|

ยกเครื่องใหญ่ “ร้านอาหารไทย”สร้างโมเดล&แบรนด์ไทยโกอินเตอร์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(23 มีนาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ทำไม?...ธุรกิจร้านอาหารไทยในอดีตที่เคยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการเป็นกอบเป็นกำต้องตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ในปัจจุบัน หลังเปิดการค้าเสรีของรัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกฯ ว่ากันว่า...การรุกตลาดของธุรกิจร้านอาหารต่างชาติทั้งญี่ปุ่นและอิตาลีคือต้นตอของปัญหาที่ยากจะสะสาง ขณะที่กระแสของรสนิยมบริโภคอาหารต่างชาติมากกว่าอาหารไทยเริ่มมีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สมาคมภัตตาคารไทยต้องออกมาทบทวนบทบาทใหม่ เพื่อประคองธุรกิจร้านอาหารไทยให้อยู่รอดไปได้
วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจร้านอาหารไทยในทุกวันนี้ไม่ต่างไปจากชะตากรรมเดียวกับร้านโชว์ห่วย หลังเศรษฐกิจตกต่ำ แถมต้องผจญกับการแข่งขันธุรกิจร้านอาหารต่างประเทศที่บุกขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพบว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 500บริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1,000บริษัทกอบโกยเม็ดเงินในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท พร้อมทั้งมีแนวโน้มว่าร้านอาหารอิตาเลี่ยนมีการขยายตัวอีกมาก ซึ่งว่ากันว่าเกิดจากประเทศไทยไม่มีกำแพงกีดกันการเข้ามาดำเนินธุรกิจร้านอาหารในประเทศ ขณะที่ร้านอาหารไทยจะเข้าไปเปิดธุรกิจในต่างประเทศ กลับมีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย
สอดคล้องกับที่ ปวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย บอกว่าที่ผ่านมาโชว์ห่วยในประเทศไทยล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมากจากร้านค้ากว่าแสนแห่ง ปัจจุบันเหลือประมาณเพียง 5 หมื่นแห่ง ซึ่งในอนาคตธุรกิจร้านอาหารไทยอาจตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับโชว์ห่วย ที่เริ่มล้มหายตายจากไป ซึ่งปัจจุบันตัวเลขของผู้ประกอบรายเล็กประมาณกว่า 1.5 แสนราย หรือคิดเป็นกว่า 50% ที่มีอยู่กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ อีกทั้งยังขาดการจัดการ และการยกระดับสู่มาตรฐานสากล
แม้ว่าในปีหนึ่งๆมูลค่าเม็ดเงินที่หมุนเวียนในธุรกิจร้านอาหารของประเทศไทยจะสูงถึง 3 แสนล้านบาทก็ตาม หากมองว่ารายได้ในระยะยาวถูกต่างชาติแย่งส่วนแบ่งไปเชื่อได้ว่าธุรกิจร้านอาหารของคนไทยก็อาจจะเข้าสู่วิกฤติขั้นรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากไม่มีการปรับตัวตั้งแต่วันนี้
ล่าสุด...แผนดำเนินการเพื่อยกระดับธุรกิจร้านอาหารไทย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 3-5 ปี โดยมีการวางเป้าหมายให้ธุรกิจร้านอาหารไทยเทียบขั้นมาตรฐานสากล คือการเปิดเกมรุกที่สมาคมภัตตาคารไทยต้องการวางกลยุทธ์เพื่อบูรณาการ เชื่อมโยงทุกภาคส่วน โดยแผนระยะสั้น ได้ผนึกกับ 8 กระทรวง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ แรงงาน สาธารณะสุข เป็นต้น ออกนโยบาย-ประสานจุดแข็ง สร้างมาตรฐานคุณภาพ การบริหารจัดการ และที่สำคัญคือการทำประชาพิจารณ์ เพื่อนำสู่ภาคปฏิบัติจริง
“การเปิดตัวโครงการจะอยู่ในช่วงไตรมาส 2 ของปี52 ธุรกิจร้านอาหารของไทยนี้ จะก้าวสู่วิวัฒนาการใหม่ พลิกโฉมไปสู่อีกรูปแบบที่น่าจับตาจากตลาดโลก”ปวรรณ กล่าว
ขณะเดียวกันการสร้างแบรนด์อาหารไทยและโมเดลต้นแบบร้านอาหารไทยคืออีกหนึ่งยุทธวิธีที่เตรียมออกไปต่อสู้แข่งขันในตลาดต่างประเทศเช่นกัน ร้านไก่ย่างส้มตำ,ข้าวแกง, ก๋วยเตี๋ยว และ ผัดไทย คือแบรนด์ตัวอย่าง 4 แบบที่จะออกมานำร่องเพื่อพัฒนาให้เป็นร้านอาหารไทยต้นแบบ โดยใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท เพื่อโครงการพัฒนาผู้ประกอบการร้านอาหารสู่ตลาดโลก หวังเพิ่มรายได้เข้าประเทศ โดยรุกเข้าไปในประเทศที่มีศักยภาพ อาทิ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา อินเดีย ตะวันออกกลาง
แม้ว่าร้านอาหารของไทยในประเทศไทยจะมีประมาณกว่า 3 แสนแห่งก็ตาม ซึ่งในแต่ละปีจะมีการขยายตัวที่น้อยมากปัจจุบันมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นแค่เพียง 5% เท่านั้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจรวมถึงพฤติกรรมการกินข้าวของคนไทยที่ลดลงด้วย ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารของต่างชาติกลับมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นทุกปีๆละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20
ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและการขยายตัวของเหล่าบรรดาร้านอาหารของต่างชาติในประเทศไทยเช่นนี้ การเปิดเกมรุกตลาดต่างประเทศจึงเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ธุรกิจร้านอาหารไทยสามารถแข่งขันกับตลาดต่างชาติและที่สำคัญเป็นการโกยเงินเข้าประเทศด้วยเช่นกัน
ดังนั้นการสร้างแบรนด์อาหารไทยและโมเดลต้นแบบร้านอาหารไทยเพื่อต่อยอดทางธุรกิจยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่เป็นไปได้สูง โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ที่ถือว่ามีศักยภาพมาก เพราะกลุ่มเป้าหมายมีกำลังการซื้อและราคาอาหารต่อเมนูสูง ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่า ซึ่งที่ผ่านมามีร้านอาหารในต่างประเทศประมาณกว่า 1.3 หมื่นแห่งที่เปิดให้บริการ
“หากโครงการนี้ภาครัฐมีการผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติที่จะช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมและจริงจังแล้ว เชื่อได้ว่าร้านอาหารไทยในต่างประเทศจะมีแบรนด์อาหารไทยและต้นแบบร้านอาหารน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 หมื่นแห่ง”นายกสมาคมภัตตาคารไทยกล่าว
ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาความพยายามผลักดันให้แบรนด์อาหารไทยโกอินเตอร์ ส่งผลทำให้การแข่งขันเริ่มร้อนแรงสุดๆในตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันหากสังเกตประเทศรอบข้าง แล้วย้อนกลับมาดูตัวเองก็ยังเห็นว่าโอกาสประเทศไทยที่จะก้าวเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหารในต่างประเทศนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
เพียงแต่ประเทศไทยยังถูกจำกัดเรื่องการลงทุนในต่างประเทศเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย ขณะเดียวกันภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับบทบาทใหม่ของธุรกิจร้านอาหารไทยให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อหวังเป็นแรงขับเคลื่อนและสานฝันดันธุรกิจร้านอาหารไทยไปสู่อินเตอร์ได้อย่างเต็มตัว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|