|
แบงก์โหดไล่ฟ้องลูกหนี้ปี51-52คดีล้มละลายพุ่ง
ผู้จัดการรายวัน(20 มีนาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ใช้มาตรการโหด! ลุยฟ้องล้มละลายธุรกิจ-รายย่อย หวังคุมหนี้เสียท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ จับตาปี 52 คดีพิทักษ์เด็ดขาดพุ่งเกิน 2 แสนล้าน กรมบังคับคดีรับเรื่องสูงเกินกว่า 2 หมื่นเรื่องต่อปี “อธิบดีฯ” เดินหน้าเร่งรัดขายทรัพย์ให้ได้เป้าทั้งปี 1.2 แสนล้านบาท เล็งขยับค่าเลี้ยงชีพลูกหนี้สูงกว่าเพดาน 70% เหตุภาวะเศรษฐกิจทรุด
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งในสหรัฐฯและลุกลามไปยังภาคธุรกิจการเงินต่างๆในแต่ละประเทศ ได้ก่อผลอย่างหนักและซ้ำเติมต่อเศรษฐกิจไทย โดยมีการคาดการณ์ว่า จีดีพีไทยปี 52 จะขยายตัวติดลบ จนทำให้รัฐบาลต้องเร่งหามาตรการต่างๆมารองรับ “แรงอัด” จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก
อย่างไรก็ตาม แนวทางที่รัฐบาลได้ดำเนินการและพยายามแก้ไข ถือเป็นมาตรการป้องกันปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของทุกภาคธุรกิจ มิให้กลายสภาพเป็นหนี้เสีย จนเกิดผลเสียต่อสถาบันการเงินได้ ดังนั้น กรมบังคับคดี สังกัดกระทรวงยุติธรรม จึงต้องเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานบังคับคดีทางแพ่งและเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย ในการจัดการคดีต่างๆให้ลุล่วง
นายสิรวัต จันทรัฐ อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยถึงภารกิจของกรมฯ จากนี้ว่า มีหลายส่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยแนวทางแรก กรมฯมีหน้าที่สำคัญที่ต้องบังคับคดีให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลในการยึดทรัพย์ ขณะเดียวกันการบังคับใช้กฎหมายจะต้องยึดหลักความถูกต้องเป็นธรรมและเสมอภาคกับทุกฝ่าย ประชาชนต้องได้รับการอำนวยความสะดวก และการดูแลข้าราชการที่เดือนร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย ได้มีโอกาสทำงานหรือย้ายที่ทำงานใกล้กับภูมิลำเนา จากที่กรมฯมีสาขาอยู่ประมาณ 105 สาขา ซึ่งวิธีการนี้ จะช่วยให้ข้าราชการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดต้นทุนเกี่ยวกับค่าครองชีพลงได้
นอกจากนี้ ทางกรมฯได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารสาขาตามภาคต่างๆ เพื่อให้มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่สาขาให้มากขึ้น โดยได้ดำเนินการยุบภาคเหลือเพียงสาขาบังคับคดีที่จะประสานการทำงานกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ ทำให้งานต่างๆ เกิดความคล่องตัว
วางเป้าผลักดันทรัพย์ 1.2 แสนล้าน
สำหรับเป้าหมายในเชิงผลการดำเนินงานของกรมฯในปีงบประมาณ 2552 (ต.ค.51-ก.ย.52) อธิบดีฯกล่าวว่า คงต้องแยกเป็นเป้าหมายในส่วนของดำเนินการบังคับคดีแพ่ง ซึ่งจะเกี่ยวกับข้องกับการเร่งรัดจำหน่ายทรัพย์ ที่เกิดจากการบังคับคดีและยึดทรัพย์มา เนื่องจากปริมาณที่คงค้างอยู่ในกรมฯมีจำนวนมาก ซึ่งถ้าเราไม่รีบเร่งผลักดันออกไป ก็จะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ต่อมูลค่าทรัพย์ รวมถึงเจ้าหนี้ไม่ได้รับเงินตามที่หวังไว้
“แต่ถ้าหากเราผลักดันทรัพย์ออกไปเร็ว ย่อมเป็นเรื่องที่ดีต่อการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ ผู้ซื้อก็อาจจะต้องมีการปรับปรุงทรัพย์ให้มีสภาพดีขึ้นกว่าเดิม ก็จะทำให้ตลาดวัสดุก่อสร้างปรับตัวดีขึ้น มีการจ้างแรงงานในตลาด ”อธิบดีกรมฯกล่าวและว่า ผลการเร่งรัดจำหน่ายทรัพย์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบ52 (ต.ค.51-ม.ค.52) สามารถเร่งรัดได้ 53,000 ล้านบาท จากเป้าทั้งปี 120,000 ล้านบาท โดยตัวเลขคงค้างของคดีแพ่งมีอยู่ประมาณกว่า 210,673 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยและคาดว่าตลอดปีงบประมาณ 52 ปริมาณการบังคับคดีและยึดทรัพย์จะมีปริมาณไหลเข้ากรมฯอย่างมาก
ดังนั้น ทางกรมฯได้วางกลยุทธ์ในการลดอุปสรรคทางด้านเป้าหมาย โดยทางกรมฯจะต้องประกาศและประชาสัมพันธ์ขายทรัพย์ให้มาก การประชาสัมพันธ์เรื่องการวางทรัพย์ให้ลูกหนี้ได้รับรู้ เนื่องจากในบางกรณี ลูกหนี้หลงลืมหรือเจ้าหนี้อาจจะหวังผลในทรัพย์สินชิ้นนั้น ด้วยเหตุของมูลค่าทรัพย์ที่สูงกว่าหนี้ จึงหวังจะยึดทรัพย์ของลูกหนี้ เป็นต้น
“กระบวนการขายทอดตลาดนั้น นโยบายของผมที่วางไว้ ต้องทำให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งการขาย กรมฯก็มีหลักเกณฑ์ในการขาย กำหนดราคาเริ่มต้น 80% ของราคาประเมิน ซึ่งการขายจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน แต่หากเคาะขายไม่ได้ ก็จะมาเริ่มครั้งที่สอง ที่ 50% ของราคาประเมิน อย่างไรก็ดี ในกรณีที่การขายทอดตลาดทรัพย์นั้นๆ หากไม่พอมูลหนี้ ก็คงเป็นสิทธิเจ้าหนี้ที่จะยึดทรัพย์ลูกหนี้ต่อ ซึ่งกรมบังคับคดีก็เห็นใจในเรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องของระบบ ที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องคุยกัน ”อธิบดีฯกล่าวและยอมรับว่า ที่ผ่านมา กรมฯถูกมองเป็นจำเลยสังคม ซึ่งเราก็เข้าใจดี ดังนั้น เราต้องทำประชาสัมพันธ์ ทำทุกอย่างให้ชัดเจน โปร่งใส
เตือนรับมือคดีล้มละลายพุ่ง
อธิบดีฯกล่าวว่า นอกจากคดีแพ่งที่มีคดีมากขึ้นอย่างผิดปกติแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงและกำลังกลายเป็นปัญหาที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของเศรษฐกิจคือ ยอดคดีล้มละลายที่สูงอย่างมาก ซึ่งจากสถิติคดีล้มละลาย ที่เป็นคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนเรื่องเพิ่มขึ้น โดยในปี 2550 มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด 13,452 เรื่อง แยกเป็น นิติบุคคล 1,428 ราย บุคคลธรรมดา กลับมีตัวเลขสูงอย่างน่าตกใจเพิ่มเป็น 27,422 ราย รวมทุนทรัพย์ 161,222 ล้านบาท
ส่วนในปี 51 หากพิจารณาจากตัวเลขแล้ว จะดูน้อย เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญคือช่วงเดือนธ.ค. หน่วยงานราชการต่างๆ รวมถึงศาลล้มละลายกลาง จะต้องย้ายไปยังศูนย์ราชการแห่งใหม่บนถนนแจ้งวัฒนะ โดยจะเป็นตัวเลขเฉพาะระหว่างเดือนม.ค.ถึงพ.ย.เท่านั้น นั้นหมายความว่า ในปี 2552 จะมีตัวเลขคดีล้มละลายที่ค้างอยู่ที่ศาลฯทะลักเข้ามาเพิ่มในปี 52 ผิดปกติอย่างมาก โดยได้มีการสอบถามไปยังศาล ได้รับข้อมูลว่า มีเรื่องค้างศาลล้มละลายกลางอยู่ประมาณ 15,164 เรื่อง
“ มั่นใจได้เลย ปี 52 คดีล้มละลายพุ่งขึ้นเยอะแน่ ซึ่งตามปกติแล้ว จำนวนเรื่องของคดีล้มละลายต่อปีจะไม่มากประมาณพันกว่าคดี แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขขยับขึ้นมากเกินกว่าหมื่นเรื่อง สาเหตุที่ทำให้เกิดการฟ้องล้มละลายค่อนข้างมาก เนื่องมาจากหลายสาเหตุ แต่หลักๆมาจากภาพรวมของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแย่ สถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ ดำเนินการฟ้องร้อง เพื่อหวังเคลียร์หนี้ ซึ่งทางกรมฯคงต้องเตรียมรับมือกับปริมาณงานที่มากขึ้น แม้ว่ากำลังเจ้าหน้าที่จะน้อยก็ตาม ”
และเมื่อพิจาณาลงลึกถึงสถิติภูมิลำเนาลูกหนี้ที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ตัวเลขในภูมิลำเนาต่างจังหวัดกลับมีปริมาณที่มากขึ้น กล่าวคือ ในปี 2549 มีถึง 6,908 เรื่อง กรุงเทพฯ 3,655 เรื่อง ปี 50-51 ต่างจังหวัดเพิ่มเป็น 13,127 และ 8,836 เรื่อง
สำหรับสถิติคดีล้มละลาย ในส่วนที่บุคคลที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลาย พบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยังเกิดตัวเลขสูงขึ้น กล่าวคือ ในปี 2550 มี 5,505 เรื่อง แยกเป็น นิติบุคคล 695 ราย บุคคลธรรมดา 7,240 ราย รวม 7,935 ราย ปี 2551 จำนวน 5,637 เรื่อง เป็นนิติบุคคล 541 เรื่อง บุคคลธรรมดา 7,482 เรื่อง รวม 8,023 เรื่อง (เฉพาะ 1 ม.ค.-30 พ.ย.51)
เล็งขยับให้ค่าเลี้ยงชีพลูกหนี้
ในประเด็นเกี่ยวกับการดูแลลูกหนี้นั้น นายสิรวัต กล่าวว่า กรมฯมีเกณฑ์ในการดูแลเรื่องการดำรงชีวิตของลูกหนี้ เช่น การให้มีเครื่องนุ่มห่มเพื่อหลับนอนหรือเครื่องใช้ในครัวเรือนหรือเครื่องใช้สอยส่วนตัวโดยรวมประมาณรวมกันราคาไม่เกิน 50,000 บาท หรือ กรณีที่ศาลเห็นสมควรในการกำหนดทรัพย์สินดังกล่าวที่มีราคาเกิน 50,000 บาท ให้เป็นทรัพย์สินที่ไม่ต้องอยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดีก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นตามฐานะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
รวมถึงในกรณีเงินเดือนเงินรายได้ของลูกหนี้นั้น กรมฯจะยึดเงินไว้ทั้งหมด แล้วให้ลูกหนี้มาขอค่าเลี้ยงชีพ ซึ่งจะพิจารณาตามฐานานุรูปของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้มีรายได้ 10,000 บาท กรมบังคับคดีจะยึดและเก็บไว้ประมาณ 3,000 บาท ที่เหลือให้ค่าเลี้ยงชีพลูกหนี้ 7,000 บาท หรือคิดเป็น 70% ของค่าเลี้ยงชีพ แต่หากจะให้สูงกว่าเพดานสูงสุดที่ 70% นั้น ก็ต้องมีการพิจารณาเป็นรายกรณีไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|