ความสว่างในความมืด ประกายความหวังในภาวะเศรษฐกิจตก

โดย พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ในขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ เมืองไทยก็มิอาจหลุดรอดจากผลกระทบไปได้ เป็นช่วงที่คนไทยเราจะต้องมีสติสัมปชัญญะในการดำเนินชีวิต และประเทศก็ต้องวางแผนวางกลยุทธ์กันอย่างรอบคอบ ทั่วถึง หากในความตกต่ำก็มีความหวังอันเรืองรอง

ความหวังอันเรืองรองนั้นมาจากอะไรกันเล่า ในมุมมองของผู้เขียน ซึ่งมักจะมองกลับกับคนอื่นเสมอ ความหวังนั้นเกิดจากการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รอบคอบ คำนึงถึงคนทุกภาคส่วน มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิ ภาพ คุ้มค่ามากขึ้น ยังผลให้เกิดขึ้นในทางบวก ในขณะที่รัฐบาลก็ใช้เงินใช้ทรัพยากรเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนมากขึ้น คิดถึงพวกพ้องน้อยลง

ในแง่ของสิ่งแวดล้อม ก็เกิดผลพวง ที่เป็นบวกหลายประการ ประการแรกที่เห็นได้ชัดคือ มีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ใช้ไฟฟ้าน้อยลง ส่งผลให้เกิดการลดมลพิษ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อน ข้อพิสูจน์ของ ภาวะโลกร้อนคือไฟไหม้ป่าในออสเตรเลียที่เผาผลาญทุกสิ่งทุกอย่างราวกับไฟบรรลัยกัลป์

การใช้ไฟฟ้าน้อยลงย่อมหมายถึงการช่วยเศรษฐกิจของชาติในภาพรวมด้วยการลดการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียม เพราะไฟฟ้าส่วนใหญ่ผลิตขึ้นได้จากน้ำมัน ในส่วนที่ผลิตได้จากพลังน้ำ การประหยัดไฟฟ้าในช่วงกลางคืน (เสริมด้วยการผลิตจากพลังน้ำ) ช่วยให้ประเทศประหยัดน้ำไว้ให้กับเกษตรกรได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังมีวิธีการอีกหลายรูปแบบที่ช่วยเศรษฐกิจของชาติได้ในยามฐานะตกต่ำเช่นนี้ โดยมิต้องอาศัยงบประมาณและนโยบายสวยหรูมากมาย และผลสัมฤทธิ์ที่ได้ นอกจากการอยู่รอดทางเศรษฐกิจแล้วยังช่วยให้ประชากรมีวิถีชีวิตที่เป็นสุขขึ้นกับสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ ลองมาเรียนรู้แนวคิดและการปฏิบัติของชุมชนและเทศบาลบางแห่งดู

เทศบาลนครอุดรธานีมีปัญหาจาก เมืองขยายตัว อันมีสาเหตุมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะปัญหาด้านน้ำเสีย ขยะ การจราจร น้ำเสียถูกระบายลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะห้วยหมากแข้งและห้วยมั่ง เพราะโรงบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่มีประสิทธิภาพไม่ดีพอและไม่เพียงพอ คูคลองจึงกลายเป็นแหล่งรับน้ำเสีย แหล่งเพาะพันธุ์ยุง อันเป็นอันตรายต่อสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตประชาชน และยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในการท่องเที่ยวอีกด้วย เทศบาลฯ จึงร่วมมือกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย ขอนแก่น จัดทำโครงการฟื้นชีวิตลำห้วยหมากแข้งและลำห้วยมั่ง บำบัดน้ำในลำห้วยให้สะอาดด้วยระบบธรรมชาติ รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองให้สวยงามคืนชีวิตธรรมชาติให้กับชุมชน

หลักการของระบบบำบัดน้ำเสียแบบธรรมชาติก็คือ การเข้าใจธรรมชาติของลำห้วย และขีดความสามารถทางชลศาสตร์ที่เพียงพอที่จะทำหน้าที่ระบายน้ำได้เป็นปกติ ส่วนการปรับปรุงภูมิทัศน์จะต้องดำรงสภาพนิเวศทางธรรมชาติของลำคลองไว้ ส่วนกระบวนการบำบัดน้ำเสีย ใช้หลักการที่สากลเรียกว่า "constructed wetland" หรือการประดิษฐ์ขึ้นเลียนแบบพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ ประกอบด้วยบ่อตื้น 2 บ่อ และบ่อลึก 1 บ่อ ซึ่งมีกระบวนการบำบัดดังนี้

บ่อตื้นบ่อที่ 1 ปลูกต้นกก เตย พุทธรักษา เพื่อเป็นพื้นที่ชะลอน้ำและบำบัดเบื้องต้น โดยขบวนการเปลี่ยนโปรตีนในสารอินทรีย์เป็นแอมโมเนีย

บ่อลึก (ประมาณ 1 เมตร) ปลูกบัวและสาหร่าย เพื่อให้เกิดขบวนการเปลี่ยนแอมโมเนีย (จากบ่อที่ 1) ให้เป็นไนเตรท

บ่อตื้นบ่อที่ 2 ปลูกต้นกก เตย พุทธรักษา และควบคุมสภาพเพื่อให้เกิดขบวนการเปลี่ยนไนเตรทเป็นก๊าซไนโตรเจนสู่บรรยากาศ

ลำคลองที่ฟื้นชีวิตนอกจากจะช่วย สิ่งแวดล้อม สุขอนามัยแล้ว ยังช่วยด้านเศรษฐกิจได้อย่างสำคัญ ประกอบกับอุดรธานีเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีชื่อระดับโลกก็ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในเมืองได้มากขึ้น อยู่นานขึ้น ทั้งหมดนี้เพียงแต่ลองคิดนอกกรอบว่า การบำบัดน้ำเสียมิใช่เพียงการสร้างระบบขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ทั้งเงินและเทคโนโลยีมาใช้เท่านั้น แต่ยังมีตัวช่วยโดยใช้วิธีธรรมชาติที่เรียบง่ายและประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา ก็จะช่วยเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในเมืองได้อย่างสำคัญ

เทศบาลอีกแห่งหนึ่งที่มีการปฏิบัติ ที่น่าเรียนรู้ โดยภูมิปัญญาไทยแท้ๆ ไม่ต้องพึ่งพาสมองของชนชาติใดเลยคือ เทศบาล ตำบลเมืองแกลง จ.ระยอง

เริ่มจากแนวคิด "นำทุกอย่างที่เกิดจากดิน กลับคืนสู่ดิน" ด้วยการจัดการขยะ แบบบูรณาการ ขยะอินทรีย์ประเภทผลไม้ถูกนำไปหมักเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ ส่วนหนึ่งของเชื้อจุลินทรีย์นำไปคลุกกับเศษกิ่งไม้ใบไม้ที่ผ่านเครื่องบดย่อย กองซ้อนเป็นชั้นๆ ปล่อยให้เกิดการย่อยสลายราวสามเดือน ก็กลายเป็นปุ๋ยหมักชั้นเลิศ บำรุงพืช บำรุงดิน หัวเชื้อบางส่วน นำไปเป็นอาหารของหนอนแมลงหวี่และไส้เดือน เลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารของปลาในบ่อ เพื่อเป็นอาหารของเราอีกทอดหนึ่ง มูลของไส้เดือนก็เป็นปุ๋ยอย่างดีสำหรับต้นไม้ผล ยิ่งไปกว่านั้น ปราชญ์ชาวบ้านอาศัยระบบการหมักย่อยในกระเพาะของแพะ ซึ่งเป็นระบบ "หมักด่วน" สามารถผลิตมูลแพะออกมาเป็น "ปุ๋ยอัดเม็ด" และ "อาหารอัดเม็ด" ชั้นดี โดยการหมักที่ผ่านกระเพาะของแพะนี้รวดเร็วกว่าการหมักตามปกติมาก วิธีนี้จึงนับเป็นอีกหนทางหนึ่งในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

กระบวนการจัดการของเสียอินทรีย์ "นำกลับคืนสู่ดิน" ของเทศบาลเมืองแกลง ทำให้งบประมาณปี 2551 ช่วยลดปริมาณ ขยะลงได้มาก ยกเลิกการจัดซื้อปุ๋ยเคมีในองค์กร ลดค่าผักปลาแก่บุคลากร เพราะผลิตได้เองในรูปของเกษตรเมือง ประหยัดค่าขนส่งทั้งขยะและวัตถุดิบ ทั้งนี้เพราะธรรมชาติให้กระบวนการสีเขียว คือการอาศัยสิ่งที่เกิดขึ้นจากดินอย่างหนึ่งไปเกื้อกูลให้อีกสิ่งหนึ่งที่อาศัยดิน ดำเนินต่อกันไปเป็นทอดๆ ก่อนจะกลับคืนไปสู่ดินในที่สุด นี่เองที่จะทำให้โลกของเราอยู่ได้อย่างยั่งยืนในด้านต้นทุนวัตถุดิบ นอกจากจะเอาของเสียมาใช้ประโยชน์แล้ว สิ่งมีชีวิตในกระบวนการสีเขียว เช่น จุลินทรีย์ ไส้เดือน ปลา แพะ ยังไม่ต้องการเงินเดือน ค่าจ้าง เงินประกันสังคม และค่าต่างๆ ในการทำงานอีกด้วย ยังชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิง ไฟฟ้าที่จะต้องใช้ผ่านเครื่องจักรกลได้ด้วย

เห็นไหมว่า ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานี้ อันเป็นภูมิปัญญาของคนไทยกันเองแท้ๆ สามารถช่วยเศรษฐกิจได้ดีกว่า การแจกเงิน 2,000 บาท ตั้งเยอะตั้งแยะ เพราะ ถ้านำกระบวนการสีเขียวไปขยายผลก็จะให้อานิสงส์กลับมามากกว่าเอาเงิน 2,000 บาทไปใช้หลายเท่าทวีคูณ

ข้อมูล:
หนึ่งเทศบาล หนึ่งตัวอย่างที่ดี
จัดทำโดยสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิสิ่งแวดล้อมไทย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.