คอทองแดงซื้อตุนไว้แล้วหยามรัฐไม่หวั่นห้ามขายเบียร์อาชาปรับใหญ่รอบ5ปี


ผู้จัดการรายวัน(17 มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ไทยเบฟฯ ชี้รัฐรีดภาษีน้ำเมา กระทบสินค้าต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นตามต้นทุน ฉวยเศรษฐกิจตกสะเก็ด คนซดเบียร์ราคาถูก อัดฉีด 50 ล้านบาท ลุยปั้นอาชาครั้งแรกรอบ 5 ปี ระเบิดแคมเปญโฆษณา ปัดฝุ่นภาพลักษณ์ให้ชัดเจน มีความทันสมัย ทะลวงคอเบียร์ต่างจังหวัด เจาะช่องทางออฟพรีมิส สิ้นปีโกยแชร์จาก 12% เพิ่มเป็น 15%

นายชาลี จิตจรุงพร รองผู้อำนวยการสำนักการตลาด บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์ช้าง อาชา และเฟดเดอร์บรอย เปิดเผยว่า จากกรณีภาครัฐมีแนวทางจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น โดยในแง่ของผู้ประกอบการหากภาษีเพิ่มขึ้นก็ต้องปรับราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ย่อมส่งผลกระทบต่อยอดขายแน่นอน เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังการใช้เงิน และมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่ถูก แต่ต้องมีรสชาติที่ดี อย่างไรก็ตามการจัดเก็บที่เพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้

ส่วนกรณีแนวทางห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงสงกรานต์ เชื่อว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคปรับเปลี่ยน โดยซื้อสินค้ามากักตุนเพื่อดื่มในช่วงดังกล่าว มองว่าภาครัฐควรรณรงค์การให้ความรู้การดื่มอย่างถูกวิธีมากกว่า

สำหรับแนวทางการตลาดในช่วงต้นปี บริษัทรุกทำตลาดเบียร์อาชาครั้งแรกในรอบ 5 ปี เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาไม่สูง ขนาด 640 มล. ราคา 29-32 บาท และขนาด 330 มล. ราคา 19-22 บาท สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์ 5.2% ไม่สูงมากนักรับสอดรับกับเทรนด์ของกลุ่มเป้าหมายที่ดื่มเครื่องดื่มดีกรีต่ำลง โดยบริษัทได้ทุ่มงบ 50 ล้านบาท เปิดตัวแคมเปญโฆษณาเบียร์อาชาใหม่ ภายใต้คอนเซปต์ “สัมพันธภาพที่ตัดกันไม่ขาดระหว่างเพื่อน” เพื่อสร้างภาพลักษณ์สินค้าให้มีความชัดเจนมากขึ้น และมีความทันสมัย

พร้อมกันนี้บริษัทได้ยังปรับโลโก้ใหม่ ซึ่งจากนี้จะมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง นำร่องจัดการแข่งขันประกวดดนตรี “ชาวอาชาเนียน” ขึ้นเพื่อส่งเสริมความฝันคนรุ่นใหม่ สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายอายุ 20-25 ปี ทั้งนี้การทำตลาดอาชาบริษัทเน้นเจาะตลาดต่างจังหวัด ผ่านช่องทางออฟพรีมิสเป็นหลัก แตกต่างเบียร์ช้างเจาะกลุ่มเป้าหมายคนเมืองมากขึ้น และจากการดำเนินการตลาดเชิงรุก เบียร์อาชาตั้งเป้าเติบโต 20-30% หรือมีส่วนแบ่งเพิ่มจาก 12% เป็น 15% จากมูลค่าตลาดกว่า 1 แสนล้านบาท

“ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ทำให้ผู้ประกอบการระมัดระวังการใช้งบในการทำโฆษณา เราจึงถือว่าโอกาสในช่วงวิกฤตให้เป็นโอกาสสำหรับเบียร์อาชา จากที่ผ่านมาขาดการสื่อสารและการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง”

นายชาลี กล่าวว่า การทำตลาดในช่วงครึ่งปีแรกค่อนข้างลำบาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี สำหรับตลาดเบียร์ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาซบเซา แต่คาดว่าไตรมาส 2 หรือ 3 ผู้ประกอบการจะเริ่มกลับเข้ามาทำตลาด เพื่อหนีตายจากตลาดที่ซบเซา สำหรับสภาพตลาดเบียร์มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ในปีนี้คาดว่ามีอัตราการเติบโต 4-5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโต 3% แบ่ง อีโคโนมีกว่า 80% สแตนดาร์ดกว่า 10% ที่เหลือไม่ถึง 10% เบียร์พรีเมียม ที่หดตัวลง เพราะกลุ่มเป้าหมายหันมาดื่มเบียร์สแตนดาร์ดมากขึ้น เพราะราคาถูกกว่า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.