ยูนิลีเวอร์ขู่ฟ้องพีแอนด์จีชี้เกมนี้ไม่มีใครเป็นผู้ชนะ


ผู้จัดการรายวัน(4 กันยายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ยูนิลีเวอร์ค้านโฆษณา "เฮดแอนด์โชว์เดอร์" ของค่ายพีแอนด์จี ชี้การเปรียบเทียบเป็นเท็จ เตรียมดำเนินการขั้นเด็ดขาด ยุติความสับสนในหมู่ผู้บริโภค ทางด้านพีแอนด์จี โต้กลับ โฆษณา "คลีนิค เคลียร์" ของยูนิลีเวอร์ ก็ทำในลักษณะเดียวกัน พร้อมขู่ฟ้อง ร้องเช่นเดียวกัน คนวงการคอนซูเมอร์ชี้เกมนี้ร้ายพอๆกัน แนะถอน โฆษณาออกจากจอทีวีทั้งคู่ ทุกอย่างก็ยุติ ดีกว่าเสียเวลาเสียเงิน แถม ยังเสียภาพลักษณ์

นางวรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่อง ใช้ส่วนบุคคล บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า แชมพูขจัดรังแค "คลีนิค เคลียร์" โดย บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ได้คัดค้านการเผยแพร่โฆษณาทางโทรทัศน์ของแชมพูสระผม "เฮดแอนด์โชว์เดอร์" ของค่ายพีแอนด์จี ที่มีข้อความ ภาพ และเนื้อหาเป็นเท็จ จงใจสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ผู้บริโภค และสร้างความเสียหายให้แก่แบรนด์ "คลีนิค เคลียร์" โดยเตรียมดำเนินการขั้นเด็ดขาดเพื่อยุติการออกอากาศภาพยนตร์โฆษณาดังกล่าวโดยสิ้นเชิง และจะดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายจาก บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ประเทศไทย จำกัด หรือพีแอนด์จี ด้วย

พีแอนด์จี ได้เผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาแชมพู ขจัดรังแคเฮดแอนด์โชว์เดอร์ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแสดงผลการทดลองจากห้องปฏิบัติการของพีแอนด์จี โดยเปรียบเทียบแชมพู ขจัดรังแค 2 ยี่ห้อดังในประเทศไทย และอ้างว่าจากการทดสอบดังกล่าว "เฮดแอนด์โชว์เดอร์" เป็นแชมพู ที่ดีที่สุดในด้านการขจัดสาเหตุหลักของรังแค รวมทั้งยังแสดงภาพผลิตภัณฑ์ "เฮดแอนด์โชว์เดอร์" คู่กับแชมพูชั้นนำอีกยี่ห้อหนึ่งโดยทำภาพชื่อยี่ห้อและตราสินค้าของแชมพู ดังกล่าวให้มองเห็นไม่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ยูนิลีเวอร์ ได้พิสูจน์เรื่องประสิทธิภาพในการขจัดสาเหตุหลักของการเกิดรังแค โดย Global Technical Centre ของบริษัทฯ ได้ทำการศึกษาและได้รับการรับรองผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยอิสระ ผลการศึกษาพบว่า"คลีนิค เคลียร์" มีประสิทธิภาพเหนือกว่าคู่แข่งถึง 3 เท่าในด้านประสิทธิภาพการขจัดเชื้อราชนิดเมลาซเซเซีย เฟอร์เฟอร์ (Malassezia furfur) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดรังแค

นางวรรณิภา กล่าวอีกว่า เฮดแอนด์โชว์เดอร์ มีเจตนาชัดเจนที่จะเปรียบเทียบ โจมตี และอ้างว่าตนเองดีกว่า คลีนิก เคลียร์ ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริงและทำให้เกิดความเข้าใจผิด แม้ว่าในโฆษณาดังกล่าวจะไม่ได้ระบุชื่อแชมพูดังอีกยี่ห้อหนึ่ง แต่ก็สื่อได้อย่างชัดเจน เพราะทั้งสองแบรนด์รวมกันจะมีส่วนแบ่งการตลาดรวมถึง 70% จึงเท่ากับเป็น การระบุทางอ้อมว่าแชมพูอีกยี่ห้อหนึ่งคือ "คลีนิก เคลียร์"

จากการศึกษาความเห็นของผู้บริโภคโดยบริษัทวิจัยอิสระ ปรากฏว่าผู้บริโภคสามารถระบุได้อย่างชัดเจนจากรูปทรงของขวด ว่าแชมพูอีกยี่ห้อหนึ่ง ที่กล่าวถึงในโฆษณาดังกล่าว คือ"คลีนิก เคลียร์" แม้ว่าจะไม่เห็นชื่อหรือตราสินค้าของแชมพูดังกล่าวก็ตาม

"ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมต่อเนื่องมาตลอด ยูนิลีเวอร์ ได้พยายามเจรจากับพีแอนด์จีหลายครั้ง โดยขอให้แก้ไขเนื้อหาในภาพยนตร์ดังกล่าวให้ถูกต้องเป็นจริง แต่ได้รับการปฏิเสธและเพิกเฉยมาตลอด ยูนิลีเวอร์มีความจำเป็นต้องดำเนินการขั้นเด็ด ขาดกับพีแอนด์จีเพื่อยุติการออกอากาศภาพยนตร์โฆษณาที่สร้างความเข้าใจผิดให้แก่สาธารณชนอย่างสิ้นเชิงและจะเรียกร้องค่าเสียหายด้วย" นางวรรณิภา กล่าว

ทั้งนี้ เอซีนีลเส็น ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยข้อมูลการตลาดชั้นนำ ได้เปิดเผยผลการวิจัย ซึ่งระบุว่า "คลีนิค เคลียร์"เป็นแชมพูขจัดรังแคที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดในด้านยอดขายสูง 48.9% และในด้านปริมาณขาย 55.5%

พีแอนด์จีโต้กลับ

อย่างไรก็ตาม บริษัท พีแอนด์จี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาจากบริษัทยูนิลีเวอร์นั้น นายอรุณ วิศวนาถ ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรสัมพันธ์ กล่าวว่า พีแอนด์จี ก็รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งกับโฆษณาผลิตภัณฑ์ขจัดรังแค คลีนิค เคลียร์ ของยูนิลีเวอร์ รวมถึงการนำมาเปรียบเทียบกับแชมพูเฮดแอนด์โชว์เดอร์ของพีแอนด์จี ซึ่งเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ขจัดรังแคของโลก

"เราเชื่อว่าสิ่งที่ยูนิลีเวอร์กล่าวอ้าง ไม่ได้อยู่บน พื้นฐานของผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และกำลังพิจารณาหาทางแก้ไขเรื่องนี้ ซึ่งรวมถึงการดำเนินการทางกฎหมายด้วย" นายอรุณ กล่าว

สำหรับโฆษณาแชมพูเฮดแอนด์โชว์เดอร์ของพีแอนด์จีนั้น ข้อมูลที่พีแอนด์จีได้นำเสนอในโฆษณา ทั้งหมด อยู่บนพื้นฐานของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และพีแอนด์จียังยืนยันว่าข้อมูลที่นำเสนอในโฆษณา ว่าพีแอนด์จีเป็นแชมพูขจัดรังแคที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งก่อนหน้านี้พีแอนด์จีได้เคยเสนอที่จะแชร์ที่มาของข้อมูลในโฆษณาดังกล่าวรวมถึงผลวิจัยกับยูนิลีเวอร์

คนวงการแนะให้ถอนโฆษณาทั้งคู่

แหล่งข่าวจากวงการสินค้าอุปโภคบริโภครายหนึ่ง ให้ความเห็น ผู้จัดการรายวัน" ถึงกรณีที่เกิดขึ้นกับยูนิลีเวอร์และพีแอนด์จีว่า เป็นเรื่องที่ทั้งคู่กระทำคล้ายกัน โดยพีแอนด์จี ได้นำเสนอในภาพยนตร์โฆษณาของตนเองว่า การเปรียบเทียบสองผลิต ภัณฑ์ชั้นนำ เฮดแอนด์โชว์เดอร์ ได้ผลดีกว่า แต่ภาพโฆษณาได้ใช้ขวดคลีนิค เคลียร์ ที่ทำให้ภาพเบลอ กรณีดังกล่าวทำให้ยูนิลีเวอร์ประท้วง

"ทราบมาว่าทางพีแอนด์จีต้องการนำข้อมูลมาแชร์กับยูนิลีเวอร์ แต่ยูนิลีเวอร์ไม่สน และขอให้ พีแอนด์จีเลิกโฆษณาดังกล่าว มีการเจรจากันไปมาแต่ก็ตกลงกันไม่ได้ หลังจากนั้นยูนิลีเวอร์ก็ได้ออกโฆษณาในลักษณะเดียวกันพีแอนด์จี แต่เคลมว่า คลีนิค เคลียร์ ได้ผลดีกว่าอีกยี่ห้อหนึ่งถึง 3 เท่า ซึ่งในภาพยนตร์โฆษณาก็นำขวดของเฮดแอนด์โชว์เดอร์ มาใช้เปรียบเทียบเช่นกัน แต่ทำให้เบลอน้อยกว่า ซึ่งเรื่องนี้ทำให้พีแอนด์จีไม่พอใจเช่นเดียวกัน จนเป็นที่มาของการขู่ฟ้องร้องกันและกัน" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ทางออกของเรื่องนี้น่าจะลงเอยด้วยการให้ทั้งสองบริษัท ยกเลิกโฆษณาทั้งสองเรื่องออกไปเสียทุกอย่างจะได้ยุติ เพราะการฟ้องร้อง หรือกล่าวหากันไปมา ไม่ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น เสียทั้งเงินและเวลา และยังเสียโอกาสในการทำตลาดอีก ซ้ำร้ายภาพลักษณ์ของทั้งสองแบรนด์ก็จะไม่ดีในสายตาผู้บริโภค ซึ่งหากเกิดการฟ้องร้องกันจริง เชื่อว่าเกมนี้ไม่มีใครเป็นผู้ชนะ

อนึ่ง ตลาดผลิตภัณฑ์แชมพูมีมูลค่าประมาณ 6,600 ล้านบาทในปี 2546 โดยที่ผลิตภัณฑ์ขจัดรังแค มีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 31 (2,046 ล้านบาท)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.