|
ก้าวที่ 2 ของสภาธุรกิจไทย-ลาว
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้จะมีอายุการก่อตั้งมาได้เพียง 2 ปี แต่บทบาทของสภาธุรกิจไทย-ลาวก็ดำเนินไปอย่างมีนัยสำคัญ
"สิบห้าปี ที่ไตเฮา เสียแดนดิน... จงเอ็นดู หมู่ข้าน้อย ที่พลอยพลัดบ้าน... เฮาคนไต ย้ายกันไป ทุกถิ่นทุกฐาน... จงฮักกันเน้อ ไตดำเฮานา..."
เสียงเพลง "ไทดำรำพัน" ที่ร้องโดย "ก.วิเสส" นักร้องชาวลาวและเคยฮิตติดหูคนไทยในช่วง พ.ศ.2512-2514 ถูกนำมาขับกล่อมอีกครั้ง ภายในห้องราชมณเฑียร โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพฯ ช่วง ย่ำค่ำของวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ผู้ที่ยืนร้องเพลงนี้อยู่บนเวทีคือ ท่าน อ้วน พมมะจัก เอกอัครรัฐทูตลาวประจำประเทศไทย
หน้าเวทีแถวรำวงคู่ชาย-หญิง ประมาณ 10 คู่ เดินรำเป็นวงกลมไปรอบเวทีตามจังหวะเสียงเพลง
ในแถวดังกล่าวล้วนเป็นผู้รำกิตติมศักดิ์ อาทิ วิบูลย์ คูสกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ศักดิ์ชัย วงศ์มาลาสิทธิ์ ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว ไพรัช บูรพชัยศรี เลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะรองประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว ชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เดดพูวัง มูนรัด ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว
โดยผู้รำฝ่ายหญิงเป็นนักธุรกิจไทยที่ได้เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว รวมถึงเจ้าหน้าที่หญิงของธนาคารแห่ง สปป.ลาว
บรรยากาศรื่นเริงครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงสันทนาการ หลังเสร็จสิ้นการประชุมนอกรอบของคณะกรรมการสภาธุรกิจไทย-ลาว เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดประชุมใหญ่สมาชิกที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 มีนาคมนี้ ที่ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ ลาวไอเด็ก นครเวียงจันทน์
สภาธุรกิจไทย-ลาวก่อตั้งขึ้นภายใต้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) 3 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2550
อ่านเรื่อง "เชื่อมโยงธุรกิจผ่านสภาธุรกิจไทย-ลาว" นิตยสาร "ผู้จัดการ 360 ํ" ฉบับเดือนสิงหาคม 2551 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
ตามระเบียบข้อบังคับของสภาฯ คณะกรรมการชุดแรกที่นำโดยศักดิ์ชัยจะหมดวาระลงในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ดังนั้นคณะกรรมการสภาฯ จึงต้องมีการคุยกันนอกรอบก่อน เพื่อเตรียมการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ในการประชุมใหญ่สมาชิกในวันที่ 14 มีนาคม
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ศักดิ์ชัยดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ต่อไปอีก 1 วาระ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
แม้จะเพิ่งจัดตั้งขึ้นมาได้เพียง 2 ปี แต่บทบาทของสภาธุรกิจไทย-ลาว ก็มีไม่น้อย
นอกจากการดำรงบทบาทเป็นองค์กรกลางสำหรับการประสานงานด้านการลงทุนของนักลงทุนไทยกับหน่วยงานรัฐของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นบทบาทหลักของสภาฯ แล้ว
สภาธุรกิจไทย-ลาวยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่ง สปป.ลาว โดยมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นผู้ให้คำแนะนำ
ที่ผ่านมา ตัวแทนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงบริษัทสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ได้เดินทางไปให้ความรู้ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่ง สปป.ลาว ยังนครเวียงจันทน์มาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือนกันยายน และพฤศจิกายน 2551
ระหว่างวันที่ 10-20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่ง สปป.ลาวได้ส่ง ตัวแทนมาเข้ารับการอบรม และดูงานการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่ง คือ บล.กิมเอ็ง และ บล.ทิสโก้
ซึ่งเป็นช่วงที่ตรงกับการจัดประชุมนอกรอบของคณะกรรมการสภาธุรกิจไทย-ลาว พอดี
ตามกำหนดการ สปป.ลาวจะเปิดการซื้อขายหุ้นในตลาด OTC (Over-the-Counter) ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้และตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดตลาดหลักทรัพย์แห่ง สปป.ลาวอย่างเป็นทางการได้ในเดือนตุลาคม 2553
เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับการซื้อขายหุ้นทั้งในตลาด OTC และในตลาดหลักทรัพย์ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่นานนี้ ในวันที่ 13 มีนาคม ก่อนการประชุมใหญ่ สมาชิกสภาฯ 1 วัน สภาธุรกิจไทย-ลาว ได้ร่วมมือกับ Price Water House Coopers จัดอบรมในหัวข้อ "Legal, Tax, Accounting and Auditing under Lao Laws" ให้กับนักธุรกิจทั้งไทยและลาว ที่สนใจในนครเวียงจันทน์ด้วยเช่นกัน
ไทยและ สปป.ลาว ถือเป็นประเทศ เพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดกันอย่างยิ่งทั้งในด้านภาษา วัฒนธรรม วิถีชีวิตของประชาชน
พรมแดนระหว่างไทยและลาวยาวถึง 1,810 กิโลเมตร เป็นพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่ยาวเป็นลำดับ 2 รองจากสหภาพเมียนมาร์
แต่ในอดีตที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับลาว กลับไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควร ด้วยเหตุผลที่นักธุรกิจไทยมักไม่ค่อยมีความจริงใจในการทำธุรกิจกับ สปป.ลาว
หลายคนมีทัศนคติที่ผิดๆ ต่อคนลาว มองว่าลาวเป็นประเทศที่ด้อยกว่าหรือมองด้วยความเข้าใจแบบผิวเผินว่าไทยกับลาวเป็นพี่น้องกัน เพราะฉะนั้นจึงทำอะไรแบบมักง่าย
ขณะที่ สปป.ลาวกำลังเปิดประเทศ ต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติ ประเทศที่ได้โอกาสดีๆ จากการเปิดประเทศของ สปป.ลาว ส่วนใหญ่กลับกลายเป็นจีนกับเวียดนาม
โชคดีที่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักธุรกิจ ไทยเริ่มมีทัศนคติที่ถูกต้องขึ้น รู้จักขั้นตอน วิธีการ ธรรมเนียมปฏิบัติในการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจใน สปป.ลาวดียิ่งขึ้น
การเกิดขึ้นของสภาธุรกิจไทย-ลาว เมื่อ 2 ปีก่อน จึงถือเป็นอีกความพยายามหนึ่งของนักธุรกิจไทย ที่ต้องการปิดช่องว่างในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและลาว และเพิ่มช่องทางในการแสวงหาโอกาสจากการเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างชาติของ สปป.ลาว ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|