Voice over Wi-Fi ใช้โทรศัพท์แบบไม่พึ่งบริษัทโทรศัพท์


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

และแล้วเราก็มาถึงยุคที่สามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อกันได้โดยไม่ต้องพึ่งบริการของบริษัทโทรศัพท์ รายละเอียดตีพิมพ์อยู่ในนิตยสาร Wired ฉบับเดือนมิถุนายน โดยกล่าวถึงเทคโนโลยี voice over Wi-Fi ว่า สามารถทำให้ธุรกิจของบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่สั่นสะเทือนได้เหมือนกัน เป็นผลพวงจากพัฒนาการด้านโทรคมนาคมล่าสุดสองแขนงด้วยกันคือ voice over IP และ wireless broadband

voice over Wi-Fi รุ่นแรกได้รับความนิยมทั้งในโรงพยาบาล โรงเรียน สนามบิน และโรงงานทั่วสหรัฐอเมริกา และปัจจุบันมีกิจการบริษัทมากมายได้เปลี่ยนระบบโทรศัพท์ของตนมาเป็น voice over IP เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น การจะเพิ่ม Wi-Fi เข้าไปจึงทำได้ง่ายและรวดเร็ว เห็นตัวอย่างได้จากบริษัท SpectraLink และ Symbol Technologies ที่เสนอ ขายโทรศัพท์มือถือ 802.11b ซึ่งทำงานร่วมกับระบบ voice over IP โดยในปี 2001 มียอดส่งมอบโทรศัพท์ดังกล่าว 20,000 เครื่อง และปีที่แล้วยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 เครื่อง

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ความต้องการตลาดโทรศัพท์ voice over IP (VoIP) ในสหรัฐอเมริกามีค่าเป็นศูนย์ แต่ปัจจุบันอยู่ในระหว่างใช้งานราว 3.5 ล้านเครื่อง ขณะเดียว กันจำนวนผู้ใช้ระบบ Wi-Fi ก็เพิ่มจาก 2,000 เป็น 12,000 เครื่อง ในปีที่แล้ว เมื่อนำสองระบบนี้มารวมกันและต่อเชื่อมเข้ากับคอมพิวเตอร์ประเภทใดก็ได้ ก็จะกลายเป็นอุปกรณ์สื่อสารด้วยเสียงทันที (voice communication device)

นิตยสาร Wired ยกตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากระบบ voice over Wi-Fi ในทางการแพทย์ว่า เมื่อคนไข้ที่ Anne Arundel Medical Center ต้องการมอร์ฟีนสำหรับระงับปวดก็ไม่จำเป็นต้องกดกริ่งเรียกพยาบาล เพียงแต่โทรศัพท์เข้าเครือข่าย Wi-Fi ของโรงพยาบาลโดยตรง ส่วนปุ่ม page แบบเก่าก็ถูกนำมาปรับใหม่สำหรับเรียกเข้าโทรศัพท์มือถือไร้สายของสต๊าฟ ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของอาคารก็ตาม "คุณสามารถประเมินความต้องการของคนไข้ได้ทันทีจากโทรศัพท์นั้น" Amy Chi พยาบาลประจำโรงพยาบาลใน Annapolis อธิบาย "คุณไม่ต้องเสียเวลาเข้าไปในห้องคนไข้เพื่อถามความต้องการ"

ปัจจุบันมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายราย อาทิ Motorola, Avaya และ Proxim ทุ่มลงทุนเพื่อผลิตโทรศัพท์ Wi-Fi ป้อนตลาดผู้บริโภคบ้าง และเมื่อเร็วๆ นี้ Hewlett-Packard และ Transat Technologies ก็ประกาศแผนงานคล้ายคลึงกันสำหรับเทคโนโลยีท้าทายนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.