|

ผลกระทบเขตแดนลาว-ไทย
โดย
เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
การโหมก่อสร้างโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ริมแม่น้ำโขงฝั่ง สปป.ลาวแห่งนี้ นอกจากจะบ่งชี้ให้เห็นทิศทางการค้า-การลงทุนบนแผ่นดินสามเหลี่ยมทองคำก็ตาม แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาที่อาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาว ได้เช่นกัน
เพราะตลอดระยะเวลาที่มีการก่อสร้างโครงการนี้ได้มีการขุดเจาะนำทรายในแม่น้ำโขงขึ้นไปใช้ในการก่อสร้างอย่างมหาศาล ทั้งบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ จุดที่มีการสร้างท่าเรือ และบริเวณตรงกันข้ามที่ทำการของหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย และหน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน
อภิสิทธิ์ คำภิโล หัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (ขน.) จ.เชียงราย ระบุว่าโครงการนี้มีการใช้ทรายในแม่น้ำโขงจำนวนมหาศาล ซึ่ง ขน.เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อร่องน้ำลึกในแม่น้ำโขง โดยอาจถึงขั้นทำให้ท่าเรือน้ำลึกของไทยที่ อ.เชียงแสน เกิดภาวะตื้นเขินไม่สามารถใช้งานได้จนต้องเสียงบประมาณในการขุดลอกกันใหม่
ซึ่งร่องน้ำลึกถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้เขตแดนไทยเปลี่ยนไปด้วย เพราะร่องน้ำลึกเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาเรื่องการปักปันเขตแดน อีกทั้งในฤดูน้ำหลากก็จะทำให้แม่น้ำเปลี่ยนทิศทางเข้ากัดเซาะตลิ่งฝั่งไทยในจุดที่เลยเขตเทศบาล ต.เวียงเชียงแสน ลงไปที่ไม่มีการสร้างเป็นพนังหรือเขื่อนกั้นน้ำเหมือนในเขตเทศบาลด้วย
ด้วยปัญหาดังกล่าว ขน.เชียงรายได้ทำหนังสือ 3 ฉบับถึงสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.เชียงราย ในฐานะเป็นเลขานุการคณะกรรมการเกี่ยวกับการดูดทรายในแม่น้ำโขง เพื่อให้มีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบว่า การขุดทรายในแม่น้ำโขงของทาง สปป.ลาว ว่าจะส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด
ฉบับที่ 2 ส่งไปถึงกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เพื่อพิจารณาว่าการขุดทรายครั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลงว่า ในการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง 4 ชาติคือ ไทย สปป.ลาว พม่า และจีนตอนใต้ หรือไม่
ซึ่งก็ผลักดันให้ทางคณะกรรมการประสานการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (JCCCN: The Joint on Coordination of Commercial Navigation on the Lancang-Mekong River among China, Laos, Myanmar and Thailand) ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
และฉบับที่ 3 ส่งถึง ไตรสิทธิ์ สินสมบูรณ์ทอง ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงตามแนวชายแดนได้พิจารณาต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|