กสิกรฯลั่นขึ้นอันดับ1แบงก์แอสชัวรันส์


ผู้จัดการรายวัน(12 มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์กสิกรไทยบรรลุข้อตกลงในการเข้าลงทุนในเมืองไทยประกันชีวิตผ่านเมืองไทย โฟร์ทิส โฮลดิ้ง เตรียมขออนุมัติผู้ถือหุ้น 3 เม.ย.นี้ ลั่นครองอันดับ 1 ธุรกิจแบงก์แอสชัวรันส์ในอีก 2-3 ปี พร้อมหนุนสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มเป็น 30% ยันจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร แต่จะมีหารือเรื่องกรรมการ ขั้นต้นจากแบงก์ 7 คน ตระกูลล่ำซำ 3 คน และโฟร์ทิส 3 คน

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารกสิกรไทย ได้มีมติอนุมัติขยายการลงทุนในกลุ่มบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต และเมืองไทยประกันภัย ผ่านการถือหุ้นของบริษัท เมืองไทย โฟร์ทิส โฮลดิ้ง จำกัด ในสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 51% คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 6,500-7,500 ล้านบาท โดยมีกำหนดการขออนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของธนาคารในวันที่ 3 เมษายนนี้ และคาดว่าการซื้อขายหุ้นจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ภายหลังจากที่ธนาคารได้ดำเนินการตรวจสอบสถานะบริษัท (Due Diligence) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับเงินทุนที่ใช้ซื้อหุ้นครั้งนี้ ธนาคารมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ และทำให้ธนาคารรับรู้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากธุรกิจประกัน และมีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท ในปี 2552

ทั้งนี้ การเข้าถือหุ้นดังกล่าวไม่ได้ทำให้บริษัทเมืองไทยประกันชีวิตเป็นบริษัทในเครือธนาคาร เนื่องจากธุรกิจอื่นที่อยู่ในเครือธนาคารนั้นจะมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 100% อีกทั้งการเข้าถือหุ้นใหญ่ในเมืองไทย โฟร์ทิส นั้นจะมีการตกลงกันเกี่ยวกับตำแหน่งกรรมการอีกครั้งหนึ่ง โดยในเบื้องต้นน่าจะเป็นตัวแทนจากธนาคารกสิกรไทย 7 คน ตระกูลล่ำซำ 3 ตัวแทนจากโฟร์ทิส 3 แต่ทีมผู้บริหารของเมืองไทยประกันชีวิตยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง

"สำหรับสัดส่วนโครงสร้างการถือหุ้นใหม่นั้นภายหลังธนาคารกสิกรไทยเข้ามานั้น ทางธนาคารกสิกรไทยจะถือหุ้นในเมืองไทย โฟร์ทิส อยู่ที่ 51% ตระกูลล่ำซำ อยู่ที่ 40% และ โฟร์ทิสอยู่ที่ 9% ซึ่งการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้จะซื้อจากหุ้นเดิมและส่วนที่จะเพิ่มทุน"

นายประสารกล่าวว่า การร่วมมืองทางธุรกิจครั้งนี้ จะทำให้ธนาคารมีความแข็งแกร่งในการทำธุรกิจแบงก์แอลชัวรันส์มากขึ้น ซึ่งรวมถึงการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม โดยธนาคารตั้งเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมเป็น 30% ของรายได้รวมในอีก 2-3 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% ส่วนค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากการทำแบงก์แอลชัวรันส์กับเมืองไทยประกันชีวิตในช่วงที่ผ่านมานั้นมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 100 ล้านบาท เป็น 400 ล้านบาท และปีที่ผ่านมามีจำนวน 900 ล้านบาท

ด้านนายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ได้กล่าวถึงการเติบโตเฉลี่ยของธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาว่า เติบโตอยู่ที่ร้อยละ 11กอปรกับโอกาสในการตลาดยังคงมีอีกมาก อัตราเบี้ยประกันชีวิตเทียบกับค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Insurance Penetration Rate) จะอยู่ในระดับต่ำเพียงประมาณร้อยละ 2 ซึ่งค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชียจะอยู่ที่เกินกว่าร้อยละ 5-10 อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ นวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ การบริการ การสร้างความรู้ความเข้าใจและช่องทางการเข้าถึงประชาชนที่มากขึ้นจะช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการทำประกันชีวิตมากขึ้น

นายสาระกล่าวว่า สำหรับการที่จะลงนามสัญญาความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างเมืองไทยประกันชีวิต บริษัท โฟร์ทิส อินชัวรันส์ อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็น. วี. และธนาคารกสิกรไทยในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยบริษัทจะสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่เสริมการให้บริการทางการเงินของธนาคารได้อย่างกว้างขวางและครบถ้วนมากขึ้น

พร้อมไปกับการที่ธนาคารก็จะสามารถใช้ศักยภาพของทรัพยากรที่มีคุณภาพของตัวแทนกว่า 20,000 คนที่มีความพร้อมในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าซึ่งจะส่งผลดีอย่างยิ่งต่อทั้ง 2 องค์กร

นายเดมิส ซิงก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอเชีย บริษัท โฟร์ทิส อินชัวรันส์ อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็น. วี. กล่าวว่า การร่วมมือนี้เป็นการขยายพันธมิตรทางธุรกิจอันแข็งแกร่งในประเทศไทย ผ่านการผนึกกำลังสามฝ่ายระหว่างกลุ่มบริษัท โฟร์ทิส ธนาคารกสิกรไทย และเมืองไทยประกันชีวิต ซึ่งจะช่วยเสริมความเชื่อมั่นของกลุ่มบริษัท โฟร์ทิส ที่มีต่ออนาคตทางธุรกิจของเมืองไทยประกันชีวิต รวมถึงโอกาสในการเติบโตและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของบริษัทในระยะยาว โดยเราตั้งเป้าหมายว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เราจะขึ้นเป็นอันดับ 1 ของการทำธุรกิจแบงก์แอสชัวรันส์

กสิกรฯชี้สินเชื่อระบบ2เดือนติดลบ

นายประสาร กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกนี้อาจจะติดลบ เนื่องจากในช่วง 2 เดือนแรกของปีนั้นมีการติดลบอยู่ที่ 2% โดยยอดสินเชื่อคงค้างมีการลดลง ส่วนของธนาคารเอง 2 เดือนแรกก็มีการปล่อยสินเชื่อติดลบ 2% เช่นกัน แต่จากตัวเลขเป้าหมายของธนาคารแต่ละแห่งนั้นยังคาดว่าจะมีการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 5%

สำหรับปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจะถึงจุดสิ้นสุดเมื่อไหร่นั้นยังไม่สามารถตอบได้ และคงไม่มีใครกล้าจะทำนาย เพราะข่าวที่ออกมาในขณะนี้ยังคงไปในทิศทางขาลง อย่างไรก็ตามจากเดิมที่เคยคาดว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้นนั้นขณะนี้ก็คงต้องเลื่อนออกไปก่อน

"ตอนนี้ยังไม่เห็นตัวเลขการปล่อยสินเชื่อในเดือนมีนาคมว่าเป็นอย่างไร แต่ 2 เดือนที่ผ่านมายังติดลบ ทำให้คาดว่าในไตรมาสแรกสินเชื่อก็อาจติดลบได้ เพราะตอนนี้ยอดเบิกใช้น้อยมาก และส่วนที่ลดลงจะเป็นพวกเทรดไฟแนนซ์"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.