การส่งเสริมการเกษตรในเมืองกับแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร

โดย Jerome Rene Hassler
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ได้กล่าวมาหลายครั้งแล้วถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับสังคมเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อม จากการที่เมืองต่างๆ ในเขตอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2000 ว่า ภายในปี 2015 จำนวน 26 เมืองทั่วโลกที่มีประชากรตั้งแต่ 10 ล้านคนขึ้นไป จะมีถึง 16 เมืองที่จะเป็นเมืองในเอเชีย

โดยที่ประชากรถึง 20-40% ในเมือง เหล่านี้จะเป็นคนยากจน ซึ่งอพยพจากชนบทเข้าไปในเมือง เพราะหวังว่าจะมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในช่วง 10 ปีมานี้ การเกษตรได้เริ่มกลับคืนสู่เมืองอีกครั้งและการกลับมาของการใช้ที่ดินในเมืองเพื่อการเกษตรนี้ เรียกว่า การเกษตรในเมือง ซึ่งหมายถึงทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก แปรรูปและจัดจำหน่ายธัญพืช ผักผลไม้ ปศุสัตว์หรือปลา ทั้งในและโดยรอบเมือง

การส่งเสริมการเกษตรในเมือง ถือเป็นพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังอาจช่วยแก้ปัญหาในเมืองได้อีกหลายอย่าง เช่น ความมั่นคงด้านอาหาร การปรับตัวเข้ากับภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การป้องกันความเสี่ยงจากการเกิดอุทกภัย การลดความยากจน และการส่งเสริมสุขภาพของคนในเมือง

อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้จะเน้นเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างการเกษตรในเมืองกับการผลิตอาหารป้อนคนที่อาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ ของประเทศในแถบ GMS เท่านั้น

ขณะนี้การเกษตรในเมืองได้เริ่มขยายตัวแล้วในเกือบทุกประเทศใน GMS เพราะประชากรในอนุภูมิภาคแห่งนี้เข้าใจดีว่า การเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้สามารถเรียกร้องความสนใจได้เป็นอย่างมาก เรากำลังเผชิญปัญหาความยากจนที่กำลังเพิ่มมากขึ้นในเมือง และปัญหาการสูญเสียพื้นที่การเกษตร อันเนื่องมาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง ปัญหาความยากจนและการสูญเสียพื้นที่เกษตรนี้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร แต่การเกษตรในเมืองอาจเป็นกุญแจแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารในเมืองได้

FAO ประเมินว่าภายในปี 2010 ความต้องการบริโภคอาหารในเอเชียจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยความต้องการธัญพืชจะเพิ่มขึ้น 49% ผักจะเพิ่มขึ้น 18% ผลไม้ 16% พืชกินรากและหัว 9% และเนื้อสัตว์ 8% เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเมืองต่างๆ ในเอเชีย

นอกจากนี้ยังคาดว่าการผลิตอาหารในชนบทก็จะลดลงอย่างมากภายในปี 2010 ทำให้การเกษตรในเมืองยิ่งทวีความสำคัญสำหรับประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคนี้ เพื่อผลิตอาหารให้เพียงพอป้อนประชากรในเมืองที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น รายงานเกี่ยวกับการเกษตรในเมืองของ FAO เมื่อ ปี 2001 ระบุว่ามีคนถึง 7 ล้านคนที่เกี่ยว ข้องกับกิจกรรมการเกษตรในเมือง และยังพบว่า พื้นที่เกษตรที่อยู่ในเมืองและปริมณฑลสามารถผลิตอาหารป้อนชาวเมือง ได้ถึง 700 ล้านคน หรือเท่ากับ 1 ใน 4 ของประชากรในเมืองที่มีอยู่ทั้งหมดในโลกนี้

จากประวัติศาสตร์พบว่า แนวคิดที่จะส่งเสริมการเกษตรในเมืองมีมานานแล้ว โดยสามารถสืบย้อนหลังไปได้ถึงเกือบ 2 ศตวรรษ คือเมื่อประมาณกว่า 180 ปีก่อน ได้มีการแจกที่ดินผืนเล็กๆ ในเมืองให้แก่ชาวอังกฤษและเยอรมันที่ยากจน เพื่อให้ทำการเพาะปลูกพืชผักผลไม้และดอกไม้

นั่นคือความพยายามที่จะจัดการแก้ปัญหาความยากจนในเมืองนั่นเอง ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ในยุโรป อันเป็นช่วงที่แรงงานราคาถูกจากชนบทหลั่งไหลเข้าสู่เมืองที่กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม แรงงานอพยพเหล่านี้ต้องเจอกับปัญหาสุขภาพ อันเนื่องมาจากสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะและการขาดอาหาร

การเกษตรในเมืองในฐานะที่เป็นแนวคิดหนึ่งของการวางผังเมืองนี้ ได้ถูกนำมาใช้ในเวลาต่อมา โดยสถาปนิกภูมิทัศน์ และนักวางผังเมืองผู้มีชื่อเสียงชาวอังกฤษและชาวเยอรมันตามลำดับคือ Ebenezer Howard (Garden City concept) และ Leberecht Migge (แนวคิดการพึ่งตนเอง อย่างพอเพียงที่เรียกว่า Siedlungswesen)

นับตั้งแต่นั้นมา แนวคิดเกี่ยวกับการจัดสรรปันส่วนที่ดินและเรือกสวนไร่นาในเมืองก็แพร่กระจายไปทั่วยุโรป ทำให้มีการนำที่ดินในเมืองต่างๆ ของยุโรปเป็นจำนวนหลายล้านแปลงมาแจกจ่ายให้แก่คนจน เนื่องจากการทำเกษตรในเมืองมีประโยชน์ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมหลายประการ เช่น

- ช่วยให้ชาวเมืองมีสุขภาพดีขึ้น เนื่องจากได้รับอาหารประจำวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการและไม่มีอันตราย การ เกษตรในเมืองยังมีส่วนช่วยลดมลพิษทางเสียง และมลพิษทางอากาศ ซึ่งก็ช่วยส่งเสริมสุขภาพของชาวเมืองได้เช่นกัน

- ลดอาการเครียดของคนที่อาศัยอยู่ในเมือง จากการที่มีพื้นที่สีเขียวอยู่ในเขตที่มีประชากรหนาแน่น ทำให้ชาวเมืองได้รู้สึกผ่อนคลาย

- ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคม เนื่องจากมีพื้นที่ให้คนในสังคมได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างคนต่างวัย และต่างพื้นเพทางสังคม

- ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในเขตเมือง

- ทำให้มีสื่อกลางที่จะใช้สอนเรื่องสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียน

- ลดความเสี่ยงการเกิดอุทกภัย เนื่องจากมีการใช้เครื่องสูบน้ำ

- ทำให้คนจนในเมืองมีแหล่งสร้าง รายได้เพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่การ เกษตรในเมืองได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศ GMS ให้เป็นวิธีที่จะช่วยรับประกันความมั่นคงด้านอาหารในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติ ในเมืองใหญ่ๆ ของ GMS อย่างเช่น กรุงเทพฯ กรุงฮานอย และกรุงพนมเปญ มีการริเริ่มโครงการเกษตรในเมืองหลายอย่าง ซึ่งมีกิจกรรมที่หลากหลายครอบคลุม ตั้งแต่การนำทรัพยากรหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ การศึกษา การจัดหาอาหารปลอดภัย การพัฒนาชุมชน สถาปัตยกรรม "เขียว" และการจัดการพื้นที่เปิด

บรรดาองค์กรผู้บริจาคระหว่างประเทศและ NGO จำนวนมาก ต่างรับเอาแนวคิดการเกษตรในเมืองมาส่งเสริมในประเทศกำลังพัฒนา โดยร่วมมือกับองค์กรในท้องถิ่น ส่งเสริมให้คนยากจนเริ่มทำเกษตรในเมือง เพราะเขาจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุด

ยกตัวอย่างในไทย ทั้งรัฐบาลไทยและกรุงเทพมหานครต่างเห็นความสำคัญของการเกษตรในเมือง แม้ว่าย่านใจกลางกรุงเทพฯ จะมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น แต่ย่านชานเมืองและพื้นที่โดยรอบกรุงเทพฯ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 39% ของพื้นที่ทั้งของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังคงถูกทอดทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า หรือยังไม่ได้รับการพัฒนา เนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของกรุงเทพฯ ระหว่างทศวรรษ 1960 ถึง 1980 ทำให้ทางกรุงเทพมหานครไม่สามารถสร้างถนนได้มากพอที่จะเชื่อมทั่วกรุงเทพฯ ได้

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environment Institute: TEI) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมชั้นนำของไทย ได้ริเริ่มโครงการเมืองสีเขียว โดยความ ร่วมมือจากศูนย์พัฒนาเมืองยั่งยืนระหว่างประเทศของแคนาดา (International Centre for Sustainable Cities: ICSC) และได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนา ระหว่างประเทศของแคนาดา (Canadian International Development Agency: CIDA) และได้เลือกเขตบางกอกน้อยและเขตบางกะปิให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจ

โดยโครงการสวนเกษตรในโรงเรียน ที่จัดทำโดยนักเรียน และสวนเกษตรชุมชน ที่ก่อตั้งขึ้นตามโครงการดังกล่าว สามารถสร้างรายได้มากพอที่โครงการจะเลี้ยงตัวเองได้ ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ โครงการนี้ได้ช่วยสร้างจิตสำนึกด้านนิเวศวิทยาให้เกิดขึ้นในหมู่คนยากจนและคนในชุมชนด้วย

แม้ว่าโครงการสวนเกษตรเล็กๆ อย่างนี้อาจไม่สามารถส่งผลดีไปทั่วทั้งสังคมโดยรวม แต่อย่างน้อยก็สามารถดึงดูดความสนใจของชาวเมืองให้หันมาสนใจการทำเกษตรในเมืองได้

จากการศึกษาของบัณฑูร ชุนสิทธิ์ Jacques Pages และอรอุมา ดวงงาม ทั้งสามได้เสนอมุมมองที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับการเกษตรในกรุงเทพฯ โดยสรุปว่า แม้ว่ากรุงเทพฯ จะเป็นเมืองหลวง แต่ก็ยังมีพื้นที่ เกษตรจำนวนมาก ในปี 1998 0.14% ของที่ดินในกรุงเทพฯ (21,276 เฮกตาร์ จากที่ดินทั้งหมด 156,609 เฮกตาร์ของกรุงเทพฯ) เป็นพื้นที่เกษตร ยิ่งกว่านั้น การสำรวจตลาดของทั้งสามยังพบว่า ผักผลไม้ส่วนใหญ่ที่ขายในกรุงเทพฯ และในจังหวัดใกล้เคียง แท้จริงแล้วผลิตจากในกรุงเทพฯ และในจังหวัดเหล่านั้นนั่นเอง

แม้ว่าปริมาณอาจจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของคนในกรุงเทพฯ แต่นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเกษตรในเมืองในประเทศไทย

ส่วนในเวียดนาม การเกษตรในเมือง ก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร ปัญหาด้านอาหารในเวียดนามเกิดจากที่ดินเพื่อการเกษตรในแต่ละปีได้ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร และเกิดจากราคาอาหารที่มีความผันผวนสูงโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน รวมทั้งการที่ระดับรายได้ของชาวเวียดนามสัมพันธ์กับสถานะการกินอยู่

ดังนั้น การเกษตรในเมืองจึงมีบทบาทสำคัญในการผลิตข้าวและผักในเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านชุมชน เมืองที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ซิตี้ ในกรุงฮานอย ที่ดินประมาณ 42,000 เฮกตาร์ ถูกใช้เป็นพื้นที่เกษตร

ในกัมพูชาก็เช่นกัน การเกษตรในเมืองมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลิตอาหารและช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง ในกรุงพนมเปญ ที่ดิน 8,000 เฮกตาร์ถูกใช้เพื่อการเกษตร และเกือบ 40% ของประชากรในเมืองหลวงของกัมพูชาล้วนเกี่ยวข้องกับการทำเกษตร

จากประโยชน์ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น การเกษตรในเมืองจึงควรจะได้รับการสนับสนุนจากทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถ้าจะให้ดีที่สุดก็ควร บรรจุเรื่องการเกษตรในเมืองรวมอยู่ในแผนการใช้ที่ดินและการใช้พื้นที่ในเมืองโดยรวมด้วย ส่วนเครื่องมือต่างๆ อย่างเช่น แผนยุทธศาสตร์เพื่อการวางผังเมือง (Strategic Urban Planning: SUV) ซึ่งเป็นการวางแผนการใช้ที่ดินและการพัฒนาเมืองโดยรวม ก็ควรจะถูกนำมาใช้เป็นกรอบสำหรับส่งเสริมการทำเกษตรในเมืองและการปลูกป่าในเมือง

ตัวอย่างที่ดีของการวางแผนดังกล่าว คือโมเดลที่เรียกว่า Dutch Randstad ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี โมเดลซึ่งพัฒนาขึ้นตั้งแต่ ปี 1958 นี้ เสนอหลักการพื้นฐานคือ ให้พื้นที่ที่อยู่ติดกันของเมือง 4 เมืองในเนเธอร์แลนด์คือ Amsterdam, Rotterdam, the Hague, และ Uttrecht ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกันในลักษณะเหมือนรูปเกือกม้า horse shoe และครอบคลุมพื้นที่ 4,500 ตารางกิโลเมตร โดยมีประชากร 7.5 ล้านคน สามารถจะขยายเมืองซึ่งกันและกันอย่างไรก็ได้ แต่ขอให้พื้นที่ด้านในที่อยู่ตรงกลางระหว่างเมืองทั้งสี่ ซึ่งเป็นรูปเกือกม้าจะต้องถูกกันเอาไว้ให้ปลอดจากการขยายตัวของเมือง และควรจะนำใช้เพื่อการเกษตรเท่านั้น

โมเดลนี้อาจจะยากที่จะนำไปใช้กับเมืองต่างๆ ใน GMS แต่แนวคิดหลักของการกันที่ดินส่วนหนึ่งในเมืองเอาไว้สำหรับเป็นพื้นที่สีเขียวและสำหรับการเกษตรนั้นน่าจะนำไปใช้ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.