ยอดขาดดุลงบฯพุ่งเฉียดแสนล้าน สนองรัฐเร่งอัดฉีดเงินกู้เศรษฐกิจ


ผู้จัดการรายวัน(17 มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

คลังเผยฐานะการคลังเดือนกุมภาพันธ์มียอดขาดดุลเฉียดแสนล้านบาท ระบุผลจากเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณกว่า 1.7 แสนล้านเข้าสู่ระบบ ตามนโยบายการคลังของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ 5 เดือนแรกของปีมียอดขาดดุลรวม 3.24 แสนล้าน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ฐานะการคลังในเดือนกุมภาพันธ์ 52 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 8.04 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 2.78 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมหลักจัดเก็บได้ลดลง โดยภาษีที่จัดเก็บต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่ผ่านมาที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม อากรขาเข้า ภาษีรถยนต์ และภาษีธุรกิจเฉพาะ นอกจากนี้ในเดือนนี้ได้มีการจัดสรรรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พรบ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ฯ งวดที่ 1 จำนวน 8.6 พันล้านบาท

โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1.79 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 6.1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวเป็นรายจ่ายประจำ 1.32 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว โดยเป็นผลจากรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังจำนวน 2.75 หมื่นล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 3.38 หมื่นล้านบาท เนื่องจากได้มีรายจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. 2.6 หมื่นล้านบาท และรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 1.3 หมื่นล้านบาท

จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลข้างต้นส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ขาดดุล 9.92 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 5 หมื่นล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากการได้รับชดใช้เงินคงคลังจำนวน 2.75 หมื่นล้านบาท การออกตั๋วเงินคลังสุทธิจำนวน 9 พันล้านบาท และได้รับรายได้ส่วนเกินจากการออกพันธบัตรจำนวน 2.4 พันล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 4.84 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้ชดเชยการขาดดุลด้วยการกู้เงินโดยออกพันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงิน และตั๋วเงินคลัง จำนวน 6.95 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดหลังกู้ชดเชยการขาดดุลเกินดุลจำนวน 2.1 หมื่นล้านบาท

สำหรับฐานะการคลังในช่วง 5 เดือนแรกปีงบประมาณ 52 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 4.52 แสนล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 8.2 หมื่นล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีที่สำคัญ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรขาเข้า และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมลดลง รวมทั้งการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่ลดลงมาก ในขณะที่การคืนภาษีของกรมสรรพากรเพิ่มขึ้นมาก

รายจ่ายรัฐบาล การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 7.76 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.06 แสนล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน 7.06 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่าย 38.5% ของวงเงินงบประมาณ โดยแบ่งออกเป็นรายจ่ายประจำ 5.92 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 19.8% และรายจ่ายลงทุน 1.13 แสนล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา 3.8% และรายจ่ายปีก่อน 6.9 หมื่นล้านบาท

ด้านดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาล ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุล 3.24 แสนล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการได้รับชดใช้เงินคงคลังจำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท ทำให้ดุลการคลัง (ดุลเงินสด) ของรัฐบาลขาดดุล 2.99 แสนล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้บริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงิน รวมทั้งเพื่อเป็นการประหยัดภาระดอกเบี้ย จึงได้ชดเชยการขาดดุลดังกล่าวด้วยการออกพันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงิน และตั๋วเงินคลังจำนวน 1.28 แสนล้านบาท และใช้เงินคงคลัง 1.7 แสนล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.