เปิดแหล่งลงทุนใหม่แทนฝากแบงก์ นักการเงินแนะกลยุทธ์โยกเงินฝากได้ผลตอบแทนสูง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

นักการเงินเผยแหล่งลงทุนสร้างผลตอบแทนเหนือดอกเบี้ยฝาก แต่ต้องพร้อมแลกกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ชี้จากนี้ไปผลิตภัณฑ์ทางการเงินจะออกมาเพียบ ที่จะมาบนเงื่อนไขให้ต้องปฎิบัติตาม แนะต้องสำรวจตัวเองก่อน ศึกษาสัญญาและเงื่อนไขให้ดีก่อนตัดสินใจ หากรับไม่ได้ต้องทนก้มหน้ารับดอกเบี้ยต่ำต่อไป

การผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแรง ๆ 3 ครั้ง ตั้งแต่ 3 ธันวาคม 2551 และ 14 มกราคม 2552 จนถึง 25 กุมภาพันธ์ 2551 ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 3.75% เหลือ 1.5% เท่ากับลดลงไปถึง 2.25%

ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามดอกเบี้ยนโยบาย แต่การปรับลดของธนาคารพาณิชย์นั้น ปรับลดไม่เท่ากับระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ ธนาคารพาณิชย์เลือกที่จะลดอกเบี้ยเงินฝากลง 1.5%-2% โดยเงินฝากประจำ 3 เดือนอยู่ที่ 0.75% โดยดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 24 เดือนปรับลดลงมากที่สุด 2 เหลือเพียง 1.5% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี(MLR) อยู่ที่ 6.25% หรือปรับลดลงไปเพียง 1% เท่านั้น

นาทีนี้คงไม่ต้องเหลียวกลับไปมองถึงความเห็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมของการลดอัตราดอกเบี้ยของเหล่าธนาคารพาณิชย์กันแล้ว ลองมาหาทางออกกันว่าจะทำอย่างไรกันดีสำหรับผู้ที่เคยฝากเงินอยู่ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอย่างนี้

ออมทรัพย์-ประจำไม่แตกต่าง

ผู้บริหารเงินลงทุนของหน่วยงานรัฐรายหนึ่งกล่าวว่า โดยภาพรวมของช่องทางในการหาผลตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุน ที่มีความเสี่ยงน้อยหรือแทบไม่มีเลยแล้วได้ผลตอบแทนในระดับ 2%นั้นขณะนี้หาไม่ได้แล้ว ผู้มีเงินฝากต้องหาคำตอบให้กับตัวเองให้ได้ก่อนว่า พร้อมที่จะก้มหน้าก้มตายอมรับกับการฝากเงินที่ได้ผลตอบแทนต่ำอย่างนี้หรือไม่ ถ้าใช้ก็ต้องทนฝากต่อไป

เฉพาะในกรณีของการฝากเงินนั้น ท่านต้องทราบก่อนว่าระหว่างบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ปัจจุบันให้ผลตอบแทน 0.5% กับบัญชีเงินฝากประจำ 3 เดือนของแบงก์ใหญ่ให้ผลตอบแทนเพียง 0.75% นั้นผลตอบแทนไม่ต่างกันมากนัก เพราะเมื่อหักภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยของบัญชีเงินฝากประจำอีก 15% ผลตอบแทนจะเหลือเพียง 0.6375% เท่านั้น

ถ้ามีเงินฝากไม่มากผลตอบแทนที่ได้ย่อมแทบไม่ต่างกัน เนื่องจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์นั้นไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเนื่องจากได้ดอกเบี้ยไม่ถึง 2 หมื่นบาทจึงได้รับการยกเว้น หมายถึงมีเงินฝากในบัญชีนี้ไม่ถึง 4 ล้านบาท

อีกทั้งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ อาจทำให้เราต้องสำรองเงินไว้ใช้ ซึ่งบัญชีออมทรัพย์จะคิดดอกเบี้ยให้ทุกวัน แต่บัญชีเงินฝากประจำหากถอนก่อนกำหนดจะไม่ได้รับดอกเบี้ย เมื่อหันไปดูดอกเบี้ยฝากประจำ 12 เดือนอยู่ที่ 1% ได้ดอกเบี้ยจริงแค่ 0.85% หรือ 24 เดือนได้ดอกเบี้ยจริง 1.275% เท่านั้น

เงินฝากพ่วงประกัน-กองทุน

ผู้มีเงินออมจะต้องคิดและคำนวณให้ดีว่าจะยอมรับเงื่อนไขของการฝากเงินได้ในรูปแบบใด หากจะเปลี่ยนรูปแบบการออมเงินก็ยังมีทางเลือกอีกหลายแนวทางที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่ต้องแลกด้วยความเสี่ยงที่จะตามมา

จากนี้ไปจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ออกมานำเสนอขายมากขึ้น ทั้งจากธนาคารพาณิชย์เอง กองทุนรวม บริษัทเอกชนรวมถึงจากรัฐบาล ซึ่งรูปแบบที่จะออกมาเสนอขายนั้นจะมีการพ่วงเงื่อนไขอื่น ๆ ตามมาอีกมาก ท่านต้องแน่ใจว่าท่านสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขเหล่านี้ได้จึงค่อยตัดสินใจลงทุน

ระยะนี้ธนาคารจะเริ่มออกเงินฝากพ่วงกับกองทุนรวมบ้างหรือพ่วงกับประกันชีวิตบ้าง เนื่องจากปัจจุบันธนาคารมีบริษัทลูกที่ทำธุรกิจเหล่านี้อยู่แล้วและใช้ความได้เปรียบของสาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศเสนอขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ โดยได้รับค่าธรรมเนียมจากบริษัทลูกอีกต่อหนึ่ง

ลองมาพิจารณาผลิตภัณฑ์ของธนาคารกรุงไทยที่เพิ่งออกมาคือ KTB 4+ (Four Plus) โดยรวมผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำ 3 เดือน จ่ายดอกเบี้ยพิเศษ 4% ต่อปี และแผนการออมเพื่อความมั่นคงของชีวิต กรุงไทย อีซี่ แคช 10/6 ซึ่งลูกค้าชำระเบี้ยประกันเพียง 6 ปี แต่ได้รับความคุ้มครองชีวิตถึง 10 ปี และได้ปันผลทุกปี

โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยตลอด 10 ปี ประมาณ 3.72% ต่อปี สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปี ที่ปัจจุบันให้ผลตอบแทน 3.62% ต่อปี โดยลูกค้าสามารถฝากเงินขั้นต่ำ 40,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท และซื้อเบี้ยประกันชีวิตเท่ากับยอดเงินฝาก ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองชีวิต 3.2 เท่าของเบี้ยประกันรายปี รวมทั้งประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลอีก 2 เท่าของเบี้ยประกัน

นอกจากนี้ยังได้รับเงินปันผลตลอด 10 ปี โดยในปีที่ 1-6 ได้ปันผล 2%ต่อปีของทุนประกัน ส่วนปีที่ 7-10 ได้ปันผล 4%ต่อปี และปีที่ 10 ได้รับเงินคืนทั้งเงินต้นพร้อมเงินปันผล 2 เท่าของทุนประกัน รวมผลตอบแทนทั้งสิ้น 228%

กรณีนี้เป็นการเอาบัญชีเงินฝากมาผูกกับประกันชีวิตแล้วนำมาเสนอขาย โดยแบงก์ยอมจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มให้มากกว่าเดิมเป็น 4% ผู้มีเงินออมต้องทราบไว้เบื้องต้นว่า 4% นั้นได้เฉพาะ 3 เดือนแล้วหลังจากนั้นดอกเบี้ยจะเป็นดอกเบี้ยตามอัตราปกติของธนาคาร

จากนั้นให้พิจารณาเงื่อนไขที่กำหนดว่าฝากขั้นต่ำที่ 4 หมื่นบาทและต้องซื้อเบี้ยประกันชีวิตเท่ากับยอดเงินฝาก จึงจะได้รับความคุ้มครองชีวิต 3.2 เท่าของเบี้ยประกันรายปี นั่นหมายความว่าท่านจะต้องซื้อเบี้ยประกันที่ 4 หมื่นบาทต่อเนื่องกันไป 6 ปีเป็นเงิน 2.4 แสนบาท หลังจากนั้นไม่ต้องส่งเบี้ยแล้วรอรับผลตอบแทนเมื่อครบกำหนดในปีที่ 10 ส่วนความคุ้มครองชีวิตนั้นจะได้รับความคุ้มครองประมาณ 1.28 แสนบาท

เมื่อสอบถามไปยังเจ้าของผลิตภัณฑ์ได้ยกตัวอย่างว่า หากซื้อเบี้ยประกันที่ 1 แสนบาทต่อปี จะได้ความคุ้มครองที่ 3.2 แสนบาทในเรื่องของเงินปันผล 2% ต่อปีนั้นปีที่ 1-6 จะได้เงินปันผลคืน 6,400 บาท ปีที่ 7-10 จะได้เงิน 12,800 บาท รวมแล้วส่งเงิน 6 แสนบาทเมื่อครบ 10 ปีจะได้เงินคืนราว 7.2 แสนบาท(รวมเงินที่จ่ายปันผล)

ต้องคำนวณตัวเลข

สำหรับตัวเลขผลตอบแทนรวมทั้งสิ้นนั้น ขณะนี้ผู้ที่เสนอขายประกันแบบออมทรัพย์นี้ทุกแห่งจะโชว์ตัวเลขว่าได้ผลตอบแทนสูง ท่านจะต้องนำเอาตัวเลขเงินที่ท่านส่งไปทั้งหมดมาหักออกจากยอดรวมของเงินที่ได้คืนเมื่อครบกำหนดที่บวกด้วยเงินที่จ่ายเงินในแต่ละปี จะพบว่าส่วนต่างที่ได้นั้นไม่สูงนัก จากนั้นลองนำเอายอดดังกล่าวมาคำนวณแบบหยาบ ๆ ว่าได้ทั้งหมดกี่เปอร์เซ็นต์แล้วหารด้วยอายุของกรมธรรม์ เช่น หารด้วย 10 ปีจึงจะทราบผลตอบแทนที่แท้จริงว่าท่านได้ผลตอบแทนเท่าใด

บางแห่งแจ้งตัวเลขว่าเมื่อครบกำหนดแล้วผลตอบแทนที่ได้สูงถึง 500% นั่นเป็นการรวมเอาเงินที่ท่านนำส่งไปมาคำนวณถือว่าเป็นการใช้ลูกเล่นทางการตลาดเข้ามาช่วยขายสินค้า แต่เมื่อคำนวณออกมาจริง ๆ แล้วผลตอบแทนที่ได้นั้นไม่ได้สูงอย่างที่แจ้งมา ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 1-2% ต่อปีเท่านั้น

แต่ความได้เปรียบของกรมธรรม์ประเภทนี้ที่คล้ายกับการออมเงิน คือมีวงเงินคุ้มครองให้กรณีเสียชีวิต ซึ่งบัญชีเงินฝากปกติไม่มี อีกทั้งเงินที่จ่ายเบี้ยประกันดังกล่าวสามารถนำไปใช้หักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ถือเป็นจุดเด่นของการออมเงินด้วยวิธีนี้

ประกันลักษณะนี้มีแยกขายเดี่ยว ๆ ก็มี ทางที่ดีที่สุดคือควรนำเอากรมธรรม์ของหลาย ๆ บริษัทมาเปรียบเทียบกันว่าที่ใดให้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากในเรื่องของรูปแบบในการคืนเงินนั้นแต่ละแห่งอาจมีลูกเล่นไม่เหมือนกัน แล้วลองคำนวณออกมาเฉลี่ยต่อปี

สำหรับรูปแบบของกรมธรรม์แบบออมทรัพย์นั้นได้ถูกออกแบบมาจะมีอายุกรมธรรม์ไม่น้อยกว่า 10 ปี เพื่อเป็นจุดขายสำหรับหักลดหย่อนภาษี แต่ที่เราได้เห็นเช่น 6/10 หรือ 7/10 นั้นความหมายคือส่งเบี้ยประกัน 6 ปีหรือ 7 ปี แต่ให้ความคุ้มครอง 10 ปี เนื่องจากระยะเวลาที่ส่งเบี้ยประกันนั้นเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้เอาประกันคนไทย ที่ไม่อยากส่งเบี้ยนานแต่ได้รับความคุ้มครองแม้ไม่ต้องส่งเบี้ยประกัน

ตรงนี้ถือเป็นเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่นำเอาพฤติกรรมของผู้บริโภคมาเป็นตัวออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งกรมธรรม์ประเภทนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ที่มีภาระต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ เพราะอย่างน้อยก็นำไปหักลดหย่อนภาษีได้ขั้นต่ำที่ 10% และสูงถึง 37%

ประกันประเภทนี้ยังมีรูปแบบให้เลือกอีกนับร้อยแบบ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อได้มากที่สุด ตรงนี้จะต้องนำเอารายได้แต่เดือน การเสียภาษีต่อปีและรายการหักลดหย่อนอื่น ๆ มาพิจารณาเพื่อเลือกแบบประกันที่เหมาะกับลูกค้ารายนั้นโดยเฉพาะ

กองทุนรวม+เงื่อนไข

อีกรูปแบบหนึ่งของการสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ คือกองทุนรวม ขณะนี้มีเงินฝากจำนวนไม่น้อยที่โยกเข้ามาซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก หากจะให้ปลอดภัยควรเลือกลงทุนในกองที่มีนโยบายลงทุนในตลาดเงินหรือลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงต่ำที่สุด แต่ต้องทราบด้วยว่าเมื่อ ท่านต้องการขายกองทุนแล้วท่านจะได้รับเงินในวันรุ่งขึ้น ไม่ใช่ได้ทันทีเหมือนถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของตัวเอง

ภายใต้การลงทุนกองทุนรวมยังมีกองทุนรวมที่รัฐให้สิทธินำเอาเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนนั้นมาหักลดหย่อนภาษีได้ ที่น่าสนใจคือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) นโยบายลงทุนที่ค่อนข้างปลอดภัยคือกองตราสารหนี้และถ้าเลือกได้ควรเป็นกองทุนลงทุนในตลาดเงินหรือพันธบัตรรัฐบาล แต่กองทุนประเภทนี้จะมีเงื่อนไขมาก เช่น ต้องถือหน่วยลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปีและต้องซื้อต่อเนื่องจากอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์จึงจะขายหน่วยลงทุนได้ หากไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่วางไว้ได้ก็จะต้องคืนเงินที่ได้จากนำไปหักลดหย่อนภาษีทั้งหมดคืนให้กรมสรรพากร และถ้าไม่ดำเนินการคืนจะถูกปรับอีกร้อยละ 1.5% ต่อเดือน

ท่านต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าท่านพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขเหล่านี้หรือไม่

หุ้นกู้โดดแย่งเงินออม

นอกจากนี้ยังมีหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่ออกมาเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป ที่เสนอผลตอบแทนค่อนข้างสูงกว่าเงินฝากมาก เช่น หุ้นกู้ ปตท.อายุ 15 ปีที่ผลให้ผลตอบแทน 5 ปีแรกที่ 5% ปีที่ 6-8 ผลตอบแทน 6.2% และใน 7 ปีสุดท้ายดอกเบี้ย 6.8%

ผู้ที่สนใจในหุ้นกู้ของเอกชนนั้น ท่านจะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตตลอดอายุของหุ้นกู้ว่า สถานะของบริษัทมั่นคงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยให้ท่านตามเงื่อนไขหรือไม่ และเมื่อครบกำหนดแล้วเงินต้นจะได้คืนหรือไม่ แม้ว่าบริษัทที่เสนอขายหุ้นกู้นั้นจะถูกกำหนดให้ต้องผ่านการจัดอันดับความน่าเชื่อถือแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงอันดับดังกล่าวเป็นการวัดสถานะของบริษัท ณ วันใดวันหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้รับประกันว่าในวันข้างหน้าบริษัทที่ออกหุ้นกู้จะมั่นคงตลอดไป

ที่กล่าวมานั้นไม่ได้หมายความว่าบริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้นจะไม่มั่นคง ที่ผ่านมาหุ้นกู้ของเอกชนส่วนใหญ่มักจะไม่มีปัญหาในเรื่องเหล่านี้ อาจจะมีบ้างในบางบริษัทที่ประสบปัญหา ดังนั้นในเรื่องของการตัดสินใจจึงเป็นเรื่องของผู้ลงทุนเองว่าพร้อมที่จะได้ผลตอบแทนสูงและพร้อมที่จะยอมรับกับความเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งความเสี่ยงนั้นอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้

แต่ที่ผู้ออมเงินอยากได้และรอกันมากคือพันธบัตรรัฐบาล ขณะนี้ยังไม่มีการออกมาจำหน่ายกับประชาชน ซึ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องความมั่นคง เพราะรัฐบาลเป็นผู้ออกเอง ส่วนผลตอบแทนนั้นย่อมต่ำกว่าหุ้นกู้ของเอกชนมาก เห็นได้จากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปีเมื่อ 3 มีนาคม 2552 อยู่ที่ 1.89% เท่านั้น ส่วนพันธบัตรอายุ 10 ปีอยู่ที่ 3.98% ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นแนวโน้มว่าดอกเบี้ยเงินฝากคงจะต่ำไปอีกไม่น้อยกว่า 3 ปี และตราสารหนี้ระยะยาวน่าจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนมากขึ้น

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้มีเงินออมควรระมัดระวังคือเรื่องตัวเลขของผลตอบแทน ต้องพิจารณาให้ดีว่าเราจะได้จริงอย่างที่โฆษณากันไว้หรือไม่ เช่น ผลตอบแทนของกองทุนรวมตราสารหนี้บางแห่งให้ผลตอบแทน 3 เดือนได้ราว 2.9% และตั้งแต่ตั้งกองทุนมาได้ผลตอบแทนเกือบ 11% นั้น ท่านต้องมาดูความเป็นจริงว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขเมื่อไหร่ อัตราดอกเบี้ยในเวลานั้นเป็นเท่าไหร่

หากท่านเข้าไปลงทุนในเวลานี้ท่านจะได้ผลตอบแทนตามที่โชว์ตัวเลขกันอยู่หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่มักเป็นตัวเลขในอดีต ดอกเบี้ยในเวลานั้นแตกต่างจากปัจจุบัน

หุ้นปันผลไม่ใช่เซียนอย่าแหยม

สำหรับคำเชิญชวนให้หันมาซื้อหุ้นปันผลที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากนั้น ก็เช่นเดียวกัน ตัวเลขของเงินปันผลที่แสดงออกมานั้น ต้องกลับไปดูว่าเป็นการปันมาจากกำไรที่แท้จริงในงวดนั้นหรือไม่ เพราะมีบางแห่งดึงเอากำไรสะสมที่มีอยู่เดิมมาจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น นอกจากนี้เปอร์เซ็นต์ที่แสดงนั้นล้วนเป็นการกล่าวถึงผลการดำเนินงานในอดีต ไม่มีสิ่งใดยืนยันว่าในอนาคตท่านจะได้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม

อีกทั้งการซื้อหุ้นเพื่อรับเงินปันผลนั้น ในความเป็นจริงแล้วเหมาะสำหรับผู้ที่ถือหุ้นมาระยะหนึ่ง ยิ่งซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำ ๆ ยิ่งได้ผลตอบแทนสูง แต่โดยธรรมชาติของราคาหุ้นแล้วเมื่อบริษัทใดประกาศว่าจะจ่ายเงินปันผลสูง ๆ ราคาหุ้นจะวิ่งขึ้น ตรงนี้ต้องถามว่าท่านจะซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำหรือสูง คำตอบคือมักจะซื้อหุ้นได้ในราคาสูง

เมื่อรับเงินปันผลแล้วคำนวณผลตอบแทนที่ได้จึงต่ำกว่าที่หลายฝ่ายประกาศไว้ อีกทั้งเมื่อหุ้นได้จ่ายเงินปันผลแล้วราคาหุ้นย่อมปรับลดลงเป็นปกติ ถามว่าราคาหุ้นที่ท่านเข้าซื้อบวกด้วยเงินปันผลที่ได้แล้วหักด้วยราคาหุ้นที่ท่านขายออกไปนั้นท่านจะได้กี่เปอร์เซ็นต์ ในบางครั้งหากตลาดหุ้นตกแรง ๆ สิ่งที่ท่านตัดสินใจไปนั้นเท่ากับว่าท่านอาจขาดทุนได้ การลงทุนในลักษณะนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญมาก หากเป็นมือใหม่เข้าไปคงลำบาก

ที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะทำให้รู้สึกว่าทุกอย่างไม่น่าลงทุนนั้น คงไม่ใช่ เพราะผู้มีเงินออมแต่ละคนมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน บางคนสามารถรับความเสี่ยงได้มาก บางคนรับความเสี่ยงได้น้อย ตรงนี้จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละท่าน เพียงแต่ข้อแนะนำเหล่านี้เป็นเรื่องจริงที่ยึดเอาประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นหลัก โดยที่ท่านไม่สามารถหาคำตอบเหล่านี้ได้จากผู้ที่กำลังขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินกับท่าน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.