|
ปลดล็อก"หนี้ขายทรัพย์"-หักเงินต้นแทนดอกเบี้ย
ผู้จัดการรายวัน(10 มีนาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติกระทุ้งรัฐบาลหันมาดูแลลูกหนี้ที่ถูกขายทอดตลาด ภาระหนี้ไม่จบสิ้น! เหตุขายได้ เจ้าหนี้ไปหักดอกเบี้ยนอกบัญชีแทนเงินต้น ผู้บริหาร บสก.หนุนแนวคิดตีโอนทรัพย์ก่อนสู่ขั้นศาล แต่ลูกหนี้ต้องจริงใจ “อธิบดีกรมบังคับคดี” ครวญได้แค่เห็นใจลูกหนี้
นางกัลยาณี รุทระกาญจน์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ กล่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ลูกหนี้จำนวนมากๆ จะไม่รู้เลยว่า เมื่อมีการนำทรัพย์ขายทอดตลาด ก็คิดว่าหนี้หมดไปแล้ว ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เช่นนั้น เพราะว่ารายได้จากการขายทรัพย์ เจ้าหนี้กลับนำไปหักกลบดอกเบี้ยที่พักไว้นอกบัญชี ไม่มีการนำไปตัดเงินต้น ซึ่งสุดท้ายแล้ว ลูกหนี้ก็ยังมีภาระหนี้ติดตามตัวไปตลอด
“ ลูกหนี้ต้องรักษาสิทธิ์ของตนเอง โดยการไปดูบัญชีทรัพย์ หลังจากมีการขายทอดตลาด ก็จะรู้ว่า ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ”นางกัลยาณีกล่าวและเสนอว่า
ธนาคารพาณิชย์ควรจะลดหรือตัดดอกเบี้ยที่อยู่นอกบัญชี เพราะส่วนนี้ เป็นตัวเลขในอนาคต เป็นตัวเลขในอากาศ เป็นความร่ำรวยของธนาคารพาณิชย์ ที่ยังไม่มีการรรับรู้รายได้ ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อฐานะหรือเงินกองทุนของธนาคาร
ในขณะเดียวกัน ในเรื่องของหลักประกันแล้ว ตรงนี้เป็นความสูญเสียของลูกหนี้และต่อความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากเวลาประมูลของกรมบังคับคดีจะยึดหลักราคาที่กรมที่ดินประกาศ โดยเป็นราคาที่กรมธนารักษ์เป็นผู้ประเมินจากภาพถ่ายทางอากาศ และเป็นเกณฑ์ราคาที่สำหรับใช้อ้างอิงในการเสียภาษี แต่หากเป็นราคาของกรมที่ดินแล้ว วัตถุประสงค์ที่ใช้อ้างอิงก็เพื่อซื้อขายและจำนอง นั่นจึงทำให้ราคาของทรัพย์ที่กรมบังคับคดีนำออกประมูลจะต่ำ ขณะที่หลักประกันของลูกหนี้ที่ใช้วางค้ำกับธนาคารพาณิชย์จะมีการประเมินราคาที่สูง แต่ผลจากการใช้ราคาประเมินของกรมธนารักษ์ มีผลให้หลักประกันของลูกหนี้ในปัจจุบันลดลงจนอาจไม่คุ้มมูลหนี้
“ความฉลาดของใครบางคน ที่มีการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของราคาที่ดิน เลยเป็นช่องให้มีบริษัทของนักการเมืองเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ ในการชอปประมูลทรัพย์จากกรมบังคับคดี ” เลขาธิการฯกล่าว
นายแบงก์ชี้ตีโอนทรัพย์ต้องโปร่งใส
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ( บสก. ) กล่าวเห็นด้วยว่า หากทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถที่จะเคลียร์หนี้ หรือลูกหนี้มีการโอนทรัพย์ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ โดยทั้งสองฝ่ายบรรลุในความเห็นเกี่ยวกับหนี้ก้อนนี้ได้ ก็จะเป็นการดี เพราะว่าสุดท้ายแล้ว ลูกหนี้จะได้มีโอกาสทำธุรกิจต่อ ชื่อหรือประวัติจะได้ไม่ติดอยู่ในรายการของเครดิตบูโร ต่างคนจะได้มีโอกาสทำธุรกิจได้ตามปกติ
“ เราเข้าใจหากลูกหนี้คุยจบก่อนต้องใช้กฎหมายก็จะเป็นเรื่องดี เพราะว่าถ้าให้ สถาบันการเงินนำทรัพย์ที่ยึดมาไปขาย ลูกหนี้ก็ต้องมีภาระอยู่ดี แต่ประเด็นที่ต้องชัดมีอยู่ว่า ลูกหนี้ต้องบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่มีหลักประกันซ่อนอยู่อีก และถ้าในอนาคตมีการตรวจสอบได้อีกว่า ลูกหนี้รายนั้นๆ ยังมีหลักประกัน ก็ให้ถือว่าสัญญาที่ทำไว้ก่อนหน้าเป็นอันโมฆะ ”นายบรรยงกล่าวและว่า
สำหรับบสก.แล้ว สิ่งที่เราจะเรียกว่าเป็นผลสำเร็จของการทำธุรกิจคือ สามารถที่จะผลักดันการขายทรัพย์ที่มีอยู่เป็นกระแสเงินสดเข้ามา ไม่ใช่ยังค้างอยู่ในบสก. นั้นจึงเป็นที่มาของโครงการ “คืนทรัพย์ให้คุณ” โดยเป็นช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ทั้งที่มีการใช้มาตรการทางกฎหมายแล้ว และที่ยังไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย เป็นโครงการที่ไถ่ถอนหลักประกันคืนได้ โดยการชำระหนี้จากลูกหนี้/ ผู้ค้ำประกันจำนอง/ ทายาท /หรือบุคคลภายนอก โดยภาระหนี้เงินต้นต่อรายต่อกลุ่มไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งหากมีการชำระเสร็จสิ้นครั้งเดียวต้องชำระไม่ต่ำกว่า 70% ของราคาประเมินหลักประกัน หากชำระหนี้โดยการผ่อนชำระ ต้องชำระไม่ต่ำกว่า 80% ของราคาประเมินหลักประกันภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี และงดคิดดอกเบี้ย เป็นต้น
บิ๊กกรมบังคับคดียัน!ทำตามหน้าที่
นายสิรวัต จันทรัฐ อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า กรมฯในฐานะหน่วยงานของรัฐบาล ก็คงต้องปฎิบัติตามกฎหมาย และเมื่อศาลมีการสั่งตามคำร้องของโจทย์และมีการบังคับหลักประกัน ทางกรมฯจะต้องไปดำเนินการ และจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้สถาบันการเงินมีการดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในช่วง2550 จนถึงปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก
“แม้เราจะถูกมองไม่ดี แต่เราในฐานะเจ้าพนักงานก็ต้องทำตามหน้าที่ แม้เราจะเห็นใจผู้ที่เดือดร้อน แต่ทุกอย่างก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมายอย่างเช่น คดีแพ่งที่ค้างอยู่หลายแสนล้าน เราก็ต้องเร่งรัดจำหน่ายออกไป เพราะว่า ถ้าไม่รีบ ทรัพย์ที่ค้างอยู่ก็ไม่ก่อผลต่อระบบเศรษฐกิจ มูลค่าของบ้าน ทรัพย์สินก็จะหายไป เจ้าหนี้ไม่ได้รับเงิน ดังนั้น เราจะทำอย่างไรที่จะเร่งรัดการผลักดันทรัพย์ออกไปให้มากและเร็ว ควบคู่ไปความโปร่งใสของการทำงาน ”
อนึ่ง สำหรับหลักการขายทอดตลาดนั้น ทางกรมบังคับคดีมีการระบุไว้อย่างชัดเจน เช่น ถ้าราคาสมควรขาย ต่ำกว่า 50,000 บาท เพิ่มราคาไม่น้อยกว่าครั้งละ 1,000 บาท เกิน 1-5 ล้านบาท เพิ่มราคาไม่น้อยกว่าครั้งละ 50,000 บาท และหากราคาสมควร 80 ล้านบาทขึ้นไป เพิ่มราคาไม่น้อยกว่าครั้งละ 1 ล้านบาท
โดยในการขายทอดตลาด ให้เจ้าพนักงานกำหนดราคาเริ่มต้นเป็นจำนวน 80% ของราคาตามที่เจ้าพนักงานแจ้งราคาประเมินขณะยึดหรือราคาประเมินของฝ่ายประเมินราคาสำนักงานวางทรัพย์กลาง(ถ้ามี) โดยให้ปัดตัวเลขที่เป็นเศษขึ้นเป็นเรือนหมื่น เช่น ราคาประเมินสูงสุด 1,340,000 บาท ราคาเริ่มต้นที่ 1,080,000 บาท เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ขายทอดตลาดในครั้งแรก ไม่สามารถดำเนินการได้หรือมีการคัดค้าน การประมูลครั้งที่สอง จะเริ่มในราคา 50% ของราคาประเมินแต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาที่มีผู้เสนอสูงสุดในครั้งก่อน
ทั้งนี้ ผู้ซื้อทรัพย์จะต้องวางเงินเป็นประกันในการเสนอราคาต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นจำนวนเงินคนละ 50,000 บาท หรือตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เป็นกรณีพิเศษ และหากผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาดไม่วางเงินตามเงื่อนไข และเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์นั้น ขายทอดตลาดใหม่ ได้ราคาต่ำกว่าราคาที่ผู้ซื้อเดิมให้ไว้ ผู้ซื้อเดิมจะต้องรับผิดชอบในส่วนที่ขาดพร้อมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|