เมืองไทยประกันภัยกำไรหด ปี51ขาดทุนหุ้นแล้ว77ล้าน


ผู้จัดการรายวัน(11 มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

เมืองไทยประกันภัยโชว์ผลกำไรสุทธิ 56.7 ล้านบาทหดตัวกว่า 120 ล้านบาท รับอานิสงส์ตลาดหุ้นไทยผันผวนขาดทุนไปกว่า 77 ล้านบาท และขาดทุนทางบัญชี 120 ล้านบาท ขณะที่เบี้ยรับยังเติบโตด้วยดีกว่า 4 พันล้านบาท พร้อมขยายตลาดเฉพาะกลุ่มเพิ่มสัดส่วนรายได้ดันส่วนแบ่งการตลาดสู่อันดับ ที่ 5

นางกฤตยา ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด(มหาชน)MTI เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2551 มีเบี้ยประกันภัยรับตรงทั้งสิ้น 4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 18.9% ในส่วนเบี้ยประกันภัยรวมทั้งสิ้น 4.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 502.5 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการรับประกันภัย 1,079.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 197.96 ล้านบาท กำไรสุทธิ 56.79 ล้านบาท ลดลง 250.57 ล้านบาท โดยมีสาเหตุจากการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการควบกิจการ รวมถึงผลกระทบจากภาวะผันผวนและการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ โดยมีผลขาดทุนจากการขายหลักทรัพย์ประมาณ 77 ล้านบาท และมีส่วนขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น ประมาณ 120 ล้านบาท โดย ณ สิ้นปี 2551 บริษัทมีทรัพย์สินลงทุนประมาณ 3.9 พันล้านบาท ลงทุนใน หุ้น 30% ในตราสารหนี้ 42% และเงินฝาก 26%

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2552 บริษัทมีนโยบายให้เป็นปีแห่งการพัฒนากลยุทธ์ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ทั้งในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย การพัฒนาช่องทางการขายอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างมีคุณภาพ เพื่อความมั่นใจและความพึงพอใจของลูกค้า ด้านการขาย บริษัทยังเน้นงานรายย่อยในช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่องรวมทั้งการขยายพันธมิตรใหม่ๆ ให้ลูกค้าได้รับความสะดวกมากขึ้น

นอกจากนี้บริษัทฯ ได้วางเป้าหมาย ในการเพิ่มศูนย์บริการลูกค้าอย่างน้อย 4 แห่งในปีนี้ เช่น พิษณุโลก นครสวรรค์ รวมทั้งแผนการเพิ่มสำนักงานตัวแทนอีก 25 -30 แห่ง มุ่งเน้นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ กลยุทธ์หลักในปีนี้ เป็นการเพิ่มการรักษาฐานลูกค้าเดิมให้สูงขึ้นอีกประมาณ 10% รวมทั้งขยายการขายให้ลูกค้าเดิมมีการถือกรมธรรม์มากกว่า 1 กรมธรรม์

“บริษัทจะมุ่งเน้นขยายงานในรูปแบบ Segment marketing คือ การขายผลิตภัณฑ์ใหม่ตามกลุ่มลูกค้าเฉพาะ ทั้งรายบุคคลและธุรกิจรายย่อย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพ สำหรับกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการอิสระ ประกันภัย SME comprehensive สำหรับลูกค้า SME รายย่อย ปรับปรุงประกันภัยรถยนต์ประเภท 2 และประเภท 5 ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและความต้องการของลูกค้า และประกันภัยทรัพย์สินของสะสม สำหรับลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้สูง ซึ่งกรมธรรม์ประเภทนี้ถือว่าเป็นกรมธรรม์ใหม่ที่ยังไม่มีในเมืองไทย เป็นต้น” นางกฤตยากล่าว

ทั้งนี้บริษัทประมาณการว่าจะมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่และพันธมิตรการตลาดใหม่ไม่ต่ำกว่า 5-10% ของเบี้ยประกันภัยภัยรับตรง หรือไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท โดยจะมีสัดส่วนทางการตลาดในอันดับที่ 5 และบริษัทจะมีการเติบโตจากการประกันภัย Non-Motor สูงกว่าการประกันภัยรถยนต์ โดยมีสัดส่วนการประกันภัย อยู่ที่ Non-Motor 55: Motor 45


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.