เครื่องดื่มชูกำลังดึง 'โจ๋' บิดฝากระดกขวด 'ยกอิมเมจ'


ผู้จัดการรายสัปดาห์(23 มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

'เอ็ม 150 VS กระทิงแดง' เปิดศึกขยายฐาน รุกมิวสิกมาร์เกตติ้ง ประชันเวทีคอนเสิร์ต 'วัยโจ๋' บิดฝากระดกขวด สร้างอิมเมจใหม่

ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังที่มีผู้เล่นหลักในตลาดเป็น 4 แบรนด์ใหญ่คือ กระทิงแดง, เอ็ม 150, แรงเยอร์ และคาราบาวแดง ซึ่งแต่ละค่ายเน้นทำตลาดที่เป็นหัวหอกหลัก ด้วยการสร้างการจดจำแบรนด์ด้วยโฆษณาที่อยู่ในคอนเซ็ปต์การเป็นคนดีของสังคม ปลุกกระแสความรักชาติ และการชิงโชครางวัลใต้ฝา รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายและโปรโมชั่น ณ จุดขาย จัดโรดโชว์แจกสินค้าตัวอย่างเสริมทัพควบคู่กันไปทั่วประเทศ

ทว่าภาพการแข่งขันในวันนี้เริ่มเปลี่ยนไปจากอดีต นั่นเพราะตัวเลขตลาดรวมเครื่องดื่มชูกำลังมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาทได้มาถึงจุดอิ่มตัว โดยตลาดรวมไม่มีการเติบโตติดต่อกันมานานถึง 3 ปี ด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง จึงเป็นที่มาของการสัประยุทธ์กันระหว่าง 'เอ็ม 150Ž และ 'กระทิงแดง' ที่ออกมาเปิดศึกช่วงชิงฐานลูกค้ากลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นตลาดใหม่ของเครื่องดื่มชูกำลัง

จากช่วงไตรมาสสุดท้ายในปีที่ผ่านมา 'กระทิงแดง' เริ่มนับถอยหลังในการเข้าสู่การแข่งขันในตลาดใหม่ โดยขยายฐานกลุ่มลูกค้าไปยังกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป จากเดิมที่กลุ่มลูกค้ามีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปพร้อมทั้งมีการปรับอิมเมจกลยุทธ์ทางด้านโฆษณาสร้างความจดจำแบรนด์ โดยเป็นสปอนเซอร์ภาพยนตร์ Fire Ball และดึง 'แบงค์ วงแคลช' มาเป็นพรีเซนเตอร์ ต่อกรกับ 'เอ็ม 150' ซึ่งมีศิลปินวัยรุ่นเป็นพรีเซ็นเตอร์ติดต่อกันหลายปี

มาถึงปีนี้ศึกขยายฐานกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นของค่ายเครื่องดื่มชูกำลัง เริ่มขยายรูปแบบการแข่งขันมาที่กิจกรรมการทำตลาดโดยนำกลยุทธ์มิวสิกมาร์เกตติ้ง มาประชันเวทีคอนเสิร์ตร็อกพร้อมกันในวันเดียว ขณะที่ 'เอ็ม 150' จัดคอนเสิร์ต M-150 Power Concert ที่ลานน้ำพุ สยามพารากอน

ส่วน 'กระทิงแดง' นั้น ยึดลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ จัดคอนเสิร์ต 'THAILAND ROCK FESTIVAL กระทิงแดง' นับว่าเป็นการจัดกิจกรรมโดยเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นเทรนด์เซตเตอร์ของวัยรุ่น ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยลดภาพลักษณ์สินค้าเจาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานของเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งการจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ก็ทำให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาในย่านนี้ ได้มองเห็นถึงภาพลักษณ์ใหม่ของเครื่องดื่มชูกำลัง ที่วัยรุ่นนั่งดูคอนเสิร์ตพร้อมกับยกขวดขึ้นมาดื่ม

ปรากฏการณ์ที่ค่ายเครื่องดื่มชูกำลังออกมาเปิดศึกเวทีคอนเสิร์ตเพื่อช่วงชิงฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่ในย่านวัยรุ่นกลางเมืองนั้น ยังได้รับผลกระทบจากมรสุมฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยด้วย ซึ่งในจุดที่กลุ่มแรงงานลดลงนี่เองที่ทำให้ 'กระทิงแดง' เสียเปรียบและยิ่งต้องเบนเข็มมาให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมตลาดเพื่อทำให้แบรนด์ได้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น

สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ สานิต หวังวิชา ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ที่โรงงานปิดตัวสูงขึ้นทำให้ยอดขายของบริษัทในช่วง 2 เดือนแรกที่ผ่านมา ลดลงเป็นตัวเลขหลักเดียวเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งการทำตลาดด้วยการขยายฐานไปสู่กลุ่มวัยรุ่นจะเป็นการช่วยสร้างยอดขายรวมทั้งปีเติบโต 5% และมีส่วนแบ่งตลาด 15% ในตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง

การออกมาเคลื่อนไหวของคู่ปรับทั้ง 2 ค่าย นับว่าทำให้อุณหภูมิการทำตลาดในสมรภูมิเครื่องดื่มชูกำลังที่ไม่ค่อยมีกิจกรรมการทำตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นมากนักมีความร้อนแรงขึ้นมาทันที เพราะจากเดิมการแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ต่างก็เป็นผู้นำในตลาดซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน โดยที่ผ่านมา 'กระทิงแดง' ซึ่งครองตลาดฐานลูกค้ากลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มเดิมที่ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังมานาน เน้นการเดินสายจัดกิจกรรมรูปแบบงานวัด และทัวร์คอนเสิร์ตลูกทุ่งทั่วประเทศ

ส่วนเจ้าตลาด 'เอ็ม 150' ซึ่งกุมฐานลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ๆที่เริ่มดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง ที่ทำตลาดด้วยกลยุทธ์มิวสิกมาร์เกตติ้งในรูปแบบทัวร์คอนเสิร์ตที่มีทั้งฟรีคอนเสิร์ต และขายบัตรราคา 60 บาท แถมเอ็ม 150 1 ขวดฟรี โดยมีทั้งวงดนตรีร็อกและคอนเสิร์ตลูกทุ่งขาประจำจากแกรมมี่เดินสายทัวร์ทั่วประเทศ ดังนั้นกลยุทธ์การจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตเพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้าไปแบ่งชิ้นเค้กของ 'เอ็ม 150 ' ที่จะทำให้กระทิงแดงมียอดขายเติบโต คือพยายามเข้าไปแทรกตัวในพื้นที่ที่มีคู่แข่งหลักคือ 'เอ็ม 150' ยึดครองตลาดอยู่

มิวสิก มาร์เกตติ้ง ขยายฐานในเชิงรุก

จุดเปลี่ยนของตลาดเครื่องดื่มชูกำลังที่มุ่งขยายฐานตลาดใหม่ไปหาลูกค้ากลุ่มวัยรุ่น ทำให้แนวทางการตลาดต้องทำควบคู่กันซึ่งมีทั้งในเชิงรุกเพื่อขยายฐาน และเชิงรับเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม โดยจากเดิมที่การตลาดในเชิงรับด้วยกลยุทธ์สปอตมาร์เก็ตติ้ง เป็นสปอนเซอร์การแข่งขันกีฬาในประเภทต่างๆที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย อย่าง กีฬามวยตู้รอบเอ็ม 150 หรือสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอล ซึ่งถือว่าเป็นการทำตลาดหลักของเครื่องดื่มชูกำลังที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มแรงงาน แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ค่ายเครื่องดื่มชูกำลังเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการตลาดในเชิงรุกด้วยกลยุทธ์มิวสิกมาร์เกตติ้งมากขึ้น

การเคลื่อนทัพโดยมิวสิกมาร์เกตติ้งเป็นการตลาดนำทางนั้น เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของเบอร์หนึ่งเอ็ม 150 ที่มีการผูกสัญญากับศิลปินแกรมมี่ ซึ่งมีทั้งศิลปินที่เป็นเพลงร็อก และเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเป็นการทำตลาดแบบ Segmentation จากศิลปินที่เข้าถึงกลุ่มคนทำงาน และกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด ซึ่งจะมาช่วยสกัดคู่แข่งกระทิงแดง ที่เริ่มขยายตลาดเข้าหากลุ่มลูกค้าในเมือง

อีกทั้งเสริมศักยภาพให้กับกลยุทธ์มัลติแบรนด์ของค่ายโอสถสภา ซึ่งในระยะหลังโอสถสภาเริ่มดึงแบรนด์อื่นๆออกมาทำตลาด เพราะนอกจากเอ็ม 150 และลิโพวิตันดี จะเป็นแบรนด์ที่ติดตลาดทำรายได้แล้ว ยังมีกลุ่มไฟติ้งแบรนด์คือฉลาม และ .357 ล่าสุดก็มีการเคลื่อนไหวการตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง 'ฉลาม' ที่มีภาพยนตร์โฆษณาผ่านสื่อทีวี ซึ่งมี เทพ โพธิ์งาม เป็นพรีเซนตอร์ และกิจกรรมการจัดคอนเสิร์ตลูกทุ่ง เอกชัย ศรีวิชัย ซึ่งเป็นการแสดงคอนเสิร์ตตระเวนไปทั่วประเทศ

ล่าสุด 'กระทิงแดง' เครื่องดื่มชูกำลังเบอร์สองในตลาดออกมาเคลื่อนไหวในเชิงรุก โดยใช้กลยุทธ์ มิวสิก มาร์เกตติ้ง เป็นกลยุทธ์ในการขยายตลาดสู่กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่มากขึ้น โดยปีนี้วางแผนจัดคอนเสิร์ตครั้งใหญ่รวม 7 ครั้งตลอดปี จากปีที่ผ่านมาจัดงานเพียง 4 ครั้งต่อปี นอกจากนั้นยังทุ่มงบ 43 ล้านบาท เพื่อจัดอีเวนต์มิวสิกมาร์เกตติ้ง "KTD THAILAND ROCK FESTIVAL On The Beach" เทศกาลดนตรีรวมกับเทศกาลท่องเที่ยว โดยมีศิลปินร่วมงาน 35 วง ริมชายหาดฐานทัพเรือสัตหีบ ในวันที่ 28-29 มี.ค.นี้

ภาพวัยรุ่นเดินเบียดเสียดเข้าซื้อเครื่องดื่มชูกำลัง 2 ขวด เพื่อนำ 'ฝา' มาแทนบัตรผ่านประตูเข้าไปในงานคอนเสิร์ต ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ในวงการเครื่องดื่มชูกำลังแต่อย่างใด เพราะเป็นความพยายามของบรรดาผู้ประกอบการทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น คาราบาวแดง กระทิงแดง เอ็ม 150 ฉลาม และอื่นๆ ที่ต้องการขยายฐานผู้บริโภคที่เป็น Core Target เดิมๆที่เป็นกรรมกร คนใช้แรงงาน เกษตรกรคนรากหญ้า ไปยังคนทำงานตามออฟฟิศ วัยรุ่น หรือแม้แต่บรรดาสาวน้อย สาวใหญ่ทั้งหลาย

เพียงแต่ความต้องการเจาะตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะวัยรุ่นในวันนี้ยิ่งชัดเจน และเข้มข้นมากขึ้น แม้ภาพของเครื่องดื่มชูกำลังในวันนี้ยังไม่สามารถสลัดหลุดจากเครื่องดื่มชูกำลังมาเป็นซอฟต์ดริงก์ที่สามารถดื่มได้ทุกที่ และดื่มได้ทุกโอกาส ดังที่หลายค่ายพยายาม Re-positioning กันอยู่

แนวคิดในการขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่นี้ถือเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะขยายตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นเองเดิมทีก็ดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้อยู่แล้ว แต่ความถี่อาจจะมีไม่มากนัก อาจเป็นการดื่มในช่วงที่ต้องอ่านหนังสือเตรียมสอบตอนดึก ซึ่งการสร้างภาพใหม่ให้เครื่องดื่มชูกำลังเป็นซอฟต์ดริงก์จะทำให้โอกาสในการดื่มมีมากขึ้น

ขณะที่ในหลายประเทศมองว่าเครื่องดื่มชนิดนี้เป็นซอฟต์ดริงก์ตัวหนึ่งที่เป็นทางเลือกใหม่ของพวกเขา

กระป๋องผสมโซดา ยึดหัวหาด 'วัยโจ๋'

ค่ายที่กระโจนเข้ามาสร้างตลาดวัยรุ่นอย่างจริงจัง น่าจะได้แก่ ค่ายกระทิงแดง และค่ายโอสถสภา โดยค่ายแรกเคยส่งเรดบูล เอ็กซ์ตร้า ลงตลาดพร้อมกลยุทธ์ทั้ง มูฟวี่ มาร์เกตติ้ง มิวสิก มาร์เกตติ้ง และสปอร์ตมาร์เกตติ้ง กับกีฬา Extreme อย่างเต็มสูบ ซึ่งเป้าหมายของการนำกลยุทธ์ มูฟวี่มาร์เกตติ้ง มาใช้นั้น เรดบูล ต้องการที่จะใช้เป็นตัวสะท้อนภาพของความเป็นแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก

เรดบูล ซี่งเป็นเครืองดื่มคาร์บอเนต (ผสมโซดา) ที่ถือเป็นซอฟต์ดริงก์ที่โด่งดังทั่วโลกและส่วนใหญ่คนตะวันตกนิยมดื่ม โดยเฉพาะในอเมริกาที่เรดบูลกลายเป็นเครื่องดื่มของผู้บริโภคระดับบน และเป็นที่นิยมในหมู่ดาราฮอลลีวูด ซึ่งเรดบูลต้องการสะท้อนภาพตรงนั้นมายังการทำตลาดในเมืองไทยผ่านทางกลยุทธ์ Movie Marketing

ในประเทศไทย เรดบูล เอ็กซ์ตร้า เข้ามาทำตลาดโดยวางตำแหน่งเป็น Extra Ordinary และวางตลาดในรูปแบบของแพกเกจจิ้งกระป๋องที่ยังไม่มีใครใช้ในตลาด แทนขวดสีชาที่มีภาพลักษณ์ของเครื่องดื่มชูกำลัง อีกทั้งการทำตลาดจะไม่มีคำใช้แทนตัวเองว่า Energy Drink พร้อมทั้งทำกิจกรรมการตลาดเพื่อเล่นกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่รวมถึงการเข้าไปทำกิจกรรมในผับเพื่อสร้างรูปแบบการดื่มเป็นมิกเซอร์ ซึ่งเป็นจุดที่เรดบูลประสบความสำเร็จมาแล้วในต่างประเทศ โดยกิจกรรมการตลาดทั้งหมดจะเป็นการสะท้อนถึงตำแหน่งของเรดบูลในการเป็นเครื่องดื่มของคนที่ไม่ธรรมดา

เป้าหมายของเรดบูล เอ็กซ์ตร้า อยู่ที่การสร้างตัวสินค้าให้กลายเป็นเครื่องดื่มซอฟต์ดริงก์เป็นคนละภาพกับเครื่องดื่มชูกำลังที่มีอยู่ในท้องตลาด ซึ่งถ้าสามารถสร้างภาพให้เป็นซอฟต์ดริงก์ได้ก็จะมีรูปแบบการดื่มที่หลากหลายออกไป

ส่วนค่ายโอสถสภาก็เปิดตัว M Max ออกมาเจาะตลาดวัยรุ่น พร้อมทั้งลอนช์ เอ็ม 150 ภายใต้รูปโฉมใหม่ พร้อมใช้กลยุทธ์ มิวสิกมาร์เกตติ้ง เป็นตัวชูโรง นำ 4 นักร้องชื่อดัง คือ มอส - โต ซิลลี่ ฟูลส์ - เสก โลโซ และเคท ไบรโอนี่ เพื่อเป็นตัวแทนของคน 4 กลุ่ม คือ ป๊อป, ร็อก, ร็อก ป๊อป และกลุ่มวัยรุ่นผู้หญิง มีการยิงหนังโฆษณาที่นักร้องทั้ง 4 เป็นพรีเซนเตอร์ ก่อนจะตัดเหลือเพียง เสก โลโซ โดยใช้คอนเซ็ปต์ไม่มีลิมิต ชีวิตเกินร้อย เป็นแบรนด์ ไอเดีย ในการสื่อสารกับผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ซึ่งยังเป็นคอนเซ็ปต์เดียวกับปัจจุบันแม้จะเปลี่ยนพรีเซนเตอร์ชุดใหม่มาเป็น แด็กซ์ บิ๊กแอส กับปั๊บ โปเตโต้ แล้วก็ตาม

กรณีของ เอ็ม 150 อาจจะแตกต่างจากกระทิงแดงตรงที่ กระทิงแดงขยายตลาดมาที่กลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นโดยใช้เรดบูล เอ็กซ์ตร้า ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ยังไม่เคยส่งลงตลาดเมืองไทยเป็นหัวหอกในการขยายเข้าไป ขณะที่เอ็ม 150 จะมีความต่อเนื่องในการทำตลาดมากกว่า แต่ไม่ว่าจะอย่างไรความพยายามของทั้งคู่ก็เป็นความต้องการที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของตน และขยายตัวเลขการเติบโตของตลาดเครื่องดื่มชูกำลังให้กลับมากระดี๊กระด๊าได้อีก

ผ่ากลยุทธ์ครองตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง

ผศ.ดร.ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ นักกลยุทธ์การตลาด ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังเป็นตลาดที่ไม่มีการเติบโต แต่คาดการณ์ว่าในครึ่งปีหลัง สถานการณ์น่าจะดีขึ้นจากนโยบายต่างๆของภาครัฐที่มีการอัดฉีดเงินเข้ามากระตุ้นกำลังซื้อและลดปัญหาการว่างงาน ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ยอดขายของเครื่องดื่มชูกำลังลดลง ซึ่งต้องยอมรับว่าสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังมีฐานลูกค้าใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เกี่ยวเนื่องทั้ง ภาคการขนส่ง การบริการ และในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ดังนั้นเมื่อกำลังซื้อและจำนวนฐานลูกค้ากลุ่มแรงงานลดลงนั้น ก็ส่งผลทำให้แต่ละแบรนด์ที่อยู่ในตลาดนี้ต่างพากันขยับขยายไปสร้างฐานลูกค้าใหม่เป็นกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นความพยายามที่จะทำตลาดให้เป็นไปในทางเดียวกับการทำตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท และเป็นสินค้าที่ทำตลาดแข่งขันกับเครื่องดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ และน้ำผลไม้ เพราะเป็นเครื่องดื่มที่นิยมของกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น โดยใช้การทำตลาดในรูปแบบสปอตมาร์เกตติ้งเป็นกลยุทธ์หลัก

กลยุทธ์การตลาดที่นำมาใช้จะเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับสินค้า เนื่องจากเครื่องดื่มชูกำลังเป็นตลาดที่ใช้ต้นทุนถูก เพราะมีกระบวนการผลิตไม่ยุ่งยาก โดยการสรรหาวัตถุดิบซึ่งส่วนใหญ่เป็น น้ำตาล และกาเฟอีนนั้นหาไม่ยาก ซึ่งทำให้เป็นธุรกิจที่น่าสนใจ และทำให้ค่ายใหญ่อย่างเบียร์ช้างก็สนใจเข้าไปเทกโอเวอร์แบรนด์ที่อยู่ในตลาดมาเสริมศักยภาพในการทำตลาดกลุ่มนอนแอลกอฮอล์

แต่ด้วยสภาพตลาดที่ไม่มีการเติบโต ทำให้ผู้เล่นในตลาดแต่ละค่ายใช้กลุยทธ์การทำตลาดที่ไม่เหมือนกัน จากเดิมคีย์ซัคเซสในการทำตลาดคือการชิงโชคของรางวัลใต้ฝา ทว่าเมื่อมีกฎหมายมาควบคุมทำให้ต้องปรับวิธีการทำตลาดใหม่มาเป็นการทำกิจกรรมการตลาดในรูปแบบมิวสิกมาร์เกตติ้ง ควบคู่สปอร์ตมาร์เกตติ้ง ที่มีการโชว์สินค้าตัวอย่างหน้างาน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ขยายฐานได้มากขึ้น อีกทั้งการยกภาพลักษณ์สินค้าด้วยกิจกรรมในเชิงซีเอสอาร์ เพราะเป็นธุรกิจที่มีภาพลักษณ์ไม่ดีเนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน

ที่สำคัญภาพรวมตลาดที่ไม่มีการเติบโตทำให้เครื่องดื่มชูกำลังวางหมากจะขยายฐาน โดยการส่งออกไปตลาดต่างประเทศตามกระทิงแดงที่เป็นทัพหน้าไปก่อน รวมถึงการขยายฐานไปสู่กลุ่มวัยรุ่น และคนทำงาน ซึ่งในจุดนี้จำเป็นต้องปรับ Re-Positioning สินค้าเพื่อปรับภาพลักษณ์ใหม่ เพราะจะต้องเข้าไปแข่งขันช่วงชิงตลาดกับเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฟังก์ชันนัลดริงก์ น้ำอัดลม และน้ำผลไม้ ขณะที่แนวทางการทำ ตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ที่จับกลุ่มผู้ใช้แรงงานนั้น ต้องมีการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับกำลังซื้อโดยนำสินค้าที่วางขายในตลาดมาปรับปรุง โดยใช้กลยุทธ์ไซซิ่งที่คำนึงถึงเรื่องราคาเป็นหลัก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.