สถาบันขงจื๊อเบตง ตัวช่วยทรงพลัง: WIN-WIN GAME

โดย ปิยะโชติ อินทรนิวาส เจษฎา สิริโยทัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

"เราเพิ่งจัดงานเลี้ยงครบรอบ 2 ปีของการเปิดสถาบันขงจื๊อในเมืองเบตงไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมานี้เอง" วู เฮงมิน (Wu Hengmin) ผู้อำนวยการสถาบันขงจื๊อ เทศบาลเมืองเบตง บอกทันทีหลังทักทายเสร็จ

ดูเหมือนจะล่าช้าไปหน่อยกับการจัดงานฉลองครบรอบ 2 ปี เพราะเพิ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงต้นปีมานี้เอง แต่จริงๆ แล้วสถาบันขงจื๊อ เทศบาลเมืองเบตง มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2549

สถาบันขงจื๊อ เทศบาลเมืองเบตง เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเทศบาลเมืองเบตง กับมหาวิทยาลัยฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งทำสัญญาความร่วมมือจัดตั้งกันไปก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2549 โดยการสนับสนุนของสถาบันส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติแห่งประเทศจีน หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ฮั่นปั้น (Hanban)

โดยเป็นไปตามปณิธานของผู้บริหารเทศบาลเมืองเบตง ซึ่งมุ่งมั่นจะพัฒนาเมืองเบตงให้ก้าวสู่ระดับสากล โดยเฉพาะความเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ

ตามสัญญาความร่วมมือดังกล่าวกำหนดให้ทั้งฝ่ายจีนและไทยต้องร่วมกันส่งตัวแทนเข้าเป็นกรรมการบริหาร ส่วนผู้อำนวยการให้มี 2 คน เป็นฝ่ายไทย 1 คน และจีน 1 คน ซึ่งปัจจุบันสถาบันขงจื๊อ เทศบาลเมืองเบตง มีประธานกรรมการบริหารชื่อคุณวุฒิ มงคลประจักษ์ ซึ่งก็คือนายกเทศมนตรีและผู้อำนวยการฝ่ายไทย คืออัจฉราภรณ์ ยังอภัย ที่นั่งเป็นผู้อำนวยการกองการศึกษาของเทศบาลนั่นเอง

สถานที่ตั้งอยู่ในอาคารขนาด 3 ชั้น 1 หลัง มีเนื้อที่ใช้สอย 1,245 ตารางเมตร ภายในประกอบไปด้วยห้องสมุดภาษาจีนที่มีหนังสือมากกว่า 6,000 เล่ม ห้องคอมพิวเตอร์ที่มีเครื่องให้บริการอยู่ 31 เครื่อง ห้องเรียน 5 ห้อง ที่เหลือเป็นห้องธุรการและห้องอเนกประสงค์

ช่วงเปิดให้บริการรัฐบาลจีนได้สนับสนุนงบประมาณให้มาประมาณ 4 ล้านบาท พร้อมส่งอาจารย์สายเลือดมังกรมาทำการสอนภาษาจีนให้ด้วย 3 คน กับอาสาสมัครสอนภาษาจีนอีก 3 คน รวมเป็นบุคลากรที่ฝ่ายจีนจัดมาให้ 6 คน

บุคคลที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการให้บริการ ได้แก่ บุคคลทั่วไป วิทยากรทุกวงการ โดยเฉพาะครูสอนภาษาจีน นักเรียน นักศึกษา แม้จะมีการจัดหลักสูตรภาษาจีนที่หลากหลายไว้ให้บริการ แต่ก็ได้มุ่งเน้นหลักสูตรภาษาจีนระยะสั้น โดยแบ่งเป็นระดับต้น กลาง และสูง พร้อมมีการจัดสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน (HSK) จัดประกวดความรู้ด้านวัฒนธรรมจีน จัดนิทรรศการและกิจกรรมที่เกี่ยวกับภาษาจีน บริการห้องสมุดที่เป็นแหล่งเพิ่มพูนความรู้ และให้บริการปรึกษาสำหรับผู้ที่ต้องการไปศึกษาต่อยังสาธารณรัฐประชาชนจีน

ผลงานที่ผ่านมาของสถาบันขงจื๊อที่เบตง ประกอบไปด้วย ให้บริการสอนภาษาจีนหลักสูตรระยะสั้นไปแล้ว 5 รุ่น รวมนักศึกษา 814 คน พร้อมเปิดหลักสูตรเรียนภาษาจีน 24 วิชา จัดทำโครงการแลกเปลี่ยนเพื่อให้นักศึกษาที่จบปริญญาตรี สาขาวิชาภาษาจีน จากศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ณ อำเภอเบตง ได้ไปศึกษาภาษาจีนเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยฉงชิ่ง จัดสัมมนาวัฒนธรรมจีน ฝึกสอนศิลปะการป้องกันตัวแบบจีน จัดนิทรรศการ การแข่งขันความสารถพิเศษ การแข่งขันความรู้ภาษาจีน เป็นต้น

ที่ต้องนับว่ามีความเป็นพิเศษยิ่งคือ ได้จัดทำโครงการคณะการแสดงความสามารถพิเศษแบบจีนของสถาบันขงจื๊อ เทศบาลเมืองเบตงขึ้นมาส่งผลให้มีผู้เดินทางมาเยี่ยมเยือนแล้วหลายคณะรวมกว่า 2,600 คน

ทั้งนี้ ผลงานของสถาบันขงจื๊อ เทศบาลเมืองเบตง ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชนผ่านสื่อที่หลากหลายทั้งในและ นอกประเทศไปแล้วมากมาย เช่น เว็บไซต์ซินหัว หนังสือพิมพ์เหรินหมินยื่อเป้า (Ren Min Ri Bao) หนังสือพิมพ์ซื่อเจี้ยยื่อเป้า สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 และหนังสือพิมพ์เหวินฮุ่ยเป้า (Wen Hui Bao) ในฮ่องกง เป็นต้น

"ผลงานที่ถือว่าสนับสนุนศูนย์กลางการศึกษานานาชาติของเมืองเบตงเราได้เป็นอย่างดีก็คือ ในปีการศึกษาที่ผ่านมามีผู้จบเอกภาษาจีนจากศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ ณ อำเภอเบตง 38 คน และทั้งหมดนี้ได้เข้าสู่โครงการแลกเปลี่ยน โดยทุกคนได้ทุนเดินทางไปเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมที่มหาวิทยาลัยฉงชิ่งเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งทุนนั้นได้จากฮั่นปั้นมา 750,000 บาท" อัจฉราภรณ์บอกและเสริมว่า

นอกจากนี้แล้วผู้ที่เรียนจบสาขาวิชาภาษาจีนในเบตง ทุกคนจะได้เข้าโครงการสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน หรือ HSK อีกด้วย ซึ่งนักศึกษาที่จบจากศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ณ อำเภอเบตงสามารถสอบได้ระดับกลางโดยเฉลี่ย และก็มีสัดส่วนที่มากพอสมควรที่สอบได้ในระดับสูง

เป็นที่น่าสังเกตว่า สถาบันขงจื๊อ เทศบาลเมืองเบตง มีความแตกต่างจากสถาบันขงจื๊อในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยที่มีรวมกันแล้วถึง 13 แห่งใน 2 ประการด้วยกัน ได้แก่

ประการแรก ถือเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือ เทศบาลเมืองเบตง ได้ทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะที่เหลืออีก 12 แห่งล้วนแล้วแต่เป็นสถาบันการศึกษาทั้งสิ้น

โดย 12 สถาบันการศึกษาของไทยที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจากจีนตั้งสถาบันขงจื๊อขึ้นมานั้น แบ่งเป็นมหาวิทยาลัย 11 แห่งและโรงเรียน 1 แห่ง ประกอบด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหางวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2 แห่ง ที่สงขลาและภูเก็ต ส่วนที่เป็นโรงเรียนคือ โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย

เมื่อเป็นความร่วมมือกับเทศบาลเมืองเบตง สถาบันขงจื๊อที่เบตงจึงมีปฏิสัมพันธ์แบบใกล้ชิดกับชุมชนชาวเบตงเป็นอย่างมาก และผู้เข้าไปใช้บริการก็เป็นชาวบ้านร้านตลาดในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับนิสิตนักศึกษาหรือนักเรียน และสถานที่ตั้งก็โดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางเมืองเบตง ไม่ใช่ไปหลบอยู่ในมุมใดมุมหนึ่ง ในรั้วรอบขอบชิดของสถาบันการศึกษา

ประการที่สอง ผู้ที่เรียนภาษาจีนจบหลักสูตรจากสถาบันขงจื๊อ เทศบาลเมืองเบตง สิ่งที่ได้รับจะเป็นเกียรติบัตร ซึ่งไม่ใช่ ประกาศนียบัตร เนื่องจากหลักสูตรที่สถาบันเปิดสอนเป็นหลักสูตรระยะสั้น

เมื่อพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมายที่ส่วนใหญ่เป็นบุคคลทั่วไปแล้ว ต้องถือว่าสอดรับกับความต้องการของผู้ใช้บริการ แต่หากต้องการที่จะได้รับมากกว่าเกียรติบัตร สามารถที่จะให้เชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในระบบได้ เช่น ผู้ที่กำลัง เรียนอยู่ในระบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) สามารถที่จะใช้เป็นวิชาเลือกได้

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเทศบาลเมืองเบตงเองเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งไม่ใช่สถาบันการศึกษาประกอบกับช่วงที่เดินเรื่องจัดตั้งสถาบันขงจื๊อแห่งนี้ การขออนุญาตข้ามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการต่างประเทศไปขั้นตอนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคปัญหาที่สำคัญแต่อย่างใด

สำหรับความกังวลของหลายคนที่มีต่อสถาบันขงจื๊อ ซึ่งถูกส่งออกไปกระจายอยู่ทั่วโลกจากฝีมือของมหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีหน่วยงานอย่างฮั่นปั้นที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลจีนสนับสนุนอยู่เบื้องหลังว่า นี่อาจจะเป็นกระบวนการครอบงำโลกของจีน ด้วยการใช้การศึกษาทางภาษาและวัฒนธรรมเป็นตัวทะลุทะลวงหรือไม่

เนื่องเพราะวัฒนธรรมจีนกำเนิดและสืบสานอยู่บนโลกใบนี้มายาวนานกว่า 5,000 ปี ซึ่งถือว่ายิ่งใหญ่ไม่แพ้ใครที่ไหน เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมากลับถูกวัฒนธรรมตะวันตกรุกกระหน่ำตีอยู่รอบด้าน โดยเฉพาะวัฒนธรรมฮอลลีวูด

ทว่าเศรษฐกิจของจีนในเวลานี้ก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ดังนั้นจีนจึงมีศักยภาพเพียงพอที่จะโต้ตอบการรุกก้าวทางวัฒนธรรมจากโลกตะวันตกกลับไป พร้อมๆ แผ่ขยายตีกินปริมณฑลทางวัฒนธรรมเลียนแบบประเทศมหาอำนาจเขาบ้าง

ทั้งนี้ สถาบันขงจื๊อของจีนเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2548 ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 5 ปีก็สามารถไปปักหมุดในทั่วโลกได้ครบทุกภูมิภาค โดยแค่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2550 แจ้งเกิดไปได้แล้วถึง 123 แห่งใน 49 ประเทศ

นอกจากนี้แล้วในห้วงปี พ.ศ.2549 เคยมีคนคำนวณอัตราการเติบโตของสถาบันขงจื๊อจากจีนไว้ พบว่ามีการจัดตั้งสถาบันขงจื๊อขึ้นในประเทศต่างๆ บนโลกใบนี้เพิ่มขึ้นในอัตรา 1 แห่งต่อทุกๆ 4 วัน ทั้งๆ ที่การตั้งแต่ละแห่งนั้น จีนจะต้องเสียงบประมาณสนับสนุนถึง 100,000 เหรียญสหรัฐ

"พูดง่ายๆ ว่าการก้าวรุกของสถาบันขงจื๊อ คือการคุกคามทางวัฒนธรรมหรือเปล่า เพราะเขาให้ทั้งเงินและคนไปด้วยพร้อมๆ กัน เราเองในฐานะเจ้าของบ้านก็ต้องหาทางป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เราเกิดการสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม" อัจฉราภรณ์กล่าว

เหรียญมี 2 ด้าน แต่สำหรับสายตาของคนเราสามารถที่จะมองได้รอบด้าน

การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของสถาบันขงจื๊อที่เบตงก็เฉกเช่นกัน

ทัศนะของผู้อำนวยการสถาบันขงจื๊อ เทศบาลเมืองเบตง ฝ่ายไทยซึ่งทำหน้าที่ผู้อำนวยการกองการศึกษาของเทศบาลเมืองเบตงควบคู่กันไปด้วยนั้น น่าจะทำให้หลายคนเชื่อได้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้วการผลักดันให้เกิดสถาบันขงจื๊อขึ้นในเมืองเบตง น่าจะเกิดประโยชน์ต่อแผนปลุกปั้นให้เบตงศูนย์กลางการศึกษานานาชาติอย่างมาก

อย่างน้อยก็น่าจะเป็นเรื่องของ WIN-WIN GAME


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.