร์ตหนี้เน่าลูกค้ารายใหญ่และผู้บริหารค่ายรถหรูนำเข้า SECC ล่องหนร่วม 120 ล้าน เร่งตั้งทีมขายประกันชีวิตป้อนค่าย“กรุงไทยแอกซ่าประกันชีวิต” ก่อนหมุนเงินรายได้จากธุรกิจหลัก ไปลงทุนรับซื้อลูกหนี้ จากฝั่งบริษัทลูกต่างชาติในประเทศ ที่กำลังเลหลังขายพอร์ตลูกหนี้ เพื่อขนเงินกลับต่างประเทศ มาบริหาร เพื่อสร้างรายได้ทดแทนธุรกิจหลัก...
การเปลี่ยนถ่ายเลือดทีมผู้บริหาร บมจ.นวลิสซิ่ง จากชุดเก่า มาเป็นชุดปัจจุบัน คือ เหตุผลหนึ่ง ที่ทีมทำงานชุดใหม่ยกมาอ้างว่า ผลประกอบการปี 2551 ขาดทุนสุทธิ 120 ล้านบาท คือ ผลงานการบริหารล้มเหลวของทีมเดิม ฝากผลงานเอาไว้ ทำให้ผู้ถือหุ้นเจ้าใหม่ จะต้องเร่งสะสางปัญหาในปีนี้ อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก...
รัตนชัย นันทปราโมทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.นวลิสซิ่ง ใช้เวลาไม่นาน อธิบายว่า ในปี 2550 ผู้บริหารทีมใหม่ ได้หันมาเปิดตลาดธุรกิจจำนำทะเบียนรถ โดยโฟกัสไปที่ตลาดรายย่อย ซึ่งเป็นการพลิกรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ หลังการเปลี่ยนมือทีมผู้บริหาร ต่างจากพอร์ตเดิมที่มีกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ หรือ องค์กร เป็นฐานลูกค้าหลัก
แต่พอมาถึงปี 2551 ที่โดนพายุเศรษฐกิจถล่มจนน่วม ทำให้ในปี 2552 ต้องหันมาล้างพอร์ตหนี้เก่าของผู้บริหารชุดเดิม พร้อมกับติดเบรกธุรกิจจำนำทะเบียนรถยนต์ลงชั่วคราว เพื่อจัดการสะสางหนี้สินก่อนหน้านี้ให้หมดเสียก่อน
ภายหลังผลประกอบการสีแดงเถือกในปี 2551 ฟ้องว่า บริษัทมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิร่วม120 ล้านบาท ตรงกันข้ามกับ ธุรกิจรับจำนำทะเบียนรถกลับทำรายได้ให้ไม่น้อยเลย นับจากเริ่มต้นเจาะเข้าสู่ตลาดนี้เป็นครั้งแรก
“ ช่วงแรกที่เข้ามา เราต้องการโฟกัสไปที่การขยายธุรกิจใหม่ ดังนั้นในช่วงแรกๆ เราจึงต้องมองข้ามเรื่องหนี้เสียไปก่อน เพื่อเร่งทำรายได้อย่างเดียว”
มีการชี้แจงว่า ผลประกอบการขาดทุนในปี 2551 มาจาก 2 ส่วนหลักคือ การปล่อยไฟแนนซ์ให้กับลูกค้ารายใหญ่ในยุคก่อน ผสมโรงกับ มีลูกหนี้หลักคือ ค่ายรถนำเข้า SECC ที่ผู้บริหารล่องหน หายตัวไป คำนวณรวมกันจึงเท่ากับ มีเอ็นพีแอลถึง 120 ล้านบาท ทำให้ต้องเพิ่มการตั้งสำรองมากขึ้น เพื่อสะสางหนี้สินส่วนนี้
ทำให้ในปีนี้ นอกจากจะต้องเร่งชำระล้างหนี้เก่า ก็จำเป็นต้องชะลอธุรกิจหลัก จำนำทะเบียนรถลงชั่วคราว ก่อนจะพลิกโฉมธุรกิจจาก รับจำนำทะเบียนรถ มาเป็น การหารายได้จาก 2 ทางคือ การตั้งทีม ขายประกันชีวิต ป้อนให้กับ กรุงไทยแอกซ่าประกันชีวิต และ นำเงินที่จะขยายธุรกิจหลักมาหมุนสร้างรายได้จากการลงทุนซื้อพอร์ตลูกหนี้สถาบันการเงินมาบริหารแทน
“ การตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ก็เป็นโจทย์หนึ่งที่เราจะต้อง โฟกัสไปที่การติดตามทวงหนี้เดิมให้มากขึ้น ไม่ให้สูญไปเฉยๆ เมื่อตามคืนมาได้ ก็จะนำเงินส่วนนี้มาลงทุนในธุรกิจใหม่ นอกเหนือจากเม็ดเงินที่เตรียมจะนำมาขยายธุรกิจหลัก ที่จะนำมาลงทุนสร้างรายได้ให้กับ 2 ธุรกิจใหม่ด้วย”
รัตนชัย บอกว่า ปีนี้ ไม่ใช่เวลาของลูกค้า หรือ เป็นตลาดของสินเชื่อทะเบียนรถ ดังนั้นเม็ดเงินลงทุนที่มีอยู่ จึงมีไม่มากพอจะนำไปขยายตลาดส่วนนี้ แต่จะนำเงินรายได้จากธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ มาลงทุนซื้อหนี้เอ็นพีแอล มาบริหาร เพราะเชื่อว่า ธุรกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะที่มีบริษัทลูกในเมืองไทย มีหลายรายที่กำลังต้องการปล่อยสินทรัพย์ออกเร่ขาย
“ ปัจจุบันนี้ พวกฝรั่งเทขายทรัพย์สินออกมา ราคาก็ถูก คาดว่าจะมีสัก 2-3 ราย ที่จะขายให้ในราคาไม่ถึง 20% ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าสมัย 56 ไฟแนนซ์ล้มเสียอีก”
ทั้งหมดนี้ รัตนชัย บอกว่า คือ “ขุมทรัพย์” แห่งใหม่ ที่จะเข้ามาแก้ขัด ธุรกิจจำนำทะเบียนรถในช่วงชะลอการขยายตลาด โดยจะมีทั้ง พอร์ต รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และบัตรเครดิต โดยจะนำเงินก้อนแรก กว่า 600 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากธุรกิจหลัก เข้าไปรับซื้อพอร์ตลูกหนี้มาบริหาร
“ แค่ 2-3 ปี ก็คุ้มแล้ว เพราะทีมเรามีประสบการณ์ จากเดิมที่เคยแค่รับจ้างบริหาร ต่อไปนี้ก็จะซื้อพอร์ตมาบริหารเอง ขณะที่ สินเชื่อทะเบียนรถตอนนี้ผลตอบแทนเริ่มไม่จูงใจแล้ว”
รัตนชัย บอกว่า ราคาซื้อมา 20% ก็ถือว่า คุ้มถ้าตามหนี้กลับคืนมาได้ 40% ก็เป็นกำไร 100% แล้ว”
นอกจากนั้น ก็เตรียมนำเอาเครือข่าย ที่ขึ้นป้าย นวเอ็กซเพรส ตามไฟแนนซ์ห้องแถว ทั่วประเทศ รวม 350 สาขา มาเปิดเป็นหน้าร้านขายกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับ กรุงไทยแอกซ่าประกันชีวิตด้วย
รัตนชัย บอกว่า จะเปลี่ยนเซลส์ หรือ ทีมขายตาม เต้นท์รถต่างจังหวัดที่ขึ้นป้าย นวเอ็กซเพรส มาเป็นตัวแทน โดยการสอบใบอนุญาตประกอบธุรกิจตัวแทนประกันชีวิต เพื่อขายกรมธรรม์ประกันชีวิต เพราะส่วนนี้มีฐานข้อมูลลูกค้าอยู่ในมือมหาศาล
“ ก็ไม่แน่ว่า ภายในสัญญา 2 ปีกับกรุงไทยแอกซ่าประกันชีวิต หากทำเป้าหมายในปีแรก 30 ล้านบาท และปีที่ 2 อีก 50 ล้านบาทได้ ก็เป็นไปได้สูงว่า ภายในเวลา 10 ปี บริษัทอาจไม่ต้องกู้เงินจากสถาบันการเงิน มาลงทุนทำธุรกิจเลยก็ได้”
รัตนชัยบอกว่า หากขุมทรัพย์ใหม่ ทั้ง 2 ธุรกิจนี้ ทำรายได้ให้อย่างงดงาม ภายในปี 2552 ก็น่าจะเชื่อว่า ธุรกิจจะมีรายได้มากพอจะทำให้รอดพ้นจาก “โรคขาดทุน” และสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง
โอกาสที่ “รัตนชัย” จะพูดได้เต็มปากว่า นี่คือ ผลงานของ ทีมผู้บริหารชุดใหม่ล้วนๆ...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|