"THAI"เร่งการบินต้นทุนต่ำโต้ไม่เคยดึงสิงคโปร์เข้าร่วม


ผู้จัดการรายวัน(3 กันยายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

การบินไทย (THAI) เดินหน้าตั้งสายการบินต้นทุนต่ำ ถือหุ้นประมาณ 25-49% แยกขาดจากการบินไทย ตั้งเป้าบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายให้ต่ำที่สุด ทนงยันไม่เคยชวนสิงคโปร์ร่วม ยอมรับอาจกระทบเส้นทางในประเทศบ้าง ส่วนการบินไทยมุ่งเป้าแข่งขันระหว่างประเทศมากขึ้น ด้านผู้ถือหุ้นไฟเขียวสายการบินแห่งชาติออกหุ้นกู้ 40,000 ล้านบาท เล็งล็อตแรกต้น ต.ค.นี้ ส่วนหุ้นเพิ่มทุนคาดขายปลายปี ขณะที่ทนงอ้างซื้อเครื่องบินโละจากยูไนเต็ดแดนมะกันกว่า 1.35 หมื่นล้านบาท ประหยัดกว่าซื้อเครื่องใหม่

นายทนง พิทยะ ประธานคณะกรรมการบริษัท การบินไทย เปิดเผยวานนี้ (2 ก.ย.) ความคืบหน้าตั้งสายการบินต้นทุนต่ำว่า ขณะนี้ ที่ปรึกษากำลังเร่งสรุปผลศึกษาโดยหลักการ ต้องการตั้งบริษัทขึ้นมาดำเนินการ โดยแยกการปฏิบัติงานจากการบินไทย แต่การบินไทยถือหุ้น 25-49% เพื่อให้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่ำสุด และเพื่อให้คล่องตัวในการดำเนินงานมากที่สุด เน้นให้บริการ ในประเทศเป็นหลักก่อน ส่วนพันธมิตรร่วมทุน เขายืนยันว่าไม่เคยชวนสายการบินสิงคโปร์ร่วม

ไม่เคยชวนลอดช่องร่วมทุน

การหาพันธมิตรร่วมทุน ต้องเจรจาในราย ละเอียดกันมาก เพราะพันธมิตรต้องให้ประโยชน์กับสายการบินต้นทุนต่ำที่จะตั้ง โดยเฉพาะระบบสำรองที่นั่ง ที่ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีขายตั๋ว เพราะต้องหาวิธีบริหารจัดการให้สายการบินต้น ทุนต่ำบริหารได้โดยใช้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่ำสุด ขณะที่การบริหารของการบินไทย เน้นอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร การสำรองที่นั่ง ผู้โดย สารต้องการความมั่นใจ ความคล่องตัว โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมต่อจากต่างประเทศ

"การบินไทยจะไม่ถือหุ้นใหญ่แน่ ขณะนี้ มีสายการบินพันธมิตรสนใจเข้าร่วมจัดตั้งแล้ว แต่คงต้องอยู่ที่การเจรจา ยังไม่สรุปว่า จะต้อง มีกี่กลุ่ม หรือจะเป็นกลุ่มสายการบินภายในประเทศหรือไม่ โดยเป้าหมายในการจัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกใน การเดินทางภายในประเทศในราคาถูก นอกเหนือจากการเดินทางโดยรถบัส หรือรถไฟ ซึ่งจะทำให้สามารถทำธุรกิจสะดวกและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด" เขากล่าว

การบินไทยเลี่ยงแข่งนอกประเทศ

นายทนงยอมรับว่า การตั้งสายการบินต้น ทุนต่ำ จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการเส้นทางบินในประเทศของการบินไทยบ้าง แต่การบิน ไทยมีเป้าหมายจะมุ่งวิสัยทัศน์แข่งขันเส้นทางในภูมิภาค ระหว่างประเทศ และระหว่างทวีป มากขึ้น เพราะต้องการที่จะเป็นผู้นำหนึ่งในโลก

ซื้อเครื่องเก่ายูไนเต็ดยื้ออีก 6 เดือน

สำหรับการเจรจาซื้อเครื่องบินเก่าจากสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ แดนมะกัน นายทนงกล่าวว่า กำหนดเดิม ศาลมะกันนัดตัดสิน ต.ค.นี้ ว่ามีทรัพย์สินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ชิ้นไหนขายได้บ้าง แต่คาดว่า จะเลื่อนไปอีก 6 เดือน

เหตุที่การบินไทยต้องการซื้อเครื่องบินเก่าจากยูไนเต็ดแอร์ไลน์ นายทนงอ้างว่าเพราะจะได้ราคาต่ำกว่าเครื่องบินใหม่ 1ใน 3 ถือเป็นโอกาส แต่หากยังไม่สามารถซื้อได้ตอนนี้ ก็ไม่มีปัญหา บริษัทยังสามารถเก็บเงินที่ตั้งไว้ซื้อ 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.35 หมื่นล้านบาท) ไว้ก่อน

ส่วนภาวะการขาดแคลนเครื่องบินเนื่องจาก จำนวนผู้โดยสาร (Load Factor) ส.ค.เพิ่มเป็น 77% จาก ก.ค. 72% โดยเฉพาะเส้นทางยุโรป การ บินไทยจะใช้การบริหารจัดการเครื่องบินให้มีประ สิทธิภาพสูงสุด โดย ต.ค.นี้ จะได้รับมอบเครื่องบินใหม่ 2 ลำ ซึ่งรองรับความต้องการได้เพียงพอ

สำหรับการเช่าเครื่องบินใช้ช่วงที่ความต้องการสูง เป็นเรื่องละเอียดอ่อน การบินไทยเป็นสายการบินใหญ่ การเช่าเครื่องบินต้นทุนสูง อาจไม่คุ้ม เพราะเมื่อเช่า ต้องจัดการอีกหลายอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงเครื่องบินดังกล่าวให้เป็น การบินไทย จึงยังไม่มีการให้นโยบายเช่าเพียงช่วง สั้นๆ การบินไทยต้องปรับวิธีทำงาน วางแผนใช้เครื่องบิน กำหนดความถี่เส้นทางที่เหมาะสม

ผู้ถือหุ้นไฟเขียวออกหุ้นกู้ 40,000 ล้านบาท

วานนี้ บริษัท การบินไทยจัดประชุมวิสามัญ ผู้ถือหุ้น วาระสำคัญพิจารณาและอนุมัติแก้ไขข้อ บังคับข้อที่ 9 ของบริษัท เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 66/1 พ.ร.บ. บริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 ให้บริษัทซื้อหุ้นตัวเองคืนได้ และให้บริษัทออกและเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินบาท และ/หรือสกุลเงินอื่นเทียบเท่า วงเงินรวมไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี

นายทนงกล่าวว่า ที่ประชุมอนุมัติตามที่บริษัทเสนอ โดยแก้ไขข้อบังคับข้อที่ 9 จะทำให้บริษัทมีเครื่องมือการเงินที่จะสามารถระดมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ตลาดในประเทศที่ปัจจุบัน สภาพ คล่องการเงินสูง คาดว่าสัปดาห์หน้า เครดิตเรดติ้งจะประกาศดอกเบี้ย ซึ่งการบินไทยสามารถขายหุ้นกู้ได้เลย ส่วนหุ้นเพิ่มทุน คาดว่าจะขายได้ประมาณปลายปีนี้

ทางด้านนายกวีพันธ์ เรืองผกา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายการเงินและบัญชี การบินไทย กล่าวว่าการออกหุ้นกู้ครั้งนี้ เป็นครั้งแรก ของบริษัท เป้าหมายเพื่อนำเงินทดแทนเงินกู้ปัจจุบัน ที่ดอกเบี้ยสูง คาดว่าจะประหยัดดอกเบี้ยได้ประมาณ 3% ต่อปี ดอกเบี้ยปัจจุบันประ มาณ 5% ต่อปี ซึ่งคาดว่าจะออกได้ภายใน 2 เดือน หรือประมาณต้น ต.ค.เพราะต้องรอเครดิต เรตติ้งก่อน ส่วนจะเป็นจำนวนเท่าไร ขึ้นกับปัจจัยสถาบันการเงิน ผู้ลงทุนรายย่อย หรือภาวะตลาด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.