|
กระเบื้องตราช้างรับมือศก. ชู5กลยุทธ์พยุงยอดขายสูงกว่าตลาด
ผู้จัดการรายวัน(18 มีนาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้บริหารกระเบื้องกระดาษไทยเครือSCG คาดตลาดผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ปี 52 หดตัวกว่า15% ตามภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลมูลค่าตลาดรวมหดเหลือ 18,000 ล้านบาท จากเดิม 20,000 ล้านบาท พร้อมปรับแผนผุด 5 กลยุทธ์พัฒนาผลิตภัณฑ์ การทำตลาดผ่านโปรโมชันร่วมบริษัทในเครือ เพิ่มยอดส่งออกเป็น 5% หวังรักษายอดขายเท่าปี 51
นายพันเทพ สุภาไชยกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กระเบื้องกระดาษไทย จำกัด (บกด.) ในเอสซีจี ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (อดีตผู้บริหารระดับสูงบริษัท สยามมิชลิน จำกัด )กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ตลาดรวมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างไฟเบอร์ซีเมนต์ คาดว่า มีมูลค่าตลาดรวมที่ 20,000 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ประมาณ 4% ส่วนในปี 2552 ประมาณการว่าตลาดรวมจะมีอัตราการขยายตัวลดลงประมาณ15% หรือมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 18,000 ล้านบาท
ซึ่งในส่วนของบริษัท กระเบื้องกระดาษไทยฯ มียอดขายรวมในปีที่ผ่านมา 6,000 ล้านบาท หรือมีส่วนแบ่งตลาดรวมอยู่ประมาณ 30% โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้ แบ่งออกเป็น ผลิตภัณฑ์หลังค้าตราช้าง 50% ส่วนที่เหลือ 50% จะมาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ฝ้า ผนังสมาร์ทบอร์ด ตราช้าง และผลิตภัณฑ์ทดแทนไม้สมาร์ทวูด ตราช้าง โดยในปี52นี้ บริษัทฯได้ตั้งเป้าว่าจะมียอดขายเท่าๆกับปีที่ผ่านมา หรืออาจจะลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย เนื่องจากตลาดรวมมีอัตราการเติบโตหดตัวลง ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในประเทศเติบโตลดลงอย่างรุนแรง
“ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจที่ถดถอย มีผลต่อการพัฒนาโครงการใหม่ และการปรับปรุงบ้านเดิม เพราะผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย ทำให้ บริษัทฯปรับเป้าประมาณการรายได้ตามภาวะที่เปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดรวมจะหดตัวสูงถึง15% แต่บริษัทเองก็พยายามจะรักษายอดขายไว้ในระดับเดิม หรือหากยอดขายหดตัวลง คงจะไม่สูงเท่ากับตัวเลขรวมของตลาดแน่นอน”
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนอยู่ในขณะนี้ บริษัทฯได้ปรับแผนการตลาด โดยวางกลยุทธ์การตลาดไว้ 5 แนวทาง ซึ่งกลยุทธ์ใน3 แนวทางแรก จะเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย 1.เน้นสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ ด้วย Eco product เช่น เน้นผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 2.การนำเสนอสินค้าอย่างเป็นระบบเช่น การนำเสนอสินค้าฝ้าและผนังอย่างเป็นระบบ ทั้งระบบกันร้อน กันเสียง ทนไฟ 3.การพัฒนาสินค้า HVA โดยการมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม สร้างสรรค์สินค้าให้ดีขึ้นทั้งในด้านรูปลักษณ์ และการใช้งาน
ส่วนแนวทางที่4.และ 5. จะเป็นกลยุทธ์การทำตลาด คือ การจัดโปรโมชันร่วมกับพันธมิตร และการเพิ่มช่องทางการขายสินค้า เพื่อกระตุ้นตลาด ซึ่งจะเป็นการร่วมมือกับบริษัทในเครือSCG ทั้งหมด นอกจากนี้จะเน้นการขยายเพิ่มยอดการส่งออกไปในต่างประเทศ โดยตั้งเป้าว่าจะเพิ่มยอดส่งออกให้ได้ 5-6% ซึ่งในช่วงแรกจะมุ่งเน้นเจาะตลาดอาเซียนซึ่งมีฐานตลาดอยู่แล้ว และจะขยายไปในประเทศแอฟริกา และตะวันออกกลาง โดยใช้ช่องทางการจัดจำหน่ายของSCGช่วยในการทำตลาด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|