หมู่บ้านปิยะมิตร: อีก 1 กลุ่มชาวจีนที่แสดงบทบาท “ลึก” แต่เงียบๆ

โดย ปิยะโชติ อินทรนิวาส เจษฎา สิริโยทัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

บนเทือกเขาสูงชัน ถนนที่คดเคี้ยวลัดเลาะไปตามไหล่เขา ทั้งคนขับและผู้โดยสาร หากได้มองออกไปนอกหน้าต่างรถ อาจรู้สึกเสียวสันหลังวูบ...!!!

เพราะภาพที่เห็นเบื้องล่างเป็นหน้าผาที่ลึกชันลงไปจนมองเห็นถนนที่เพิ่งผ่านพ้นมา เป็นเพียงเส้นด้ายเส้นเล็กๆ

ที่ปลายสุดของถนนเส้นนี้ กินระยะทางบนภูเขาประมาณ 15 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองเบตงออกไป 19 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านปิยะมิตร 2 ที่ผู้มาเยือนต้องตะลึงไปกับความสวยงามของแปลงปลูกไม้ดอกเมืองหนาว ที่กินเนื้อที่กว้างเกือบ 10 ไร่

ความงามของแปลงดอกไม้ ทำให้ลืมความหวาดเสียวช่วงนั่งรถขึ้นเขาไปได้โดยปริยาย

หมู่บ้านปิยะมิตร ถือเป็นชุมชนชาวจีนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้แสดงบทบาทเชิงลึก แต่เงียบๆ ให้กับประชาคมเมืองเบตงมาหลายทศวรรษ

ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานของกลุ่มคนที่เคยเคลื่อนไหวในนาม "พรรคคอมมิวนิสต์มลายา" ที่เริ่มจากกลุ่มคนจีนที่จับอาวุธมาต่อสู้ห้ำหั่นอย่างดุเดือด กับทหารญี่ปุ่นที่เข้ายึดครองพื้นที่ไว้ในปี ค.ศ.1943

หลังจากนั้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง คนกลุ่มนี้ก็ยังไม่ยอมรับการกลับเข้ามาปกครองอาณานิคมของอังกฤษ ตลอดจนมีความขัดแย้งกับรัฐบาลของชาวมาเลย์ที่ถูกจัดตั้งขึ้นในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม การที่เป็นเพียงชนกลุ่มน้อยของประเทศมาเลเซีย ที่ได้รับเอกราชหลังสงคราม ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์มลายา ต้องถูกกดดันจากรัฐบาลอย่างหนัก จนต้องเปลี่ยนยุทธวิธีมาสู้รบบนป่าเขาที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-มาเลเซีย

เล่ากันว่า พรรคคอมมิวนิสต์มลายาเป็นกลุ่มทหารที่ชำนาญในการต่อสู้ ยิ่งเมื่อได้เข้าไปอยู่ในป่าลึกตามภูเขา ทำให้กองกำลังต่างๆ ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามต้องขยาดพอสมควร หากต้องเผชิญหน้ากับทหารของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาโดยตรง

ต่อมาเมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป คนกลุ่มนี้ยอมวางอาวุธเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เปลี่ยนสถานะกลายเป็น "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย"

ปัจจุบันรุ่นลูกรุ่นหลานของอดีตพลพรรคคอมมิวนิสต์มลายาได้รับสัญชาติไทย มีบัตรประจำตัวประชาชนกันทุกคน

สถานที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านปิยะมิตร ก็คือพื้นที่ดั้งเดิมที่คนรุ่นแรกๆ ในกลุ่มนี้ใช้เป็นค่ายพักอาศัยในช่วงที่ยังจับอาวุธต่อสู้

ทางการไทยได้เข้ามาช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยการก่อสร้างถนนเพื่อให้การเดินทางสัญจรมีความสะดวกยิ่งขึ้น ตลอดจนนำไฟฟ้าเข้าไปจนถึงหมู่บ้าน

ด้วยความที่เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูง ทำให้ทางการไทยมองเห็นแนวทางพัฒนาอาชีพให้กับกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเหล่านี้ โดยการสร้างจุดขายทางด้านการท่องเที่ยวให้กับหมู่บ้านต่างๆ

หมู่บ้านปิยะมิตร 1 เป็นค่ายยุทธศาสตร์เดิม มีการเจาะอุโมงค์เข้าไปในภูเขาลึกเกือบ 1 กิโลเมตร ภายในอุโมงค์ มีทั้งห้องวางแผนยุทธศาสตร์ ห้องพยาบาล ห้องพัก ห้องอาหาร และห้องพักผ่อนหย่อนใจของพลพรรคคอมมิวนิสต์มลายา

ปัจจุบันอุโมงค์แห่งนี้ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของทางจังหวัดในนามอุโมงค์ปิยะมิตร โดยผู้ที่ดูแลและได้รับรายได้จากการเข้าชมคือบรรดาลูกหลานที่เปลี่ยนมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

หมู่บ้านปิยะมิตร 2 ซึ่งอยู่ห่างจากอุโมงค์ปิยะมิตรขึ้นไปบนเขาสูงอีกประมาณ 6 กิโลเมตร ด้วยความที่เป็นหมู่บ้านในหุบยอดเขา สูงจากระดับน้ำทะเล 800 เมตร ติดแนวสันปันน้ำที่ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย

ในปี พ.ศ.2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้พัฒนาหมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว โดยหน่วยงานรัฐได้ให้ การสนับสนุนด้วยการสร้างถนน ต่อไฟฟ้า ประปาเข้าไปถึงหมู่บ้าน

ทุกวันนี้ นอกจากหมู่บ้านปิยะมิตร 2 จะเป็นแหล่งผลิตดอกเบญจมาศรายใหญ่ ที่ป้อนให้กับตลาดทั้งในกรุงเทพฯ หาดใหญ่ และเบตงแล้ว ยังกลายเป็นรีสอร์ตที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวที่นิยมธรรมชาติและความสวยงาม มาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจเป็นประจำ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาจากฝั่งมาเลเซีย

นอกจากหมู่บ้านปิยะมิตร 1 และ 2 แล้ว ด้วยความที่กลุ่มคนจีนเหล่านี้อาศัยอยู่ในป่าลึกมาเป็นเวลานาน ทำให้มีความชำนาญในเรื่องแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติตลอดจนแหล่งสมุนไพร

"บ้านบ่อน้ำร้อน" เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง โดยกลุ่มคนจีนที่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ เมื่อหลาย 10 ปีก่อน ได้ค้นพบว่ามีลำธารที่มีความร้อน จึงได้เดินสำรวจขึ้นไปตามแนวลำธาร จนพบแอ่งน้ำร้อน และได้นำมาอาบเพื่อบรรเทาความหนาวเย็น แต่ปรากฏว่าน้ำร้อนจากแอ่งนี้ช่วยรักษาโรคผิวหนังได้ เมื่อมีการพูดกันปากต่อปากจนเป็นที่รู้จัก ทำให้มีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยรวมกลุ่มกันตั้งเป็นชุมชน

"เห็ดหลินจือ" เป็นอีกผลผลิตหนึ่งที่ถูกค้นพบจากกลุ่มคนจีนเหล่านี้ เห็ดหลินจือจากเบตงขึ้นชื่อว่าเป็นเห็ดหลินจือ คุณภาพขั้นเทพ และมีผู้คนที่ดั้นด้นมาจากแดนไกล เดินทางเข้ามาในพื้นที่เพื่อหาซื้อเห็ดหลินจือและสมุนไพรอื่นๆ จากที่นี่ เพื่อนำไปใช้เป็นยารักษาโรค

ทั้งหมู่บ้านปิยะมิตร 1, 2 และบ้านบ่อน้ำร้อน เป็นเพียงตัวอย่างของชุมชนชาวจีน 3 แหล่ง ที่เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานของอดีตพลพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่เข้ามาอาศัยพระบรมโพธิสมภาร เปลี่ยนบทบาทตนเองเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

แต่ด้วยความที่เบตงเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาน้อยใหญ่รายล้อมอยู่รายรอบ บนเทือกเขาเหล่านี้ยังมีชุมชนในลักษณะเดียวกับหมู่บ้านปิยะมิตรซ่อนอยู่ในอีกหลายๆ จุด มีชื่อเรียกขานต่างๆ กัน อาทิ หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ฯลฯ

แม้ว่าจะเป็นคนเชื้อสายจีนเช่นกัน แต่คนจีนที่เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ลูกหลานของอดีตพลพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านบนเทือกเขารอบเมืองเบตงเหล่านี้ยังไม่ได้เข้าไปรวมกลุ่ม หรือทำกิจกรรมร่วมกับสมาคมชาวจีนต่างๆ ในตัวเมือง

แต่สายสัมพันธ์ลึกๆ แล้ว เชื่อว่าคงต้องมีการปฏิสัมพันธ์กันบ้างไม่มากก็น้อย

ชุมชนชาวจีนบนเทือกเขายินดีที่จะทำธุรกิจอยู่เงียบๆ ในพื้นที่ แต่มีโครงข่ายธุรกิจที่กว้างไกล

ปัจจุบันพ่อค้าชาวจีนซึ่งเป็นลูกหลานของพลพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หลายคนกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทอยู่ในธุรกิจส่งออกอาหาร สมุนไพร ตั้งแต่หาดใหญ่ขึ้นไปจนถึงกรุงเทพฯ

และด้วยความที่เป็นลูกหลานของทหารเก่าที่มีความชำนาญในการต่อสู้ ชุมชนของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเหล่านี้จึงเป็นเสมือนหน่วยยามที่คอยเฝ้าระวังภัย มิให้มีอันตรายกล้ำกลายเข้าไปถึงคนที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองเบตง

โดยเฉพาะตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 ที่วิ่งมาจากยะลา ช่วง 4-5 กิโลเมตร ก่อนเข้าสู่ตัวเมืองเบตง มีคนจากชุมชนเหล่านี้กระจายลงจากเขา ออกมาสร้างบ้านเรือนไว้เป็นจุดๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.