ปูนใหญ่เล็กไปแล้ว

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมไม่ได้เขียนถึงบุรุษผู้นี้มานานถึง 2 ปีเต็ม อันเป็น ช่วงเดียวกับที่บทบาทของเขาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมากมาย ข้อต่อของสถานการณ์สำคัญได้เริ่มต้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่วิกฤติการณ์เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว

วันนี้เครือซิเมนต์ไทยเล็กไปเสียแล้วสำหรับชุมพล ณ ลำเลียง ดังนั้นคำถามที่ว่า ใครจะมาแทนเขาเมื่อเขาจะเกษียณอายุใน 4-5 ปีข้างหน้า จึงกลายเป็นแนวคิดเก่าๆ ที่ไม่สามารถอรรถาธิบายวิธีคิดของบุรุษผู้นี้ได้อย่างถูกต้อง

ชุมพลเพิ่งผ่านการดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทยครบทศวรรษไปเมื่อต้นปีนี้ ว่าไปแล้วเป็นช่วงแห่งการฉลองที่น่ายินดีมากทีเดียว เครือซิเมนต์ไทยได้ผ่านขั้นตอนการแก้ไขวิกฤติการณ์ไปแล้ว พร้อมๆ กับเขามีบทบาทใหม่กว้างขวางขึ้น และยิ่งใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจน

มิติที่สำคัญประการหนึ่ง คือความต่อเนื่องของการจัดโครงสร้างใหม่เครือซิเมนต์ไทย ให้ผู้บริหารกลุ่มแต่ละธุรกิจรับผิดชอบมากขึ้น ในแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจเมื่อต้นปี 2542 นั้น เป็นแผนที่ต่อเนื่องกับการวางบทบาทตนเองใหม่ ที่ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนในต้นปีที่ผ่านมา

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ย่อมปรากฏบางสิ่งบางอย่างที่ดูไม่ลงตัว หรือดูอาจไม่เหมาะสมอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นความจำเป็นที่เขาต้องดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะเจ้าหนี้เครือซิเมนต์ไทยในช่วงสั้นๆ เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว หรือล่าสุด เครือซิเมนต์ไทยไม่ยอมแถลงข่าวใดๆ (เพราะชุมพลไม่อนุญาต) ในกรณีเขาเป็นประธาน Singtel ยักษ์ใหญ่สื่อสารระดับภูมิภาคที่ถือหุ้นใหญ่ โดยรัฐบาลสิงคโปร์ (อ่านรายละเอียดใน "ผู้จัดการ" ฉบับสิงหาคม 2546 หรือ www.gotomanager.com) บางคนมองว่า ดูจะขัดแย้งกับบทบาทผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย (ถือหุ้นใหญ่โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ที่เชื่อมโยงกับภาพลักษณ์สังคมไทย

แต่สำหรับวงในแล้ว ชุมพล ณ ลำเลียง กำลังทำทำหน้าที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในฐานะผู้มีบทบาทในการดูแล และแก้ปัญหาการลงทุนของสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยแท้

Singtel ถือหุ้นใหญ่โดย Temasek Holding ซึ่งเป็นกิจการลงทุนของรัฐบาลโดยมีกระทรวงการคลังสิงคโปร์เป็นเจ้าของ Temasek ถือหุ้นในกิจการใหญ่ในสิงคโปร์ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Singtel Singapore Technologies Singapore Airlines DBS Bank จนถึง Capital Land

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ บริษัทในเครือของ Capital Land ที่ชื่อ Primus International ซึ่งดำเนินกิจการบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยร่วมทุนกับธนาคารไทยพาณิชย์ ทุนลดาวัลย์ (CPB Equity) บริษัทที่ดูแลการลงทุนของสำนักงานทรัพย์สินฯ กลุ่มอิตัลไทย และอิสระ ว่องกุศลกิจ (กลุ่มน้ำตาลมิตรผล) ตั้งบริษัทพรีมัส (ประเทศไทย) และแน่นอนที่สุดบริษัทนี้ได้เข้ามาจัดการบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือทรัพย์สินฯ โดยเฉพาะกลุ่มอาคารไทยพาณิชย์พลาซา ย่านรัชดาภิเษก ซึ่งถือเป็นสำนักงานบริษัทพรีมัสด้วย

ความสำเร็จในการแก้ปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ว่านี้ ย่อมสัมพันธ์กับความสำเร็จของธนาคารไทยพาณิชย์ด้วย

ที่สำคัญมากมีอีก ธนาคารไทยพาณิชย์เพิ่งแต่งตั้งกรรมการคนใหม่ไม่นานมานี้เป็นชาวสิงคโปร์ Peter Seah Lim Huat อดีตนายธนาคารที่มีประสบการณ์มากว่า 30 ปี ปัจจุบันเป็นกรรมการคนหนึ่งของ Capital Land และเป็นประธานกรรมการบริหาร Singapore Technologies ซึ่งทั้งสองบริษัทถือหุ้นใหญ่โดย Temasek Holding ทั้งสิ้น จึงมีการคาดกันว่า ผู้ถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์มีสิงคโปร์อยู่ด้วยจำนวนไม่น้อยทีเดียว

ในช่วง 10 ปีมานี้ วิกฤติครั้งใหญ่ในธุรกิจของสำนักงานทรัพย์สินฯ กว้างขวางกว่าที่คิด ที่สำคัญมากที่สุดคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับไม่มีมืออาชีพที่มีความสามารถ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ย่อมเป็นกระบวนการที่สัมพันธ์กับบทบาทใหม่ของชุมพล ณ ลำเลียง ในฐานะ "ลูกจ้าง" คนใหม่ ของรัฐบาลสิงคโปร์ด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.