What the Best CEOs Know

โดย วิษณุ โชลิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

หนังสือสูตรสำเร็จของนักเขียนเรื่องธุรกิจอเมริกันเล่มนี้ ยึดสูตรโบราณตั้งแต่ครั้งเลฟ ตอลสตอย ได้ตั้งประเด็นเกริ่นเอาไว้ในท่อนท้ายของนวนิยายเรื่อง สงครามและสันติภาพ มาเป็นแกนของการนำเสนอ นั่นคือ โอกาส (chances) กับอัจฉริยะ (the geniuses)

ตอลสตอยเสนอสูตรว่า โอกาสเปิดทางให้คนได้แสดงวีรกรรม เพื่อเป็นวีรชน แต่อัจฉริยะเท่านั้นที่จะบีบคั้นโอกาสนั้นโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ

เป้าหมายของหนังสือซึ่งมีอย่างเดียว เข้าข่ายของนักวางแผนโฆษณาตลาดล่างที่ว่า "ง่ายไว้ก่อน พ่อสอนไว้" (single-minded proposition) ด้วยการฟันธงสรุปว่า ฮีโร่ร่วมสมัยถูกสร้างขึ้น และสร้างตัวเองขึ้นมาได้อย่างไร?

ด้วยกลวิธีและข้อสรุปอย่างรวบรัดทำให้ข้อเขียนในหนังสือนี้ง่ายกว่าอ่านหนังสือประเภทเดียวกัน อาทิ The 21 Irrefutable Laws of Leadership หรืออะไรทำนองนั้น ซึ่งดูยากและซับซ้อนเกินจะปฏิบัติได้

เพียงแค่นี้ หนังสือก็ขายได้เสียแล้ว ดูเหมือนปอกกล้วยเข้าปากยังงั้นแหละ

แม้กระทั่งในเมืองไทย หนังสือสไตล์อเมริกันเล่มนี้ นายกรัฐมนตรีถึงกับเอาไปพูดในการประชุมคณะรัฐมนตรี แนะนำให้รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอ่านกันเลยทีเดียว ซึ่งคงเป็นความหวังดี แต่น่าเสียดายที่เป็นความหวังดีที่ผิดฝาผิดตัวพิลึก

หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับนักการเมืองฝ่ายค้านที่ต้องอ่าน ในขณะที่บรรดารัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลปัจจุบันควรอ่านหนังสือเก่าข้ามปีอีกเล่มหนึ่ง ชื่อ Why CEOs Fail : The 11 Deadly Sins and How NOT to Commit Them ที่เขียนโดย David L. Dotlich และ Peter C. Cairo (www.amazon.com ขาย 22.95 ดอลลาร์สหรัฐ ไม่รวมค่าขนส่ง) ซึ่งอธิบายปัจจัยที่ทำให้นักบริหารธุรกิจดังๆ พังพินาศในอาชีพและทำลายองค์กร โดยเฉพาะความหวือหวา ความหลงตัวเอง การเอาแต่ใจเป็นใหญ่ และการประจบเอาใจนักเล่นหุ้นเกินขนาด ฯลฯ

หนังสือดังข้ามปีหลังกรณีเอนรอนล้มละลายเล่มหลังนี้ ไม่มีวางขายในเมืองไทย แต่ในโกดังของ www.amazon.com มีเหลืออยู่มาก และราคาถูกลงกว่าตอนออกใหม่ๆ มาก เพียงแต่คนสนใจอาจจะต้องเสียค่าขนส่งอีก 5 ดอลลาร์สหรัฐ และรออีก 2 เดือนถึงจะได้อ่าน

คนเขียนหนังสือเล่มนี้ ดูตามประวัติและผลงานแล้ว เหมือนจะเป็นผู้ชำนัญการในการเขียนหนังสือเชิดชูฮีโร่ตามสไตล์อเมริกัน งานเขียนเล่มนี้ก็เป็นการต่อยอดงานเขียนเดิมตามปกติ เพียงแต่เอาชื่อนักบริหารระดับประธานกรรมการบริหารชื่อดังของอเมริกา 7 คน มาเรียบเรียงและสรุปให้เข้าสูตร เพื่อหาจุดเด่นที่ภาษาทันสมัยยุค Gen Y เรียกกันว่า killer application (เรียกย่อลงว่า killer app.)

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 2 Parts โดย 1st Part ที่ชื่อ What Made Them Great มีเพียงบทเดียว (33 หน้า) ส่วน 2nd Part มี 7 บท ซึ่งเป็นงานเขียนเก่าๆ เอามาเขียนซ้ำใหม่เพื่อร้อยเรื่องให้เป็นเอกภาพกัน โดยเป็นรายละเอียดของอภิมหาประธานกรรมการบริหารชื่อดังแต่ละคนรวม 7 คน นับแต่ ไมเคิล เดลล์, แจ๊ก เวลช์, ลู เกิร์สเนอร์, แอนดี้ โกรฟ, บิลล์ เกตส์, เฮิร์บ เคลเลอร์ และแซม วอลตัน

ดูจากงานเขียนทั้งเล่มแล้ว หนังสือเล่มนี้เจ้าคนเขียนคือ เจฟฟรีย์ เครมส์ ทำงานใช้สมองในหนังสือเล่มนี้เพียงแค่บทเดียว ส่วนที่เหลือเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่เท่านั้นเอง

ใครอยากดูฝรั่งมักง่ายแล้วได้เงินใช้ ก็ดูได้จากหนังสือเล่มนี้

ส่วนจะดูคนอ่านมักง่าย ก็อาจจะดูได้จากคนที่ซื้อหนังสือเล่มนี้อ่าน ได้เช่นกัน

พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า หนังสือเล่มนี้เลวชนิด บัดซบนะครับ จริงๆ แล้ว เป็นหนังสือประเภท How to ที่พอใช้ ซึ่งคนเขียนฉลาดในการจับจุดเอาว่า คนยุคใหม่ที่ชอบความสำเร็จแบบ "ชงพร้อมดื่ม" นั้น ต้องการฮีโร่ที่แกะกล่องออกมาให้เลียนแบบกันเลย ก็เอามาเขียนทำมาหากินเท่านั้นเอง

ตัวอย่างของประธานกรรมการบริหารผู้ยิ่งใหญ่ที่ผู้เขียนหยิบยกเอามานี้ ถือได้ว่าเป็นยอดนักบริหารธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในแต่ละธุรกิจี่พวกเขารับผิดชอบ ในฐานะจอมยุทธ์แห่งยุคสมัยของแต่ละคนชนิดที่หาคนเปรียบได้ยาก ประเด็นที่น่าตั้งคำถามก็คือ แม้กระทั่งในยุคสมัยที่พวกเขายังโลดแล่นอย่างโดดเด่นในอำนาจการจัดการนั้น ก็หาคนทำตามได้ยากแล้วเมื่อพวกเขาเหล่านี้ล้างมือในอ่างทองคำไปแล้ว (ถือว่าพ้นสมัยที่จะแข่งขัน) คนรุ่นต่อไป สมควรเอาเป็นแบบอย่างได้หรือไม่ หรือว่าเพียงแค่ศึกษาเพื่อหาและสร้างแรงบันดาลใจ

มองจากมุมนี้ เราก็คงต้องกลับไปหาข้อถกเถียงกัน ซึ่งนักการศึกษาทั่วไปก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ นั่นคือ ความรู้ประดามีในโลกนับแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบันนั้น จำแนกออกเป็น 2 ประเภท นั่นคือ ความรู้แบบ เอ ไพรออไร (a priori knowledge) และความรู้แบบพึ่งประสบการณ์ (experienced knowledge)

ความรู้ประเภทแรก เกิดจากการครุ่นคิด ตั้งสมมติฐาน และหาคำตอบจากคำถาม ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า ไดอะเลคติก ความรู้ประเภทนี้ ท่านว่าเหมาะสำหรับพวก "หน้าซีด" ชอบทำงานในห้องแอร์ ไม่ต้องผจญภัยกร้านแดด กร้านลม และกร้านชีวิต

ส่วนความรู้ประเภทหลังนั้น เหมาะสำหรับพวก "ผิวคล้ำ" ที่สมองใช้การน้อยกว่าองคาพยพส่วนอื่นๆ ในร่างกาย

หากเราจะเห็นพ้องกันว่า หนังสือของเครมส์เล่มนี้ดูเหมือนจะพยายามช่วยเหลือพวก "หน้าซีด" ให้ใช้ประสบการณ์ของคนอื่นมาใช้เพื่อลัดทางขึ้นบันไดแห่งความสำเร็จ เราก็จะพบจุดอ่อนเปราะที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ก็คือ การศึกษาเพื่อหาว่า พวกอัจฉริยะทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ 7 คนนี้ ได้ใช้อรรถประโยชน์จากโอกาสที่เปิดช่องให้เหนือกว่าคนอื่นๆ นั้น มีกระบวนการอย่างไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร ไม่น่าจะเพียงพอสำหรับคนที่คิดจะไต่เต้าสู่ความสำเร็จเหมือนพวกเขา

พูดจากันอย่างไม่เกรงใจแล้ว หนังสือในลักษณะรวมบทความเก่าเล่มนี้ เหมาะสำหรับ "เตือนความจำ" สำหรับผู้บริหารธุรกิจขี้ลืม และไม่ค่อยมีเวลาสำหรับการทบทวนพฤติกรรมในการทำงานของตน เนื่องจากมีมลพิษจากคนข้างกายจำพวก "สอพลอ+ตอแหล" (สัญลักษณ์หนึ่งที่ใช้วัดบารมีของคนประสบความสำเร็จทุกยุคทุกสมัย) เกินความจำเป็น

ความสำเร็จของนักบริหารธุรกิจที่ยิ่งใหญ่นั้น ไม่ใช่เพียงแค่การรู้จักใช้โอกาสและทรัพยากรในองค์กร ซึ่งสามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิผลอย่างเดียว หากยังขึ้นกับเงื่อนไขที่เรียกว่า "ภววิสัย" ที่ควบคุมไม่ได้อีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้น การอ่านข้อเขียนที่อาศัยบุคคลเป็นแกนของเรื่อง โดยไม่หยิบยกเอาปัจจัยแวดล้อมมาอธิบายประกอบ ก็เป็นดาบสองคมเหมือนดูภาพยนตร์ประเภทฮีโร่ แอคชั่น! แบบฮอลลีวูดธรรมดาเท่านั้นเอง

ในแง่การตลาด และสร้างจุดขายหนังสือที่โดดเด่นแล้ว ต้องยอมรับวิธีการตั้งชื่อเรื่อง และการนำเสนอของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ แต่ในแง่คุณภาพแล้ว ผมถือว่าเป็นได้แค่หนังสือพื้นๆ

อ่านก็ได้ ไม่อ่านก็ไม่เป็นไร

เพียงแต่ขอแนะนำว่า ถ้าต้องการจะอ่านจริง เพื่อจะได้คุยกับใครว่า อ่านหนังสือที่นายกรัฐมนตรีไทยเคยแนะนำมาแล้ว ก็ควรเตรียมเสียเงินสำหรับหนังสือที่ให้มุมมองตรงกันข้ามอย่าง Why CEOs Fail : The 11 Deadly Sins and How NOT to Commit ด้วยครับ

เผื่อจะได้เกิดประกายปัญญาใหม่ๆ ไม่ใช่ทำ "ตามใบสั่งนาย" อย่างเดียว ซึ่งเหมาะสำหรับระบบอุปถัมภ์มากกว่าประชาธิปไตยครับ

โดย >> วิษณุ โชลิตกุล



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.